posttoday

บ๊วย-แบ๊งค์ และ ‘ดีเจอนี่’

08 กรกฎาคม 2560

ดูไปก็ยิ้มไป ลุ้นไป ตื่นเต้นไป เหมือนกับได้ไปพร้อม ดีเจอนี่ (Dee Journey) คลิปวิดีโอพาเที่ยวของ บ๊วย-ภคมน กิจสิรภัทร

โดย...รอนแรม ภาพ : ดีเจอนี่

 ดูไปก็ยิ้มไป ลุ้นไป ตื่นเต้นไป เหมือนกับได้ไปพร้อม ดีเจอนี่ (Dee Journey) คลิปวิดีโอพาเที่ยวของ บ๊วย-ภคมน กิจสิรภัทร พิธีกรสาวสายลุยที่จะพาไปสนุกและเก็บเกี่ยวสาระความรู้ระหว่างทางกับ แบ๊งค์-สุทธิพงษ์ วุฒิชาติ คนเบื้องหลังที่เป็นทั้งตากล้องและคู่เดินทางที่จะพาทุกคนไปเปิดประสบการณ์เหมือนได้ไปเที่ยวเอง

 บ๊วย เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า ทั้งคู่เริ่มจากการทำรายการท่องเที่ยวในช่องโทรทัศน์ โดยมียูทูบเป็นแบ็กอัพ และมีเพจเฟซบุ๊กเป็นพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้ติดตาม แต่ปรากฏว่ามีคนติดตามในโซเชียลมีเดียมากขึ้นๆ ประกอบกับช่วงหยุดทำรายการป้อนโทรทัศน์ ทั้งคู่จึงหันมาพัฒนาทั้งสองช่องทางให้เป็นรูปเป็นร่างในนาม ดีเจอนี่

 "เราสองคนทำวิดีโอท่องเที่ยวมาประมาณ 3 ปี แต่เพิ่งทำดีเจอนี่ในแบบของยูทูบเบอร์เมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา โดยคลิปวิดีโอที่ทำให้คนรู้จักเราน่าจะเป็นตอนที่พาไปเปิดสวนน้ำวานา นาวา ซึ่งมีเด็กๆ เข้ามาดูเยอะมากจนเรารู้สึกว่าสื่อออนไลน์มันเป็นไปได้"

 ทว่า รูปแบบการทำวิดีโอในโลกออนไลน์ต่างจากสื่อโทรทัศน์อย่างสิ้นเชิง อย่างเรื่องความยาวที่ผู้ชมจะดูประมาณ 10-15 นาที เรื่องราวกระชับ เน้นความสนุก และต้องมีตอนใหม่ๆ ออกมามากกว่า 1 ครั้ง/สัปดาห์ ให้ผู้ชมอยากติดตามไปเรื่อยๆ โดยบ๊วยจะเป็นพิธีกร คนตัดต่อวิดีโอ และแอดมินหลักที่ดูแลเพจเฟซบุ๊ก ส่วนแบ๊งค์จะเป็นตากล้อง ช่างภาพนิ่ง และโปรดิวเซอร์

 "คอนเซ็ปต์การท่องเที่ยวของเราในตอนแรกเลยมันขึ้นอยู่กับงบประมาณ เช่น นั่งรถไฟไปเที่ยวตรัง เล่นสวนน้ำ เล่นเครื่องเล่นที่สวนสนุก ทำให้คนที่ดูเรามีทั้งวัยรุ่น เด็ก และครอบครัว" 

บ๊วย-แบ๊งค์ และ ‘ดีเจอนี่’

 แบ๊งค์กล่าวเสริม

 "จนตอนนี้มีคนรู้จักเรามากขึ้น ทำให้มีสปอนเซอร์และงานอีเวนต์ต่างๆ ติดต่อเข้ามา แต่เราก็พยายามบาลานซ์ระหว่างงานกับสถานที่ที่อยากไปเองแบบครึ่งๆ"

 ปัจจุบันในยูทูบ Dee Journey ดีเจอนี่ แบ่งเนื้อหาเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ดีเจอนี่ พาเที่ยวเมืองนอก ดีเจอนี่ พาเที่ยวเมืองไทย ดีเจอนี่ พาเที่ยวสวนน้ำ สวนสนุก และดีเจอนี่ พาล้ำ

 แต่อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในออนไลน์ต้องปรับเปลี่ยนไปตลอด อย่างเมื่อปีที่แล้ว (2559) คนในเพจเฟซบุ๊กชอบดูภาพเป็นชุดๆ แต่ปีนี้ชอบดูภาพเดียวแต่ปัง หรือเมื่อก่อนคนชอบอ่านรีวิวการเดินทางแบบละเอียดยิบ แต่ตอนนี้คนชอบอ่านโพสต์สั้นๆ หากสนใจจะตัดสินใจคลิกลิงค์เข้าไปอ่านต่อเอง

 "เดิมทีบ๊วยมีสคริปต์ในการดำเนินรายการ" เธอเล่าต่อ

 "แต่ปรากฏว่ามันทำให้เราเล่นแข็ง ไม่เป็นธรรมชาติ เลยลองพูดแบบด้นสด ซึ่งทำให้เป็นตัวของตัวเองมากกว่า และทำให้คนที่ดูเรารู้สึกว่าเขาได้ไปเที่ยวด้วยจริงๆ เพราะเราพูดอย่างที่เห็น อย่างที่คิด ออกมาจากความรู้สึกจริง และสถานที่ที่ไปก็จะไม่กำหนดตายตัว เพราะความสนุกของการเล่าเรื่องคือการไปเห็นสิ่งตรงหน้า เหมือนกับคำว่า ดีเจอนี่ ก็คือดีที่ไปเจอนั่นเจอนี่"

 บ๊วย ยังกล่าวต่อว่า การเป็นยูทูบเบอร์หรือผู้ผลิตวิดีโอในยูทูบเป็นสิ่งที่ท้าทายมากกว่าเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก เพราะใครๆ ก็สามารถใช้เงินกระตุ้นยอดไลค์ยอดวิวในเฟซบุ๊กได้ ทำให้คนกดไลค์ง่ายและอันไลค์ง่ายเช่นกัน ผิดกับในยูทูบที่ผู้ชมต้องเสิร์ชหา และกว่าจะยอมกดติดตาม (Subscribe) นั้นยาก แต่พอติดตามแล้วครั้นจะกดยกเลิกการติดตามก็ยากตามไปด้วย

 "คนที่กดติดตามเราในยูทูบจะเป็นคนที่ชอบเราจริงๆ เพราะกว่าจะได้ยอดวิวมาได้คนดูต้องดูนาน 30 เปอร์เซ็นต์ของเวลาทั้งหมด และถ้าเป็นไอพีเดิมที่เคยดูแล้วยอดวิวก็จะไม่ขึ้น ทำให้เราภูมิใจกับยอดวิวในยูทูบมาก จากนั้นก็ให้เพจเฟซบุ๊กเป็นใบปลิวประชาสัมพันธ์ช่องยูทูบของเราไป" บ๊วย กล่าว และแบ๊งค์ได้เพิ่มเติมทิ้งท้ายว่า ผู้ผลิตเนื้อหาในโซเชียลมีเดียจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อสังคม โด่งดังแบบสร้างสรรค์ และคิดถึงประโยชน์ต่อผู้ชมเป็นสำคัญ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมที่ดี

 ติดตามการเดินทางของทั้งคู่ได้ที่ยูทูบ : Dee Journey ดีเจอนี่ เพจเฟซบุ๊ก : dee journey ดีเจอนี่ อินสตาแกรม : deejourneytv เว็บไซต์ : www.deejourneytv.com และไลน์แอด @deejourney

บ๊วย-แบ๊งค์ และ ‘ดีเจอนี่’