posttoday

มาตรฐานห้องสมุดสีเขียว ก้าวสำคัญของห้องสมุดไทย

08 มิถุนายน 2560

เมื่อพูดถึงห้องสมุดสีเขียว หรือ Green Library ต้องยอมรับว่ามีเสน่ห์ดึงดูดให้คนอยากเข้าไปใช้บริการ แต่ทุกวันนี้ยังมีจำนวนน้อยมาก

โดย...วรธาร

เมื่อพูดถึงห้องสมุดสีเขียว หรือ Green Library ต้องยอมรับว่ามีเสน่ห์ดึงดูดให้คนอยากเข้าไปใช้บริการ แต่ทุกวันนี้ยังมีจำนวนน้อยมาก หากเทียบกับจำนวนห้องสมุดที่มีอยู่ทั่วประเทศ ทว่า จากนี้ไปเชื่อว่าห้องสมุดสีเขียวน่าจะเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดทำมาตรฐานและเกณฑ์การพัฒนาห้องสมุดสีเขียว รวมทั้งได้กำหนดแนวทางการตรวจประเมินห้องสมุดสีเขียว เพื่อให้เป็นแนวทางการพัฒนาและเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการดำเนินงานเรียบร้อยแล้ว

การตรวจประเมินห้องสมุดสีเขียวครั้งแรก และได้ห้องสมุดสีเขียวต้นแบบ 1 แห่ง คือ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) รวมทั้งห้องสมุดสีเขียวนำร่องอีก 10 แห่ง รวม 11 แห่ง ประกอบด้วย สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ศูนย์บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ศูนย์สารสนเทศสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และโรงเรียนสา จ.น่าน

8 มาตรฐานห้องสมุดสีเขียว

มาตรฐานห้องสมุดสีเขียวฉบับแรกของประเทศไทยนี้ สำนักหอสมุด มก. ได้ร่วมกับเครือข่ายห้องสมุดสีเขียว 39 แห่ง และหน่วยงานที่ปรึกษาเครือข่ายห้องสมุดสีเขียว ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดทำขึ้นโดยมีสำนักหอสมุด มก. ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ 

มาตรฐานห้องสมุดสีเขียว ก้าวสำคัญของห้องสมุดไทย

ดร.อารีย์ ธัญกิจจานุกิจ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มก. เล่าถึงการจัดทำมาตรฐานขึ้นมาว่า เพื่อให้เป็นเครื่องชี้วัดว่าห้องแบบไหน ทำอย่างไร และมีอะไรบ้าง จึงจะเรียกว่าเป็นห้องสมุดสีเขียว โดยได้ร่วมจัดทำขึ้นเมื่อปี 2558 เพื่อต้องการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ และทรงเป็นต้นแบบในเรื่องการอ่าน โดยมีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2558 อันเป็นเดือนพระราชสมภพของพระองค์ (2 เม.ย.) 

เกี่ยวกับมาตรฐานห้องสมุุดสีเขียว ดร.อารีย์ กล่าวว่า มีอยู่ 8 หมวด หมวดแรกคือ หมวดทั่วไป เป็นเรื่องนโยบาย วิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนห้องสมุดอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม หมวดที่ 2 โครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น เรื่องอาคาร ระบบปรับอากาศ ระบบไฟฟ้าประหยัดพลังงาน สภาพแวดล้อมและการนำเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้ามาใช้ หมวดที่ 3 เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรและพลังงาน เช่น การประหยัดการใช้ทรัพยากร ลดการใช้พลังงาน เป็นต้น

“หมวดที่ 4 การจัดการของเสียและมลพิษ เช่น การคัดแยกขยะ การจัดการน้ำเสีย มลพิษที่เกิดจากกลิ่น ฝุ่นเชื้อราที่เกิดจากหนังสือ มลพิษทางเสียง เช่น เสียงดังรบกวนคนอื่น หมวดที่ 5 การบริหารจัดการและการให้บริการห้องสมุดเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ห้องสมุดต้องมีทรัพยากรสารสนเทศ เช่น หนังสือ วารสาร ข้อมูลความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อมคิดเป็นปริมาณ 5% ของทรัพยากรสารสนเทศทั้งหมด ต้องมีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้พลังงานและสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ใช้บริการ”

มาตรฐานห้องสมุดสีเขียว ก้าวสำคัญของห้องสมุดไทย

ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มก. กล่าวต่อว่า หมวดที่ 6 เป็นบทบาทของบุคลากรห้องสมุดและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ บุคคลในหน่วยงานไล่มาตั้งแต่ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้อง อาทิ แม่บ้าน รปภ. ร้านค้าที่มาเปิดในและบริเวณห้องสมุด เช่น ร้านถ่ายเอกสาร ต้องไม่ปล่อยฝุ่นหมึกกระจายออกมา ร้านขายกาแฟต้องให้ความร่วมมืออนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมไม่ทำให้เกิดน้ำเสีย ส่วนหมวดที่ 7 เป็นเรื่องของความร่วมมือเครือข่ายห้องสมุดที่สามารถแลกเปลี่ยนทรัพยากร จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ และทำงานร่วมกันในลักษณะเครือข่ายความร่วมมือเพื่อจะได้ขับเคลื่อนห้องสมุดอย่างมีพลัง

“หมวดสุดท้ายเป็นเรื่องการประเมินคุณภาพ ซึ่งการประเมินจะตรวจวัดใน 8 หมวดที่กล่าวมาทำอะไรบ้าง อย่างพลังงานก็ตรวจวัดค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หรือดูของเสีย เช่น ตรวจวัดการลดปริมาณขยะ ตรวจวัดคุณภาพน้ำเสีย มีการทำคาร์บอนฟุตพรินต์ในการตรวจวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกว่ามีการปล่อยไปจากการให้บริการ หรือการจัดกิจกรรมของห้องสมุดเท่าไหร่ เราจะมีตัวชี้วัดหลักๆ 4-5 ตัว ที่ต้องมีการตรวจวัดและมีการประเมินด้วยตามเกณฑ์ที่มาตรฐานกำหนดไว้ทั้งหมด” ดร.อารีย์ ให้ข้อมูลมาตรฐานห้องสมุดสีเขียว

ต้นแบบห้องสมุดสีเขียว

สำนักหอสมุด มก. ถือเป็นห้องสมุดสีเขียวต้นแบบที่ได้รับการตรวจประเมินห้องสมุดสีเขียวเป็นที่แรก และผ่านการตรวจประเมินด้วย ดร.อารีย์ ในฐานะผู้อำนวยการ กล่าวว่า สำนักหอสมุด มก. ได้กำหนดวิสัยทัศน์ชัดเจนในการเป็นคลังความรู้ของมหาวิทยาลัย เป็นห้องสมุดดิจิทัลด้านการเกษตรของประเทศ และเป็นห้องสมุดสีเขียวที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องการประหยัดพลังงาน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2553 ตามนโยบาย Green University ของ มก.

“เราสามารถบริหารจัดการและให้บริการตามข้อกำหนดมาตรฐานทั้ง 8 หมวดได้อย่างสมบูรณ์ มีการจัดการโลจิสติกส์และพื้นที่จัดเก็บหนังสือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน พัฒนาการให้บริการบนเส้นทางสีเขียวจนก้าวสู่การเป็น Eco-Library และเป็นห้องสมุดคาร์บอนนิวทรัลแห่งแรกของประเทศ เป็นต้นแบบห้องสมุดสีเขียวที่มุ่งเน้นการพัฒนา Green Service, Green Management, Green Environment และ Green Heart นอกจากนี้ยังเป็นผู้พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือห้องสมุดสีเขียวเครือข่ายแรกของประเทศ เพื่อร่วมกันจุดประกายความคิดและสร้างความตระหนักรู้เรื่องการให้บริการห้องสมุดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

มาตรฐานห้องสมุดสีเขียว ก้าวสำคัญของห้องสมุดไทย

ห้องสมุดสีขียวนำร่อง

รุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล ผู้อำนวยการหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ หรืออีโคยูนิเวอร์ซิตี้อยู่แล้ว ในฐานะห้องสมุดมหาวิทยาลัยก็ต้องสนองนโยบายของมหาวิทยาลัยด้วย ขณะเดียวกันในฐานะเป็นเครือข่ายสมาชิกห้องสมุดสีเขียว ก็ได้พยายามทำตามนโยบายของทั้งสองแห่ง ซึ่งลักษณะของเกณฑ์ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน

“หอสมุดให้บริการในรูปแบบหนังสือที่เป็นเล่มและอิเล็กทรอนิกส์มากมาย ทั้งภาษาไทยและอังกฤษเพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการได้รับความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม นี่คือความโดดเด่นของเรา นอกจากห้องสมุดต้องประหยัดพลังงานในตัวแล้ว ต้องเป็นแหล่งให้ความรู้เรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อมแก่ผู้ใช้บริการด้วย เราจึงต้องหาทรัพยากรสารสนเทศ และจัดกิจกรรมเพื่อให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไปมีความเข้าใจในเรื่องกรีน การอนุรักษ์พลังงาน และลดโลกร้อน

นี่คือแพตเทิร์นของห้องสมุดที่เราต้องช่วยสังคมในเรื่องนี้ ซึ่งสิ่งที่เราทำเยอะมาก แต่ที่เราภูมิใจคือการบริจาคครุภัณฑ์เก่า เช่น โต๊ะ เก้าอี้ หนังสือเก่า ชั้นวาง รวมมูลค่า 2 ล้านบาท ให้กับชุมชนรอบมหาวิทยาลัย โดยมีศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษกเป็นผู้รับมอบ และนำไปดำเนินการซ่อมแซมใหม่ก่อนมอบให้ห้องสมุดต่างๆ”

ขณะที่ สุภาพร ชัยธัมมะปกรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีนโยบายประหยัดพลังงานอยู่แล้ว และออกมาตรการประหยัดพลังงานต่างๆ ออกมามากมาย ดังนั้นห้องสมุดมหาวิทยาลัยจึงต้องทำให้โดดเด่นขึ้น โดยตึกศูนย์บรรณสารสนเทศเป็นอาคารประหยัดพลังงาน เปลี่ยนหลอดแอลอีดีหมด และทำโซลาร์เซลล์ไว้บนดาดฟ้า มีการทำกิจกรรมลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า น้ำ ทรัพยากรต่างๆ และการคัดแยกขยะ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากบุคลากรภายใต้แนวทางร่วมมือ ร่วมใจ ประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี

มาตรฐานห้องสมุดสีเขียว ก้าวสำคัญของห้องสมุดไทย

“ความโดดเด่นหนึ่งที่เราอยากบอกคือ เราใช้ระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เราปรับเปลี่ยนห้องสัมมนากลุ่มที่มีการใช้งานเยอะมากทุกวันเดิมในห้องเราใช้ไวท์บอร์ดเขียนซึ่งไม่เป็นมิตรกับ
สิ่งแวดล้อม ก็เปลี่ยนมาใช้ผนังห้องทั้ง 4 ด้านแทนไวท์บอร์ด ด้วยการทาสีที่เป็นโน้ตแอนด์คลีน (Note & Clean) ซึ่งเป็นนวัตกรรมสีที่ลบออกง่ายๆ ด้วยผ้าธรรมดา”

ด้าน ผศ.ดร.ศิวนาถ นันทพิชัย ผู้อำนวยการศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า เป้าหมายที่สำคัญของเราคือเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่มีบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ เอื้อต่อการศึกษาค้นคว้า การแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อมของอาจารย์และนักศึกษา รวมทั้งเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ของชุมชน

“ปัจจุบันเราเป็นห้องสมุดสีเขียวนำร่องที่กำลังขยายผลไปสู่โรงเรียนต่างๆ 30 โรงเรียน ใน จ.นครศรีธรรมราช ด้วยการเชิญโรงเรียนเหล่านั้น ให้ความรู้ว่าต้องทำอะไรอย่างไรบ้าง จึงจะเป็นห้องสมุดสีเขียว โดยเราจะคอยเป็นพี่เลี้ยง”

เพิ่มห้องสมุดสีเขียวทุกปี

ดร.อารีย์ ธัญกิจจานุกิจ กล่าวว่า เครือข่ายห้องสมุดสีเขียวปัจจุบันมี 39 แห่ง ผ่านการตรวจประเมินแล้วเป็นห้องสมุดนำร่อง 10 แห่ง และต้นแบบ 1 แห่ง เหลืออีก 28 แห่งที่ยังไม่ผ่านการตรวจประเมิน แต่เชื่อว่าจะมีห้องสมุดเข้ามาอยู่ในเครือข่ายมากขึ้น เนื่องจากวันที่ 9 มิ.ย. จะมีการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการเตรียมตัวเข้าสู่การเป็นห้องสมุดสีเขียว มีหลายห้องสมุดจะมาลงนามเพิ่มเติม

“การลงนามเพิ่มเติมนั้นมีทุกปี ส่วนการที่จะเข้ามาตรวจประเมินในการเป็นห้องสมุดสีเขียวนั้นไม่จำเป็นต้องเข้ามาอยู่ในเครือข่ายความร่วมมือก็ได้ ถ้าอยากตรวจประเมินว่าห้องสมุดของตนเขียวหรือยัง ก็แจ้งความจำนงมาได้ สมาคมมีทีมกรรมการไปตรวจประเมินให้ แต่ถ้าใครอยากเข้ามาในเครือข่ายก็เป็นเรื่องดี ก็แบ่งปันความรู้ มีการจัดกิจกรรม สัมมนาประจำปี ร่วมกันและขับเคลื่อนห้องสมุดสีเขียวไปด้วยกัน"