posttoday

ปวดไมเกรนและอาการติดยาแก้ปวด

30 กรกฎาคม 2560

โดย...นพ.ไอยวุฒิ ไทยพิสุทธิกุล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย...นพ.ไอยวุฒิ ไทยพิสุทธิกุล  คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“เคยปวดศีรษะข้างเดียว เป็นๆ หายๆ เดือนสองเดือนครั้ง แต่ช่วงหลังปวดเกือบทุกวัน”

ข้อความข้างต้นนี้เป็นอาการที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์อยู่บ่อยๆ หรือผู้อ่านหลายๆ ท่านอาจประสบปัญหานี้ด้วยตัวเอง

บทความวันนี้จะกล่าวถึง ในผู้ป่วยที่ป่วยเป็น “โรคปวดศีรษะไมเกรน” แล้วพบว่าอาการปวดศีรษะเป็นมากขึ้น สาเหตุที่ทำให้ปวดศีรษะไมเกรนแย่ลงคืออะไร และการให้การรักษาอาการปวดศีรษะที่ถูกต้อง

เป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนอยู่แต่เดิม ทำไมช่วงหลังเป็นบ่อยขึ้น...

ปวดศีรษะไมเกรน มักเริ่มเป็นในคนหนุ่มสาว ลักษณะสำคัญคือปวดศีรษะข้างเดียวได้บ่อย แต่อาจเป็นสองข้างก็ได้ อาการอาจเป็นอยู่หลายชั่วโมงจนถึงสองสามวัน

เวลาปวดมากมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย อาการปวดอาจเกิดตามหลังประจำเดือน แสงแดด อาหาร กลิ่นบางอย่าง หรือความเครียด บางคนเป็นปีละไม่กี่ครั้ง แต่บางคนเป็นเดือนละหลายครั้ง หลายคนเป็นน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น

ผู้ป่วยโรคไมเกรนที่มาพบแพทย์เฉพาะทางส่วนมากจะมีอาการมาแล้วหลายปี ผ่านการรักษาด้วยตัวเอง ปรึกษาพี่เภสัชกรร้านยา หรือได้รับการรักษากับแพทย์ทั่วไปมาก่อน

แต่ในที่สุดอาการปวดที่เป็นบ่อยขึ้น รุนแรงขึ้น จนกลายเป็นปวดเกือบทุกวัน ก็ต้องหาทางพบแพทย์เฉพาะทาง

คำถามสำคัญคือ ในเมื่อเรารับประทานยาที่แพทย์หรือเภสัชกรสั่งให้ทุกครั้ง ทำไมอาการถึงเป็นมากขึ้นทุกวัน... คำตอบกว้างๆ มีอยู่ 3 อย่าง

1) ตัวกระตุ้นมีมากขึ้น เช่น ต้องทำงานกลางแดดบ่อยขึ้น หรือกลิ่นจากการตกแต่งที่ทำงานใหม่

2) เป็นโรคอื่นที่ไม่ใช่ไมเกรน ซึ่งเป็นหน้าที่ของแพทย์ที่จะต้องตรวจให้แน่ใจ

3) การรับประทานยาแก้ปวดมากเกินไป อันนี้พบบ่อยที่สุด

ปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดการปวดศีรษะมากขึ้นจากการใช้ยาแก้ปวดที่มากเกินไปนั้นพบได้ทั่วโลก ยาแก้ปวดเกือบทุกชนิด ถ้าเราใช้มากเกินไปอาจทำให้อาการปวดเป็นบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

กลไกในการเกิดภาวะนี้ยังไม่แน่ชัด แต่ผมมักใช้คำอธิบายเปรียบเทียบให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่า ตอนนี้ผู้ป่วยมีอาการปวดมากขึ้นจากการ “ติดยาแก้ปวด” หากยิ่งปวดบ่อย ก็ยิ่งรับประทานมากขึ้น ก็จะยิ่งปวดบ่อยขึ้น เราจะถลำติดอยู่ในวังวนนี้และรักษายากมากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าปวดศีรษะบ่อย แต่ไม่ให้รับประทานยาแก้ปวดจะให้ทำอย่างไร

การรักษาอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาเสมอไป การหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นอาจมีประโยชน์มากกว่าการใช้ยา

แต่ตัวกระตุ้นหลายอย่างนั้นหลีกเลี่ยงได้ยาก เช่น เราไม่สามารถเปลี่ยนที่ทำงานได้ตามใจนึก หากตัวกระตุ้นนั้นเกี่ยวกับงานประจำที่ทำอยู่ เมื่ออาการปวดเป็นบ่อย (ส่วนมากจะนับว่ามากกว่าสัปดาห์ละครั้ง) ควรจะต้องมีการใช้ยา “ป้องกัน” ไม่ให้เกิดอาการปวด ซึ่งจะต้องรับประทานทุกวัน

เมื่อยาป้องกันเริ่มได้ผล การใช้ยาแก้ปวดก็จะน้อยลงตามไปด้วย ข้อเสียของยาป้องกันคือการต้องรอระยะเวลาที่ยาจะออกฤทธิ์ ซึ่งโดยมากอาจต้องรอหลายสัปดาห์

แพทย์ทั่วไปที่ให้การดูแลจึงต้องอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจว่า เมื่อติดยาแก้ปวดแล้ว เราต้องพยายามลดการใช้ยาแก้ปวด และรอเวลาที่ยาป้องกันจะแสดงประสิทธิภาพในการรักษา ไม่มีทางลัด คล้ายกับการพยายามเลิกบุหรี่หรือเลิกเหล้า ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาและความอดทน

ยาที่ใช้สำหรับป้องกันอาการปวดนั้นมีมากกว่า 10 ชนิด การเลือกใช้ยาชนิดใดขึ้นกับความเหมาะสมของโรคประจำตัว ผลพวงอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากยา รวมถึงราคายาที่เหมาะสมกับเศรษฐฐานะของผู้ป่วย

เมื่ออาการปวดดีขึ้นแล้ว โดยมากผู้ป่วยควรจะรับประทานยาป้องกันต่อเนื่องเป็นระยะเวลาทั้งหมดอย่างน้อย 4-6 เดือน หรือในบางรายอาจต้องรับประทานนานกว่า 1 ปี

ท่านผู้อ่านที่ปวดศีรษะบ่อยๆ ลองสังเกตอาการตัวเองดูนะครับ ว่ากำลัง “ติด” ยาแก้ปวดอยู่หรือไม่

ถึงเวลาหรือยังที่เราควรได้รับการรักษาที่ถูกต้อง