posttoday

เจริญกรุง ถนนสายแรก จุดกำเนิดย่านสร้างสรรค์

04 พฤษภาคม 2560

เจริญกรุง ย่านเก่าแก่สะท้อนความเจริญรุ่งเรืองของประเทศไทยในอดีต สองฟากถนนเส้นนี้รายเรียงไปด้วยสถานที่ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่สืบทอดมาร่วมร้อยปี

โดย...ปอย

เจริญกรุง ย่านเก่าแก่สะท้อนความเจริญรุ่งเรืองของประเทศไทยในอดีต สองฟากถนนเส้นนี้รายเรียงไปด้วยสถานที่ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่สืบทอดมาร่วมร้อยปี เนื่องจากเจริญกรุงคือถนนคอนกรีตสายแรกของไทย จึงเป็นศูนย์รวมความเจริญในอดีต มีความเจริญตามชื่อของย่านนี้ เกิดการค้าขายมีทั้งบริษัท ห้างร้าน มีโรงแรม ที่พักของคนไทยและคนต่างชาติที่มาเยือนและพำนักในประเทศไทย มีสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนาเก่าแก่ ล้วนเป็นองค์ประกอบทำให้เจริญกรุงเป็นย่านที่มีความสำคัญอย่างยิ่งย่านหนึ่งของเมืองหลวงไทย

ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC องค์กรทำงานสร้างโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึง "ความรู้" เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ และในโอกาสเพิ่งย้ายที่ให้บริการ มายังอาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง นับว่าเป็นโอกาสดีที่จะการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของย่านเจริญกรุง และขยายการให้บริการต่างๆ ให้ครอบคลุมและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์นักคิด นักสร้างสรรค์และผู้ประกอบการยุคเศรษฐกิจดิจิทัล 4.0 เป็นพื้นที่ให้บริการต่างๆ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ และนักออกแบบ ที่เป็นกำลังสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศ

เจริญกรุง ถนนสายแรก จุดกำเนิดย่านสร้างสรรค์ สถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส

จุดประกายด้วยการเดินเที่ยว “สถานที่แรก”

จากย่านเจริญที่สุดในอดีต ปัจจุบัน "เจริญกรุง" กำลังจะกลายเป็น "ย่านสร้างสรรค์" ทีซีดีซี เดินหน้ารวบรวมไอเดียสร้างบรรยากาศของความครีเอทีฟ เริ่มกิจกรรมแรกนำร่องพาสื่อมวลชนย้อนรอยเที่ยวดึงเสน่ห์กลิ่นอายความเก่ามาถ่ายทอด ในแนวคิด "สถานที่แรก" 4 จุด บนถนนสายแรกของไทย

จุดแรก “สถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส” สถานกงสุลแห่งแรกในประเทศไทย ตั้งอยู่ในตรอกกัปตันบุช หรือซอยเจริญกรุง 30 สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ในอดีตสถานทูตแห่งนี้ถือเป็นศูนย์รวมของชาวตะวันตกเข้ามาติดต่อกับประเทศไทย จึงทำให้สถานกงสุลนี้มีพื้นที่กว้างขวาง มีท่าเทียบเรือติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เสาธงสูงตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้าอาคารเพื่อเป็นจุดสังเกตให้แก่ชาวตะวันตก

อาคารสถานกงสุลเดิมเคยเป็นอาคารโรงสีเก่า ปัจจุบันกลายเป็นสำนักงานติดต่อราชการกับสถานทูต เมื่อเดินเข้ามาด้านใน ก็จะพบกับอาคารที่พำนักของเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย ออกแบบอย่างสวยงามด้วยสถาปัตยกรรมโคโลเนียล จุดเด่นอยู่ที่ห้องรับแขกบริเวณระเบียงชั้นสอง ที่เปิดกว้างอากาศถ่ายเทได้สะดวก ด้วยบานหน้าต่างรอบห้องมองเห็นวิวแม่น้ำเจ้าพระยาในมุมกว้าง

เจริญกรุง ถนนสายแรก จุดกำเนิดย่านสร้างสรรค์ สถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส

พื้นไม้อาคารคืออีกหนึ่งเอกลักษณ์ ใช้ไม้ไผ่แบบฉาบเรียบตามแบบฉบับของการสร้างที่อยู่อาศัยของชาวโปรตุเกส ทำให้อาคารนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวโปรตุเกสที่เมื่อเอ่ยถึงประเทศไทย ชาวโปรตุเกสจะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “บ้านของพวกเราที่กรุงเทพฯ สวยงามมาก” เพราะแม้แต่ในประเทศโปรตุเกสเองก็หาชมได้ยากแล้วในปัจจุบัน

การเดินทางมาเส้นทางที่สะดวกที่สุดคือทางเรือโดยสารลงท่าเรือสี่พระยา และเดินเท้าต่อมาเพียงเล็กน้อย

เดินตรงไปในตรอกกัปตันบุชมุ่งหน้าสู่จุดที่สอง “ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย” ธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทยที่ก่อตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก ซึ่งได้มีการบูรณะเรื่อยมา เพื่อรักษาความงดงามและคุณค่าของอาคารให้คงอยู่ ด้านหน้าอาคารฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีต้นไกรต้นใหญ่ที่อยู่คู่ยาวนาน แม้ธนาคารมีอายุกว่า 100 ปีแล้วแต่เปิดให้บริการประชาชนได้ตามปกติ

เจริญกรุง ถนนสายแรก จุดกำเนิดย่านสร้างสรรค์ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย

เดินย้อนมาขึ้นเรือโดยสารที่ท่าเรือสี่พระยาเพื่อเดินทางต่อไปยัง จุดที่สาม “โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล” อาคารไฮไลต์ควรไปชมคือออเธอร์ส วิง อาคารแรกของโรงแรมอายุกว่า 140 ปี ปัจจุบันให้บริการห้องพักสวีทเพียง 2 ห้อง ส่วนชั้นล่างเป็นห้องเลานจ์ บริการอาฟเตอร์นูน ที ช่วงเวลาที่ทุกคนเดินเข้ามาจิบชาผ่อนคลายริมน้ำเจ้าพระยาได้ชิลที่สุด

เดินตรงตรงมาเรื่อยๆ บนถนนเจริญกรุงแล้วเข้าซอย เจริญกรุง 46 มาเพียงเล็กน้อยไปชมจุดที่สี่ “มัสยิดบ้านอู่” มัสยิดจดทะเบียนแห่งแรกของไทย สถานประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและสอนศาสนาของชาวมุสลิม อายุกว่า 100 ปี ที่สำคัญคือไม่เคยมีการบูรณะใดๆ แม้ว่าพื้นที่รอบๆ มัสยิดเต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างเจริญขึ้นตามยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ห้างสรรพสินค้า แต่มัสยิดยังคงรักษาพื้นที่คงความงดงามไว้จนถึงปัจจุบัน ของที่ควรไปชม เช่น ถ้วยชามเบญจรงค์ ข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มัสยิดอนุรักษ์ไว้รุ่นสู่รุ่น

บันไดไม้นำพาผู้เยี่ยมชมขึ้นมาบนชั้นสองคงความสวยงามและแข็งแรงราวกับเพิ่งสร้างขึ้นใหม่ได้ไม่นาน สมคิด วีระพงศ์สกุล ทำหน้าที่เหรัญญิก และแนะนำข้อมูลให้แก่คนสนใจมาท่องเที่ยวได้ กล่าวว่าบันไดพาเดินขึ้นไปชมข้าวของสะสมเก่าแก่นอกจากจาน ชาม กระโถนเบญจรงค์ ตะเกียงน้ำมันโบราณก็มีเก็บไว้ให้ได้ชมกัน

เจริญกรุง ถนนสายแรก จุดกำเนิดย่านสร้างสรรค์ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย

“มาเที่ยวมาชมกันได้เลยครับ มัสยิดเข้าได้ทุกคนแต่สำหรับผู้หญิงที่มีรอบเดือนเป็นกฎว่าเข้ามาไม่ได้ ถ้ามาวันศุกร์มีอิหม่ามนำละหมาด มีเทศน์ทำบุญแบบชาวพุทธ มีอาหารเลี้ยงคนทั่วไป นักท่องเที่ยวขอชิมกันได้ครับ เช่น แกงลูกชิ้นปลากรายแบบโบราณ ข้าวไก่แดงหรือไก่กรอบ ขนมที่คนละหมาดถือมาทำบุญ เวลานี้ชุมชนมุสลิมไม่คึกคักเหมือนเก่า เหลือแค่ 17 ครอบครัว

สมัยก่อนจากมัสยิดตรงไปท่าน้ำสาทร มีอู่ต่อเรือ โรงแรมแชงกรี-ลามีท่าเรือ โรงข้าวสาร โรงผักกาดดอง อีกโรงงานใหญ่คือทำสบู่ก้อนยี่ห้อโรเซท คนทำงานโรงงานเหล่านี้ก็พลุกพล่าน แต่ตอนนี้กลายเป็นชุมชนขนาดเล็กเพราะที่ดินราคาแพงคนขายที่นี่แล้วโยกย้ายไปอยู่ที่อื่นกันหมดแล้ว ถ้ามาเที่ยวเดินเล่นสุสานในมัสยิดก็เหมือนเดินเล่นในสวนหย่อมเงียบๆ สงบมาก” สมคิด บอกรายละเอียดชุมชนโบราณในย่านเจริญกรุง เดินทางโดยบีทีเอสลงสถานีตากสิน เดินผ่านโรงแรมแชงกรี-ลา เดินตรงเข้ามาเลย

เจริญกรุง ถนนสายแรก จุดกำเนิดย่านสร้างสรรค์ อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล

ย่านสร้างสรรค์เริ่มขึ้นที่นี่

หลังจากเที่ยวชม "สถานที่แรก" ทั้งสี่แห่งกันแล้ว ความเข้าใจถึงที่มาของชื่อ "เจริญกรุง" ก็เริ่มลึกซึ้งขึ้น มาจาก "เจริญ" ผสมกับ "กรุง" นั่นเอง ซึ่งย่านเก่าแก่แห่งนี้ยังมีเรื่องราวและสถานที่สำคัญอีกมาก รอคนไทยมาเที่ยวชมและสัมผัสประสบการณ์ โดยนอกจากในมุมด้านความสำคัญทางประวัติศาสตร์แล้ว เจริญกรุงยังมีสถานที่ท่องเที่ยวสุดสร้างสรรค์ เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และแกลอรีต่างๆ ล้วนแต่ทำให้เจริญกรุงกลับมามีความคึกคัก มีสีสัน ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติได้มากขึ้น อันนำไปสู่ส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยแนวคิดสร้างสรรค์

ความสำคัญในด้านศูนย์รวมความเจริญในอดีตของย่านเจริญกรุง มีสถานที่ประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่สะท้อนถึงความเป็นศูนย์รวมความเจริญของประเทศ เช่น "ห้างขายยาเบอร์ลิน" คลินิกเอกชนแห่งแรกๆ ของไทย "บ้านเลขที่ 1 ของประเทศไทย" ในตรอกกัปตันบุช ปัจจุบันเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ "อาคารไปรษณีย์กลางบางรัก" ที่ทำการไปรษณีย์และโทรเลขแห่งที่สองของประเทศไทย สร้างขึ้นเมื่อปี 2483 ออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิก ซึ่งในช่วงเดือน พ.ค.นี้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบจะเปิดให้บริการ ณ อาคารตั้งใหม่ของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบอย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมบุคลากรในแวดวงสร้างสรรค์ และพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่ของเจริญกรุงให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจได้ เติมเต็มความเป็นย่านสร้างสรรค์อย่างเต็มรูปแบบ

เจริญกรุง ถนนสายแรก จุดกำเนิดย่านสร้างสรรค์

อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้บริหารทีซีดีซี กล่าวว่า ได้มีการออกแบบและปรับปรุงอาคารไปรษณีย์กลาง ให้มีความทันสมัย และกว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยใช้พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 9,000 ตร.ม. และมีบริการใหม่ๆ เพิ่มขึ้นจากสถานที่เดิม เช่น Creative Space พื้นที่ส่วนกลางสำหรับการทำงานรองรับไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่  Maker Space พื้นที่ปฏิบัติการที่เพียบพร้อมไปด้วยเครื่องมือในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างครบครัน  Business Service พื้นที่พิเศษเปิดขึ้นเพื่อให้บริการคำปรึกษา แนะนำเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งใช้แนวคิดการออกแบบเป็นทางออกของธุรกิจ

“พื้นที่ให้บริการในส่วนอื่นๆ ของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแห่งใหม่ มีการขยายและปรับปรุงพร้อมเพิ่มเติมอุปกรณ์ และฟังก์ชั่นการใช้งานเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในห้องสมุดเฉพาะด้านความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ หรือ TCDC Resource Center การขยายพื้นที่ให้บริการของห้องประชุม Auditorium พื้นที่นิทรรศการ Exhibition&Showcase ที่นี่พร้อมเปิดให้ทดลองใช้บริการแก่สมาชิกและประชาชนทั่วไปตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค.นี้ป็นต้นไป”

ตำนานเจริญกรุงกำลังจะถูกปลุกขึ้นในบรรยากาศย่านสร้างสรรค์  สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง โทร 02-105-7441 พร้อมทำหน้าที่เป็นตัวกลางการเชื่อมโยงเมืองเก่าให้มีชีวิตชีวา ชวนมาเดินชมเมืองชิกๆ คูลๆ พรุ่งนี้ไปกันเลย