posttoday

ศาลาไทยโชว์พลังงานอนาคต ‘อัสตานา เอ็กซ์โป 2017’

27 มิถุนายน 2560

จัดขึ้นที่กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน ภายใต้หัวข้อหลัก “พลังงานแห่งอนาคต”

โดย...ชุติมา

งานนิทรรศนานาชาติยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก International Recognized Exhibition Expo 2017 เวทีระดับเวิลด์เอ็กซ์โปจัดเป็นงานมหกรรมของมวลมนุษยชาติ

ปีนี้จัดขึ้นที่กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน ภายใต้หัวข้อหลัก “พลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) ซึ่งมี 115 ประเทศ และกว่า 20 องค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมจัดโชว์นิทรรศการที่มีแนวคิดในเรื่องของพลังงาน บนพื้นที่ 1.74 ล้าน ตร.ม. (1,087.5 ไร่)

ประเทศไทยเข้าร่วมแสดงนิทรรศการ อัสตานา เอ็กซ์โป  (Astana Expo 2017) ครั้งนี้ โดยนำเสนอในรูปแบบอาคารศาลาไทย หรือ ไทยแลนด์ พาวิลเลียน (Thailand Pavilion) กระทรวงพลังงาน เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบเข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการระดับโลก

เนรมิตอาคารศาลาไทย ภายใต้แนวคิด “Bioenergy for All” โชว์ความพร้อมก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์เป็นประเทศแรก พร้อมเปิดให้นานาชาติเข้าร่วมชมเต็มรูปแบบตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

กระทรวงพลังงานมั่นใจว่าตลอดการจัดงาน 3 เดือน ระหว่างวันที่ 10 มิ.ย. ถึงวันที่ 10 ก.ย. 2560 อาคารศาลาไทยจะเป็นหนึ่งในพาวิลเลียนยอดนิยม มีผู้เข้าร่วมชมจากทั่วโลกไม่น้อยกว่า 5 แสนคน

ศาลาไทยโชว์พลังงานอนาคต ‘อัสตานา เอ็กซ์โป 2017’


พัฒนาพลังงานชีวมวล เพื่อมนุษยชาติ


อาคารศาลาไทย หรือ Thailand Pavilion สีทองโชว์อร่ามตาท่ามกลาง 115 พาวิลเลียนทั่วโลกที่เข้าร่วมงาน ตั้งอยู่ภายในอาคารนิทรรศการโลก (Exhibition Area) ซึ่งประเทศเจ้าภาพ คาซัคสถาน จัดไว้ให้บนพื้นที่ 974.67 ตร.ม. ประกอบด้วยสวนแสดงนิทรรศการ ชั้น 1 ขนาด 704.3 ตร.ม. นำเสนอในรูปแบบเอดูเทนเมนต์ส่งสารเรื่องพลังงานยั่งยืน สื่อผ่านแมสคอต “น้องพลัง” ข้าวโพดฝักน้อยสีเหลือง

“น้องพลัง” บอกเล่าเรื่องราวพลังงานแห่งอนาคต เริ่มต้นจากแปลงกสิกรรมสู่ห้องทดลองพลังงานชีวภาพได้แบบน่ารักสนุกสนาน ถูกอกถูกใจเด็กๆ ชาวคาซัคสถานและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่เข้ามาชมกันคึกคักทุกๆ รอบ

โดยเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการเปิดอาคารศาลาไทยอย่างเป็นทางการ แสดงความพร้อม 100% ในการร่วมงานอัสตานา เอ็กซ์โป 2017 มีตัวแทนจากรัฐบาลไทย พล.อ.สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารศาลาไทย อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมกับ ณัช ภิญโญวัฒนชีพ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงอัสตานา ร่วมงานเปิดศาลาไทย

ศาลาไทยโชว์พลังงานอนาคต ‘อัสตานา เอ็กซ์โป 2017’



เอกลักษณ์ประเพณีและวัฒนธรรมความเป็นไทย โชว์หุ่นละครเล็กโจหลุยส์ ต่อด้วยเรียกความเร้าใจโชว์มวยไทย สร้างความสนุกสนานให้กับอาคารศาลาไทยได้คึกคักน่าสนใจ

ประเทศไทยผนึกกำลังกันเข้มแข็ง มีหน่วยงานสนับสนุนหลัก ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาชุมชน  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. บริษัท การบินไทย

รูปแบบศาลาไทย มีพื้นที่ 3 ห้องหลัก นิทรรศการห้องที่ 1 Our Ways, Our Thai สัมผัสความงดงามของธรรมชาติและวัฒนธรรม ควบคู่กับการพัฒนาด้านพลังงานทดแทน

นิทรรศการห้องที่ 2 Farming the Future Energy ปลูกพลังงาน ปลูกอนาคต นำเสนอในรูปแบบ Theater ห้องฉายหนังภาพยนตร์ 3D ใช้ความน่ารักของหุ่นยนต์แมสคอต “พลัง” เป็นตัวเล่าเรื่องภายใต้เนื้อหา Farming the Future Energy หรือปลูกพลังงาน ปลูกอนาคต นำเสนอเรื่องราวผ่านการเล่าเรื่องแบบสนุกสนานเกี่ยวกับพลังงานแห่งอนาคต ที่ถูกพัฒนาจากทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ในประเทศไทย และการน้อมนำแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการพัฒนาเป็นโครงการด้านพลังงาน เช่น มาตรการสนับสนุนการพัฒนาพลังงานชีวภาพ การพัฒนาพลังงานในชุมชนโครงการสถานีผลิตพลังงานสีเขียว (Distributed Green Generation) การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities Clean Energy) การพัฒนาโครงข่าย การใช้ก๊าซชีวภาพ (Biogas Network) เป็นต้น

ศาลาไทยโชว์พลังงานอนาคต ‘อัสตานา เอ็กซ์โป 2017’



นิทรรศการห้องที่ 3 Energy Creation Lab นำเสนอเรื่องพลังงานชีวภาพและชีวมวลจากพืชพลังงานทั้งหมด 9 ชนิด ประกอบด้วย อ้อย ยูคาลิปตัส ยางพารา หญ้าเนเปียร์ ข้าว ข้าวโพด มูลสัตว์ ของเสีย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ในรูปแบบ Interactive Exhibition เล่าเรื่องการนำชีวมวลจากพืชพลังงานต่อยอดเป็นพลังงานได้อย่างน่ามหัศจรรย์

และอาหารไทยก็มาด้วยบนพื้นที่เชิงพาณิชย์ชั้น 2 ขนาด 234.37 เมตร เป็นพื้นที่ของร้านค้าอาหารไทย กาแฟ และพื้นที่สำหรับการจับคู่ธุรกิจ คลินิกการลงทุน และการสาธิตการนวดแผนไทยสถานที่จัดแสดงนิทรรศการ

ประธานเปิดศาลาไทยอย่างเป็นทางการ พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวมั่นใจว่า ตลอดการจัดงาน 3 เดือนอาคารของไทยจะเป็นหนึ่งในพาวิลเลียนยอดนิยม มีผู้เข้าร่วมชมจากทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน การเข้าร่วมแสดงในนิทรรศการระดับโลก อัสตานา เอ็กซ์โป จึงเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยแสดงออกถึงศักยภาพทั้งในเรื่องความพร้อมสร้างพลังงานที่ยั่งยืน ไปจนถึงเรื่องการท่องเที่ยว การเผยแพร่วัฒนธรรม การนำเสนอสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนการเกษตร ส่งเสริมเศรษฐกิจของไทยได้ดีมากในเวทีนี้

“แนวคิดหลักศาลาไทยเป็นพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องพลังงานแห่งอนาคต-Future Energy โดยการน้อมนำแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงริเริ่มพัฒนาเป็นโครงการด้านพลังงานผ่านพระราชกรณียกิจ พระอัจฉริยภาพทรงคิดค้นการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ผลิตน้ำมันไบโอดีเซล เป็นการนำเสนอให้ชาวคาซัครู้จักเราฐานะประเทศเกษตรกรรม และนำพืชผลเหล่านี้มาวิจัยเป็นพลังงานทดแทน

“ขณะที่ประเทศคาซัคสถานมีทรัพยากรคือน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ จึงไม่มีการใช้พลังงานทดแทนมากนักนะครับ แต่ก็มีการคิดค้นพลังงานลม แสงแดด ซึ่งในเวลานี้มีการเริ่มใช้พลังงานทดแทนเพียง 0.47% แล้วเมื่อเขาได้เห็นเราใช้พลังชีวภาพจากพืช ก็เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นและเขาสนใจเรียนรู้เรื่องนี้จากเรามาก” พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวถึงแนวคิดหลักในเวิลด์เอ็กซ์โปครั้งนี้

ชีวภาพเพื่อมนุษยชาติ Bioenergy for All

ในการสร้างสรรค์แนวคิดการพัฒนาด้านพลังงาน ศาลาไทยแสดงศักยภาพโดดเด่น ในหัวข้อเรื่อง ชีวภาพเพื่อมนุษยชาติ (Bioenergy for All) อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โชว์การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติของไทยที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด กับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพ แล้วแสดงความก้าวหน้าในการพัฒนาพลังงานทดแทน

การนำเสนอใช้รูปแบบเอดูเทนเมนต์ หรือการเรียนรู้ ควบคู่ความสนุกผ่านตัวแมสคอต ที่ชื่อ “พลัง” ข้าวโพดฝักน้อยที่จะกลายเป็นพลังงานชีวภาพที่ยั่งยืนในอนาคต

ศาลาไทยโชว์พลังงานอนาคต ‘อัสตานา เอ็กซ์โป 2017’


“รัฐบาลไทยสนับสนุนให้มีการวิจัย เรื่องพืชเหลือใช้ในแปลงเกษตรกรรมที่บ้านเรามีเหลือทิ้งมากมาย นำกลับมาใช้เป็นพลังงานยั่งยืน ทุกวันนี้พลังงานหลักคือน้ำมัน ซึ่งเราก็ยังนำเข้าจากภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นหัวใจหลักอยู่ การคิดค้นพลังงานทดแทนจึงเป็นการกระจายความเสี่ยงหากเกิดวิกฤตเรื่องเชื้อเพลิงได้

“สอดรับการแสดงเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยในที่ประชุม COP21 ที่กรุงปารีส เมื่อปี 2558 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมผลักดันให้เกิดข้อตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่บรรลุผลสัมฤทธิ์ โดยไทยจะจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20-25 ภายในปี 2030 มุ่งเน้นการพัฒนาการใช้พลังงานทดแทน จะเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากแผนการพัฒนาพลังงานของไทย หรือ PDP 2015 กำหนดให้มีการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นพลังงานมาจากฟอสซิล (Fossil) ถึง 30% ภายในปี 2579 รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญต่อเจตนารมณ์ของโลกอย่างแท้จริง” อารีพงศ์ กล่าวในฐานะกระทรวงพลังงานรับหน้าที่เป็นแม่งานหลักในปีนี้

 นอกจากโชว์เรื่องศักยภาพพลังงานอนาคต อีกโอกาสคือเรื่องธุรกิจและการท่องเที่ยวไทย ในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรมได้ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร และคณะนาฏยศาลาหุ่นละครเล็ก (โจหลุยส์) นำการแสดงทางวัฒนธรรมไปร่วมโชว์บนเวทีกลาง จำนวน 26 ชุด การแสดง ได้แก่ การแสดงโขน ตอน พระรามรบทศกัณฐ์, การแสดงดาบ 2 มือ, การรำมโนราห์ การฟ้อนต่างๆ มีการสาธิตทำเครื่องแต่งกายและนุ่งหุ่มแบบไทย การสาธิตหุ่นกระบอก และหุ่นละครเล็ก เป็นต้น

 ขณะที่กรมการพัฒนาชุมชนจัดให้มีการสาธิตหัตถกรรมไทยและการแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์โอท็อป การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดการสาธิตการเพนต์ร่ม การแกะสลักผลไม้ และการนวดแผนไทย

 ณัช ภิญโญวัฒนชีพ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงอัสตานา เผยตัวเลขชาวคาซัคสถานมาท่องเที่ยวไทย ช่วงที่ผ่านมาตกปีละราว 5 หมื่นคน ส่วนเรื่องธุรกิจก็นับเป็นโอกาสน่าสนใจมาก ภายใต้นโยบาย “วันเบลต์วันโรด” รถไฟสินค้าขบวนแรกจากจีนเดินทางถึงอังกฤษ คาซัคสถานเป็นประเทศในเอเชียกลางที่อยู่ในเส้นทางนี้ด้วย หลายๆ ธุรกิจกำลังวิ่งเข้าสู่ประเทศนี้

 และในอัสตานา เอ็กซ์โป 2017 ประเทศไทยจัดตารางวันเจรจาการค้า (Business Matching Day) ในวันที่ 27 มิ.ย.นี้

ศาลาไทยโชว์พลังงานอนาคต ‘อัสตานา เอ็กซ์โป 2017’


 “งานยิ่งใหญ่ระดับเวิลด์เอ็กซ์โป จึงถือเป็นการเปิดดวงตาของไทยได้เลยครับ วันเบลต์วันโรดจะเสร็จในอีก 5 ปีข้างหน้า ธุรกิจใหม่ๆ กำลังจะเริ่มขึ้นในคาซัคสถาน หลายๆ ธุรกิจที่เขาต้องการ เช่น นวดไทย เราก็นำมาโชว์ในศาลาไทยด้วย ธุรกิจอาหารฮาลาลก็เป็นเรื่องน่าลงทุนในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม มีธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวเข้ามาเรียนรู้แล้ว

 “คาซัคสถานวางแผนเป็นประเทศศูนย์กลางสถาบันการเงินของเอเชียกลาง ประชากรมีรายได้จีดีพีเฉลี่ย 1 หมื่นกว่าเหรียญสหรัฐ เป็นประเทศคนร่ำรวย มีคนยากจนเพียง 4.5% ประเทศพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและน่าสนใจมากครับ” ท่านทูตณัช ให้ข้อมูล

 คาซัคสถานเเคยเป็น 1 ใน 15 รัฐของสหภาพโซเวียต เรียกว่า สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตคาซัค (KSSR) ในปี 1991 ได้ประกาศเอกราชเป็นรัฐสุดท้ายจากสหภาพโซเวียต และก่อตั้งประเทศคาซัคสถาน การร่วมงานเอ็กซ์โปครั้งนี้จึงเป็นช่องทางเพิ่มความสัมพันธ์ไทยและคาซัคสถาน ได้เรียนรู้และรู้จักกันมากขึ้น

 ใครสนใจติดตามความเคลื่อนไหว และร่วมภูมิใจกับไทยแลนด์พาวิลเลียน ลองคลิก www.thailandpavilion2017.com