posttoday

พิชิตอาการฮิต 'ออฟฟิศซินโดรม

27 พฤษภาคม 2560

คนทำงานที่ไม่ใช้แรงงานอยู่ในห้องที่เย็นฉ่ำด้วยเครื่องปรับอากาศวันละ 6-8 ชั่วโมง ดูเหมือนชีวิตดี๊ดี นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์คอยพิมพ์หรือทำงานผ่านหน้าจออย่างมีความสุข

โดย...โสภิตา สว่างเลิศกุล  [email protected]

คนทำงานที่ไม่ใช้แรงงานอยู่ในห้องที่เย็นฉ่ำด้วยเครื่องปรับอากาศวันละ 6-8 ชั่วโมง ดูเหมือนชีวิตดี๊ดี นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์คอยพิมพ์หรือทำงานผ่านหน้าจออย่างมีความสุข

นั่นเป็นแค่เปลือกนอก เพราะโลกนี้ย่อมมีด้านดีและด้านร้ายอยู่เสมอ คนทำงานในสำนักงานหรือออฟฟิศทันสมัย มีความเสี่ยงต่อโรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ซึ่งเป็นโรคที่มาพร้อมวิถีชีวิตของผู้คนยุคใหม่

จากการสำรวจพบว่าในปี 2559 ไทยมีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 20.2 ล้านคน เป็นกลุ่มวัยทำงานอายุ 15-59 ปี ที่ใช้คอมพิวเตอร์ 14.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 71.2 และจากผลสำรวจพนักงานที่ทำงานในสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งจำนวน 400 คน พบว่าร้อยละ 60 มีอาการเจ็บป่วยจากการทำงาน

คลินิกกายภาพบำบัดบำรุงราษฎร์ ให้ข้อมูลถึงโรคนี้ว่า เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นกับคนที่ทำงานในออฟฟิศ เนื่องจากลักษณะงานที่ต้องนั่งหน้าคอมพิวเตอร์หรือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยท่าทางซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนอาจส่งผลให้เกิดโรคและอาการผิดปกติในระบบต่างๆ ของร่างกาย

ไม่ว่าจะเป็นระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบการย่อยอาหารและการดูดซึม ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบฮอร์โมน นัยน์ตาและการมองเห็น โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานกายภาพบำบัดจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับระบบกระดูกและกล้ามเนื้อเป็นส่วนใหญ่

สาเหตุและอาการของการเกิดออฟฟิศซินโดรม เกิดจากการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์หรือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยท่าทางซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานานมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน โดยมีท่าทางในการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งหลังค่อม ท่าก้มหรือเงยคอมากเกินไป สภาพแวดล้อมหรืออุปกรณ์ในการทำงานไม่เหมาะสม สภาพร่างกายที่อาจส่งผลต่ออาการเจ็บป่วย เช่น ภาวะเครียดจากงาน การอดอาหาร การพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลให้ร่างกายต้องแบกรับความตึงเครียดปราศจากการผ่อนคลาย

ความทุกข์ทรมานในการใช้ชีวิตประจำวัน บางท่าทางจะทำให้เกิดการโค้งงอผิดรูปของกระดูกได้ และบางท่าทางทำให้เกิดอาการตึง ยึด จนเกิดอาการปวดในที่สุด ซึ่งมี 3 อาการสัญญาณเสี่ยงโรคออฟฟิศซินโดรม โดยกรมอนามัย แนะวัยทำงานใส่ใจสุขภาพ ให้สังเกต 3 อาการ ที่เป็นสัญญาณเตือนเสี่ยงป่วยด้วยโรคออฟฟิศซินโดรม คือ

1) ปวดหลังเรื้อรังจากการอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์วันละ 8 ชั่วโมง โดยเฉพาะการนั่งหลังค่อม ทำให้กล้ามเนื้อต้นคอ สะบัก เมื่อย เกร็งอยู่ตลอดเวลา ทำให้กระบังลมขยายได้ไม่เต็มที่ สมองได้รับออกซิเจนไม่เต็มที่ ทำให้ง่วงนอน ศักยภาพในการทำงานไม่เต็มร้อย

2) ไมเกรนหรือปวดศีรษะเรื้อรัง ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ แสงแดด ความร้อน และการขาดฮอร์โมนบางชนิด เป็นปัจจัยก่อให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน

3) มือชา เอ็นอักเสบ นิ้วล็อก การอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ เส้นเอ็น นิ้วมือพบมากขึ้น เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์ การจับเมาส์ในท่าเดิมนานๆ ทำให้กล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาทและ เส้นเอ็นจนอักเสบ เกิดพังผืดยึดจับบริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ปวดปลายประสาท นิ้วล็อก หรือข้อมือล็อกได้

ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เคยให้สัมภาษณ์ถึงโรคออฟฟิศซินโดรม ว่า หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาการจะรุนแรงจนถึงขั้นหมอนรองกระดูกเสื่อมหรือหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทได้ และอาการออฟฟิศซินโดรม ยังรวมไปถึงกลุ่มอาการระบบทางเดินหายใจและภูมิแพ้ เนื่องจากจากการอยู่ในที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เครื่องปรับอากาศไม่สะอาด รวมไปถึงสารเคมีจากหมึกของเครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องแฟกซ์ และเครื่องพิมพ์เอกสาร ซึ่งวนเวียนอยู่ภายในห้องทำงานอีกด้วย โดยแนะนำถึงวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้เหมาะสมในขณะทำงาน คือ

1) ปรับความสูงของเก้าอี้และโต๊ะให้เหมาะสม นั่งสบาย

2) หากใช้คอมพิวเตอร์ กึ่งกลางของจอควรอยู่ในระดับสายตา การพิมพ์งานแป้นคีย์บอร์ดควรอยู่ในระดับข้อศอก ข้อมือ ใช้เมาส์โดยพักข้อศอกบนที่รองแขน และสามารถเคลื่อนไหวได้แบบไม่จำกัดพื้นที่

3) ขณะนั่งทำงาน ควรนั่งหลังตรงชิดขอบด้านในของเก้าอี้ กะพริบตาบ่อยๆ พักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ทุกๆ 10 นาที เปลี่ยนท่าการทำงานทุก 20 นาที ยืดเหยียดกล้ามเนื้อมือและแขนทุก 1 ชั่วโมง

4) ปลูกต้นไม้ในร่ม ช่วยดูดซับสารพิษและเป็นที่พักสายตาจากการจ้องมองจอคอมพิวเตอร์

5) รับประทานอาหารให้ตรงเวลา และครบ 5 หมู่

6) ควรเปิดหน้าต่างสำนักงาน เพื่อให้อากาศหมุนเวียนถ่ายเทบ้าง อย่างน้อยในตอนเช้าและพักกลางวัน

7) ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

สรุปสุดท้าย ว่าไปแล้ววิธีการที่ดีที่สุดที่จะป้องกันอาการจากออฟฟิศซินโดรมจำเป็นต้องทำร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การปรับอิริยาบถในการทำงานให้ถูกต้อง รวมถึงการเสริมสร้างสุขภาพกายและใจให้สมบูรณ์แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยลดการเกิดอาการบาดเจ็บต่างๆ ที่จะมาบั่นทอนคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างถาวร