posttoday

ยุรนันท์ ดุษณีย์ ‘เซอร์เวเยอร์’ อาชีพนี้ใช่เลย

15 เมษายน 2560

อาชีพผู้สำรวจอุบัติเหตุรถยนต์ หรือพนักงานเคลม หรือเซอร์เวเยอร์ ยังไม่เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ เพราะต้องทำงานกลางแจ้ง

โดย...วารุณี อินวันนา

 อาชีพผู้สำรวจอุบัติเหตุรถยนต์ หรือพนักงานเคลม หรือเซอร์เวเยอร์ ยังไม่เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ เพราะต้องทำงานกลางแจ้ง เผชิญความร้อน ฝนตก ความเย็น ท่ามกลางความกดดันจากความโกรธ ความหงุดหงิด ความเศร้า ของประชาชนที่สูญเสีย

 สำหรับ ยุรนันท์ ดุษณีย์ เจ้าหน้าที่สำรวจอุบัติเหตุ 1 บริษัท วิริยะประกันภัย อดีตนิติกรที่จบนิติศาสตร์ ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม และเคยได้รับทุนพระราชทานสมเด็จพระราชชนนี ปี 2548 พกใบอนุญาตทนายความ หรือตั๋วทนาย ที่การันตีถึงความรู้ทางกฎหมายแน่นปึ๊ก บอกว่า อาชีพผู้สำรวจอุบัติเหตุรถยนต์ หรือเซอร์เวเยอร์ นี้แหละใช่เลย

 แม้จะไม่ได้ตั้งใจมาทำอาชีพนี้ตั้งแต่แรก แต่เมื่อเข้ามาแล้วก็หลงรักเข้าเต็มเปา ความรักในอาชีพ ทำให้ ยุรนันท์ ทำงานออกมาได้ดี และได้รับรางวัลชนะเลิศ ผู้สำรวจอุบัติเหตุรถยนต์ดีเด่น ประจำปี 2559 (Best Surveyor Award 2016 (BSA) ของสมาคมประกันวินาศภัยไทย ที่มีการจัดประกวดเมื่อกลางเดือน มี.ค. 2560 ที่ผ่านมา จากผู้ที่อยู่ในอาชีพนี้ทั่วประเทศ 4,000 คน ไม่รวมบุคลากรที่ทำงานในบริษัทสำรวจภัย ที่รับจ้างทำเคลมจากบริษัทประกันภัย

 "ผมมองว่าการประกันภัยมีอยู่คู่กับประเทศไทยมานาน และมีผลต่อการสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีความเข้มแข็ง ในมุมมองของผมในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ธุรกิจประกันภัย ทำงานในลักษณะของการช่วยเหลือสังคม และอาชีพเซอร์เวเยอร์ ก็เป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้ประกันภัยบรรลุจุดหมายในเรื่องของการสนับสนุนความปลอดภัยทางถนน การเยียวยาหลังเกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุทางรถยนต์

 "อยากฝากให้คนรุ่นใหม่ๆ ที่อยากช่วยเหลือสังคม อาชีพนี้ตอบโจทย์เลย และยิ่งมีความรู้ด้านกฎหมายด้วยจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น" ยุรนันท์ กล่าว

 ยุรนันท์ กล่าวว่า อาชีพเซอร์เวเยอร์ มีบทบาทสำคัญ เพราะเป็นคนแรกที่ไปพบกับลูกค้าที่สูญเสียจากอุบัติเหตุรถยนต์ ไปเป็นตัวแทนของบริษัท การทำงานจะสะท้อนภาพลักษณ์ของบริษัทด้วยทุกครั้ง

 ยิ่งในยุคดิจิทัลที่ลูกค้าสามารถตรวจสอบเงื่อนไขกรมธรรม์ได้เร็ว การแชร์ข้อมูลเป็นไปอย่างรวดเร็ว ความรู้ของเซอร์เวเยอร์ จึงต้องแน่น เงื่อนไขกรมธรรม์ต้องแม่น และมีความสุภาพ

 "การออกไปทำงานเคลมในสถานที่เกิดเหตุ จะต้องทำใจรับกับความรู้สึกของลูกค้า ที่เพิ่งเผชิญกับความสูญเสียในทรัพย์สิน หรือคู่กรณีของลูกค้าเสียชีวิต รวมถึงลูกค้าเสียชีวิต ก็ต้องเผชิญกับความรู้สึกของทายาท เป็นความกดดันที่อาชีพเซอร์เวเยอร์ จะต้องรับมืออย่างมีสติ มีเทคนิคในการพูดคุยเพื่อให้ลูกค้าและคู่กรณีเกิดความผ่อนคลาย และสร้างความมั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรม"

 การปฏิบัติต่อผู้สูญเสีย ยุรนันท์จะถือเสมือนหนึ่งว่าผู้สูญเสียเป็นคนในครอบครัวเดียวกับเขา ต้องมีสติในการทำงาน เพื่อให้ความช่วยเหลือทั้งสองฝ่าย ทั้งลูกค้าและคู่กรณี ให้ได้รับความเป็นธรรม และใช้คุณธรรมความรู้จากประสบการณ์การทำงานกฎหมายที่ศึกษา เงื่อนไขของกรมธรรม์ มาให้คำแนะนำกับลูกค้า และเป็นการเสริมความรู้ด้านประกันภัยให้กับลูกค้าไปในตัว เพื่อวันข้างหน้าหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกจะต้องทำอย่างไร?

 "ทันทีที่เห็นเหตุการณ์ สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อไปถึงที่เกิดเหตุ ต้องคุยก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น มีความเสียหายอะไรบ้าง คนที่ได้รับบาดเจ็บเป็นอย่างไรบ้าง มีอะไรที่จะเข้าไปช่วยเหลือในเบื้องต้นได้ไหม ปฏิบัติต่อเขาเหมือนเป็นคนในครอบครัว เราจะไม่พูดเรื่องรับผิดชอบหรือไม่รับผิดชอบทันที"

 ยุรนันท์ บอกว่า เซอร์เวเยอร์รถยนต์ เมื่อมีประสบการณ์ในการทำงานมากพอแล้ว ทางบริษัทจะปล่อยให้ตัดสินใจทำงานอย่างอิสระตามความสามารถในการจัดการงานที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบภายใต้ระบบการทำงานของบริษัท แม้วันนี้ ะบบเคลมรถยนต์ออนไลน์ จะถูกนำมาใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสัญญาสละสิทธิระหว่างกันของประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 หรือน็อกฟอร์น็อก ที่เพียงแลกสัญญากันก็แยกรถกันไปได้เลย

 รวมถึงโครงการ “รถชนแล้ว ถ่ายรูปไว้ แยกได้ ไม่ต้องรอ” ในกรณีเฉี่ยวชนเพียงเล็กน้อย แต่คนก็ยังต้องรอเซอร์เวเยอร์ไปให้บริการถึงที่ แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังไว้วางใจคนในอาชีพนี้

 ยุรนันท์ ฝากบอกเด็กจบใหม่ หรือคนรุ่นใหม่ ที่อยากค้นหาประสบการณ์ในการทำงาน รักในงานบริการ ชอบช่วยเหลือสังคม อาชีพผู้สำรวจอุบัติเหตุรถยนต์ หรือเซอร์เวเยอร์ เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น เป็นกลไกที่จะทำให้ชีวิตของผู้คนได้รับความคุ้มครอง ส่งเสริมในด้านความปลอดภัย และพัฒนาสังคมในอีกด้านหนึ่ง

ยุรนันท์ ดุษณีย์ ‘เซอร์เวเยอร์’ อาชีพนี้ใช่เลย

จากทนายความ สู่ผู้สำรวจอุบัติเหตุรถยนต์มือหนึ่ง

 ยุรนันท์ เล่าว่า มีความฝันที่จะเป็น “ทนายความ” จึงตัดสินใจเรียนคณะนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม ซึ่งเรียนได้ดีมากเพราะได้เกียรตินิยมอันดับ 1 เคยได้รับทุนพระราชทานสมเด็จพระราชชนนี ปี 2548 เป็นประธานรุ่นคณะกรรมการนักศึกษาคณะนิตศาสตร์ เป็นมือเบสประจำวงดนตรีมหาวิทยาลัย และได้รับเลือกเป็นนายกองค์การนักศึกษากฎหมายแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิก 26 สถาบันทั้งของภาครัฐและเอกชน

 เมื่อเรียนจบได้ไปทำงานเป็นนิติกรและสอบใบอนุญาตทนายความ หรือตั๋วทนาย และทำงานอื่นไปด้วย พอมีประสบการณ์จึงมาสมัครงานที่บริษัท วิริยะประกันภัย ในตำแหน่งทนายความ แต่ได้รับมอบหมายให้ไปทำงานด้านผู้สำรวจอุบัติเหตุรถยนต์ หรือเซอร์เวเยอร์ ก่อน

 "ตอนแรกไม่ทราบเลยว่าอาชีพนี้คืองานอะไร ทำงานแบบไหน แต่อยากลองทำ ในใจก็คิดว่าทำไปก่อนแล้วค่อยขยับขยายไปทำงานด้านกฎหมาย ทำให้เราต้องทำงานเชิงรุก ด้วยการศึกษาให้ไวที่สุด เพื่อให้การทำงานเกิดความคล่องตัว ก็จะมีพี่ที่ทำงานคอยประกบติด ให้คำแนะนำ" 

 แม้แต่ระดับผู้จัดการก็จะสอนงานด้วยการพาเราลงพื้นที่ไปด้วย เพราะเรามาใหม่ จะยังไม่ทราบเรื่องการทำเอกสาร การให้คำแนะนำ การสร้างความเข้าใจลูกค้าจะไม่ครบถ้วน ทางพี่ๆ ก็จะคอยแนะนำตลอด ทำให้เรียนรู้ได้ไวมาก ใช้เวลา 1 เดือน ก็สามารถออกไปทำงานนอกสถานที่ได้

 "เคลมอุบัติเหตุรถยนต์แรกที่ทำเอง จะเป็นการเคลมแห้งธรรมดา มีการตรวจสอบเบื้องต้น เลขตัวถัง มันตื่นเต้นมาก เพราะไม่เคยรู้ว่าตัวรถยนต์จะต้องศึกษาอะไรบ้าง เลขตัวถังรถ ระบุว่าเป็นรถคันนี้ เป็นของผู้เอาประกันภัยคนนี้ รู้สึกแปลกใหม่กับอาชีพนี้ หลังจากนั้นก็เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาเรื่อยๆ และได้ทำงานในรายที่ยากๆ ซับซ้อนเพิ่มขึ้น จนสามารถทำงานสำรวจความเสียหายกรณีรถชนกันหนักๆ และความสูญเสียในชีวิต

 "วันนี้ ยังไม่ได้มองไปถึงว่าในอนาคตจะไปถึงตำแหน่งไหน เพราะกำลังอยู่ในช่วงตั้งใจทำงานด้วยการใช้ความรู้ความสามารถของเราให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่ผมเห็นผู้บริหารระดับสูงหลายคน เริ่มต้นการทำงานในบริษัทประกันภัยด้วยตำแหน่งเซอร์เวเยอร์ ซึ่งผมมองว่าโอกาสในการเติบโตมีสูง และอนาคตในการทำงานก็ดี หากเรามีความรู้ความสามารถมากพอ" ยุรนันท์ บอกถึงความคาดหวัง

 "มีอะไรที่จะเข้าไปช่วยเหลือในเบื้องต้นได้ไหม ปฏิบัติต่อเขาเหมือนเป็นคนในครอบครัว เราจะไม่พูดเรื่องรับผิดชอบหรือไม่รับผิดชอบทันที"

 "อาชีพผู้สำรวจอุบัติเหตุรถยนต์ หรือเซอร์เวเยอร์ เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น เป็นกลไกที่จะทำให้ชีวิตของผู้คนได้รับความคุ้มครอง ส่งเสริมในด้านความปลอดภัย และพัฒนาสังคมในอีกด้านหนึ่ง"