posttoday

สุริพงษ์ ตันติยานนท์ นำวีซ่า...ชำระเงินเปลี่ยนโลก

08 กรกฎาคม 2560

เมื่อกล่าวถึงผู้ให้บริการระบบชำระเงินของโลก เชื่อว่าต้องมีชื่อของวีซ่า อยู่ในอันดับต้นๆ ที่ทุกคนคิดถึง

โดย...ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

 เมื่อกล่าวถึงผู้ให้บริการระบบชำระเงินของโลก เชื่อว่าต้องมีชื่อของวีซ่า อยู่ในอันดับต้นๆ ที่ทุกคนคิดถึง ในฐานะผู้นำของระบบการชำระเงินที่มีเครือข่ายทั่วโลก จำนวนผู้ใช้งานกว่า 3,000 ล้านคน

 ทว่า ในยุคเทคโนโลยีครองโลก ระบบการชำระเงินใหม่ๆ ที่มีจุดเด่นจากความสะดวก รวดเร็ว เพราะตัดคนกลางอย่างแบงก์ออกไป เริ่มเข้ามาแทนที่ แล้วบทบาทของวีซ่า ซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้ให้บริการชำระเงินบัตรจะเป็นอย่างไรต่อไป

 สุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย เป็นคนหนุ่มที่เพิ่งก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งเมื่อกลางปี 2558 แทน สมบูรณ์ ครบธีรนนท์ ที่อยู่ในตำแหน่งมานานถึง 20 ปี เหมาะเจาะกับช่วงเวลาที่โลกเปลี่ยนไปสู่ยุคใหม่พอดี

 สุริพงษ์ ยอมรับว่า ในช่วงก่อนรับตำแหน่งก็พอเห็นเค้าลางแล้วว่าเรื่องดิจิทัลเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องการชำระเงินแบบดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งส่วนตัวเคยมีประสบการณ์ทั้งด้านบัตรเครดิต ดิจิทัลแบงก์กิ้ง และลูกค้ารายย่อย จึงกลายเป็นความลงตัวกับงานนี้พอดี

 คำถามที่พบบ่อยที่หลายคนอยากรู้จากวีซ่า ว่า “เมื่อโลกเปลี่ยน วีซ่าพร้อมขนาดไหนที่จะปรับ?” หลายคนอาจไม่รู้ว่าวีซ่าได้ปรับตัวแล้ว หลังจากประเมินทิศทางโลกการเงินมานานแล้วว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

 ตอนนี้วีซ่าได้เปิดแพลตฟอร์มแล้ว ปรับตัวเองจากที่เคยปิดไม่ให้คนอื่นมายุ่งกับนวัตกรรม แต่ถ้าจะอยู่ในรูปแบบนั้นอาจเป็นระเบิดเวลาทำลายตัวเอง จากนี้จะเปิดหมดให้ทุกคนเข้าร่วมภายใต้ภารกิจหลักคือ “เป็นช่องทางการชำระเงินที่ดีที่สุด” ไม่ว่าการชำระเงินจะพัฒนาไปทางใด วีซ่าพร้อมที่จะสนับสนุนทุกทาง

 “ในอดีตวีซ่ามีแผนว่าจะเปิดตัวนวัตกรรมใหม่กี่ครั้งต่อปี แต่คราวนี้เรารู้แล้วว่าไม่ทันโลกแล้ว สตาร์ทอัพกำลังมา และลูกค้าของวีซ่าก็เริ่มมีความต้องการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการชำระเงินหลายแบบ ถ้าจะสนับสนุนในสิ่งที่ทุกคนต้องการเกิดขึ้นได้จริง วีซ่าก็ต้องเปิดเท่านั้น”  

 วีซ่าได้เปิดตัว Visa Developer Platform แพลตฟอร์มที่ให้ใครก็ได้ไปใช้ โดยสามารถไปที่เว็บไซต์และลงทะเบียนเป็นนักพัฒนา เข้าไปดูว่าวีซ่ามี API อะไรบ้างที่สามารถนำไปพัฒนาแอพพลิเคชั่นของตัวเอง แนวทางการแบ่งปันนวัตกรรมของวีซ่า สุริพงษ์ ชี้ว่านับเป็นการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจของวีซ่าโดยสิ้นเชิง

 "ถามว่าอนาคตของการชำระเงินจะไปทางไหน คงไม่มีใครตอบได้ และไม่มีใครรู้คำตอบ ถ้าใครบอกว่ารู้แน่ว่าไปทางไหน น่าเป็นห่วงว่าคงจะมีโอกาสพลาดเยอะ แต่ถึงแม้เราจะไม่รู้ว่าไปทางไหน ที่แน่ๆ คือเรารู้ตัวว่าเราปรับแล้ว และพร้อมไปทางใดก็ได้ที่ดีที่สุด ซึ่งสิ่งนี้สำคัญกว่า เพราะเมื่อเราปรับฐานตัวเองแล้ว ลูกค้าที่มีมากมายทั่วโลก ทั้งสถาบันการเงิน ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ก็สามารถนำไปใช้หรือพัฒนาต่อยอดจากเราได้"

 สุริพงษ์ บอกต่อว่าเทคโนโลยีชำระเงินใหม่อาจทำลาย (Disruptive) ธุรกิจชำระเงินดั้งเดิมอย่างวีซ่าหรือไม่นั้น ในมุมวีซ่าได้หันกลับไปดูว่าศักยภาพของตัวเองอยู่ที่ไหน

 "ความจริงวีซ่าเป็นบริษัทฟินเทคมา 50 ปีแล้ว ตั้งแต่ต้นเราก็เป็นเทคโนโลยีเกี่ยวกับเพย์เมนต์ที่พัฒนามาตลอดทุกปี และยังมีพื้นฐานที่ไม่มีใครเอาไปได้ ทั้งฐานบัตรกว่า 3,000 ล้านใบ ร้านค้าหลายล้านราย และยังสถาบันการเงินกว่าหมื่นแห่งทั่วโลก ความสัมพันธ์กับพันธมิตร

 “ถ้าบอกว่าวันนี้ทุกคนจะเปิดทำธุรกิจหนึ่ง คนอื่นอาจทำได้เพียงขายในเมืองไทย แต่ถ้าเชื่อมโยงผ่านวีซ่า คุณสามารถเชื่อมต่อคนได้อีก 3,000 ล้านคนทั่วโลก ขุมพลังของเครือข่ายที่สร้างมา 50 ปีนี่เอง คือคุณค่าของวีซ่าที่ยังอยู่ ที่สามารถเสริมอนาคตของคอมเมิร์ซได้อยู่แล้ว”  

 สุริพงษ์ เล่าประสบการณ์จากสหรัฐอเมริกา โซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ของโลกมีความเชื่อมั่นที่จะเชื่อมโยงการชำระเงินกับเน็ตเวิร์กอย่างวีซ่า เพราะเชื่อมวีซ่าอย่างเดียวสามารถรองรับการชำระเงินได้ทั้งโลกทันที เร็วกว่าที่ต้องไปสร้างพันธมิตรขึ้นเองทีละตลาด ลูกค้าทีละราย

 "ปัจจุบันวีซ่าเป็นพันธมิตรกับระบบชำระเงินแนวใหม่ของโลกเกือบทั้งหมด เช่น แอปเปิ้ลเพย์ ซัมซุงเพย์ ซึ่งการที่ยักษ์ใหญ่ของโลกเลือกมาเชื่อมต่อกับเรา นั่นหมายถึงว่าเขาต้องเห็นคุณค่าของเครือข่ายอย่างซัมซุงเพย์ เชื่อมทีเดียวได้ทุกธนาคาร ลูกค้าทั้งหมดในไทยสามารถใช้ได้ ตอนนี้มีพันธมิตรอย่างน้อย 5 ธนาคาร เมื่อใดที่ทุกธนาคารทำระบบให้พร้อม ยิ่งเพิ่มมูลค่าได้อีกมหาศาล

 “เราเห็นโมเดลใหม่คือ Collaborate ผู้รับชำระเงินรายใหม่ที่ก้าวขึ้นมาต้องการเอาคนเก่งๆ เจ๋งๆ มาเชื่อมกับสินค้าหรือแอพให้ได้ผลลัพธ์การบริการที่ดีที่สุด แทนที่จะคิดว่าจะฆ่าคนอื่นให้หมดแล้วขายเอง นั่นไม่ใช่โมเดลที่เราเห็น ส่วนวีซ่าเองมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าใครจะทำอะไรเกี่ยวกับเพย์เมนต์ คำว่า visa จะโผล่ขึ้นมา เพราะบัตรวีซ่าในไทยมีหลายสิบล้านใบ ร้านค้าหลายแสนราย”

สุริพงษ์ ตันติยานนท์ นำวีซ่า...ชำระเงินเปลี่ยนโลก

 สุริพงษ์ ยังกล่าวถึงบทบาทวีซ่านอกจากความเชื่อมโยงเครือข่ายแล้ว การการันตีเรื่องความปลอดภัยเป็นจุดแข็งของวีซ่า ที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับ 1 จากการเป็นพื้นฐานล่างสุดของการให้บริการชำระเงินที่ต้องมี เมื่อมั่นใจว่าฐานล่างแข็งแรงแล้ว ก็ยังมีเครื่องมือข้างบนที่เปิดกว้างให้ใช้ ให้พัฒนาสร้างโซลูชั่นใหม่ๆ

 "วีซ่ามีทีมดูแลความปลอดภัยการชำระเงินที่ใหญ่มาก เพราะต้องรองรับความเชื่อมั่นของลูกค้าทั่วโลก ขณะเดียวกันได้เป็นผู้นำในการทำเรื่องใหม่ๆ ด้านความปลอดภัย เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องกฎต่างๆ จากประสบการณ์ที่ทำมา 50 ปี พร้อมที่จะให้คำแนะนำพันธมิตรในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับระบบความปลอดภัย

 “หากเกิดความผิดปกติหรือการโจรกรรมขึ้น 1 จุด ทั้งระบบของวีซ่าจะรู้ทันทีว่าร้านค้าใดมีธุรกรรมผิดปกติเกิดขึ้น ส่วนบัตรใดที่ไปใช้ร้านค้านี้ต้องแจ้งเตือนยังไง มีขั้นตอนดำเนินการชัดเจน เช่นเดียวกับกรณีที่บัตรลูกค้ามีธุรกรรมแปลกๆ เจอป๊อปอัพใน 7 จุด จะมีมาตรการยังไงต่อไป นี่คือหน้าที่ของเน็ตเวิร์กที่เราคอยดูแล ไม่ใช่เป็นแค่ถนนให้วิ่งผ่าน”

 นอกจากนี้ วีซ่ามีฐานข้อมูลด้านการชำระเงินที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่ง สุริพงษ์ ชี้ว่าทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างแม่นยำ

 "นี่คืออีกหนึ่งคุณค่าของวีซ่าที่มีต่อพันธมิตร ซึ่งผู้บริโภคทั่วไปคงมองไม่เห็นว่าหลังบ้านของระบวีซ่าแข็งแกร่ง เป็นเหตุผลที่สถาบันการเงินยังไว้วางใจเครือข่ายของวีซ่าอยู่ เราช่วยลูกค้าทุกเรื่อง ไม่ต้องไปนึกถึงเรื่องทำมาร์เก็ตติ้ง เอาแค่เรื่องหลักว่าทำไมผู้ถือบัตรถูกปฏิเสธรับบัตรทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด เราตรวจสอบพบว่าอาจเกิดจากธนาคารนั้นมีเกณฑ์บริหารความเสี่ยงที่มันล้าหลัง ทำให้ลูกค้าเสียประสบการณ์ เราก็ไปแนะนำธนาคารนั้นถึงความผิดปกติ พร้อมแนะนำให้แก้ไขจนสามารถอนุมัติลูกค้าได้”

 ก้าวต่อไปของระบบการชำระเงินไทยจะพัฒนาอย่างไร? สุริพงษ์ มองว่าต้องให้ทุกคนเห็นภาพร่วมกันว่าถึงเวลาที่ต้องยกระดับทั้งหมด ไม่ใช่แค่มุ่งลดใช้เงินสดแล้วปั๊มบัตรออกมา แต่ยังมีมุมอื่นที่ต้องดูแล เช่น หลักเกณฑ์ หรือกฎหมาย หากยังล้าหลังจนทำให้ผู้ใช้บัตรถูกปฏิเสธการชำระเงินบ่อยครั้ง หรือชำระเงินผิดพลาด เพียงเท่านี้ก็ทำให้คนไม่อยากใช้แล้ว

 "วีซ่ามีบทบาทสนับสนุนการพัฒนาระบบชำระเงินของไทย โดยเฉพาะในด้านการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ซึ่งทุกวันนี้คอยอัพเดทตัวเลขการชำระเงินและนวัตกรรมใหม่ๆ ความเป็นไปของโลก ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสม่ำเสมอ ทำงานร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ให้ข้อมูลเรื่องอี-คอมเมิร์ซ ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการสนับสนุนเอสเอ็มอีพัฒนาขายสินค้าออนไลน์ และยังมีความร่วมมือกับอีกหลายภาคส่วน เช่น ร่วมกับภูเก็ตทำสมาร์ทซิตี้"

 ส่วนบทบาทของวีซ่าภายใต้ภาพรวมการชำระเงินโลกที่เปลี่ยนไป นอกจากผู้นำด้านเครือข่ายการชำระเงิน การให้บริการโครงสร้างพื้นฐานที่มีความปลอดภัยสูงสุดแล้ว สุริพงษ์ ขยายภาพให้เห็นว่ายังมีส่วนร่วมในการพัฒนานวัตกรรมใหม่อีกด้วย

 "ขณะนี้มีอยู่หลายโปรเจกต์กับพันธมิตรที่ใหญ่ๆ คือ พันธมิตรรถยนต์สร้างสมาร์ทคาร์ เพราะเทรนด์ Internet of Things มาแน่ ที่สามารถซื้อสินค้าบริการที่ใดก็ต้องชำระเงินได้ทุกที่ เป้าหมายวีซ่าจากนี้คือ ให้ทุกคนเห็นว่าเราสำคัญ แต่ตอนนี้ต้องให้ทุกคนเห็นภาพว่าเรากำลังปรับเปลี่ยน และอยากชวนให้ทุกคนมาพัฒนาโซลูชั่นเจ๋งๆ ด้วยกัน

 "สำหรับวีซ่า ประเทศไทย อยากจะสนับสนุนให้โปรเจกต์ใหม่ของไทย สามารถขยายสเกลไปใช้เมืองนอกได้ พันธมิตรในไทยมีคนเก่งเยอะมาก เวลามาทำโปรเจกต์รู้เลยว่าไอเดียไม่ใช่แค่ในประเทศ แต่ไปได้ทั่วโลก และวีซ่าเชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้ประสบความสำเร็จได้ระดับโกลบอล”