posttoday

เปิดชีวิต จันดี รบชนะ ผู้เลี้ยงทารกกำพร้านาน 16 ปี

18 มิถุนายน 2560

เมื่อโชคชะตาพาเธอไปเจอทารกในถุงขยะ ชีวิตที่เหลือทั้งหมดก็เปลี่ยนไป นี่อาจเป็นคำสรุปที่ไม่ลงรายละเอียดอะไรเลยของ จันดี รบชนะ

โดย...กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

เมื่อโชคชะตาพาเธอไปเจอทารกในถุงขยะ ชีวิตที่เหลือทั้งหมดก็เปลี่ยนไป นี่อาจเป็นคำสรุปที่ไม่ลงรายละเอียดอะไรเลยของ จันดี รบชนะ หรือ ป้าจันดี วัยใกล้ 60 ปี ผู้มีเรื่องราวในแต่ละช่วงชีวิตที่ไม่คาดฝันแทบตลอดเวลา

ย้อนกลับไป 16 ปีก่อน วันที่ป้าจันดีพบ “น้องน้ำผึ้ง” เป็นครั้งแรก ที่จริงแล้วค่ำคืนนั้นจะดำเนินไปอย่างปกติ ถ้าเธอไม่แว่วเสียงเด็กร้องไห้ และพบทารกตัวน้อยในถุงขยะสีดำใบใหญ่ใน จ.อุทัยธานี

วินาทีที่เธออุ้มเด็กขึ้นมามองใบหน้า ป้าจันดีมีเพียงความคิดเดียวว่า “จะทำยังไงก็ได้ให้เด็กไม่ต้องตายอยู่ตรงนี้” เพราะสิ่งที่เธอเห็นในตัวเด็กน้อยนั้น ไม่ใช่เพียงทารกที่ถูกทอดทิ้ง แต่คือความน่าสงสารเวทนาของชีวิตๆ หนึ่งที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

เปิดชีวิต จันดี รบชนะ  ผู้เลี้ยงทารกกำพร้านาน 16 ปี

“เราไม่รู้ว่าน้องถูกวางไว้ตรงนั้นกี่วันแล้ว แต่ภาพที่เราเห็นคือเรารับไม่ได้ บนตัวน้องมีมดขึ้น สะดือมีเลือดออก และเสียงร้องไห้ของน้องตอนนั้นมันเหมือนเสียงผี ทั้งน่ากลัว น่าสงสาร หาคำอธิบายไม่ได้”

ป้าจันดีเจอน้องน้ำผึ้งขณะเดินจากแคมป์ไปไซต์ก่อสร้างซึ่งคล้ายจะเป็นวันธรรมดาอีกวัน แต่การเจอเด็กทารกในวันนั้น ชีวิตของเธอก็ไม่มีวันไหนเป็นวันธรรมดาอีกเลย

“สรุปวันนั้นไม่ได้เดินไปทำงาน แต่เราอุ้มน้องกลับแคมป์ อาบน้ำ ล้างเนื้อล้างตัวให้ แล้วนั่งนิ่งตั้งสติตัวเองอยู่ครึ่งวัน เพราะเราไม่รู้ว่าต้องทำยังไงต่อ พอได้สติได้พาน้องไปคลินิกเด็ก ไปซื้อนม ซื้อเสื้อผ้า ทำแบบนี้อยู่ 5 วัน ซึ่งเราไม่รู้หรอกว่าใช่สิ่งที่ควรทำหรือเปล่า แต่มันเป็นสิ่งที่ต้องทำเท่านั้นเอง”

เปิดชีวิต จันดี รบชนะ  ผู้เลี้ยงทารกกำพร้านาน 16 ปี

ด้วยสัญชาตญาณแห่งความเป็นแม่ ป้าจันดีจึงเรียกแทนตัวเองว่า “แม่” และตัดสินใจเดินทางไปแจ้งใบเกิดที่อำเภอ โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้ถามซักไซ้ถึงที่มาที่ไป และเธอเองก็ไม่ได้อธิบายถึงที่มาของน้องน้ำผึ้ง

ลูกไม่สบาย แม่ไม่มีเงิน

เพราะฐานะที่ยากจน เธอจำต้องหอบหิ้วน้องน้ำผึ้งในวัยแบเบาะเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ แต่หนีไม่พ้นงานในไซต์ก่อสร้างอย่างที่เคยทำมา

จนกระทั่งเวลาได้ล่วงไปถึงเดือนที่ 5 ป้าจันดีเริ่มสังเกตเห็นอาการผิดปกติของลูกสาว เพราะลูกไม่มีทีท่าว่าจะคลาน หรือหัดพลิกตัวเหมือนเด็กคนอื่นๆ รวมถึงกินนมได้น้อยลง (จากที่น้อยอยู่แล้ว) สำลักบ่อย อาเจียนบ่อย มีไข้ ตัวร้อน จนสุดท้ายต้องนำน้องส่งโรงพยาบาลเด็ก

เปิดชีวิต จันดี รบชนะ  ผู้เลี้ยงทารกกำพร้านาน 16 ปี

การรักษาได้ดำเนินไปถึง 2 เดือน โดยที่เธอ “ไม่ได้เห็นหน้าลูก” กระทั่งโรงพยาบาลติดต่อให้เธอเข้าไปชำระค่ารักษา แต่เธอสารภาพว่า “ไม่มีเงิน” การรักษาจึงจบลงตรงนั้น ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ป้าจันดีพาน้องน้ำผึ้งกลับบ้านพร้อมกับอาการเดิมที่เธอตั้งคำถามว่า “ทำไมลูกเหมือนกับจะตาย”

“เราคิดในใจบอกลูกว่า ถ้าหนูไม่หาย แม่จะพาหนูไปโรงพยาบาลรามาฯ” เธอกล่าวต่อ “ปรากฏว่าตื่นเช้ามาอาการลูกแย่มาก เราเลยตัดสินใจอุ้มลูกมาที่โรงพยาบาล ซึ่งพอดีกับลูกมีอาการชัก เรารีบเข้าไปบอกพยาบาลให้ช่วยรักษาลูก แล้วโชคดีมากที่พวกเขาให้ลูกเราแอดมิตเข้าโรงพยาบาล นอนรักษาอยู่ 2 เดือน ระหว่างนั้นเราไม่ได้บอกหมอว่า น้องไม่ใช่ลูกแท้ๆ จนกระทั่งน้องต้องผ่าตัดหน้าท้อง ถึงรู้ว่าน้องเป็นโรคพัฒนาการทางสติปัญญาช้า และมีปัญหาด้านการกลืนอาหาร ต้องให้อาหารผ่านหน้าท้อง ซึ่งหมอบอกว่าน้องจะมีชีวิตอยู่ได้แค่ 8 ปี พอรู้แบบนั้นเราไม่คิดแล้วว่าน้องเป็นคนอื่น แต่เขาเป็นลูกสาวที่เราต้องดูแลให้ดีที่สุดจนกว่าจะถึงวันสุดท้าย”

นอกจากนี้ ความทุกข์ใจของป้าจันดีไม่ได้มีแค่ความพะวงกับอาการป่วยของลูกสาว แต่ยังมีเรื่องยอดเงินค่ารักษาพยาบาลในแต่ละครั้ง ที่ลำพังคนหาเช้ากินค่ำก็แทบจะเลี้ยงสองชีวิตไม่ได้อยู่แล้ว ทว่าในโชคร้ายก็ยังมีโชคดี เพราะหน่วยงานสังคมสงเคราะห์ มูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลลูกของเธอ ซึ่งมาจากน้ำใจของ “ผู้ให้” ที่บริจาคเงินช่วยเหลือผ่านมูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เปิดชีวิต จันดี รบชนะ  ผู้เลี้ยงทารกกำพร้านาน 16 ปี

เปิดใจ

ไม่รู้จะเรียกว่าสถานการณ์คลี่คลายได้หรือไม่ เพราะเมื่อป้าจันดีทราบว่าลูกสาวของตนป่วยเป็นอะไร เธอก็ยังต้องกลับไปทำงานในไซต์ก่อสร้าง โดยพาน้องน้ำผึ้งไปอยู่ที่ไซต์ด้วยทุกวันเพื่อไม่ให้คลาดสายตา ซึ่งการทำงานประเภทนี้ต้องย้ายที่ทำงานบ่อย แคมป์ที่พักก็ต้องย้ายตาม และค่าแรงที่ได้ตกวันละ 250 บาท ถือว่า “ลำบากมาก” สำหรับแม่ที่ต้องทำงานไปพร้อมกับการเลี้ยงลูกที่ร่างกายผิดปกติ

“กลับมาแคมป์ กินมาม่าวันละซอง” ป้าจันดีเปิดใจ “แต่การพาน้องไปเลี้ยงอยู่ในที่แบบนั้นมันไม่ใช่สภาพแวดล้อมที่ดี อาการชักเลยกลับมาบ่อย จนเราต้องพาน้องกลับไปโรงพยาบาลรามาฯ ซึ่งคราวนี้น้องอยู่ที่โรงพยาบาลนานเกือบ 2 ปี เพราะเราบอกหมอเลยว่า ขอฝากลูกไว้ที่นี่ได้ไหม เป็นห่วงลูก แต่ทุกวันเราจะกลับไปนอนกับลูกที่โรงพยาบาลทุกคืนไม่มีขาด ขอนอนหน้าตึกก็เอา เพราะตื่นเช้าขึ้นมาเราอยากเห็นหน้าลูกว่าเป็นยังไง”

ถามต่อว่า ป้าจันดีผ่านด่านทดสอบชีวิตเหล่านั้นมาได้อย่างไร “แน่นอนว่ามันเป็นชีวิตที่ลำบาก” เธอตอบ “แต่เมื่อเทียบกับคนอื่นที่ลำบากกว่าเรา เราจะมีกำลังใจเพิ่มอีกเยอะมาก มากเป็นเท่าตัว เราเห็นเลยว่ายังมีอีกหลายคนที่อดมากกว่าเรา บางคนไม่มีที่ทางทำมาหากิน แต่เราทำงานหนักก็จริงแต่ยังมีเงินพอใช้ ถ้าเรามองแบบนั้นจะมีกำลังใจขึ้นเยอะ ต่อให้มีลูกอีกสิบคนก็ยังไหว” เพิ่งได้ยินเสียงหัวเราะของเธอเป็นครั้งแรก

เปิดชีวิต จันดี รบชนะ  ผู้เลี้ยงทารกกำพร้านาน 16 ปี

มรสุมลูกใหม่กับการตัดสินใจฆ่าตัวตาย

อย่างที่สุภาษิตไทยกล่าวไว้ เคราะห์ซ้ำกรรมซัด มันทำให้ชีวิตของป้าจันดีถูกซัดเข้าอย่างจัง เพราะช่วงปลายปี 2549 เธอทราบข่าวว่า แม่ของเธอป่วยเป็นอัมพฤกษ์กะทันหัน ซึ่งเธอตัดสินใจพาน้องน้ำผึ้งเดินทางกลับ จ.อุทัยธานี เพื่อดูแลแม่บังเกิดเกล้า

ในตอนนั้นภาระทุกอย่างตกอยู่ที่ป้าจันดีเพียงคนเดียว เธอเป็นทั้งที่พึ่งพิงให้แม่ที่ป่วยไข้และลูกสาวพิการที่ไม่มีเรี่ยวแรงแม้แต่จะเดินเองได้ และชะตากรรมก็ยังซ้ำเติมอย่างโหมกระหน่ำ เมื่อที่ดินที่เธออุตส่าห์เก็บเงินผ่อนมานับ 10 ปี กลับไม่ใช่เธอที่เป็นเจ้าของ กลายเป็นว่าจันดีและครอบครัวเปลี่ยนสภาพเป็นคนไร้บ้านเพียงชั่วข้ามคืน

“เคยน้อยใจในโชคชะตานะ คิดเลยแหละว่าทำไมชีวิตเราต้องมาเจออะไรแบบนี้ รู้ไหมว่า เราเคยคิดฆ่าตัวตาย ไม่ใช่แค่คิดหรอก แต่ทำแล้ว ตอนนั้นซื้อนมมาใส่ยาฆ่าหญ้าแล้วเตรียมแจกให้คนในบ้านกิน แต่วันนั้นเราเห็นข่าวในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปทรงงานแล้วมีพระราชดำรัสว่า ในหลวงท่านไม่เหนื่อย แม้จะต้องดูแลลูกๆ และประชาชนของท่านทั้งประเทศไทยก็ตาม พอเห็นแบบนั้นเราเลยมีแรง มีกำลังใจมากๆ เพราะเราจะเหนื่อยได้ยังไง ท่านดูแลคนทั้งประเทศไทยยังไม่เหนื่อยเลย และหลังจากนั้นก็ไม่เคยคิดทำอะไรแบบนั้นอีกเลย กลับอยากมีชีวิตอยู่เพื่อดูแลลูกสาวและแม่ให้ดีที่สุด” ถึงตอนนี้ไม่ใช่แค่น้ำตาของป้าจันดีที่นองหน้า แต่รวมถึงคนฟังด้วย

เปิดชีวิต จันดี รบชนะ  ผู้เลี้ยงทารกกำพร้านาน 16 ปี

ข่าวดีที่สุดในชีวิต

หลังจากไม่มีบ้าน ป้าจันดีก็ลุกขึ้นไปตระเวนขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ เป็นเวลาหลายเดือน จนในที่สุดเธอก็ได้รับข่าวดีที่สุดในชีวิต เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานที่ดินขนาด 57 ตารางวา เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน พลิกฟื้นชะตากรรมที่แร้นแค้นของเธอและครอบครัวให้เหมือนได้ชีวิตใหม่อีกครั้ง

“ชีวิตอย่าเป็นแต่ผู้รับ ถ้ามองมุมกลับจะต้องเป็นแต่ผู้ให้” ประโยคสั้นๆ ที่ป้าจันดีจดบันทึกไว้ในสมุดเก่าคร่ำคร่าของตน ราวกับแทนคำขอบคุณของทุกน้ำใจที่ทำให้วันนี้จันดีและครอบครัวมีบ้านหลังเล็กๆ และมีกินมีใช้จากสิ่งที่หาได้ในรั้วบ้าน

“อาชีพตอนนี้ คือ ดูแลลูกและแม่ และทำเกษตรพอเพียง เหลือจากกินก็ขาย โดยได้เริ่มจากสร้างแหล่งน้ำ ปลูกผัก ปลูกข้าวไร่ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ และตอนนี้เพิ่งเลี้ยงกบ 4 สายพันธุ์ไว้ขาย เลี้ยงปลาดุกไว้กินเอง พูดง่ายๆ คือ เราทำบ้านให้เป็นตลาด ใครมาซื้ออะไรก็ขาย”

เปิดชีวิต จันดี รบชนะ  ผู้เลี้ยงทารกกำพร้านาน 16 ปี

ถ้าขอพรได้ป้าจันดีอยากขออะไร “อยากให้น้องน้ำผึ้งหาย” เธอตอบทันใด “เราไม่อยากร่ำรวย ไม่อยากนอนห้องแอร์ แต่เราอยากให้ลูกเดินได้ อยากพูดกับเขา เพราะตอนนี้ถึงแม้น้องจะพูดไม่ได้ แต่เขาเข้าใจหมดว่าเราพูดอะไร และถ้าลูกเดินได้และแข็งแรงได้จริงๆ เราจะจับมือไปด้วยกัน สู้ไปด้วยกันไปจนกว่าคนใดคนหนึ่งจะหลับตาไป”

เหนือสิ่งอื่นใด ในตอนนี้ คือ ช่วงเวลาแห่งความสุขที่ทุกคนในครอบครัวได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ป้าจันดี รบชนะ ได้ฟันฝ่าอุปสรรคหลายด่านหลายคราจนชนะใจ ชนะความลำบาก ชนะความเหนื่อยล้า แม้ผลลัพธ์ของการสู้ชีวิตอาจต้องใช้เวลานาน เกือบทั้งชีวิตก็ตาม แต่หากไม่ยอมแพ้ ไม่หมดความหวัง จงเชื่อมั่นว่า สักวันต้องดีกว่าเดิม

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเป็น “ผู้ให้” เพื่อแบ่งปันโอกาสดีๆ แก่เพื่อนมนุษย์กับมูลนิธิรามาธิบดีฯ ด้วยการบริจาคเงินสมทบทุนได้ที่ บัญชีมูลนิธิรามาธิบดีฯ  ธนาคารไทยพาณิชย์ บัญชีกระแสรายวัน สาขารามาธิบดี เลขที่บัญชี  026-3-05216-3 หรือธนาคารกรุงเทพ บัญชีกระแสรายวัน สาขาศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (รพ.รามาธิบดี) เลขที่บัญชี 090-3-50015-5 หรือเข้าชมรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ramafoundation.or.th หรือ โทร. 02-201-1111 

เปิดชีวิต จันดี รบชนะ  ผู้เลี้ยงทารกกำพร้านาน 16 ปี

เปิดชีวิต จันดี รบชนะ  ผู้เลี้ยงทารกกำพร้านาน 16 ปี