posttoday

‘ปกรณ์ นิลประพันธ์’ สะสมความรู้ผ่านหนังสืออมตะ

15 เมษายน 2560

ดารา คนดัง นักธุรกิจ นักการเมืองหรือข้าราชการที่มีตำแหน่งสูงๆ ในสังคมล้วนแต่มีของสะสมล้ำค่า

โดย...ปริญญา ชูเลขา

ดารา คนดัง นักธุรกิจ นักการเมืองหรือข้าราชการที่มีตำแหน่งสูงๆ ในสังคมล้วนแต่มีของสะสมล้ำค่าประดับบารมีให้สาธารณะได้ยกย่องถึงความมั่งคั่งมั่งมีกันเต็มไปหมด เช่น รถหรู นาฬิกา ปืน พระเครื่อง ฯลฯ แต่สำหรับ “ปกรณ์ นิลประพันธ์” รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และ เลขานุการคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีของสะสมที่แตกต่างจากคนอื่น

“ผมสะสมความรู้จากการอ่านหนังสือ เพราะของมีค่าแม้จะตายไปแล้วก็เอาไปไม่ได้ แต่ความรู้อยู่ติดตัวเราไปจนวันตาย ไม่มีใครมาขโมยหรือฉกชิงไปจากเราได้ ยิ่งปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปเร็วมาก ยิ่งตัวผมเป็นนักกฎหมายย่อมต้องเป็นนักอ่านตัวยง ดังนั้นที่บ้านของผมมีชั้นวางหนังสือหลายสิบตู้ไว้เก็บหนังสือที่สะสมมาตั้งแต่อ่านออกเขียนได้”

การสะสมความรู้ไม่ใช่แค่การอ่านเท่านั้น การได้ทำงานกับคนมีความรู้ความสามารถคือสิ่งสำคัญ ยิ่งที่สำนักงานกฤษฎีกา ผมได้ทำงานกับปรมาจารย์กฎหมายหลายคน จนหล่อหลอมกลายเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งปรัชญาการทำงานด้านกฎหมายของผมคือ สะอาด สว่าง และสงบ เป็นคติในการทำงานตลอดชีวิตรับราชการ

‘ปกรณ์ นิลประพันธ์’ สะสมความรู้ผ่านหนังสืออมตะ

ปกรณ์ เล่าว่า เริ่มสะสมหนังสือตั้งแต่เด็กๆ ในยุคนั้นยังคงเรียนหนังสือด้วยการซื้อชีต หรือซีรอกซ์ตำรามาอ่าน จนพอมีเงินซื้อหนังสือเป็นเล่มๆ ทุกวันนี้ยังเก็บรักษาไว้อยู่ แม้จะมีบ้างที่ต้องจำใจต้องรื้อทิ้งออกมาทำลาย เพราะปลวกกิน แต่ก็ยังเก็บไว้อย่างดีทุกเล่มโดยเฉพาะหนังสือกฎหมายระดับปรมาจารย์เขียนทั้งไทยหรือต่างประเทศ มีเก็บไว้หมด เช่น หนังสือของ ศ.จิตติ ติงศภัทิย์ ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชากฎหมายไทยมาเป็นเวลานานจนได้รับยกย่องเป็นปรมาจารย์แห่งวงการกฎหมายไทย และได้รับการกล่าวขานว่า ตั้งมั่นอยู่ในความบริสุทธิ์ยุติธรรม

“ชั้นวางหนังสือที่บ้านผมไม่เคยจัดลำดับเป็นระบบอะไรเหมือนในห้องสมุดตามตัวอักษร หรือตามหมวดเรื่อง ผมอาศัยความจำที่ดีนี่แหละวางหนังสือเล่มตรงนั้นตรงนี้ไปตามใจชอบ ถ้าจะอ่านหนังสือเล่มไหนต้องถามผมคนเดียว ผมจึงจะหยิบให้ถูก ไม่งั้นหาไม่เจอหรอก ขนาดลูกชายผมอยากอ่านหนังสืออะไรผมยังต้องไปหยิบมาให้ แล้วจะย้ำลูกเสมอว่าพ่อหยิบจากตรงนี้นำมาวางไว้ที่เดิมด้วยนะ” ปกรณ์ เล่าด้วยความภาคภูมิใจที่สามารถถ่ายทอดนิสัยหนอนหนังสือให้ลูกชายสุดที่รักได้ซึมซับ

ยิ่งครอบครัวผมเป็นบ้านนักกฎหมาย การพูดคุยกันจึงต้องใช้ “เหตุและผล” พร้อมกับยึดคติที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” เพราะการตีไม่ใช่การทารุณกรรมเด็ก แต่เป็นการใช้เหตุและผลในการพูดคุยอธิบายกันว่าเรื่องไหนควรทำ หรือไม่ควรทำ เรื่องไหนดีหรือเรื่องไหนไม่ดี เพราะหากเรื่องใดไม่ดีพ่อแม่ต้องกล้าตักเตือนลูกด้วยการตีบ้าง เพราะลูกอยู่ในสายตาของครอบครัวพ่อแม่ย่อมปลอดภัย แต่หากลูกไปกระทำผิดในสังคม เช่น หากกระทำผิดกฎหมาย ต้องถูกจับ หรือไม่ก็ ติดคุก ซึ่งเลวร้ายกว่าสิ่งที่พ่อแม่อบรมสั่งสอนด้วยการตีหลายเท่านัก ดังนั้นการสอนลูกด้วยการตีไม่ใช่การลงโทษที่ผิด

‘ปกรณ์ นิลประพันธ์’ สะสมความรู้ผ่านหนังสืออมตะ

ในห้องสมุดครอบครัว “นิลประพันธ์” ไม่ใช่แค่หนังสือกฎหมาย แต่มีหนังสือทุกชนิดโดยเฉพาะหนังสือประวัติศาสตร์ทั่วโลกมีเก็บหมด ความคลั่งไคล้ในการรักการอ่านส่งผ่านไปยังลูกชายวัย 15 ปี ที่ตอนนี้สามารถขยับตัวเองไปเรียนต่อเมืองนอกประเทศนิวซีแลนด์ได้ ตั้งแต่ลูกยังเล็กราว 2-3 ขวบ ก่อนนอนผมจะอ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์ยุโรปในรูปแบบนิทานให้ลูกฟังก่อนนอนทุกคืน จนเมื่อลูกโตขึ้นเติบโตทางความคิดได้สร้างนิสัยรักการอ่านและการตั้งคำถาม

“วันหนึ่งลูกผมมาถามผมว่าลัทธิคอมมิวนิสต์ คืออะไรครับพ่อ ผมจูงลูกมาที่ห้องหนังสือแล้วหยิบหนังสืออมตะ 3 เล่มให้ลูกเอาไปอ่าน ถ้าลูกอ่านจบจะเข้าใจว่าลัทธิคอมมิวนิสต์ คืออะไร”

หนังสือเล่มแรกที่ปกรณ์เลือกเป็นหนังสือของ ลีโอ ตอลสตอย นักเขียนชาวรัสเซียผู้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวรัสเซียในศตวรรษที่ 19 ถือเป็นคนที่ได้รับการขนานนามว่า เพชรน้ำเอกแห่งวรรณกรรมของโลก ผลงานที่เป็นอมตะไว้มากมาย เช่น สงครามและสันติภาพ แอนนา คาเรนินา คนกับนาย และความตายของอีวาน อิลลิช เป็นต้น

‘ปกรณ์ นิลประพันธ์’ สะสมความรู้ผ่านหนังสืออมตะ

ต่อมาเล่มที่สองคือ The Communist Manifesto หรือคำแถลงนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นหนังสือการเมืองเล่มหนึ่งที่มีอิทธิพลสูงต่อประวัติศาสตร์โลก เขียนโดย คาร์ล มาร์กซ และ ฟรีดริช เองเงิลส์ เนื้อหาสาระเป็นการวางเป้าหมายของสหพันธ์และแผนดำเนินการ กับทั้งยังได้แถลงนโยบายในการดำเนินกิจกรรมเพื่อการปฏิวัติของชนกรรมาชีพในอันที่จะโค่นล้มระบบทุนนิยมและสร้างสังคมที่ปราศจากชนชั้น

สำหรับหนังสือเล่มที่สาม คือ ดอกเตอร์ชิวาโก เป็นวรรณกรรมที่กลายมาเป็นภาพยนตร์ชีวิต รัก และสงคราม ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับนายแพทย์และกวีชาวรัสเซียชื่อ นพ.ยูริ อังเดรเยวิช ชิวาโก และความรักที่มีต่อหญิงสาวสองคน คือ ลาริซซา "ลารา" แอนติโปวา และ ทันยา โกรมีโก ฉากหลังในเรื่องกินเวลาหลายสิบปี ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การปฏิวัติรัสเซีย สงครามกลางเมืองรัสเซีย ไปจนถึงการโค่นล้มพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และสถาปนาสหภาพโซเวียต ตั้งแต่ทศวรรษ 1910 จนถึงทศวรรษ 1950 ทั้งหมดจะทำให้รู้ลึกซึ้งถึงที่ไปที่มาของลัทธิหรือความคิดคอมมิวนิสต์อย่างแท้จริง

ปกรณ์ เล่าว่า ไม่มีหนังสือเล่มไหนที่ผมชอบ หรือรักที่สุด แต่ปลื้มใจหนังสือทุกเล่มที่สะสม เพราะหนังสือเหล่านี้ทำให้เป็นคนที่มีความคิดและรักการอ่านจนกลายเป็นที่มาของนิสัยรักการเขียน เพราะการอ่านช่วยให้คิดวิเคราะห์หรือเปิดมุมมองใหม่ๆ ในการมองหรือวิพากษ์สังคมได้

"ของสะสมที่ดีที่สุดในชีวิตของผม ไม่ใช่ของมีค่าเป็นตัวเงิน แต่คือการสะสมความรู้จากหนังสืออมตะทุกเล่มที่ผมรัก เพราะการสะสมความรู้ คือ การสะสมหนังสือ"

‘ปกรณ์ นิลประพันธ์’ สะสมความรู้ผ่านหนังสืออมตะ