posttoday

สว่าง แก้วกันทา ปั้นอาสาดูแลผู้สูงวัย จาก 1 เป็น 100

08 กรกฎาคม 2560

การก้าวย่างข้ามผ่านแต่ละช่วงวัยขึ้นมาถึงการเป็นประชากรผู้สูงวัย รวมถึงการทำงานกับกลุ่มผู้สูงอายุมาก่อน ทำให้ สว่าง แก้วกันทา

โดย...

 การก้าวย่างข้ามผ่านแต่ละช่วงวัยขึ้นมาถึงการเป็นประชากรผู้สูงวัย รวมถึงการทำงานกับกลุ่มผู้สูงอายุมาก่อน ทำให้ สว่าง แก้วกันทา ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ วัย 70 เข้าใจความต้องการที่ซุกซ่อนอยู่ในใจของสังคมกลุ่มนี้และต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเติมไฟแห่งความหวังให้ลุกโชติช่วงต่อไป

 "ช่วงนั้นผมอายุ 52 ปี ยังไม่เห็นหน่วยงานของคนไทยที่ให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุยากจน ในชุมชน ในชนบทห่างไกล มีแต่องค์การเฮล์พเอจ ที่ให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุยากจนในชนบท แต่เขาจะสนับสนุนหลายประเทศในแถบเอเชีย จึงได้ออกจากองค์การเฮล์พเอจ มาตั้งมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุขึ้นเมื่อปลายปี 2542" สว่าง กล่าว

 สว่าง กล่าวอีกว่า มูลนิธิจัดตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่ยากไร้ด้อยโอกาส จากการที่อยู่ทางเหนือจึงมุ่งดูแลผู้สูงอายุทางภาคเหนือตอนบนและพื้นที่ใกล้เคียง มาวันนี้มีโครงการพัฒนางานผู้สูงอายุ ครอบคลุม 4  ด้านหลัก คือ การส่งเสริมความมั่นคงทางรายได้ การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายภาคประชาสังคมด้านงานพัฒนาผู้สูงอายุ การลดความเสี่ยงทางภัยพิบัติ และงานทางด้านการดูแลสุขภาพ

 "สำหรับงานทางด้านการดูแลสุขภาพ จะดูแลผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตอยู่คนเดียว ฐานะยากจน โดยเริ่มแรกทางมูลนิธิจะออกไปพูดคุยกับทางเทศบาลและชุมชน เพื่อหาข้อมูลว่าบ้านหลังไหนมีผู้สูงอายุตามเงื่อนไข แล้วจะเข้าไปดูถึงบ้านพร้อมกับพูดคุยเพิ่มเติมเพื่อให้แน่ใจว่าผู้สูงอายุรายนั้นต้องการความช่วยเหลือจริงๆ หลังจากนั้นได้มองหาอาสาสมัครเข้ามาร่วม เพราะจำนวนผู้สูงอายุที่ต้องการได้รับการดูแลมีจำนวนมากเพื่อสร้างสังคมช่วยเหลือกันและกัน"

 ในช่วงแรก สว่าง บอกว่ามีอาสาสมัครจิตอาสาดูแลผู้สูงวัยเพียง 2 คนเท่านั้น แต่หลังจากคนในชุมชนเห็นมูลนิธิที่เป็นคนนอกเข้าไปช่วย ทำให้เกิดการตระหนักถึงความสำคัญในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันจึงเข้ามาร่วมเพิ่มขึ้น โดยไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ เพราะทางมูลนิธิได้แจ้งไว้ตั้งแต่แรกแล้ว

 "การเข้ามาของอาสาสมัครจึงเข้ามาด้วยใจ ซึ่งมาจากหลากหลายอาชีพ ทั้งแม่ค้า ข้าราชการเกษียณ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ปัจจุบันมีอาสาสมัครรวม 110 คน ในการดูแลผู้สูงอายุ 220 คน ซึ่งเฉลี่ยแล้วอาสาสมัคร 1 คน ดูแลผู้สูงอายุ 2 คน ซึ่งส่วนใหญ่อาสาสมัครจะเป็น อสม.ที่ได้รับการฝึกอบรมด้านสุขอนามัยพื้นฐานมาแล้ว และ อสม.จะทราบข้อมูลของชุมชนดีว่าผู้สูงอายุรายไหนต้องการการดูแล ทำให้ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์

 "อาสาสมัครมีทั้งคนหนุ่มสาวและคนสูงวัย ที่ยังแข็งแรง จะให้การดูแลผู้สูงวัยด้วยการไปเยี่ยมเยียนถึงบ้าน คอยช่วยเหลือดูแลเรื่องอาหารการกิน การดูแลที่อยู่อาศัยให้ถูกสุขอนามัย หากเกิดเจ็บป่วยก็จะพาไปโรงพยาบาล ซึ่งอาสาสมัครจะให้การฝึกอบรมการดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น โดยได้รับความร่วมมือจากวิทยากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลต่างๆ และการฝึกอบรมด้านการพูด กิริยาท่าทางที่ต้องปฏิบัติกับผู้สูงอายุ เช่น การดูแล และการป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า ที่จะต้องคอยสังเกตพฤติกรรม อาการที่มีแนวโน้มจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้า รวมถึงทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในเชิงวิชาการ ไม่ว่าจะเป็น ประกันสังคม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  (สปสช.) เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลรักษาตามสิทธิ"  

 สว่าง กล่าวว่า นอกจากจะดูแลด้านสุขภาพ ยังได้ทำการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีรายได้มากขึ้น ด้วยการพัฒนางานฝีมือที่ทำอยู่แล้วในชุมชน เช่น การทำเครื่องจักสาน โดยให้การสนับสนุนทุนให้แก่ผู้สูงอายุที่ จ.เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงราย รวมถึงการสนับสนุนการทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ที่เป็นที่ต้องการของผู้สูงอายุในเมืองและชนบท แต่จากการที่มูลนิธิมีเงินทุนจำกัด จึงได้แนะนำให้ผู้สูงอายุรวมตัวกันเป็นอาสาสมัคร และไปจดทะเบียนกับสำนักพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ เพื่อให้มีสิทธิของทุนจากเทศบาลในการนำมาสร้างอาชีพ ส่งเสริมสุขภาพ เพื่อความยั่งยืนในการสร้างรายได้ต่อไป

 “ทางภาครัฐมีกองทุนผู้สูงอายุ แต่คนต่างจังหวัดเขียนโครงการของเงินทุนไม่เป็น ซึ่งเรากำลังสอนให้เขียนโครงการ เพื่อขอทุนจากทางการ ที่มีโครงการให้ทุนกับผู้สูงอายุในการนำไปประกอบอาชีพ”

 สว่าง เล่าต่อว่า มูลนิธิก็ได้ทุนจากอังกฤษ มาทำเรื่องลดภาวะความยากจนในกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งจากเฮล์พเอจ อินเตอร์เนชั่นแนล และต่อมาขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากมูลนิธิพรูเด็นซ์ และบริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย)

 "บริษัท พรูเด็นเชียล จะสนับสนุนด้านการดูแลผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ เพราะทางภาคเหนือจะมีเหตุแผ่นดินไหว ภูเขาถล่ม เช่น ที่เชียงราย มีแผ่นดินไหว และที่เชียงใหม่มีภัยพิบัติภูเขาถล่ม โดยการเข้าไปให้ความรู้และวิธีป้องกันความเสียหายจากภัยพิบัติ และการเตรียมความพร้อมเมื่อเกิดภัยพิบัติ เพื่อลดความเสียหายให้ได้มากที่สุด เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นก็จะเข้าไปช่วยปรับปรุงอาคารบ้านเรือนให้กับผู้สูงอายุเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติให้เร็วที่สุด"