posttoday

มองเก้งอย่างที่เป็นผ่าน ‘โกโกเก้ง’

03 มิถุนายน 2560

เปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวในมุมมองของเพศที่สาม จากการเดินทางของ เอม-จิตชนัย มิตรสูงเนิน วัย 29 ปี

โดย...รอนแรม ภาพ : โกโกเก้ง

 เปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวในมุมมองของเพศที่สาม จากการเดินทางของ เอม-จิตชนัย มิตรสูงเนิน วัย 29 ปี นักการตลาดและเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก "โกโกเก้ง" ที่ได้เปิดพื้นที่เล็กๆ แชร์ความรู้สึกนึกคิดของ "เก้ง" ผ่านเรื่องราวและภาพถ่ายอย่างที่เก้งเป็น

 เอมเล่าว่า ตนชอบเขียนแต่ไม่ใช่นักเขียน ชอบถ่ายภาพแต่ไม่ใช่ช่างภาพ แต่อยากถ่ายทอดเรื่องราวของเก้งหรือเพศที่สามถึงการใช้ชีวิตที่เป็นธรรมดาไม่ต่างจากคนทั่วไป

 “เราเป็นเก้ง” เขากล่าว

 “ดังนั้นเราอยากให้คนอื่นรู้ว่า เก้งก็ชอบท่องเที่ยว ไม่จำเป็นต้องปาร์ตี้ แต่เราเที่ยวป่าเที่ยวเขา ไปนั่งชิลร้านกาแฟเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าต้องไปที่ที่เนกาทีฟ อย่างชื่อเพจโกโกเก้ง คือเก้งไปเที่ยวมาละนะ เราไม่ปกปิดเลย เพราะอยากให้คนที่ติดตามเราเกิดความคิดที่โพสิทีฟต่อเพศทางเลือกว่า เราก็มีไลฟ์สไตล์เหมือนคนที่ชอบท่องเที่ยวทุกคน”

 เขาสร้างเพจเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา โดยลงมือทำคนเดียว เที่ยวเอง กินเอง โพสต์เอง และถ่ายรูปเอง ซึ่งมันคืองานอดิเรกที่มีเพียงกฎเล็กๆ น้อยๆ อย่างต้องพาตัวเองออกไปหาอะไรใหม่ๆ ทุกวันหยุดเพื่อให้มีเรื่องราวมาแบ่งปัน

มองเก้งอย่างที่เป็นผ่าน ‘โกโกเก้ง’

 “ความตั้งใจแรกคือ เราอยากให้เกย์ ทอม เลสเบี้ยนมาตามเพจ แต่ตอนนี้มีผู้หญิงมาติดตามด้วย ซึ่งเราว่ามันดีเพราะแสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกัน และจากคอนเทนต์ที่คิดว่าจะสร้างเพื่อให้เกย์ไปเที่ยว มันกลายเป็นว่าที่ที่เราไป ใครไปก็ได้ ทำให้เพจเรากว้างขึ้นกว่ากลุ่มเพศทางเลือกที่เราตั้งใจไว้แต่แรก”

 เขายังกล่าวด้วยว่า กลุ่มเพศทางเลือกเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ เพราะจะชอบเดินทางและใช้จ่ายกับการท่องเที่ยวมาก โดยเฉพาะสถานที่ที่ถ่ายรูปสวย ไม่ร้อน ไม่เหนื่อย จะถูกเลือกเป็นจุดหมายปลายทางอันดับแรก ซึ่งเขาจะค่อยๆ อธิบายความเป็นเพศที่สามผ่านการท่องเที่ยว

 อย่างไรก็ตาม นอกจากเพจเฟซบุ๊กแล้ว เอมยังแชร์เรื่องราวผ่านพันทิปนามโกโกเก้ง เว็บไซต์ gogogeng.com และในอนาคตจะมีช่องทางยูทูบเพิ่มอีก โดยแต่ละช่องทางจะมีบุคลิกต่างกัน เช่น เพจเฟซบุ๊กจะให้ข้อมูลหลักไม่ยาวนักว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ และอย่างไร พร้อมภาพ หากต้องการข้อมูลจะมีอยู่ในพันทิปที่เขาเขียนอย่างละเอียดประหนึ่งนิราศ

 “พยายามจะโพสต์คอนเทนต์รีวิวทุกสัปดาห์ หวังว่าคนที่ติดตามเราจะชอบอะไรที่เป็นตัวเรา จะได้รู้จักที่เที่ยวที่กินที่อร่อย และที่สำคัญ คือเราไม่ใช่สารานุกรมที่รู้ทุกอย่าง แต่เราจะบอกความจริง ดีก็บอกดี ไม่ชอบก็บอกไม่ชอบ ซึ่งตอนนี้ยังบอกไม่ได้หรอกว่า เพจของเอมดีหรือเปล่า เพราะมันต้องใช้เวลานานกว่าคนอื่นจะบอกว่าเพจเราดี ดังนั้นอย่าใจร้อน และต้องอดทน ศึกษา และถามผู้รู้ที่เก่งกว่าเพื่อพัฒนาตัวเอง” เขากล่าวทิ้งท้าย

 เอมยังฝากด้วยว่า ทุกอย่างในเพจไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาและรูปภาพ ล้วนเป็นผลลัพธ์จากกระบวนการอันหนักหน่วงที่เหนื่อยเช่นเดียวกับงานอื่นๆ เพราะก่อนที่จะออกมาเป็นภาพ "ชีวิตดี" อย่างที่หลายคนมอง เบื้องหลังภาพก็ต้องผ่านกระบวนการคิดและขั้นตอนบางอย่างมาแล้วทั้งนั้น

 ดังนั้น การสร้างเพจเฟซบุ๊กจึงดูเหมือนเป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ แต่จะทำได้ดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความขยัน ความเอาใจใส่ และการเรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเอง

มองเก้งอย่างที่เป็นผ่าน ‘โกโกเก้ง’