posttoday

พระหีบ-พระโกศจันทน์ กลั่นจากใจช่างศิลปกรรมไทย

28 มิถุนายน 2560

ไม้จันทน์หอม ไม้มงคลที่จะนำไปใช้ประดิษฐ์พระหีบ พระโกศจันทน์ในพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

โดย...วราภรณ์ ผูกพันธ์ ภาพ : ปฏิภัทร จันทร์ทอง, วิศิษฐ์ แถมเงิน

ไม้จันทน์หอม ไม้มงคลที่จะนำไปใช้ประดิษฐ์พระหีบ พระโกศจันทน์ในพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตัดมาจากอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งพระโกศจันทน์หอมมีบทบาทสำคัญในการอัญเชิญพระบรมศพจากพระบรมมหาราชวังไปออกทำพระราชพิธี

ในริ้วขบวนจะเห็นพระโกศทองใหญ่ประดิษฐานอยู่บนพระมหาพิชัยราชรถ ในเวลาที่เชิญพระโกศทองใหญ่ไปยังพระเมรุมาศ หรือท้องสนามหลวงแล้ว ก็มีความจำเป็นที่ต้องเปลื้องพระโกศทองใหญ่ออกเหลือแต่โกศลองในโลหะปิดทอง ซึ่งจะนำตั้งเหนือจิตกาธานและหุ้มปิดด้วยพระโกศจันทน์ที่จะสร้างขึ้นในแต่ละครั้งที่มีพระราชพิธี นำขึ้นประดิษฐานบนเมรุมาศ เพื่อเตรียมถวายพระเพลิงต่อไป

ครั้งนี้พระโกศจันทน์จะมีการตกแต่งฉลุลวดลายอันสวยงาม เพื่อให้สมพระเกียรติยศสูงสุด ดังนั้นพระหีบและพระโกศจันทน์จึงมีความสำคัญมาก ทีมช่างสิบหมู่และอาสาสมัครผู้มีฝีมือด้านฉลุลวดลายจึงร่วมแรงร่วมใจทำถวายอย่างสุดกำลังความสามารถ

พระหีบ-พระโกศจันทน์ กลั่นจากใจช่างศิลปกรรมไทย นายช่างพิจิตร นิ่มงาม นายช่างศิลปกรรมอาวุโส สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร

ศิลปะการฉลุลายวิจิตร

ด้วยเนื้อไม้จันทน์หอมมีกลิ่นหอมอ่อนๆ เนื้อไม้แข็ง มีความละเอียด จึงนิยมนำไม้จันทน์มาสร้างพระหีบและพระโกศพระบรมศพ รวมทั้งใช้ทำฟืนหรือดอกไม้จันทน์ในพิธีพระราชทานเพลิงมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล เพื่อเป็นเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงว่า ไม่ว่าไม้จันทน์หอมจะเป็นหรือตาย ก็ยังคงมีความหอม เปรียบเหมือนมนุษย์ที่ตอนมีชีวิตอยู่นั้นได้ทำความดีไว้มากมาย แต่เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้วความดีนั้นก็ยังคงอยู่

“วัตถุประสงค์หลักของไม้จันทร์หอมคือ นำมาเผาเพื่อดับกลิ่นพระศพ มีมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลสมัยสุโขทัย อยุธยา และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเรื่อยๆ ตามศักดินา พัฒนาความงามมาเรื่อยๆ ดังนั้นพระโกศจันทน์จึงเป็นเครื่องแสดงพระอิสริยยศความงดงามจึงต่างกัน” พิจิตร นิ่มงาม นายช่างศิลปกรรมอาวุโส สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กล่าว

สำหรับขั้นตอนการสร้างพระโกศจันทน์ เริ่มจากการใช้ลวดโครงเหล็กตัดตามรูปร่างและขนาดตามแบบ มาเชื่อมกัน แล้วจึงนำตะแกรงลวดตาข่ายมาบุทับโครงภายนอกเพื่อติดลวดลายไม้จันทน์ โดยจะนำไม้จันทน์ที่เป็นท่อนซอยเป็น

แผ่นบางๆ เพื่อใช้ฉลุลวดลาย ไม่ว่าจะเป็นแผ่นรูปโค้งตามลักษณะลวดบัวต่างๆ รวมทั้งการกลึงไม้เป็นยอดพระโกศ จากนั้นช่างโกรกฉลุจะจัดแยกลวดลายตามขนาดและตำแหน่งต่างๆ แยกชิ้นส่วนแต่ละลาย เพื่อใช้โกรกฉลุลายซ้อนไม้ แล้วจึงนำมาประกอบซ้อนตัวลายแต่ละชนิด แต่ละส่วน ส่วนที่เป็นดอกไม้ไหว ดอกไม้เอว ส่งกลับไปให้ช่างโลหะติดลวดไม้ไหวก่อน แล้วจึงนำชิ้นส่วนทั้งหมดส่งช่างประดับลาย นำไปติดกับโครงด้วยการจัดวางลวดลายที่เหมาะสม สวยงาม น้ำหนักสมดุล และมีความพลิ้วไหว

พระหีบ-พระโกศจันทน์ กลั่นจากใจช่างศิลปกรรมไทย ลายองค์ครุฑประกอบไปด้วยชิ้นไม้ประกอบเป็นลวดลายนับ 53 ชิ้น

นายช่างพิจิตร มือวางอันดับหนึ่งด้านการแกะสลักลวดลายพระโกศ ที่เคยทำงานถวายในพระราชพิธีพระศพมาหลายครั้ง นับตั้งแต่รับราชการตั้งแต่ปี 2524 อาทิ ทำพระโกศจันทน์ถวายสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี มาแล้ว

“ผมมีความสนใจและมีพื้นฐานด้านการฉลุลายอยู่แล้วจึงใฝ่รู้ เคยไปช่วยงานผู้หลักผู้ใหญ่ จนกระทั่งอาจารย์หลายท่านไว้วางใจ สิ่งที่ทำให้ผมสนใจพระโกศจันทน์ เพราะผมมองว่าช่างแต่ละคนมีพื้นฐานความชอบไม่เหมือนกัน บางคนเป็นช่างเขียน ช่างปั้น แต่ช่างฝีมือไม่ค่อยสนใจทำพระโกศจันทน์ อีกทั้งอาจารย์ก็อายุมากแล้ว ผมก็เลยอยากช่วยคอยออกแนวคิดลองซ้อนลายสีไม้ดูซิ อาจจะเกิดความงาม เพราะไม้สีเข้มมีปริมาณไม้มากมายกว่าไม้สีอ่อน ทำอย่างไรที่จะประยุกต์ให้ไม้สองสีทำงานร่วมกันได้สวยงาม” นายช่างฉลุลายพิจิตรเล่า

รูปแบบพระโกศจันทน์สำหรับพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 มีลักษณะมีทรง 8 เหลี่ยม มีฝาปิดมีปลายยอดเป็นทรงมงกุฎ ปลายยอดอีกชั้นเป็นทรงพุ่ม เติมปลายยอดอีกที

“ลักษณะโดยรวมของพระโกศ เป็นลายหน้ากระดาน กระจัง ดอกไม้ไหว องค์พระโกศเป็นลายบัวกลีบขนุน ซึ่งแต่ละลวดลายมีความหมายแฝง ในลายบัวกลีบขนุนจะมีรูปของเทพ เปรียบเทียบพระนารายณ์ เป็นรูปทรงเทพนม ส่วนล่างของหีบมีลวดลายพระนารายณ์ทรงครุฑ เปรียบเทียบเป็นในหลวงรัชกาลที่ 9 เปรียบดังพระองค์ทรงอวตารลงมาเพื่อดูแลปวงชนชาวไทย พระโกศลองในจะมีความใหญ่กว่าที่เคยออกแบบ หรือเคยใช้มา เป็นพระลองในที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น เราได้ย้ายมาทำที่สนามหลวง 7 ก.พ. ทำการดำเนินการแกะ เตรียมไม้ ปะกระดาษลวดลาย แยกชั้นลายและการแกะฉลุ” นายช่างพิจิตร กล่าว

พระหีบ-พระโกศจันทน์ กลั่นจากใจช่างศิลปกรรมไทย

อย่างไรก็ดี พระโกศจันทน์อันงดงามได้รับการออกแบบแบบโดย สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร จัดทำแบบและตำแหน่งลวดลาย เบื้องต้นจะอยู่ราวๆ 30 ลาย อาทิ กุดั่นดอกจอก กระจังฝา กระจังจวน ช่อไม้ไหวบัวถลา ขอบคิ้วบัวถลา อุบะ บัวปากฐาน ฯลฯ ส่วนฐานรองพระโกศหรือพระหีบมีการกำหนดใช้ลวดลายประมาณ 19 แบบ ได้แก่ บัวเชิงฐานหน้า กระดานล่าง เท้านรสิงห์นมสิงห์ บัวปากฐาน ดอกไม้ไหวปากฐาน สังเวียน ช่อก้านแย่งผนัง กระจังรวน ดอกจอกหน้ากระดานบน ช่องไม้ไหว ฯลฯ

“หลังจากที่เราทำการคัดแยกชิ้นลายไม้ได้ประมาณ 3.3 หมื่นชิ้น ไม้เราทำเป็นแผ่นๆ เราทำลายซ้อนไม้ ต้องแยกฉลุไม้ออกมา มีไส้ลาย มีพื้นลายฉลุแล้วแยกออกมาประกอบเป็นชั้นซ้อนกัน เพื่อให้เกิดความหนามีมิติงดงาม เช่น ลวดลายหากสังเกตดีๆ ลวดลายที่เกิดบนหีบพระบรมศพหนึ่งลวดลายจะประกอบไปด้วยไม้หลายๆ ชั้นซ้อนกัน จนเกิดลวดลายงดงามและมีมิติ บางลวดลายอาจซ้อนกันมากถึง 90 ชิ้นแล้วแต่ลวดลาย แสดงถึงความละเอียดวิจิตรบรรจง

เช่น ตัวองค์ครุฑที่ติดอยู่ตรงกลางของพระหีบความสูงประมาณ 8 นิ้ว เราคัดแยกลายออกมาจะมีลายทั้งหมด 53 ชิ้น ประกอบเป็นครุฑหนึ่งองค์ สังเกตเขี้ยวครุฑคือไม้ 1 ชิ้นที่มีความเล็กกว่าหัวไม้ขีดไฟอีก ตาก็ละเอียด ช่างอาสาที่มาร่วมมือร่วมใจกัน 100 คน ล้วนเป็นช่างฝีมือ มือฉลุ 20 คน ประชาชนทั่วไปทำคัดลอกกระดาษทราย 70 คน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามา ตอนนี้เสร็จแล้วประมาณ 50% เรามุ่งมั่นทำพระหีบเป็นฐานมาครอบองค์พระบรมศพอีกที ส่วนพระโกศจันทน์กำลังดำเนินการอยู่มีการเลื่อยฉลุแล้ว” นายช่างพิจิตร กล่าว

พระหีบ-พระโกศจันทน์ กลั่นจากใจช่างศิลปกรรมไทย ช่างฤทธิ์-จักรกริศษ์ สุขสวัสดิ์

จิตอาสาทำถวายด้วยใจ

ช่างฤทธิ์-จักรกริศษ์ สุขสวัสดิ์ วัย 52 ปี ผู้เชี่ยวชาญด้านงานช่างประดับมุก ที่มีจิตอาสามาถวายงานด้านฉลุลายพระโกศถวาย ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อปี 2551 ครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งที่ 2

“ผมมีใจมุ่งมั่นอยากถวายงานในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่ออยากตอบแทนคุณพระองค์ที่มีพระเมตตาต่อปวงชน ผมเป็นคนบางเลน ผมทิ้งงานช่างมุกซึ่งเป็นงานประจำ มาเริ่มเป็นจิตอาสาทำพระโกศตั้งแต่ 7 ก.พ. ผมคิดว่าผมเกิดเป็นคนไทยใต้ร่มพระบารมี ผมคิดว่างานช่างสิบหมู่ได้รับการฟื้นฟูในรัชกาลพระองค์อย่างใหญ่หลวง หน้าที่ของผมในการทำงานถวายครั้งนี้คือ รับหน้าที่โกรกฉลุ หรือฉลุไม้จันทน์ ฉลุตามชิ้นส่วนที่ได้รับมอบหมายมา 19 แบบ

ตอนนี้เราทำฐานพระหีบเสร็จแล้ว คืองานเราแยกเป็นสองส่วนพระหีบกับพระโกศ ผมทำทั้งสองส่วน ผมแกะเสร็จก็ส่งไปประกอบลายโดยช่างสิบหมู่ ในฐานะที่ผมเป็นช่างฉลุลาย ถือเป็นงานที่ละเอียด วิจิตรอลังการมาก เพราะนายช่างที่ออกแบบตั้งใจถวายพระเกียรติแด่พระองค์สูงสุด ลายละเอียดมาก ซับซ้อนมาก จากเดิมซ้อน 3 ชั้น ไม้หนา 3 มิลลิเมตร แต่งานนี้เราใช้ไม้หนาถึง 8 มิลลิเมตร เพื่อความวิจิตรอลังการ ซ้อนลายให้สูงที่สุด งานจึงละเอียดประณีต ซับซ้อน ชิ้นนี้จะใหญ่ที่สุด ลายพลิ้วไหว อลังการที่สุด งานเสร็จจะเป็นการโชว์ลายไม้ โชว์ทักษะการฉลุให้คมให้เนี้ยบทั้งด้านหน้าด้านหลัง โชว์ลายไม้ไม่มีการทาสีอีกแล้ว ขนาดเขี้ยวครุฑเล็กมาก เล็กเท่าไม้ขีดไฟ ลายเครือเถาก็มีความซับซ้อนสวยงามที่สุด”

การถวายงานครั้งนี้จึงถือเป็นเกียรติสูงสุดกับช่างประดับมุกตัวเล็กๆ และช่างฤทธิ์กับเพื่อนตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวว่า ทำนานกี่เดือนเสร็จก็จะทำ ให้งานเสร็จสมบูรณ์สวยงามที่สุด

“ชีวิตผมรู้สึกมีพลังยืนหยัดได้ เพราะพระองค์ทรงคุ้มครองเรา ทำงานมา 5 เดือน ผมก็ได้ความสบายใจ เหมือนพระองค์ปกปักรักษาเรา แม้ไม่มีรายได้แต่ผมทำด้วยใจ ผมรู้สึกภูมิใจ รู้สึกซาบซึ้ง อยากทุ่มเทชีวิตของผมทำงานถวายพระองค์ครั้งนี้ให้ดีที่สุด เราลงมือลงแรงทำจริงๆ ให้ช่างสิบหมู่ใช้งานเราทำทั้งหมดเลยครับ”