posttoday

คราฟต์ เทรนด์ เอเชีย ส่องกล้องมองไกลหัตถศิลป์เอเชีย

27 พฤษภาคม 2560

ตัวเลขมูลค่าการส่งออกสินค้าหัตถศิลป์ของไทยในปี 2559 ซึ่งมีมูลค่าถึง 3 แสนล้านบาท หรือ 8,455 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดย...โสภิตา สว่างเลิศกุล

ตัวเลขมูลค่าการส่งออกสินค้าหัตถศิลป์ของไทยในปี 2559 ซึ่งมีมูลค่าถึง 3 แสนล้านบาท หรือ 8,455 ล้านเหรียญสหรัฐ ในจำนวนนั้นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด ได้แก่ เครื่องเงินและเครื่องทอง ผลิตภัณฑ์ผ้า งานไม้ และอื่นๆ จึงนับเป็นทิศทางอันดีของการดำเนินงานส่งเสริมด้านหัตถศิลป์ไทย

ในเทศกาลนวัตศิลป์นานาชาติ International Innovative Craft Fair 2017 (IICF) ปีนี้มีเหล่าผู้เชี่ยวชาญมากประสบการณ์จากนานาประเทศ มาแลกเปลี่ยนความรู้และมุมมองของงานหัตถศิลป์ในแต่ละท้องถิ่นของตนผ่านการบรรยายในหัวข้อ "ภาพรวมของงานหัตถศิลป์และการดำเนินงานในการพัฒนาหัตถศิลป์ในปัจจุบัน" และกิจกรรมเสวนาเรื่อง "มองภาพหัตถศิลป์ในอนาคต"

จุดที่น่าสนใจก็คือ ภูมิรู้และประสบการณ์อันยาวนานของผู้เชี่ยวชาญด้านหัตถศิลป์จากประเทศอู่อารยธรรมเก่าแก่ของเอเชีย โดยเฉพาะประเทศอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย และญี่ปุ่น ซึ่งมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เป็นหัวแถวในการนำงานหัตถศิลป์เป็นสินค้าส่งออกที่ใหญ่และมีมูลค่าที่สูงมาก เป็นทรัพย์สินทางปัญญาและมรดกหัตถศิลป์ที่สืบทอดกันมายาวนาน และเป็นรูปแบบที่ประสบความสำเร็จในตลาดภายในประเทศเองและตลาดโลกมายาวนาน

โมเดลและความเคลื่อนไหวเหล่านี้มีความสำคัญในการถอดบทเรียนของตลาดหัตถศิลป์ของเมืองไทยที่กำลังเติบโตงอกงาม ผ่านศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ศศป. หรือ The SUPPORT Arts and Crafts International Centre of Thailand (Public Organization) เรียกโดยย่อว่า “SACICT" (อ่านพ้องเสียงกับคำว่า “ศักดิ์สิทธิ์” ในภาษาไทย) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการประกอบอาชีพผสมผสานเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านตามโครงการส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และส่งเสริมสนับสนุนด้านการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ

การขับเคลื่อนและกําหนดทิศทางในอนาคตของงานนวัตศิลป์ไทย เพื่อให้การผลิตสินค้าสอดรับกับอุปสงค์ในตลาด ตลอดจนสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นที่ต้องการออกมาสู่ตลาดโลกได้ ซึ่งได้ข้อสรุปของแนวทางออกมาเป็น 4 หมวดใหญ่ ได้แก่ วัฒนธรรมผสมผสาน (Cultural Blends) ส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมในการสร้างสรรค์ผลงาน สืบสานงานช่าง (Hand to Hand) ส่งเสริมทายาทช่างศิลป์จากรุ่นสู่รุ่นเพื่อให้สานต่องานได้ เรื่องเล่าจากป่าลึก (Story of The Forest) โดยการหาแรงบันดาลใจการทำงานจากธรรมชาติ ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน สุดท้ายคือหมวดชุมชนบันดาลใจ (Communi-Craft) การบูรณาการความรู้ของชุมชนเข้ากับงานออกแบบของคนรุ่นใหม่ เพื่อช่วยพัฒนาให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

อนาคตของงานหัตถศิลป์ในอีก 10 ปีข้างหน้านั้น เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญที่จะทำให้การเข้าถึงงานช่างและงานหัตถศิลป์ต่างๆ เป็นไปอย่างง่ายดายขึ้น สังเกตได้จากจำนวนสตูดิโอที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ ตลอดจนการรวมกลุ่มของคนที่สนใจงานช่างด้านเดียวกัน SACICT จึงต้องการนำเสนอแนวคิดของการเชื่อมโยงกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับงานหัตถศิลป์ในแขนงต่างๆ จากหลากหลายวัฒนธรรม ให้รวมกลุ่มเป็น Social Craft Network เพื่อใช้เป็นทิศทางในการวางเทรนด์หัตถศิลป์ไทย โดยมีเอเชียและอาเซียนเชื่อมโยงภาพในระดับนานาชาติเพื่อก้าวสู่ตลาดระดับโลก

คราฟต์ เทรนด์ เอเชีย ส่องกล้องมองไกลหัตถศิลป์เอเชีย

หัตถศิลป์จีนในความรุ่งเรืองและร่วงโรย

เฉินชิง (Chen Jing) เลขาธิการแห่งสภาหัตถศิลป์โลก (World Craft Council) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้บรรยายในหัวข้อ Overview of China Arts & Crafts Industry and the Development Trend  โดยสรุปภาพรวมของอุตสาหกรรมศิลปหัตถกรรมในสาธารณรัฐประชาชนจีนไว้อย่างน่าสนใจว่า ในปัจจุบันประเทศจีนมีวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะและงานหัตถศิลป์มากกว่า 5,306 ราย ในปี 2016 ทำรายได้มากถึง 320 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีมูลค่าการส่งออก 4,690 ล้านเหรียญสหรัฐ

ด้วยความกว้างใหญ่และจำนวนประชากรซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ทำให้ผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ในประเทศจีนนั้นเรียกได้ว่าแทบจะครอบคลุมงานทุกประเภท ได้แก่ งานปั้นและแกะสลัก งานโลหะ เครื่องเขิน เซรามิก ภาพเขียน ผ้าทอ งานลูกไม้ งานปัก พรม เครื่องประดับและชิ้นงานจากพลอยเนื้ออ่อน หินสี รวมทั้งของตกแต่งบ้านและประดับสวน

“ลักษณะเด่นของงานหัตถศิลป์จีนนั้นอยู่ที่ช่างผู้ชำนาญ โดยผลงานของศิลปินผู้เชี่ยวชาญที่ซื้อขายกันในหมู่นักสะสมนั้นอาจมีมูลค่าสูงตั้งแต่ 1 แสน-1 ล้านเหรียญสหรัฐ/ชิ้น ในปัจจุบันมีศิลปินที่ได้รับการยกย่องในระดับชาติมีมากกว่า 400 ท่าน นอกจากนี้ศิลปะแบบจีนโบราณที่เห็นในวัดพุทธ รวมถึงอาคารในรูปแบบดั้งเดิมของจีนที่กลับมาได้รับความนิยมในช่วง 10 ที่ผ่านมา ยังทำให้อุตสาหกรรมของตกแต่งที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปหัตถกรรมโบราณได้รับความเฟื่องฟูตามไปด้วย เช่น ไม้และหินแกะสลัก รวมถึงงานช่างแบบโบราณที่ใช้กับการตกแต่งภายใน”

เฉินชิง ขยายภาพต่อว่า นอกเหนือจากของตกแต่งแล้ว เครื่องประดับก็เป็นงานหัตถศิลป์ที่ได้รับความนิยมเช่นกัน โดยเครื่องประดับที่ได้รับความนิยมรองลงมาจากทอง ทองคำขาว และเพชร คือเครื่องประดับที่ได้จากพลอย และพลอยเนื้ออ่อน

“โดยเฉพาะหยกซึ่งมีความสำคัญในแง่ของการเป็นดังจิตวิญญาณของชาวจีน ในขณะเดียวกันประเทศจีนถือเป็นแหล่งหยกสำคัญในโลก และยังเป็นประเทศที่มีการซื้อขายหยกมากที่สุดในโลกเช่นกัน นอกจากนี้ด้วยอิทธิพลจากวัฒนธรรมที่มีพื้นฐานมาจากพุทธศาสนา ชาวจีนยังให้ความสำคัญกับคริสตัล โมรา ไข่มุก งาช้าง และอีกมากมาย”

เฉินชิง บอกว่า ในแง่ของผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมในแวดวงอุตสาหกรรมหัตถศิลป์ของจีน ช่างฝีมือชั้นสูงยังเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องและมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ไม่เพียงแค่การสละเวลาในการสร้างสรรค์ผลงานที่ประณีตซึ่งใช้ระยะเวลาการทำงานที่ยาวนาน แต่ครูช่างเหล่านั้นยังมีส่วนช่วยในการพัฒนางานหัตถศิลป์แขนงต่างๆ ทั้งในแง่ของการถ่ายทอดฝีมือช่างและการอุปถัมภ์ในแง่ของเงินบริจาคอีกด้วย

“แม้จะสามารถทำรายได้อย่างงดงาม แต่งานศิลปหัตถกรรมของจีนก็ยังประสบกับปัญหาไม่ต่างจากในประเทศอื่น ความท้าทายของจีนนั้น แม้จะมีช่างศิลป์ที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างสะดุดตา แต่ยังขาดในแง่ของความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งช่างฝีมือรุ่นใหม่ยังขาดประสบการณ์และความชำนาญหากเปรียบกับช่างรุ่นก่อน”

เฉินชิง ได้ยกตัวอย่างงานแกะสลักรูปเจ้าแม่กวนอิมจำลอง ที่ช่างรุ่นใหม่สามารถทำได้ดีหากเป็นองค์ที่มีขนาดไม่ใหญ่โตมากนัก แต่หากต้องแปรสัดส่วนเป็นงานประติมากรรมขนาดใหญ่ที่มีความสูงมากกว่าร้อยเมตรขึ้นไป ช่างผู้ทำยังต้องใช้ความรู้และความชำนาญมากกว่า และยังต้องอาศัยการถ่ายทอดจากช่างรุ่นเก่า ในขณะเดียวกันจำนวนของคนรุ่นใหม่ที่สนใจด้านงานช่างยังลดน้อยลง

“เมื่อมองในแง่ของเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงถดถอย ตลาดงานศิลปหัตถกรรมภายในประเทศจีนเองก็อยู่ในช่วงของขาลง อุปสงค์ที่ลดลงทำให้มีผลต่อการสร้างสรรค์ผลงานของช่างฝีมือ ประกอบกับการแข่งขันในด้านราคา และแนวทางการผลิตสินค้าที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันจนเกิดปัญหาของการลอกเลียนแบบ อีกหนึ่งปัจจัยที่เกิดขึ้นคือการขาดความเข้าใจในเรื่องของการสร้างแบรนด์ รวมถึงขาดการสนับสนุนเงินทุนจากรัฐบาลในขณะที่ตลาดมีความผันผวน ทำให้ยอดขายลดลงกว่า 30%”

อย่างไรก็ตาม เฉินชิง คาดการณ์ถึงอนาคตของหัตถศิลป์ในจีนว่า โอกาสของการขยายตัวและการพลิกฟื้นกลับมาก็ยังมีอยู่ เนื่องจากดังที่กล่าวว่าเทรนด์ของวัฒนธรรมจีนโบราณเริ่มกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง

“รัฐบาลเองยังส่งเสริมให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความงดงามของศิลปหัตถกรรมต่างๆ ที่ถือเป็นมรดกของชาติ ประกอบกับการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงศิลปวัฒนธรรม ก็มีส่วนช่วยให้ตลาดงานหัตถศิลป์เติบโตตามไปด้วย และยังช่วยทำให้คนหันมามองงานหัตถศิลป์ชั้นสูงในแง่ของงานสะสม ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าของชิ้นงานเหล่านั้นให้เพิ่มขึ้นเช่นกัน”

สุดท้าย เฉินชิง ให้ความเห็นว่าการนำเทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามาใช้ในการส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมนั้น จะช่วยเชื่อมโยงช่างผู้ผลิตและผู้ซื้อให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น

“แนวทางการดำเนินธุรกิจแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมศิลปหัตถกรรมของจีนนั้น คือการสร้างตลาดเงินทุนเฉพาะสำหรับผู้ทำธุรกิจ การส่งเสริมให้มีการทำวิจัยและพัฒนางานศิลปหัตถกรรมในแต่ละแขนง ตลอดจนการสร้างศูนย์รวมงานดีไซน์ (Design Center) การแลกเปลี่ยนความรู้จากบุคคลในอุตสาหกรรมแต่ละแขนง ทั้งด้านการศึกษา การท่องเที่ยว สื่อโซเชียล และสื่อโทรทัศน์ นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้กับการออกแบบและสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรม”

คราฟต์ เทรนด์ เอเชีย ส่องกล้องมองไกลหัตถศิลป์เอเชีย

หัตถศิลป์อินเดียเติบโตในโลกคู่ขนานเก่าใหม่

ลิคเฮ็ต ลัลลา แท็บจิ (Likhat Lalla Tyabji) ผู้ก่อตั้งและประธานแห่งเดสต์การ์ (Dastkar) จากประเทศอินเดีย ซึ่งบรรยายหัวข้อ "Contemporary Design, Traditional CRAFT Combining the Past & the Future" ในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้งและประธานแห่งเดสต์การ์ องค์กรอิสระซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1981 เพื่อเป็นศูนย์กลางของงานศิลปหัตถกรรมและผู้สร้างสรรค์งานหัตถศิลป์ โดยให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนช่างพื้นเมืองของอินเดียจากหลายแขนง และทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมโยงระหว่างตลาดการซื้อขายสินค้าหัตถศิลป์ในเมืองและผู้ผลิตจากแหล่งชุมชนที่ห่างไกล

“ในประเทศอินเดียนั้นมีช่างผู้ทำงานหัตถศิลป์มากกว่า 20 ล้านคน แต่ละคนล้วนฝึกฝนฝีมือช่างของตนเองจนเชี่ยวชาญเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการหารายได้สร้างอาชีพ ถึงกับมีคำกล่าวจากช่างปักผ้าคนหนึ่งนามว่า เรมบ้า เบน ที่กล่าวไว้ว่า ความอยู่รอดของครอบครัวฉันขึ้นอยู่กับไหมแต่ละเส้นที่ฉันปักลงบนชิ้นงาน”

ลิคเฮ็ต บอกว่า งานหัตถศิลป์ในประเทศอินเดียนั้น มีความหลากหลายทั้งในด้านของเทคนิควิธีการทำ วัสดุ ตลอดจนเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมในแต่ละชุมชนที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละภาคและพื้นที่ของประเทศ ส่งผลให้งานหัตถศิลป์ในแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกันออกไปเช่นกัน

“อาจกล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นงานสถาปัตยกรรม งานเครื่องประดับ หรือสิ่งของที่บรรดาช่างชาวอินเดียประดิษฐ์ขึ้นมานั้น ล้วนต้องอาศัยทักษะที่ชำนาญเป็นอย่างสูง และยังต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน นอกจากนี้งานหัตถศิลป์ในประเทศอินเดียยังมีความเฉพาะตัวขึ้นอยู่กับชุมชนและประเพณีที่สืบทอดต่อกันมา ทำให้ผลงานแตกต่างกันในแง่ของการใช้สัญลักษณ์ สีสัน รูปทรง ตลอดจนเทคนิควิธีการทำ”

อย่างไรก็ตาม ลิคเฮ็ต ได้แจกแจงภาพที่ลึกลงไปว่า แม้จะมีความชำนาญในการทำงานมากเพียงใด แต่ปัญหาหลักที่ผู้สร้างสรรค์งานหัตถศิลป์ในอินเดียต้องเผชิญคือ การอาศัยอยู่ในชนบทที่ห่างไกลจากลูกค้าซึ่งอาศัยอยู่ในเมือง งานของพวกเขายังคงใช้เทคนิคการทำงานแบบดั้งเดิมก็จริง แต่ในขณะเดียวกันกลับไม่รู้และเข้าใจถึงการดีไซน์ด้วยวิธีการสมัยใหม่และความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป

“ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องมีผู้เชื่อมโยงระหว่างลูกค้ากับช่างในชุมชนเข้าด้วยกัน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าความท้าทายของงานศิลปหัตถศิลป์ของอินเดียในยุคสมัยนี้ ก็คือการเชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้ซื้ออย่างมีประสิทธิภาพ และยังคงอัตลักษณ์ของตนไว้ได้ในขณะเดียว

“หนึ่งในวิธีการเชื่อมโยงที่น่าจะให้ผลลัพธ์ที่ดีคือ การจับมือร่วมกันทำงานระหว่างช่างพื้นเมืองกับดีไซเนอร์ โดยเหล่าดีไซเนอร์ผู้เข้าไปทำงานจะต้องทำความเข้าใจทั้งเรื่องเทคนิควิธีการทำงานศิลปหัตถกรรมแบบดั้งเดิม วัสดุที่จะนำมาประดิษฐ์ รวมถึงประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งเป็นพื้นฐานหลักของการสร้างสรรค์งานหัตถกรรมของอินเดีย”

จากประเด็นดังกล่าวทำให้มีการตั้งคำถามกับลิคเฮ็ตว่า แล้วงานดีไซน์ของอินเดียจะมีทิศทางอย่างไรหากต้องก้าวไปข้างหน้า ในขณะเดียวกันก็ยังต้องคงเอกลักษณ์ของความงดงามและวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา คำตอบของเธอก็คือการทำงานร่วมกับชุมชน โดยเปลี่ยนวิธีคิดให้ประเพณีและวิธีการดั้งเดิมเป็นดังสปริงบอร์ดในงานออกแบบสินค้าชนิดใหม่ๆ ไม่ใช่เป็นกรงขังหรือกรอบของไอเดีย

“จากนั้นก็ต้องใช้แนวทางทางการตลาดที่ดีเข้ามาช่วย เนื่องจากช่างฝีมือหรือแม้แต่ผู้ทำการค้าเกี่ยวกับงานฝีมือแบบดั้งเดิมล้วนไม่มีความชำนาญในด้านนี้ อีกทั้งงบโฆษณาสำหรับการโปรโมทสินค้าในประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างอินเดีย ก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เงินลงทุนมากเกินไป”

ลิคเฮ็ต ยกตัวอย่างการทำการตลาดที่จับกลุ่มนักท่องเที่ยวซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเล่าว่าในสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์อย่างทัชมาฮาล และป้อมแดง (Red Fort) ในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมมากกว่า 1.1 หมื่นคน ในพื้นที่จึงมีร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าหัตถกรรมอยู่มากมาย

“แต่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นสินค้าที่ด้อยฝีมือ จำหน่ายในราคาถูกและไม่มีความน่าสนใจ เชื่อว่าหากเปลี่ยนวิธีการตั้งโชว์ให้เรียบง่ายขึ้น แต่เพิ่มความน่าสนใจให้กับการนำเสนอ เปลี่ยนรูปแบบแพ็กเกจจิ้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีไซเนอร์ต้องทำการบ้านเพิ่มขึ้นด้วย รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคของการผลิตสินค้าชิ้นนั้นๆ จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าได้อย่างมาก”

จากแนวคิดดังกล่าว องค์กรเดสต์การ์ไม่เพียงเข้าไปช่วยเรื่องของงานดีไซน์และการตลาดเท่านั้น แต่ยังช่วยช่างฝีมือในแง่ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยมากขึ้น ตลอดจนช่วยเพิ่มทักษะในการทำงานของช่างให้มีความประณีตมากขึ้น ซึ่งลิคเฮ็ตชี้ให้เห็นภาพการทำงานว่า

“มีการให้เครดิตแหล่งที่มา และช่วยทำการตลาดให้กับสินค้าจากชุมชนต่างๆ ผลลัพธ์ของการทำงานก็คือช่างฝีมือได้เรียนรู้เรื่องการสร้างธีมบอร์ดของชิ้นงาน การใช้คู่สี การใช้คอมพิวเตอร์ รวมถึงการวาดเส้นและการวางแผนก่อนลงมือทำงาน นอกจากนั้นหลังจากการพัฒนาชิ้นงานแล้ว ยังต้องส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่สนใจในงานช่าง เสริมสร้างพลังและศักยภาพให้พวกเขาได้สืบสานฝีมือช่างดั้งเดิม และต่อยอดทักษะในเชิงช่างให้สามารถคงอยู่ได้ในอนาคต”

คราฟต์ เทรนด์ เอเชีย ส่องกล้องมองไกลหัตถศิลป์เอเชีย

หัตถศิลป์ญี่ปุ่นอยู่คู่วิถีชีวิตร่วมสมัย

ศ.ดร.โยชิคุนิ ยะนะกิ (Yoshikuni Yanagi) จากสถาบันวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยศิลปะโอกินะวะ พรีเฟ็กทูรัล (Research Institute of Okinawa Prefectural University of Arts) ประเทศญี่ปุ่น บรรยายในหัวข้อ "งานนิทรรศการประกวดผลงานหัตถกรรมใหม่ ณ พิพิธภัณฑ์หัตถกรรมพื้นบ้านญี่ปุ่น" เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของงานหัตถกรรมพื้นบ้านญี่ปุ่น และการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเปิดให้เข้าชมมานานกว่า 81 ปี

พิพิธภัณฑ์หัตถกรรมพื้นบ้านญี่ปุ่น ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1936 โดย โซเอตสุ ยะนะกิ (Soetsu Yanagi) ผู้มีศักดิ์เป็นลุงของ ศ.ดร.โยชิคุนิ ซึ่งก่อนหน้านั้น 10 ปี โซเอตสุ ยังเป็นผู้บัญญัติศัพท์คำว่า มิงเก (Mingei) ขึ้นมา แปลว่า หัตถศิลป์พื้นบ้านที่ต้องเป็นงานที่ผลิตขึ้นโดยช่างฝีมือ เพื่อที่จะส่งผ่านงานหัตถกรรมนี้ให้กับหมู่มวลประชาชน เพื่อให้เกิดประชานิยม และให้คนได้ดื่มด่ำกับความงามของงานหัตถกรรมนั้นๆ ได้

“โดยจุดประสงค์ของการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้น ก็เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานหัตถศิลป์พื้นบ้านและเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนหัตถศิลป์พื้นบ้านพื้นถิ่น (Mingei Movement) หรือการนำความงามจากลักษณะใหม่ๆ ของงานหัตถศิลป์มาเผยแพร่ให้รู้จักในวงกว้าง เพื่อให้งานหัตถศิลป์นั้นถูกใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อเพิ่มพูนให้ชีวิตสมบูรณ์ขึ้น  และยังเพื่อให้ความงดงามของงานหัตถศิลป์นั้นๆ ได้รู้จักกันทั่วไปในวงกว้าง”

ภายในพิพิธภัณฑ์หัตถกรรมพื้นบ้าน ศ.ดร.โยชิคุนิ ฉายภาพให้เห็นว่ามีการรวบรวมงานหัตถกรรมทั้งจากในประเทศญี่ปุ่นและในต่างประเทศมาจัดแสดงไว้ถึง 1.7 หมื่นชิ้น นอกจากนี้นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953 เป็นต้นมา

“ทุกๆ ปีพิพิธภัณฑ์จะมีการจัดการประกวดและจัดแสดงงานนวัตกรรมหัตถศิลป์เป็นประจำ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนการขับเคลื่อนหัตถศิลป์พื้นบ้านพื้นถิ่น ในปีที่ผ่านมานั้นนับเป็นการจัดประกวดเป็นครั้งที่ 64 แล้ว โดยการรับสมัครผลงานจะแบ่งประเภทของงานหัตถกรรมออกไป อาทิ ผ้าทอ ผ้าย้อม เครื่องจักสาน เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเขิน เครื่องแก้ว โดยในแต่ละประเภทจะมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาเป็นกรรมการในการตัดสิน และหลังจากนั้นจะนำผลงานมารวมตัดสินอีกครั้งกับคณะกรรมการอื่น”

ศ.ดร.โยชิคุนิ เป็นหนึ่งในกรรมการผู้ตัดสินของงานหัตถศิลป์ประเภทผ้าทอ ในการประกวดแต่ละครั้งจะแบ่งรางวัลออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ รางวัลชนะเลิศที่จะมอบให้ผลงานที่โดดเด่นเป็นพิเศษ รางวัลจากสมาคมหัตถกรรมญี่ปุ่นที่มอบให้กับกลุ่มที่ส่งผลงานที่โดดเด่นที่สุด และสุดท้ายคือรางวัลชนะเลิศของแต่ละสาขาของผลงานที่เข้าประกวด

“นอกจากการมอบรางวัลแล้ว ทางพิพิธภัณฑ์ยังมีการออกนิตยสาร Mingei และนำเรื่องราวของงานประกวดจัดทำเป็นสกู๊ปพิเศษเพื่อเผยแพร่ความรู้ออกสู่วงกว้างอีกด้วย จุดเด่นที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการประกวดในครั้งนี้คือ เมื่อประกาศผลแล้วผู้ส่งผลงานจะได้เข้าร่วมงานในพิธีมอบรางวัล และผู้ที่ส่งผลงานเข้ามาประกวดทุกคนจะได้รับการวิพากษ์และชี้แนะจากคณะกรรมการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับการพัฒนาผลงานของแต่ละคนในลำดับถัดไป

“ทั้งนี้ เนื่องจากเป้าหมายหลักก็เพื่อที่จะให้เกิดวิธีการผลิตที่ดี การใช้วัตถุดิบที่ดี ใช้เทคนิคที่ดี และการคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่ดีด้วย ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อส่งเสริมให้ได้งานหัตถกรรมที่มีคุณภาพสูง มีดีไซน์และสามารถใช้งานในชีวิตประจำวัน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปรัชญาของพิพิธภัณฑ์ศิลปะพื้นบ้านพื้นถิ่นญี่ปุ่น (Japan Folk Art Museum) และยังเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนหัตถศิลป์พื้นบ้านพื้นถิ่น”

หลังจากพิธีการมอบรางวัลแล้ว ทางผู้จัดจะเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมผลงาน และยังสามารถซื้อผลงานที่ได้รับรางวัลกลับไปด้วย แต่ละปีจึงมีผู้สนใจเข้าร่วมชมมากมาย เรียกว่าเป็นงานที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสามารถซื้อหางานหัตถศิลป์ที่มีคุณภาพในราคาที่ยุติธรรมได้ แถมในแต่ละปียังมีผลงานที่เข้าร่วมประกวดมากกว่า 1,000 ชิ้น ศ.ดร.โยชิคุนิ บอกว่า ความสำคัญของการประกวดผลงานหัตถศิลป์พื้นบ้านพื้นถิ่นนั้น อยู่ที่เงื่อนไขของการส่งผลงานเข้าประกวด

“คือต้องเป็นของที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน และสามารถผลิตซ้ำได้ เป้าหมายก็เพื่อส่งเสริมให้เกิดงานหัตถศิลป์ใหม่ๆ ที่สามารถใช้งานได้จริง โดยพัฒนาจากงานหัตถศิลป์แบบประเพณีนิยม งานประกวดของที่นี่ค่อนข้างแตกต่างจากการประกวดงานหัตถศิลป์อื่นๆ เพราะส่วนใหญ่การประกวดจะเกิดขึ้นในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้ชมสามารถซื้อผลงานกลับบ้านได้ นอกจากนี้ผลงานที่ส่งเข้าประกวดยังไม่ได้ทำขึ้นแค่เพียงชิ้นเดียว ไม่ได้มุ่งเน้นในแง่ของ Art Piece หรืองานศิลปะ แต่ต้องเป็นผลงานหัตถกรรมที่สามารถผลิตซ้ำได้ในลักษณะเดิม”

สำหรับแนวคิดในอนาคต ศ.ดร.โยชิคุนิ มองว่าเพื่อที่จะให้งานหัตถกรรมมีการพัฒนาขึ้น จะต้องมีการนำเสนอไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ที่จะต้องใช้ตัวงานหัตถศิลป์เข้าไปในวิถีชีวิตประจำวันนั้นด้วย  สำหรับงานหัตถศิลป์ในมุมมองของเขานั้น ถ้างานหัตถศิลป์ไม่สามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้ ทำได้เพียงแค่ใช้ตกแต่ง ก็ไม่ถือว่าเป็นงานหัตถศิลป์

“เพราะหลักการสำคัญของงานหัตถศิลป์ใหม่ๆ คือการใช้งานได้ในวิถีชีวิตประจำวัน เพื่อที่จะส่งเสริมให้วิถีชีวิตมีความรุ่มรวยขึ้น สิ่งเหล่านี้คือจุดสำคัญ”

ในอีก 10 ปีข้างหน้า สิ่งที่ ศ.ดร.โยชิคุนิ หวังไว้คือ จะทำอย่างไรให้งานหัตถศิลป์ถูกใช้ในวิถีชีวิตประจำวันอย่างรุ่มรวย และนำสิ่งเหล่านี้เผยแพร่ไปสู่วงกว้าง เพื่อให้ส่งผลสะท้อนกลับสู่ผู้ผลิตและผู้บริโภคให้มีวัฒนธรรมที่รุ่มรวยมากขึ้น