posttoday

จุดเริ่มจากพ่อกับรถโบราณ แบบฉบับ ‘อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี’

03 มิถุนายน 2560

ของสะสมบางอย่างเป็นการบ่งบอกถึงรสนิยม ตัวตน เช่นเดียวกับ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต สส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

 ของสะสมบางอย่างเป็นการบ่งบอกถึงรสนิยม ตัวตน เช่นเดียวกับ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต สส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กับอีกบทบาทในฐานะเลขาธิการสมาคมรถโบราณแห่งประเทศไทย ซึ่งมาเล่าเรื่องราวความชื่นชอบแบบที่ใครหลายคน โดยเฉพาะบรรดาผู้หลงใหลในความคลาสสิกของรถโบราณ

 อรรถวิชช์ เท้าความถึงจุดเริ่มต้นของการสะสมรถคลาสสิกย้อนกลับไปครั้งวัยเด็ก ซึ่งสมัยนั้นเพื่อนส่วนใหญ่มักจะหาซื้อหนังสือการ์ตูนยี่ห้อ TALENT มาอ่าน แต่ส่วนตัวไม่ชอบ และเวลาไปกับเพื่อนที่ร้านหนังสือ มักจะชอบหยิบจับหนังสือเกี่ยวกับรถคลาสสิก เลยเริ่มเก็บเงินซื้อแมกกาซีนรถมาอ่าน เพราะคิดในใจว่าเมืองไทยมันไม่ค่อยมี

 อรรถวิชช์ เล่าต่อว่า ช่วงหนึ่งพ่อเล่าให้ฟังว่าเคยมีรถ MERCEDES BENZ รุ่น 170S ปี 1952 ซึ่งเป็นรถเก่าสมัยนั้น ส่วนตัวก็ตกใจว่าคุณพ่อเคยมีรถรุ่นนี้ด้วยหรือ ทำไมไม่เคยเห็น เพราะพ่อได้ขายคันนั้นไปแล้ว เลยเสียดาย จากนั้นเริ่มเก็บเงินหาซื้อรถรุ่นนี้กลับมาตามที่พ่อเล่า

 “คุณพ่อผมเป็นคนเดือนตุลา และก็ไปร่วมชุมนุมทุกวัน แต่ช่วงสถานการณ์รุนแรงปรากฏว่าเจ้า 170S คันที่คุณพ่อใช้ประจำมันเกิดเสีย เลยทำให้แกรอดตายมาได้ เพราะมัวแต่ซ่อมรถแถวคลองเตยวันที่เขายิงกัน คุณพ่อก็บอกว่ารถคันนี้มันช่วยชีวิตไว้ เราเลยฝังใจว่ามีรถโบราณ และก็ทำให้พ่อรอดตาย พอเก็บเงินได้ก็เริ่มซื้อสมัยเรียนปี 1 ด้วยเงินสะสมที่พอมี ไปซื้อซากรถมาซ่อม ก็เป็นจุดเริ่มจากเรื่องเล่าของพ่อและเริ่มเก็บเรื่อยมา”

 อรรถวิชช์ เล่าถึงความประทับใจ โดยเฉพาะระหว่างทางกว่าที่เจอรถแต่ละคัน ซึ่งเปรียบเหมือนเรื่องตลกและชะตาฟ้าลิขิต เพราะได้ไปเจอผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยเป็นอดีตเจ้าของรถและมีประวัติร่วมกัน ตัวอย่างรถที่มีเก็บไว้เป็นของ พล.อ.อ.นักรบ บิณษรี ซึ่งเคยเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ

 “ตอนนั้นผมอายุเพียง 18-19 ปี ท่าน 80 ปี แต่ได้คุยเรื่องต่างๆ ทั้งประวัติศาสตร์และเรื่องรถ ทำให้สนิทสนมจนกลายเป็นเพื่อนต่างวัย และท่านก็ขายรถให้เรามา รถที่ได้มาเป็นรถของจอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยใช้ขับหนีออกนอกประเทศ โดยมี พล.อ.อ.นักรบ เป็นผู้ขับรถคันนี้ ถือเป็นประสบการณ์เพื่อนต่างวัย และเป็นความประทับใจนอกจากรถแล้วก็ยังเป็นเรื่องคน และแต่ละคันก็มีเรื่องเล่าของแต่ละคนที่ใช้ชีวิตกับรถคันนั้นๆ นอกจากเส้นสายในตัวรถคันนั้นๆ”

 อรรถวิชช์ เล่าต่อว่า ช่วงเป็น สส.สมัยแรกเมื่อปี 2550 ระหว่างหาเสียงช่วงนั้น ส่วนตัวอยู่เขตพญาไท จตุจักร และโดยเฉพาะเขตพญาไท พอขึ้นรถขยายเสียงซึ่งมันสูงกว่ารั้วบ้านมันสนุกมาก เพราะเห็นหมดบ้านละแวกนั้นใครมีรถอะไรบ้าง ได้เข้าไปคุย จีบ ถ้าไม่ขายให้ก็ไม่เป็นไร บางทีก็ไปช่วยซ่อม ทำให้มีความสัมพันธ์กับคนและเป็นอีกมนต์เสน่ห์ในการเล่นรถแบบส่วนตัว

 “ผมซ่อมรถลงมือเอง และก็จ้างช่างมาทำงานที่บ้าน ทั้งงานสี เบาะ เครื่องยนต์ โดยเรากำกับและทำเองด้วย เพราะรัก เวลาทำรถพวกนี้จะไม่ซื้อมาแบบสำเร็จรูป ส่วนใหญ่จะเป็นซากและมาทำทั้งคัน ซึ่งเป็นเสน่ห์ของมัน จำได้ว่าตั้งแต่มัธยมคาบเกี่ยวมหาวิทยาลัย ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีอีเมล ต้องเขียนจดหมายไปบอกว่าเรามีรุ่นนั้น อยากซื้ออะไหล่รุ่นนี้ แต่มันเป็นความสนุกที่เห็นรถเก่าๆ กลับมาวิ่งได้เหมือนเดิมตอนออกจากโรงงาน” 

ส่วนคันประทับใจ อรรถวิชช์ ยกให้เจ้ารถ JAGUAR E-TYPE SERIES 1 ซึ่งถือเป็นครู โดยรถคันนี้ได้มาจากแถวสามแยกพิชัย ใกล้กับรัฐสภา เดิมมันเคยเป็นกรงเลี้ยงแมว คือวิ่งไม่ได้ และข้างในตัวรถก็เอาไว้เลี้ยงแมว และแมวก็เกิดเป็นเจเนอเรชั่น เพราะรกแมวมันแห้งติดคาซากรถเต็มไปหมด แต่ก็ได้ในสภาพสายไฟสมบูรณ์มาก เพราะไม่มีหนูมากัดสักเส้นเดียว

 ทั้งนี้ ตอนเริ่มซ่อมรถคันนี้ ถือว่ามีความรู้มากขึ้นหลังจากลองผิดลองถูกมาเยอะ และซ่อมแบบบอกได้เลยว่า น็อตทุกตัวที่ถอดจากรถถูกใส่ถุงและกำกับว่ามาจากตรงจุดไหน เอา PARTBOOK หรือแผนผังรถมากาง และมีช่างคอยช่วย โดยวางแผนร่วมกัน ตรงไหนถอดออกมาจากจุดไหน ใส่ซอง เขียนกำกับ เก็บเข้ากล่องเรียง ดังนั้นรถคันนี้ถูกประกอบกลับไปด้วยน็อตเดิมทั้งคัน เป็นคันที่ซ่อมและประทับใจมาก เพราะทำถูกต้องตามหลัก

จุดเริ่มจากพ่อกับรถโบราณ แบบฉบับ ‘อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี’

 “ในอดีตตอนเด็กผมเคยรื้อรถทิ้งมาเป็นคัน เพราะไม่มีการวางแผนล่วงหน้า รื้อแล้วประกอบกลับคืนไม่ได้ คันนี้จึงเป็นต้นแบบในการซ่อมรถของผม ดูจากผังทำตามทุกขั้นตอน จนบอกได้ว่าแต่ละจุดใส่นอตกี่ตัว เพราะผมทำเอง บริหารร่วมกันกับช่าง ส่วนเครื่องยนต์ก็ถือว่าสมบูรณ์มากเพราะวิ่งน้อย และตอนซ่อมเสร็จเคยขับไปให้เจ้าของเดิมดู ซึ่งเจ้าของเดิมเองก็ภูมิใจที่รถเขากลับมาอยู่สภาพสวยเหมือนใหม่อีกครั้ง”

 ส่วนอีกคัน JAGUAR XK120 ROADSTER ถือเป็นหนึ่งความประทับใจ และคันนี้ตอนได้มาก็ยึดหลักเดิม คือ กางแผนผัง ซ่อมเหมือนกับคันแดง แต่แตกต่างตรงคันนี้เคยถูกบูรณะมาแล้ว นอตทุกตัวถูกใส่มั่วไปหมด หรือถูกเปลี่ยน โมดิฟายด์มา วิธีการจึงย้อนรอยทำเหมือนรถคันแดง และดูว่ามันใช้น็อตตัวไหน แบบไหน เกลียวอะไร และไปเดินหาน็อตแบบนั้นกลับมา ตามร้านขายนอตแถวคลองถม ซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องละเอียดแต่มีความสุขมาก

 “รถคันนี้ถือเป็นอีกคันที่ทำย้อนเวลากลับไป ผมมองว่ามันสนุกตรงนี้ สนุกกว่าซื้อสำเร็จรูป มันเป็นเสน่ห์ เพราะเราได้มีแอ็กทิวิตี้หรือกิจกรรมร่วมกับมัน ทั้งซ่อมและขับ บางทีซ่อมสนุกกว่าตอนขับ เหมือนประกอบโมเดล คันนี้ถ้าถามถูกบูรณะกลับไปเหมือนที่มันออกมาจากโรงงาน”

 ส่วนอีกความประทับใจที่ อรรถวิชช์ อยากเล่าเป็นพิเศษ คือ ได้รถอดีตนายกฯ อีกคันหนึ่งมาเก็บสะสมไว้ในคอลเลกชัน เป็น TOYOTA COROLLA AE92 โดยรถคันนี้เป็นของอดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย โดยตอนแรกไม่เคยคิดเก็บรถเก่าญี่ปุ่น เพราะส่วนตัวแล้วชอบรถยุโรปมากกว่า เนื่องด้วยเอกลักษณ์เส้นสายของตัวรถ

 “ตอนแรกท่านโทรมาถามว่า รถเก่า 30 ปี อรรถวิชช์ เก็บไหม ผมบอกไปว่าไม่เก็บ แล้วรถอายุมากที่สุดเท่าไหร่ ก็ตอบไปว่า 110 ปีครับ แล้วถามอีกว่ารถญี่ปุ่นเก็บไหม ผมก็ตอบไปว่าไม่เก็บอีกครับ แล้วรถอดีตนายกฯ เก็บไหม ผมก็รีบตอบไปเลยว่าเก็บครับ ไปถึงท่านก็ยื่นกุญแจให้ แต่ก่อนให้ท่านก็ไปซ่อมเครื่องให้ผมเสร็จเรียบร้อย ผมเลยเอารถมาเก็บไว้ แต่ก็เตรียมบูรณะอีก แต่โดยรวมถือว่าเนี้ยบมาก ผมเลยมีรถอดีตนายกฯ อยู่ในมือ 2 คัน ทั้งของนายกฯ เผด็จการ และนายกฯ ประชาธิปไตย”

 สำหรับโปรเจกต์ใหม่เป็นรถไถนายี่ห้อ PORSCHE ซึ่งคันนี้ได้มาจากแคนาดา กำลังทำให้กลับมาวิ่งได้เหมือนเดิม และที่ยากกว่ารถอื่นๆ คือ เครื่องมือในการใช้ซ่อมไม่เหมือนกัน แต่โชคดีภรรยาซ่อมให้ เนื่องจากมีบริษัท พิณสยาม เป็นบริษัทซ่อมรถการเกษตรทำในส่วนเครื่องยนต์ ส่วนตัวก็ทำแค่สีตัวรถภายนอก

 ขณะเดียวกันยังมีของสะสมอย่างอื่นนอกเหนือจากรถ ส่วนใหญ่จะเป็น Mascot หรือหัวรถซึ่งเป็นฝาปิดหม้อน้ำโบราณ เพราะในยุคก่อนหัวรถไม่ได้แต่ยี่ห้อเท่านั้น และถือเป็นงานดีไซเนอร์ เหมือนเป็นชุดแต่งรถปัจจุบัน อีกทั้งของเหล่านี้ยังมีการบอกชื่อศิลปินที่ทำด้วย 

อย่างไรก็ตาม อยากฝากคนที่จะเล่นรถโบราณต้องศึกษาให้ลึกก่อนลงมือและวางแผนก่อนทำ ไม่เช่นนั้นรถจะเสียของ และแนะนำคนเล่นรถเก่า คือถ้าจะทำควรถ่ายของเหลวในตัวรถออกให้หมด ไม่ว่าหม้อน้ำ น้ำมันเบรก น้ำมันเครื่อง แล้วเก็บในที่แห้ง เพราะรถไม่ต้องติดแอร์ให้มัน อุณหภูมิไม่เกี่ยง

 อรรถวิชช์ ยังฝากงานพิเศษเอาใจคนรักรถคลาสสิก The 41st Vintage Car Concours ซึ่งเป็นการประกวดรถโบราณ จัดขึ้นเป็นปีที่ 41 ณ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ระหว่างวันที่ 14-18 มิ.ย. โดยจะมีรถเข้าร่วมกว่า 80 คัน ดังนั้นอยากเชิญผู้สนใจเข้าร่วมรับชมความสวยงามย้อนยุคครั้งนี้