posttoday

สมุนไพรแห่งชาติ

13 มิถุนายน 2560

หลังการประกาศใช้แผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน

โดย...พริบพันดาว

วงการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกต่างมีความตื่นตัวและผลักดันอย่างกระตือรือร้น หลังจากที่มีการประกาศใช้แผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พุทธศักราช 2560-2564 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2559 ที่ผ่านมา

โดยเป้าหมายของแผนแม่บทนี้ ต้องการให้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน เพิ่มมูลค่าวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศอย่างน้อย 1 เท่าตัว

สำหรับนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมการเข้าถึงบริการด้านการแพทย์การส่งเสริมและป้องกันโรค รวมถึงการส่งเสริมความเชื่อมโยงของแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพร ฉบับที่ 1 โดยวิธีการที่จะบรรลุเป้าหมายได้ ต้องขับเคลื่อนผ่าน 4 ยุทธศาสตร์ คือ ส่งเสริมการปลูกสมุนไพร พัฒนาอุตสาหกรรมให้แข่งขันในตลาดทั้งในและต่างประเทศได้ ส่งเสริมให้ใช้สมุนไพรในการรักษาโรค และมีนโยบายและการบริหารของภาครัฐ โดยมีคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมถึงแผนแม่บทแห่งชาติฉบับนี้

สมุนไพรแห่งชาติ

แผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564

จากหนังสือแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยถึงแผนงานต่างๆ ที่ครอบคลุมการพัฒนาสมุนไพรไทยตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เพื่อให้ใน 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน และมูลค่าของวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัว

ทั้งนี้ ส่วนราชการและองค์กรเอกชนจะมีบทบาทอย่างสูง ในการสนับสนุนให้เกิดการผลิตสมุนไพรที่ได้มาตรฐานมีคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้สมุนไพรไทย รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสมุนไพรไทยในตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ

บทสรุปในแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 ชี้ว่า ปัจจุบันความต้องการใช้สมุนไพรในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งเนื่องมาจากความสนใจในการดูแลรักษาสุขภาพด้วยผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ และสมุนไพรสามารถเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค

โดยอุตสาหกรรมสมุนไพรได้รับการคาดการณ์ว่า เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและสามารถสร้างความยั่งยืนในฐานะส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต

นอกจากนี้ ยังเกิดจากการเปลี่ยนแปลงบริบทที่คาดการณ์ว่าจะส่งผลต่อความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตทั้งในส่วนของลักษณะการเจ็บป่วย และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้ ส่งผลให้มีแนวคิดในการใช้สมุนไพรเพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาโรคและเสริมสร้างสุขภาพ ซึ่งช่วยสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพ และการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอีกทางหนึ่งด้วย

สำหรับการกำหนดเป้าหมายของการพัฒนาสมุนไพรไทยที่เป็นวัตถุประสงค์ของแผนแม่บท ซึ่งประกอบด้วย (1) พัฒนาสมุนไพรต่อยอดทั้งด้านการรักษาและผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น (2) สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่จะมีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรม และภาคเศรษฐกิจต่างๆ (3) การขับเคลื่อนงานอย่างเป็นระบบเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาสมุนไพรไทยอย่างเชื่อมโยงและครบวงจร (4) ทำให้เกิดความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน

วิสัยทัศน์ของแผนแม่บทฉบับนี้ บ่งชี้ว่า สมุนไพรไทยเพื่อความมั่นคงทางสุขภาพและความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย (Thai Herbs for Health and Sustainable Economy) โดยมีพันธกิจ คือ 1.พัฒนาสมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มศักยภาพ และมีประสิทธิภาพ 2.สนับสนุนให้เกิดการผลิตสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 3.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสมุนไพรไทยในตลาดทั้งในและต่างประเทศ 4.ส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจ และใช้สมุนไพรไทยอย่างถูกต้อง เหมาะสม

ส่วนเป้าหมาย คือ 1.ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2564 2.มูลค่าของวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัว ภายในปี 2564 โดยแผนแม่บทได้กำหนดให้มียุทธศาสตร์ในการบรรลุตามเป้าหมาย 4 ยุทธศาสตร์ คือ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมผลิตผลของสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยมีเป้าประสงค์ของยุทธศาสตร์นี้ คือ ส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร แปรรูปเบื้องต้นอย่างมีคุณภาพ ปริมาณวัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพมีความเพียงพอใกล้เคียงต่อความต้องการใช้ของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และอนุรักษ์สมุนไพรไทยให้คงไว้ใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาอุตสาหกรรมและการตลาดสมุนไพรให้มีคุณภาพระดับสากล โดยมีเป้าประสงค์ของยุทธศาสตร์นี้ คือ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีศักยภาพในการแข่งขันทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมการใช้สมุนไพรเพื่อการรักษาโรคและการสร้างเสริมสุขภาพ โดยมีเป้าประสงค์ของยุทธศาสตร์นี้ คือเพิ่มการใช้สมุนไพรในระบบสุขภาพ ในการรักษาโรคและเสริมสร้างสุขภาพ และเสริมสร้างพื้นฐานการพัฒนาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพของประเทศในระยะยาว

ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างความเข้มแข็งของการบริหารและนโยบายภาครัฐเพื่อการขับเคลื่อนสมุนไพรไทยอย่างยั่งยืน

โดยมีเป้าประสงค์ของยุทธศาสตร์นี้ คือ ประเทศไทยมีกลไกในการพัฒนาสมุนไพรที่มีศักยภาพเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ

สมุนไพรแห่งชาติ


สมุนไพรไทยอนาคตไกลในการรักษาโรค

นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยในงานมหกรรมสมุนไพรไทย ว่า มหานครแห่งสมุนไพรไทย ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในแผนแม่บทว่าด้วยสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ในไทยแลนด์ 4.0 สมุนไพรก็จะเป็นตัวหนึ่งในคลัสเตอร์หลักในเรื่องการแพทย์และสปา เพราะฉะนั้นจะต้องขับเคลื่อนสมุนไพรไทยให้เป็นผลผลิตทางเศรษฐกิจ

ทางด้าน ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ใน จ.ปราจีนบุรี ให้สัมภาษณ์ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติและการประชุมวิชาการประจำปีการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ว่า ที่ผ่านมาการพัฒนาสมุนไพรในประเทศไทยไม่มีทิศทางที่ชัดเจน แผนแม่บทแห่งชาติฉบับนี้จะให้การทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีเป้าหมายเดียวกัน

“การพัฒนาสมุนไพรเกี่ยวข้องกับหลากหลายสาขาวิชาชีพ ต้องเป็นสหสาขาวิทยาการ ซึ่งต้องทำให้มีการทำงานร่วมกันเพื่อไปสู่เป้าหมายบางอย่าง ที่ผ่านมาเป็นการต่างคนต่างทำ ทำตามความสนใจ ความรู้ก็กระจัดกระจายไม่ได้มาเชื่อมโยงกับการจัดการผลิตภัณฑ์ การที่มีแผนแม่บทก็ทำให้เกิดการเชื่อมโยงการพัฒนาทั้งระบบว่าต้นน้ำในเรื่องของวัตถุดิบจะทำอย่างไร เรื่องการศึกษา การวิจัย และเรื่องของการตลาดจะเป็นอย่างไร ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นแนวทางเดียวกัน”

เมื่อย้อนหลังกลับไปดูมุมมองของนักวิจัยด้านสมุนไพรไทย รศ.ดร.งามผ่อง คงคาทิพย์ จากหน่วยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการสินทรัพย์จากงานวิจัย ความมหัศจรรย์ของสมุนไพรไทยว่า

“หน่วยปฏิบัติการของเราเห็นความสำคัญของสมุนไพรเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าสมุนไพรเป็นทรัพยากรที่มีอยู่มากมายในเมืองไทย ในโรคหลายโรคที่เกิดขึ้นในเมืองไทย อย่างเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง เอดส์ เป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หาย ทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตายในที่สุด การนำสมุนไพรเข้าไปช่วยเสริมทำให้ร่างกายแข็งแรงและเสริมในการรักษาโรคด้วยก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก”

สมุนไพรแห่งชาติ


ปฏิรูปแพทย์แผนไทย ควบคู่กับพัฒนาสมุนไพรไทย

ในงานเสวนาหัวข้อ “การแพทย์แผนไทย เป็นแพทย์แผนหลักคู่ขนานกับการแพทย์ปัจจุบัน” นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ชี้ว่า การแพทย์แผนไทย องค์ความรู้ภูมิปัญญาของเรา หรือการแพทย์ทางเลือกส่วนมากจะอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยชนิดรักษาก็หายไม่รักษาก็หาย เป็นกลุ่มใหญ่ประมาณ 70%

ทางด้าน ผศ.ยุพา เต็งวัฒนโชติ วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงการปฏิรูปแพทย์แผนไทย ในรายการวิสดอม ทอล์ก ของอาร์เอสยู วิสดอม ทีวี ว่า

“แพทย์แผนไทยจะมองคนแบบองค์รวมทั้งร่างกายและจิตใจ เมื่อระบบการทำงานส่วนหนึ่งส่วนใดเสียก็จะไปกระทบอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งแพทย์แผนไทยจะเหมาะกับโรคเรื้อรังทั้งหลาย เพราะแพทย์แผนปัจจุบันจะบรรเทาอาการ แต่ต้องกินยาควบคุมอาการอย่างต่อเนื่อง เมื่อกินนานๆ ไปก็จะมีผลกระทบต่อตับต่อไต ซึ่งจะนำไปสู่โรคอื่นๆ ตามมาอีก”

ผศ.ยุพา กล่าวว่า เห็นควรอย่างยิ่งที่จะเผยแพร่หรือประชาสัมพันธ์ให้คนไทยได้ใช้หลักการแพทย์แผนไทย โดยการรักษาอาการที่ต้นเหตุ อาการที่จะสืบเนื่องไปอาการต่างๆ ก็น้อยลง สุขภาพก็จะดีขึ้น ไม่ต้องกินยาตลอดชีวิต ซึ่งต้องแก้ที่ต้นเหตุคือระบบในร่างกาย

“การยกระดับแพทย์แผนไทยขึ้นมาให้ได้รับการยอมรับมากขึ้น และทำงานร่วมกันกับแพทย์แผนปัจจุบัน โดยมีค่าทางวิทยาศาสตร์มารองรับว่าเมื่อให้ยาไปแล้ว ผลการรักษาดีขึ้นไหม ก็จะเป็นการยืนยันอย่างหนึ่ง แพทย์แผนปัจจุบันก็จะช่วยยืนยันว่ารักษาแล้วดีขึ้นจริง ทำให้ได้รับการเชื่อถือมากขึ้น”

แพทย์แผนไทยต้องมีทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านเวชกรรมไทย ยาไทย ผดุงครรภ์ และนวดไทย ผศ.ยุพา เน้นย้ำว่าต้องผลิตหมอที่ทำสิ่งเหล่านี้ได้ และที่สำคัญที่สุด การตรวจวินิจฉัยต้องถูกต้องว่าเหตุที่มาคืออะไร ไม่เช่นนั้นการรักษาจะไม่หายหรือช้าไป

“การผลิตยาสมุนไพรไทย ซึ่งจะเป็นตำรับมีตัวยารักษาตรง ยาประกอบ เพื่อลดผลกระทบข้างเคียงต่างๆ เพราะฉะนั้นในตำรับหนึ่งจะมีสมุนไพรมากกว่า 10 ตัว จะต้องใช้องค์ความรู้ทางการแพทย์แผนไทยเลือกตำรายาที่ดีแล้วมาพัฒนาให้ทันสมัย แทนที่จะกินยาต้มนำมาปรับให้สะดวกขึ้น ผลิตยาในโรงงานตามมาตรฐาน มีการควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานจีเอ็มพี (GMP คือ Good Manufacturing Practice หรือหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร จัดทำขึ้นโดยหน่วยงานมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ) เมื่อยาได้คุณภาพก็ต้องมาจากวัตถุดิบที่ปลูก สมุนไพรอย่างไรมีสารปนเปื้อนหรือไม่ จะต้องควบคุมตั้งแต่การปลูกการแปรรูป และการผลิตที่ครบวงจร และมีการควบคุมคุณภาพว่าได้มาตรฐาน ครอบคลุมทั้งระบบ”

สุดท้าย ผศ.ยุพา มองถึงส่วนในด้านศึกษาวิจัยว่า แพทย์ไทยและยาไทยยังขาดงานวิจัยที่รองรับทางด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผล

“หายได้จริงไหม เพื่อเพิ่มมาตรฐาน เมื่อทำถูกต้องประชาชนก็จะปลอดภัยและผลการรักษาก็จะดี ให้ประชาชนได้มีโอกาสเลือกในการรักษา มีสถานพยาบาลรองรับที่เพียงพอให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่”