posttoday

ด้วยเกียรติของคนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

22 กรกฎาคม 2560

การจัดงาน International Recognized Exhibition Expo 2017 Astana ณ กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน

เรื่อง : พรเทพ เฮง

การจัดงาน International Recognized Exhibition Expo 2017 Astana ณ กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน หรือเรียกสั้นๆ ว่า “อัสตานา เอ็กซ์โป 2017” (Astana Expo 2017) เป็นงานมหกรรมนานาชาติของมวลมนุษยชาติที่ยิ่งใหญ่ และมีผู้เข้าร่วมมาก ภายใต้หัวข้อหลัก “พลังงานแห่งอนาคต (Future Energy)

อาคารศาลาไทย (Thailand Pavilion) อยู่บริเวณภายในอาคารนิทรรศการโลก (Exhibition Area) นำเสนอการจัดแสดงนิทรรศการที่สื่อถึงความเป็นไทยบนพื้นที่ 934.05 ตารางเมตร ถือเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ และความเชื่อถือของประเทศให้ปรากฏแก่สายตาชาวโลก

การจัดงานระดับ International Recognized Exhibition Expo แต่ละครั้งมีสถิติผู้เข้าชมในแต่ละครั้งหลายล้านคน โดยในครั้งนี้ประเทศเจ้าภาพในงาน International Recognized Exhibition Expo 2017 Astana ได้คาดการณ์ยอดผู้เข้าชมงานสูงถึง 5 ล้านคน ในการเข้าร่วมงานประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ที่ไม่สามารถประเมินค่าเป็นจำนวนเงินได้ แต่เป็นประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ ซึ่งรับผิดชอบออกแบบก่อสร้าง และดูแลกระบวนการทุกขั้นตอนในอาคารศาลาไทย (Thailand Pavilion) ของงานครั้งนี้ ที่จัดถึงวันที่ 10 ก.ย.นี้ มาเปิดเผยความในใจถึงการสร้างแบรนดิ้งประเทศไทยให้อยู่ในความสนใจของคนทั่วโลก

เล็กๆ แต่ได้ใจคนทั้งโลก

“น่าจะเป็นข่าวดีของประเทศ หลังจากที่เปิดงานก็เดินดู หลังจากวันแรกไม่ค่อยได้ดูคนอื่นสักเท่าไหร่ แต่พอหลังวันที่สองไปแล้ว ก็เซอร์เวย์ดูชาวบ้านเขาว่าเป็นยังไง พอดีเราทำเอ็กซ์โปมา 4-5 ครั้งแล้ว ก็รู้จักทีมทำงานในหลายๆ ประเทศ ที่บอกเป็นข่าวดีของคนไทยคือ คนเข้าชมพาวิลเลียนของเราเยอะมาก จนเรากลายเป็นที่ 1 ของโลกไปแล้ว ของเรา 4 นาทีรอบหนึ่ง ความถี่เรามีมากกว่า ถ้าเอาจำนวนคนเข้าชมเราเป็นอันดับ 1

“ต้องบอกว่าเราเองไปด้วยแผน ไปด้วยวิธีการทำงานที่ไม่เหมือนคนอื่น แน่นอนบริษัทที่เข้ามาทำในหลายๆ ประเทศ เขาแยกส่วนระหว่างงานเอ็กซิบิชั่น งานพีอาร์ งานกิจกรรมต่างๆ ขณะที่ประเทศไทยทำครบวงจร เพราะฉะนั้นวิธีคิดของเราจึงไม่เหมือนประเทศอื่นๆ หนนี้บอกเลยว่าอินเด็กซ์ฯ มาทำงานในแนวทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้มีความแตกต่าง มีความสำคัญมาก ธีมชัดคือ ฟิวเจอร์ เอนเนอร์จี พลังงานแห่งอนาคต

“แนวเอ็กซิบิชั่นสามารถจินตนาการได้เลยว่าทุกประเทศมาแบบล้ำๆ มาแบบเทคโนโลยีดิจิทัล พรีเซนต์แบบหวือหวาอลังการ นั่นคือทิศทางของโลกที่เป็นไป ซึ่งก็ถูกต้อง ทุกประเทศเป็นอย่างนั้นหมด ขณะที่เราเองต้องย้อนกลับมาดูความเป็นไทยของเรา ซึ่งไม่มีภาพของเทคโนโลยี ต่อให้เราฝืนทำว่าเป็นเทคโนโลยี มันก็ไม่ตอบกลับมากับภาพพจน์ของประเทศอยู่ดี

“ธีมของประเทศไทยคือ ไบโอเทคโนโลยี ฟอร์ ออน ซึ่งยิ่งตอกย้ำเข้าไปอีกว่าพื้นฐานประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แล้วเอาผลผลิตทางเกษตรกรรมมาแปลงเป็นพลังงานในรูปแบบต่างๆ ซึ่งก็มีทั้งที่เป็นพืชซึ่งปลูกเพื่อเป็นพลังงานจริงๆ อย่างปาล์มเอามาทำน้ำมันไบโอดีเซล นอกนั้นก็มาจากข้าวโพด ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง มูลสัตว์ เพราะฉะนั้นวิธีการเล่าเรื่องของเราจึงไม่เหมือนคนอื่น เราชัดมากโฟกัสไปที่พลังงานที่เกิดจากกระบวนการที่มาจากภาคเกษตร ซึ่งมันชัดมาก

ด้วยเกียรติของคนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

“เพราะฉะนั้นคราวนี้เราดูอินไซด์ของคนคาซัคฯ ดูแนวทางว่าคนคาซัคฯ ชอบแบบไหน ไม่ชอบแบบไหน คนไทยมาดูแล้วจะบอกว่าทำไมทำแนวอย่างนี้ ผมตอบเลยว่าผมไม่ได้ทำให้คนไทยดู ผมทำให้คนคาซัคฯ ดู ถ้าทำให้คนไทยดูต้องแนวหวือหวา เพราะคนไทยชอบสีสัน แต่คนที่นั่นไม่ได้ชอบแบบนั้น ทำหวือหวาก็ทำได้ แต่ตอบโจทย์คนในพื้นที่ เพราะคนคาซัคฯ ชอบแนวสดใส ห้องไม่มืด เนื้อหาไม่ต้องเยอะ แล้วมีวิธีเล่าเรื่องแบบเอดดูเทนเมนต์ ให้ความรู้แต่สนุก สิ่งที่สำคัญที่สุด ประเทศนี้ดูอายุเฉลี่ยแล้วน้อย เป็นครอบครัวที่พ่อแม่ลูกรุ่นเด็ก เป็นคนรุ่นใหม่ สามตัวเป็นแมสคอตที่อยู่ในพาวิลเลียนไทยครั้งนี้ ครั้งนี้เราใช้แมสคอตอย่างเต็มที่และโดดเด่นร้อยเรียงอย่างเป็นเรื่องเป็นราวทั้งหมด แม้กระทั่งของที่ระลึกซึ่งแจกคนที่มาเยี่ยมชมก็เป็นเป้สะพายหลังที่กลายมาเป็นมีเดียให้กับพาวิลเลียนของไทย

“ต้องบอกว่าเงินเรามีน้อยมาก ประเทศอื่นเขาซัดกันเป็นพันล้านบาท เรามีอยู่ 250 ล้านบาท ก็ต้องรบด้วยแท็กติก พอเราเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกันทุกมิติ ก็กลายเป็นแคมเปญของพลังที่เป็นแมสคอต เรามั่นใจว่าหลังจากนี้ผู้เข้าชมเราไม่หลุดจาก 1 ใน 3 แน่ๆ เราทำห้องพรีเซนเตชั่นให้คนถ่ายรูปได้ด้วย ทำให้สว่างสดใส แจกถุงเป้สะพายให้เป็นมีเดีย มีการแจกพิณ ด้วยการให้แฮชแท็กและฟอลโลว์พาวิลเลียนไทย เราทำทั้งดิจิทัลและอะนาล็อก

"งานเอ็กซ์โปแต่ละครั้งไม่มีสูตรสำเร็จ อย่างเคยทำเอ็กซ์โปที่โน่นที่นี่มาแล้ว ต้องปรับแท็กติกทุกครั้งและต้องพัฒนาตัวเราเองไปเรื่อยๆ ที่สำคัญที่คาซัคสถานเราปรับตามรสนิยมท้องถิ่น ถือว่าน่าพอใจ เอ็กซ์โปหนนี้รบเหนื่อย เพราะเจ้าภาพใช้เงินเยอะ เฉพาะเอ็กซิบิชั่นอย่างเดียว 1.6 หมื่นล้านบาท ทำตัวคาซัคสถาน พาวิลเลียน ซึ่งสู้กันไม่ได้แน่ๆ ในเรื่องของความหวือหวาและเทคโนโลยี ซึ่งผมบอกเลยว่าผมคาดการณ์ไม่ได้เลยนะว่าเขาจะเข้าพาวิลเลียนของไทยหรือเปล่า ในเมื่อเขามีของสุดล้ำของเขาเอง

"เราก็หลบทุกอย่างด้วยวิธีของเรา ก็ออกมาเล่นรับแขกข้างนอกพาวิลเลียน เปลี่ยนแท็กติกกันทุกวัน ค่อยๆ ปล่อยออกมาให้จับทางไม่ถูก ถ้าเทียบเราก็สู้กันแบบกองโจร เงินน้อยก็ไม่ใช่จะแพ้ ทุกอย่างไม่ใช่ความบังเอิญ แผนจรยุทธ์เราก็คิดมาตั้งแต่ต้นในช่วงพัฒนาแผนงานพาวิลเลียน และคิดว่าคนอื่นจะทำอย่างไร นี่คือสิ่งที่แตกต่าง

“หลายๆ คนบอกว่าทำไมของไทยไม่อลังการ ถ้าทำแบบนั้นเราก็แพ้เพราะเงินมันสู้กันไม่ได้อยู่แล้ว สู้กันในอีกรูปแบบหนึ่ง วิ่งในลู่ของเรา แต่ต้องมั่นใจว่าเราต้องมีสิ่งที่โดนและเหนือกว่า เพราะคาดการณ์ได้ เราเห็นเทรนด์แต่ไม่ตามเทรนด์แข่งขัน พาวิลเลียนไทยใช้เวลาดูแค่ 4 นาทีจบ ในงานเอ็กซ์โปประเทศไทยเปลี่ยนกระทรวงที่เป็นเจ้าภาพบ่อย แล้วแต่ละที่ก็ไม่มีความชำนาญในงานประเภทนี้ ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่

“ครั้งนี้เป็นการรบแบบกองโจรอย่างจริงจังเลย เป็นความสำเร็จที่เกิดมาจากการที่ทำงานเบื้องหลังกันมาเยอะมาก”

อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย

“อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ธุรกิจอีเวนต์ในประเทศไทยเหนื่อยมาก และเหนื่อยต่อเนื่องมา 10 กว่าปีแล้ว มันมีปัญหามาโดยตลอด เพราะอย่างนั้นงานใหญ่ๆ ของบ้านเรา นับดูได้เลยน้อยมาก โดยเฉพาะอีเวนต์ของภาคเอกชนที่เปิดตัวยิ่งใหญ่แทบจะไม่มีเลย มันก็มีความเสี่ยงอยู่ คุณจะจัดใหญ่ มีเหตุการณ์ระเบิดเกิดขึ้นก็เลื่อนออกไป ทำให้มีเม็ดเงินที่หายไป เพราะฉะนั้นเขาก็ไม่เสี่ยงเอาเงินไปทำอย่างอื่นดีกว่า ก็เลยกลายเป็นปัญหาของธุรกิจ เราเองก็พยายามดิ้นรนและพยายามหาทางออก

“ทางออกของเราอย่างหนึ่งคือ การที่เรามีงานใหญ่ๆ ระดับโลกแบบนี้สม่ำเสมอ ในอนาคตเอง แบรนด์เราก็สร้างมาให้เชื่อมโยงกับงานเอ็กซ์โปมาพักใหญ่แล้ว ในก้าวต่อไปของเราก็มองหาในการที่จะไปทำพาวิลเลียนประเทศอื่นด้วย

“จริงๆ ตอนนี้ก็มีคุยกับพวกคอนแท็กเตอร์ในดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมาทำงานที่คาซัคสถานอยู่หลายเจ้าเหมือนกัน เริ่มคุยกับเราแล้วในเรื่องความร่วมมือกันว่าจะทำงานได้ขนาดไหน เพราะทางโน้นเขาสนใจ เราค่อนข้างคุ้นเคยกับเวิลด์เอ็กซ์โปพอสมควร เพราะเราเองครบเครื่องทั้งกลยุทธ์ การออกแบบ มาร์เก็ตติ้ง การก่อสร้าง ออดิโอ วิชวล เทคนิคต่างๆ มัลติมีเดีย เราทำได้หมด เพราะฉะนั้นเขาจึงมองเราว่าเป็นบริษัทที่น่าสนใจ ครั้งต่อไปซึ่งจะจัดที่ดูไบ ก็ต้องบอกว่าทำในเมืองไทยเหนื่อย ต้นทุนสูง แรงงานขาดแคลน ก็เป็นโอกาสที่เราจะเข้าไปในตลาดนี้

“ในตลาดอาเซียนเองก็ไม่ได้ง่าย เพราะมีเจ้าใหญ่ที่เขาทำอยู่ เป็นเจ้าประจำ ทุกประเทศก็ชาตินิยม มีสิงคโปร์ที่ดูเปิดกว้างมากที่สุด เราเองเคยได้รับการทาบทามจากซีเนียร์ มินิสเตอร์ ของสิงคโปร์ ว่าสนใจที่จะทำพาวิลเลียนประเทศเขาไหม เจอกับตัวเองเลย ยื่นนามบัตรให้แล้วถามว่ารัฐบาลไทยจ้างคุณเท่าไหร่ สนใจทำพาวิลเลียนประเทศเขาไหม

ด้วยเกียรติของคนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

“ก็คงต้องบอกว่าวันหนึ่งถ้าเรามีโอกาสก็น่าจะได้ทำพาวิลเลียนของประเทศอื่นบ้าง คงเป็นแรงท้าทายใหม่ๆ ของเราจริงๆ เพราะเราเป็นคนไทยก็มองเห็นศักยภาพ เรารู้ว่าตรงไหนเล่นได้ ตรงไหนไม่ควรมาเล่น ตรงไหนจุดขายของประเทศไทยเรามองเห็นภาพชัดเจน แต่ถ้าเราทำให้สิงคโปร์เราก็ต้องมองโจทย์อีกแบบหนึ่ง

"วันหนึ่งถ้าเห็นอินเด็กซ์ฯ ไปทำพาวิลเลียนต่างชาติก็อาจไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะเป็นสเต็ปที่เรามองไว้อยู่แล้ว จริงๆ หลายๆ ครั้งเราก็พยายามอยู่แต่ก็มีหลายเงื่อนไข แม้กระทั่งเอ็กซ์โปที่มิลาน ประเทศอิตาลี เราชัดเจนเลยว่าไม่ทำไทยแลนด์ พาวิลเลียน ด้วยเหตุผลทางการเมือง ตรงนั้นชัดเจน ซึ่งเราก็เกือบได้ทำศาลาประเทศอื่นอยู่เหมือนกัน แต่ด้วยเงื่อนไขชาตินิยมในประเทศของเขาทำให้คลาดกัน ทั้งที่เขาก็อยากได้เราไปทำ แต่เขาก็ตอบคนของเขาไม่ได้ด้วยเงื่อนไขของความเป็นชาตินิยมว่า ทำไมต้องเลือกบริษัทต่างชาติ คือตั้งแต่การออกแบบเขาชาตินิยม อย่างไรก็ต้องเอาของเขา คือก่อสร้างเขาไม่ได้มีปัญหา

"การข้ามกำแพงชาตินิยมเป็นไปได้ยาก แต่ประเทศที่มีความเป็นไปได้สูงก็คือสิงคโปร์ เพราะเขาจะเปิดกว้างรับเอาสิ่งที่ดีที่สุด แล้วเขามีงบประมาณมากพอที่จะยอมจ่ายได้ทุกอย่าง

“ตลาดงานอีเวนต์มันถูกแช่แข็งมานานแล้ว ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีทั้งแช่แข็งอยู่กับที่ มีทั้งตกลงมา มีทุกอย่างครบหมด ถ้าไม่มีระเบิดก็น้ำท่วม ปัญหาการเมืองเต็มไปหมด ถ้าเราไม่รู้จักปรับตัวออกมาหาตลาดใหม่ๆ ในระดับนานาชาติบ้างเราก็เหนื่อย เราอยู่มา 27 ปีแล้ว มันคงอยู่ที่เดิมไม่ได้ ก็คงต้องหาตลาดอื่น เพราะเรามีทั้งประสบการณ์ ทั้งแบรนด์ ทั้งโนว์ฮาวอะไรต่างๆ ครบหมด เป็นเวลาของเราที่ต้องออกมาข้างนอกแล้วล่ะ แล้วเราก็เชื่อว่าอินเด็กซ์ฯ เป็นต้นแบบไทยแลนด์ 4.0 ของจริง ที่จะออกไปขายความครีเอทีฟหรือขายนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ได้เต็มรูปแบบจริงๆ

“เราก็ยังมีปัญหากับวิธีคิดของภาครัฐที่เขาไม่ได้สนับสนุนเรา อีกอย่างคือประเทศอื่นเขาจะให้เครดิตคนทำ เดินเข้าพาวิลเลียนอังกฤษตอนออกมามีการประกาศเลยว่าใครเป็นคนสร้างสรรค์พาวิลเลียนนี้ ออกแบบโดยใคร ใครทำมัลติมีเดีย บริษัทก่อสร้างเป็นใคร บอกหมด เพราะเขามองว่าในอนาคตเผื่อมีคนมาจ้างคนหรือบริษัทเหล่านี้ เงินก็เข้าประเทศ แต่ของเราห้ามเด็ดขาด กรุณาไปอยู่หลังเขา ไม่ต้องมีเครดิต ไม่มีความเข้าใจในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา มองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ภาคเอกชน เป็นวิธีคิดที่เก่ามาก

“ในขณะที่ประเทศแต่ละประเทศ บริษัทเอกชนมาพรีเซนต์ในพาวิลเลียนของแต่ละประเทศกันเลย ประเทศทั้งประเทศไม่ได้แปลว่าขับเคลื่อนโดยรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ประเทศขับเคลื่อนโดยทุกภาคส่วน แต่เราเอาโอท็อปไปขายได้ ถามว่าดับเบิ้ลสแตนดาร์ดไหม แล้วถามว่าโอท็อปกับงานครีเอทีฟแบบนี้ มูลค่ามันต่างกันเยอะ แทนที่เราจะไปผลักดันแบรนด์ที่มีโพรเทนเชียลหรือมีศักยภาพอยู่แล้วพร้อมที่จะพัฒนาไปข้างหน้า กลับไปผลักดันอะไรที่มันเหนื่อยมาก รัฐบาลมีวิธีการคิดในแบบที่ผมไม่เข้าใจ ผมไม่ได้ต้องการอะไรเลย ขอเพียงมีเครดิตแค่ 1 หน้า

“เศรษฐกิจสร้างสรรค์เน้นความเป็นครีเอทีฟ ผมทำมาก่อนที่จะเป็นนโยบายของรัฐบาลเสียอีก แต่เราไม่เคยรอ ถ้าเรารอก็ต้องมานั่งโวยวายเหมือนกับทุกคน เราก็ดิ้นรนออกมาอยู่ของเราได้ แต่ถ้าวันไหนที่มีการสนับสนุนเราก็คงเหมือนติดจรวด แม้รัฐบาลมีนโยบายออกมาแล้ว แต่ในส่วนกลไกของการปฏิบัติงานยังไม่ขยับ ไม่มีความเข้าใจด้วยซ้ำว่าการที่เราผลักดันให้บริษัทอย่างอินเด็กซ์ฯ ออกไปสู่ตลาดโลกได้ มันคือ "แบรนดิ้งของประเทศไทย" เลย มันเป็นความภูมิใจ เพราะคุณยังภูมิใจและชื่นชมกับนักกอล์ฟไทยที่เป็นมือ 1 ของโลก มันก็เป็นแบบเดียวกัน

“หน่วยงานที่เกี่ยวกับการสร้างฐานและองค์ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นใหม่ของไทยทั้งหลาย ผมบอกว่ามันยากที่จะทำอะไรให้เกิดแบบนี้ แต่ผมมองว่าเป็นจุดที่ดีเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่ต้องใช้เวลา ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยถูกหน่วยงานเหล่านี้เชิญไประดมความคิดเลย เขาเห่อฝรั่งกันเหลือเกิน ต้องเชิญฝรั่งมา คนไทยชอบแบบนี้ต้องไปดังในต่างประเทศก่อนถึงจะเห็นคุณค่า ไม่เข้าใจว่าหน่วยงานเหล่านี้ไปจ้างฝรั่งมาแล้วแพงๆ ทั้งนั้น ถามว่าผลงานของฝรั่งเหล่านี้คืออะไร ขณะที่ผมไปรบในงานระดับโลก ด้วยเงินที่น้อยกว่าทุกอย่างถูกจำกัดทั้งหมด เทียบง่ายๆ กับหนัง อย่างหนังฮอลลีวู้ดแค่เอ่ยชื่อผู้กำกับ ดาราออกมา คนก็ต่อแถวดูกันแล้ว แบรนด์มันชัด

“เรารบยากกว่าเยอะ ออกแรงเยอะมาก จ้างฝรั่งแพงๆ มาพูด มาทำงาน แต่กับคนไทยแล้วใช้ฟรี นี่คือประเทศไทย บอกสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์แต่ไม่เคยยอมจ่าย แต่ถ้าเป็นฝรั่งแล้วเต็มที่ทุกอย่างเลย ทุกหน่วยงานต้องเห็นความสำคัญว่าคนที่มีความคิดสร้างสรรค์คุณต้องจ้างเขา เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า คุณต้องยอมจ่าย ไม่งั้นเราจะทำให้คนที่มีคุณภาพแบบนี้เป็นไอดอลได้อย่างไร คนที่มีความคิดสร้างสรรค์เป็นที่ประจักษ์เป็นแบรนดิ้งแล้วไม่เคยโปรโมท ไม่เคยที่จะเรียกใช้ หรือไม่ยอมแม้กระทั่งจ่ายเงินเขา ผมทำงานให้รัฐบาลฟรีไม่รู้กี่โปรเจ็กต์แล้ว ฟรี แล้วเอาไปใช้บ้างไม่ใช้บ้าง

“เอาง่ายๆ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ถ้าคุณอยากได้คุณต้องจ่ายก่อน แล้วต้องสร้างให้มีไอดอลว่ากว่าที่เขาจะประสบความสำเร็จเขาผ่านมาขนาดไหน แต่คุณเลือกที่จะจ้างฝรั่ง ถามว่าฝรั่งที่เอามาเก่งมาจากไหน ถ้าเป็นแบบนี้ไม่มีทางประสบความสำเร็จ เพราะไม่เคยเห็นว่าอาชีพครีเอทีฟหรือการสร้างสรรค์มีคุณค่ากับสังคมกับประเทศชาติ เราต้องปรับกระบวนทัศน์และทัศนคติกันใหม่ทั้งระบบ แล้วปล่อยให้ภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อน

“ผมมั่นใจว่าอินเด็กซ์ฯ มีมูลค่าในตลาดโลกแล้ว โดยที่เขามาหาเราเอง โดยไม่ต้องเสนอตัว เรามีอะไรพิเศษในมุมมองของเขา จริงๆ ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ถ้าบอกประเทศไทยจะไป 4.0 จริงๆ ต้องให้เกียรติคนทำงานคนคิดก่อน คนครีเอทีฟไม่ต้องเป็นอินโนเวชั่นหรือนวัตกรรมก็ได้ หรือเป็นการร่วมงานกันกับหน่วยราชการด้วยก็ได้  เป็นมุมมองที่เราพยายามจะต่อสู้มาตลอด เป็นการร่วมกันโชว์ศักยภาพของประเทศ ไม่ได้โชว์รัฐบาลหรือหน่วยงานของประเทศไทย

“ไทยแลนด์ พาวิลเลียน ประกอบด้วยภาพของหลายๆ ส่วน เป็นหน้าตาของประเทศที่ขับเคลื่อนไปด้วยกัน เป็นการทำแบรนดิ้งประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วยทุกภาคส่วน เป็นจุดเริ่มต้นที่จะได้เงินจากยุค 4.0 คือให้เกียรติและสนับสนุนคนทำงานสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนประเทศ"