posttoday

สวนผัก ที่ไม่ใช่แค่สวนผัก!

20 มิถุนายน 2560

ผักในสวนทำหน้าที่แตกต่างออกไปจากเดิม พวกมันถูกใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการพูดคุยกับกลุ่มผู้ป่วย

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)

บางทีสิ่งที่เห็นก็ไม่ใช่แค่สิ่งที่เห็น และบางทีสวนผักก็ไม่ใช่แค่สวนผัก อัพเดทโครงการสวนผักคนเมือง ของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวมทั้งภาคีเครือข่าย ซึ่งดำเนินการมาถึงปีนี้เป็นปีที่ 7 สวนผักในเมืองจากนี้ไป จะไม่ใช่แค่สวนผัก หากจะได้กลายเป็นวิถีชีวิต เป็นทางเลือก เป็นแหล่งอาหาร กระบวนการบำบัดทางจิต รวมทั้งกระบวนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมวิถีเมืองสานสืบไป

สวนผัก ที่ไม่ใช่แค่สวนผัก!


ผักในสวนเติบโตขึ้นมาก

บทบาทของเกษตรในเมือง (Urban Agriculture) เริ่มเกิดขึ้นในสังคมไทยเมื่อสักช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งคือความพยายามในการแก้ปัญหาด้านอาหารของคนเมือง โครงการสวนผักคนเมืองเป็นส่วนหนึ่งของการริเริ่มให้มีการปลูกผักในเมือง บทเรียนที่ผ่านมาพบว่า สวนผักได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ของเมือง โดยมีการนำพื้นที่ที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ในการผลิตอาหารทั้งพื้นที่ของตนเองและพื้นที่รกร้างว่างเปล่า พื้นที่สาธารณะ พื้นที่อาคารหรือแม้แต่ดาดฟ้า ผักที่ได้จากแปลงทั้งหมดทำหน้าที่ของมันคือการเป็นแหล่งอาหารของคนและชุมชนที่ปลูก

สุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนฯ เล่าว่า 7 ปีที่ผ่านมา สวนผักคนเมืองพบว่าการสนับสนุนกลุ่มคนในเมืองปลูกผักผ่านโครงการขนาดเล็ก ทำให้เกิดพื้นที่ต้นแบบของการทำสวนผักประมาณ 170 กลุ่ม ผ่านการอบรมของศูนย์อบรมที่กระจายอยู่ในกรุงเทพฯ มีคนที่เกี่ยวข้องกับการปลูกผักประมาณ 8,000 คน มีผู้เข้าอบรมการปลูกผักรวมกว่า 1 หมื่นคน โครงการสวนผักในเมืองมีความหลากหลายของผักที่ปลูกมากขึ้น เฉลี่ย 20-30 ชนิดต่อพื้นที่ สูงสุดอยู่ที่ 63 ชนิด

“ช่วงต้นของการทำโครงการสวนผักคนเมือง เราอยากลองดูว่า คนเมืองจะพึ่งตนเองในด้านอาหารได้แค่ไหน มาถึงวันนี้เรารู้แล้วว่า มันเป็นไปได้” สุภาเล่า

จากนี้เป็นต้นไปคือการขยายเครือข่าย และการเชื่อมโยงในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การใช้เวลาว่าง กระบวนการเรียนรู้ของเด็ก วิถีชีวิต ความสัมพันธ์ การจัดการขยะ สิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งกระบวนการเยียวยาทางจิต ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า การปลูกผักในสวนได้ถูกเชื่อมโยงสู่มิติทางจิตใจ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการสร้างต้นแบบของ “สวนผักบำบัด” ขึ้น โครงการนำร่องเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยซึมเศร้า และกลุ่มผู้ป่วยยาเสพติดผ่านแปลงผัก

สวนผัก ที่ไม่ใช่แค่สวนผัก!


สวนผักบำบัด

ญาดา จำนงค์ทอง อดีตพยาบาลเฉพาะทางสุขภาพจิตและจิตเวช โรงพยาบาลแหลมฉบัง (อ่าวอุดม) ศรีราชา จ.ชลบุรี ปัจจุบันเป็นนักธรรมชาติบำบัด หรือ “หมอจิ๊บ” ของบรรดากลุ่มผู้ป่วยจิตเวช เล่าว่า สมัยเมื่อทำงานเป็นพยาบาล เธอเริ่มคิดว่า “ยา” อย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบ เพราะคนไข้กลับมาซ้ำๆ ด้วยปัญหาเดิมๆ หมอจิ๊บเชื่อเรื่องการเยียวยาของธรรมชาติ จึงขออนุญาตใช้พื้นที่หน้าคลินิกของโรงพยาบาล ปลูกผักก่อแปลงขึ้น ผักใบเขียวถูกนำมาใช้เป็นจุดเริ่มต้นของบทสนทนาระหว่างเธอกับคนไข้

“ผักในสวนทำหน้าที่แตกต่างออกไปจากเดิม พวกมันถูกใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการพูดคุยกับกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช เป็นการเริ่มต้นที่ดี ที่ทำให้สัมพันธภาพระหว่างหมอกับผู้ป่วยดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คนไข้ลดความหวาดระแวงลง ในที่สุดเราก็ชวนคนไข้นั่นแหละมาร่วมกันทำแปลงผัก”

ปัจจุบันแปลงผักข้างโรงพยาบาลแหลมฉบังไม่ได้ทำต่อ หมอจิ๊บย้ายออกมาตั้งกลุ่มเป็นเอกเทศ บำบัดผู้ป่วยจิตเวชผ่านการเยียวยาของธรรมชาติ โดยใช้แนวคิดของสวนผักคนเมือง เพาะแปลงผักในพื้นที่สวนของจิตอาสาคนหนึ่งที่บ้านหนองค้อ จ.ชลบุรี บำบัดอาการกลุ่มผู้ป่วยในพื้นที่หลายต่อหลายกลุ่ม ผู้ป่วยมีความสุขจากการทำกิจกรรมกลางแจ้ง แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับการบำบัดในห้องสี่เหลี่ยมของโรงพยาบาล

สวนผักบำบัดนั้นอย่างไร หมอจิ๊บตอบว่า วิธีการบำบัดรักษาด้วยแปลงผัก หลักการคือธรรมชาติที่เยียวยา ไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าการปลูก การทำแปลง การทำค้าง การทำอาหารจากผักในแปลง การเก็บกวาดใบไม้แห้ง การทำปุ๋ย การกำจัดวัชพืช หรืออาจพูดได้ว่า สวนผักบำบัดก็คือการทำทุกอย่างที่ต้องทำในสวนผัก เมื่อฝนตกต้องรีบช่วยกันขุดแปลงผักทำทางให้น้ำไหลไป ช่วยกันคิดช่วยกันแก้ปัญหา ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีพื้นฐานด้านการเกษตรมาก่อน

สวนผัก ที่ไม่ใช่แค่สวนผัก!


เชื่อมโยงความหลากหลาย

“นัดมาเจอกันสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้งละ 4 ชั่วโมง ส่วนใหญ่จะเป็นครึ่งวันเช้า 08.00-12.00 น. พวกเราก็มาทำแปลงกัน ทำอาหารกินกัน สวนผักจึงเป็นเหมือนพื้นที่ที่ให้ศักยภาพแก่ทุกคน การสัมผัสกับธรรมชาติช่วยให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ถามว่าทำอะไรบ้าง ก็ต้องตอบว่าทำกิจกรรมสวน ผักที่ปลูกมีตั้งแต่ผักบุ้ง พริก ถั่ว กะเพรา โหระพา ผักกินใบหลายชนิด กลุ่มหนึ่งๆ มีประมาณ 10 คน ทำสวนทุกครั้งทุกคนเหงื่อชุ่ม...โชก”

ระยะเวลาในการบำบัด 1 ปี ผู้ป่วยกลุ่มจิตเวช กลุ่มโรคซึมเศร้าและกลุ่มผู้ป่วยยาเสพติด ทุกกลุ่มมีอาการดีขึ้น โดยในระหว่างการบำบัดผู้ป่วยมักถามเธอว่า ครั้งหน้าขอพาพ่อแม่มาแปลงผักด้วยได้มั้ย พาแฟนมาได้มั้ย พาเพื่อนมาได้มั้ย คำขอผู้ป่วยสะท้อนว่า เขามีความสุขและอยากให้คนที่รักมีความสุข สำหรับหมอจิ๊บนี่คือผลการบำบัดที่ทะลุเป้าอย่างยิ่ง ปัจจุบันเธอต่อยอดสวนผักบำบัดสู่โครงการเนเจอร์แมนเดอล่าฮีลลิ่ง (Nature Mantra Mandala Healing) ภายใต้หลักการธรรมชาติเยียวยา

ไม่เฉพาะที่ศรีราชา สวนผักบำบัดยังมีอีกหลายแห่ง เช่น โครงการฟื้นฟูศักยภาพทางสังคมจิตใจสำหรับผู้ป่วยจิตเวช สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ผู้สนใจแนวคิดพึ่งตนเองด้านอาหารปลอดภัย ลองหาข้อมูลจากโซเชียลเน็ตเวิร์ก อาจมีเครือข่ายที่คุณเข้าร่วมได้ เช่น Farm to you การเชื่อมโยงอาหารอินทรีย์สู่ครอบครัว (ดำเนินการโดยผู้ปกครอง โรงเรียน ทอสี), Green Catering, โครงการแปลงผักนักสำรวจน้อยทุ่งสองห้อง 327, ตะกร้าปันผัก CSA, สวนผักเบิกบาน, ศูนย์อบรมปลูกง่ายๆ สไตล์คนเมือง สุขุมวิท 71 เป็นต้น

สวนผัก ที่ไม่ใช่แค่สวนผัก!


ส่งท้ายด้วยสุภา ที่ระบุว่า สวนผักคนเมืองสามารถสร้างพื้นที่ต้นแบบของการทำเกษตรในเมืองที่เชื่อมโยงกับมิติการพัฒนาที่หลากหลาย สวนผักไม่เพียงเป็นแค่พื้นที่ผลิตอาหารของคนเมือง แต่ยังเป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน เป็นพื้นที่ของการสร้างกระบวนการเรียนรู้ทั้งในวิถีเกษตร การเพาะปลูก การอยู่การกิน รวมไปถึงการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับเมือง ที่สุดแล้วคือการผลักดันระบบอาหารทางเลือกให้ขับเคลื่อนไป โดยเฉพาะประเด็นการเชื่อมโยงความหลากหลาย การกลับมาบริโภคอาหารที่ทำกินเอง ผังเมืองอนาคต สวนสาธารณะแนวใหม่ที่มีแปลงผัก เครือข่ายและการเข้าถึง

“เส้นทางอาหารเมืองจะนำเราไปสู่ที่ใด ขอให้เป็นระบบเกษตรและอาหารที่ยั่งยืนของเมือง”