posttoday

"โรคซึมเศร้า" ภัยเงียบคุกคามสมอง

02 กรกฎาคม 2560

โดย...ผศ.นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย...ผศ.นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อารมณ์ซึมเศร้าเป็นภาวะอารมณ์ปกติที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ ในชีวิตของมนุษย์ เมื่อมีความเครียด แรงกดดัน ความผิดหวัง การสูญเสียที่เราจัดการไม่ได้มารุมเร้า

แต่ในบางครั้งอาการเครียดอาจรุนแรงจนเป็นกลุ่มอาการที่มีอารมณ์หดหู่ ท้อแท้ซึมเศร้ามาก กินไม่ได้ นอนไม่หลับ จนเข้าข่ายเกิด “ภาวะซึมเศร้า” ที่ชัดเจน หากภาวะซึมเศร้านี้เป็นยาวนานไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้นสักที และอาการเศร้ารุนแรงหนักข้อมากขึ้นทุกวันจนมีผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันหรือมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย นั่นหมายความว่าอาการเครียดเป็นมากจนเข้าข่ายเป็น “โรคซึมเศร้า” แล้ว

การวินิจฉัยโรคซึมเศร้านั้นผู้ป่วยจะต้องมีอาการสำคัญอย่างน้อย 1 ใน 2 อย่างต่อไปนี้ คือ มีอารมณ์เศร้าท้อแท้สิ้นหวังที่เป็นเกือบตลอดทั้งวัน หรือมีอาการสิ้นยินดี หมดความสุขในชีวิตไม่ว่าจะไปทำอะไรที่ก่อนนี้เคยชื่นชอบมาก่อนก็ไม่มีความสุขอย่างเดิม

ร่วมกับการมีอาการอื่นๆ ต่อไปนี้อีกอย่างน้อย 4 ใน 7 อย่างต่อไปนี้ ได้แก่ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด นอนไม่หลับ หรือหลับแล้วตื่นกลางดึก รู้สึกเหนื่อยง่าย ทำอะไรนิดหน่อยก็หมดแรง มีท่าทีเซื่องซึม แยกตัวโดดเดี่ยว มีความรู้สึกตัวเองไม่มีค่าหรือโทษตัวเอง มีสมาธิความจำไม่ดีและหลงลืมง่าย มีความคิดไม่อยากอยู่หรืออยากฆ่าตัวตาย เป็นต้น

โดยอาการต่างๆ เหล่านี้เป็นติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

ทั้งนี้ โรคซึมเศร้า จะมีความหลากหลายของอาการแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงอายุ เช่น ผู้สูงอายุที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีความคิดวิตกกังวล มีอาการผิดปกติทางร่างกายหรืออาการปวดที่หาสาเหตุไม่พบ มีความจำไม่ดี ได้บ่อยกว่าในผู้ป่วยซึมเศร้าวัยอื่นๆ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีอาการรุนแรงบางรายอาจมีอาการโรคจิตร่วมด้วยได้ เช่น มีความรู้สึกผิดบาปเกินจริง คิดหวาดระแวงหรือมีหูแว่วประสาทหลอนร่วมด้วยได้

ผู้มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามักจะเป็นเพศหญิง มีปัจจัยเสี่ยงด้านพันธุกรรม คือ มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคผิดปกติทางอารมณ์โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า มีประวัติสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักตั้งแต่วัยเด็ก มีบุคลิกภาพที่เคร่งขรึม ยึดความถูกต้องมากเกินไป ขาดความยืดหยุ่น หรืออ่อนไหว ต้องการพึ่งพิงผู้อื่นสูง

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีเรื่องเครียดในชีวิตเป็นเหตุกระตุ้น ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องการสูญเสียพลัดพรากจากคนที่รัก มีความโกรธที่ไม่มีทางระบายออก มีเหตุการณ์ที่ทำให้สูญเสียความภาคภูมิใจในตนเอง เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ

นอกจากนี้ โรคทางกายบางอย่าง เช่น โรคต่อมไทรอยด์ หลอดเลือดสมอง สมองเสื่อม มะเร็งปอดหรือตับอ่อน อาจก่อให้เกิดอาการซึมเศร้ารุนแรงได้ ส่วนโรคซึมเศร้าที่เกิดในผู้สูงอายุนั้นเกี่ยวข้องกับการเสื่อมถอยของสมรรถภาพสมองอันเป็นผลจากความชรา ทำให้สมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการและการแก้ปัญหาฝ่อตามวัย

ร่วมกับมีการอุดตันของหลอดเลือดในสมองที่มักพบในผู้ที่มีโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการดูแลรักษาให้ดีพอ นอกจากนี้ยังพบว่าโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับการรักษาเป็นความเสี่ยงของการเกิดโรคสมองเสื่อม หรือเป็นอาการนำก่อนที่จะมีอาการสมองเสื่อมชัดเจนในเวลาต่อมา

โรคสมองเสื่อมนั้นเป็นภัยต่อสมอง เพราะทุกครั้งที่เราเครียดร่างกายจะผลิตฮอร์โมนความเครียดที่เรียกว่า “คอร์ติซอล” ออกมาเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายพร้อมจะมีพลังในการต่อสู้กับปัญหา

แต่ถ้าหากความเครียดนั้นอยู่ยาวนานฮอร์โมนความเครียดนี้จะเป็นพิษทำให้เซลล์ประสาทสมองตาย โดยเฉพาะสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และความจำที่เรียกว่า “ฮิปโปแคมพัส” มีผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องก็จะมีขนาดของ “ฮิปโปแคมพัส” ฝ่อมากกว่าปกติ และนี่อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โรคซึมเศร้าเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคสมองเสื่อมในภายหลัง

สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามีแนวทางการรักษาหลายวิธี หากอาการไม่รุนแรง ไม่มีความเสี่ยงในการทำร้ายตนเอง การบำบัดด้วยการพูดคุยให้คำปรึกษา การทำจิตบำบัดก็มักจะได้ผลดี แต่ถ้าอาการมากควรได้รับการบำบัดด้วยยารักษาอารมณ์ซึมเศร้า ซึ่งมีหลายขนานให้เลือก โดยยาแต่ละชนิดมีความหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกันไป

ในรายที่มีอาการโรคจิตร่วมกับภาวะซึมเศร้าอาจต้องการยาต้านโรคจิตร่วมด้วย ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงหรือตอบสนองต่อยาไม่ดี มักตอบสนองดีกับการรักษาด้วยไฟฟ้า และหากมีความเสี่ยงสูงในการทำร้ายตัวเอง แพทย์จะแนะนำให้พักรักษาตัวในโรงพยาบาล

แนวทางในการดูแลตนเองนั้น พบว่า การออกกำลังกาย ทำกิจกรรมสันทนาการ พักผ่อนหย่อนใจ การขอคำปรึกษาจากคนอื่นเมื่อมีปัญหาแก้ไม่ได้ เข้าร่วมทำกิจกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมทางสังคม การอ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์ ฟังเพลง การดูแลสุขภาพและโรคประจำตัวที่มีอยู่ให้ดีจะช่วยบรรเทาหรือป้องกันภาวะซึมเศร้าได้