posttoday

‘เทศกาลคืนความสุขในเมืองโกลาหล’ ไชยา วรรณศรี

30 กรกฎาคม 2560

หนังสือรวมเรื่องสั้น “เทศกาลคืนความสุขในเมืองโกลาหล” ผลงานรวมเรื่องสั้นของ ไชยา วรรณศรี เป็นรวม 14 เรื่องสั้น

โดย...เพรงเทพ

หนังสือรวมเรื่องสั้น “เทศกาลคืนความสุขในเมืองโกลาหล” ผลงานรวมเรื่องสั้นของ ไชยา วรรณศรี เป็นรวม 14 เรื่องสั้น ฝีมือไม่เบาของนักเขียนซีรองหลายสมัย และเป็นนักกิจกรรมทางวรรณกรรมคนดัง รางวัล “เปลื้อง วรรณศรี”

การเริ่มต้นเขียนหนังสือของไชยามีแรงบันดาลใจจากเหตุบ้านการเมือง ดังที่เขาเคยถนัดมาตลอดจนกลายเป็นทั้งเรื่องสั้นและนวนิยาย

“ทุกครั้งที่ลงมือเขียนหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ตาม มันมาจากกระบวนความรู้สึกนึกคิด นึกคิดในสิ่งนั้นๆ ความรู้สึกนั้นมันมาจากที่ไหนสักที่ ที่วิ่งมาชนโครม... แล้วเกิดอารมณ์ ก่อนจะก่อเกิดเป็นพล็อต ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว มันมาจากความรู้สึกทางการเมืองเสียส่วนใหญ่ ความยากจน การเอารัดเอาเปรียบ และที่มองเห็นและเป็นไปแต่ละวัน

“โดยเฉพาะประสบการณ์ตรงของตัวเองที่เป็นพลังขับให้ก่อรูปร่างคล้ายแรงบันดาลใจ ออกไปในลักษณะรูปทรงต่างๆ ก่อนจะม้วนตัวเป็นเรื่องสักเรื่อง แรงบันดาลใจที่ผมอาจเรียกว่า การฉุดรั้ง บางครั้งผมดึงมันเข้ามาหาเองแบบบังคับ ทว่าหลายครั้งที่มันฉุดรั้งผมเข้าไป ซึ่งแน่นอน แรงบันดาลใจนั้น แต่ละเรื่อง ย่อมต่างกัน”

“เทศกาลคืนความสุขในเมืองโกลาหล” เป็นรวมเรื่องสั้นที่ ไชยา บอกว่าต้นฉบับปรับเปลี่ยนหลายครั้ง

‘เทศกาลคืนความสุขในเมืองโกลาหล’ ไชยา วรรณศรี

“ผมพยายามคัดกรองงานตัวเองที่กระจัดกระจายอยู่ ลองเอามารวมๆ เป็นเล่ม รื้อค้น คัดเข้าคัดออก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากต่างกรรมต่างวาระในการตีพิมพ์ แต่ละเรื่องนั้นก็ดังที่ได้กล่าวในข้อแรก ทว่ายังหาสำนักพิมพ์ไม่ได้ คือไม่รู้จะส่งไปที่ไหน มองดูเรื่องตัวเอง แม้จะไม่ดีขนาดเลอเลิศ ทว่าแต่ละเรื่องผ่านบรรณาธิการ ผ่านการคัดกรองจากเวทีประกวดมาชั้นหนึ่งแล้ว น่าจะพอเผยออกสู่สายตาผู้อ่านได้ ด้วยความเชื่อมั่นว่า มันคงมีคุณค่าพอต่อปัญญาของผู้เสพ”

ไชยา ขยายภาพให้เห็นการทำงานร่วมกับบรรณาธิการว่า นับเป็นจังหวะดี ที่เริงวุฒิ มิตรสุริยะ อดีต บก. ผู้ช่ำชองได้เคยขอไว้เพื่อจัดพิมพ์จึงส่งไปให้อ่าน และรอคอยอยู่เป็นปี สุดท้ายก็ได้พิมพ์ ซึ่งเขาเป็นบรรณาธิการอีกชั้นอย่างเต็มที่

“ผมบอกเขา เต็มที่แบบไม่ต้องเกรงใจ และพิมพ์ในนามสำนักพิมพ์ศรีปัญญา ของ ประพต เศรษฐกานนท์ แน่นอนอีกว่า หนีไม่พ้นแนวการเมือง สังคม วัฒนธรรมความเชื่อ และความเป็นไปของกลุ่มคนชั้นรากหญ้าที่กลาดเกลื่อน และสะท้อนเรื่องราวอดีตสู่ปัจจุบันโดยผ่านเรื่องแต่ละเรื่อง ในชีวิตจริงที่เกิดขึ้นกับเมืองโกลาหลนี้”

มีหนังสือออกมาหลายเล่มแล้ว เล่มนี้มีความคาดหวังกับหนังสือของตัวเองหรือคนอ่านมากน้อยแค่ไหน? อย่างไร? ไชยา บอกถึงความในใจออกมาว่า

“หนังสือของผมแต่ละเล่มที่ผ่านการตีพิมพ์เป็นเล่มแล้วนั้น แน่นอนว่ามีอยู่หลายสิบเล่ม แต่ละเล่มที่พิมพ์ออกมา ซึ่งผ่านกระบวนการของสำนักพิมพ์ ผ่านบรรณาธิการอีกชั้น โดยส่วนตัวคาดหวังว่า มันคงสะท้อนอะไรในสังคมให้ผู้อ่านได้สัมผัสได้บ้าง นั่นคือความมุ่งหวัง อยากให้ผู้อ่านรับรู้แม้กระทั่ง ผมคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร และจะร่วมกันสร้างสรรค์ แก้ไข เฝ้ามอง หรือใช้วิธีใดจัดการต่อปัญหา

“จวบมาถึงเล่มนี้ เทศกาลคืนความสุขในเมืองโกลาหล ผมย่อมมีความหวัง หวังว่าจะโดนใจผู้อ่านบ้าง รับรู้ความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียนว่า ได้ทำหน้าที่แสดงคำร้องในสิ่งที่พบเห็นและเป็นได้เต็มที่แล้ว ได้สะท้อนเรื่องราวต่างๆ ในแต่ละเรื่องออกมาให้ครุ่นคิด ซึ่งความคาดหวังก็อยากเห็นคนอ่านมีความสุขและได้รับสารที่สื่อออกไป ไม่มากก็น้อย”