2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีพัฒนาการด้านสิทธิหรือการแก้ปัญหาของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) อย่างเห็นได้ชัด นั่นคือ การผ่านร่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ เพื่อป้องกันการกีดกันหรือการเลือกปฏิบัติต่อใครเพราะเพศสภาพ โดยมีผลบังคับใช้แล้วในบัดนี้ ในขณะที่ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพื่อการสมรสระหว่างเพศเดียวกันก็มีการผลักดันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงร่าง พ.ร.บ.รับรองเพศ พ.ศ. ... (จุดจุดจุด) เพื่อรับรองกลุ่มคนข้ามเพศนั้น องค์กรด้านความหลากหลายทางเพศได้ทำงานอย่างหนัก แม้ว่าจะเป็นเรื่องยาก (มาก) ก็ตาม
ดูเหมือนว่าในปีนี้กระแสโลกได้ให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางเพศอีกครั้ง อย่างการยอมรับให้ภาพยนตร์เรื่อง Moonlight ชนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่หนังเกย์อยู่ในสปอตไลต์ที่ทั่วโลกมองเห็น หรือด้านสิทธิและความเท่าเทียมในแง่กฎหมายหรือนโยบายก็ถูกพูดถึงมากขึ้น เช่น การมีพื้นที่ในการเรียกร้องการแต่งงานในเพศเดียวกันในหลายประเทศ การที่บางโรงเรียนในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐ ให้สิทธินักเรียนกลุ่มข้ามเพศ (ชายแต่งหญิง) สามารถเข้าห้องน้ำตามเพศสภาพของตัวเองได้เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้ง และการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเรื่อง “ปฏิบัติการทางภาษา” ที่มีการคิดคำสรรพนามเรียกกลุ่มข้ามเพศโดยไม่ให้ตรงกับเพศกำเนิด เช่น ใช้คำว่า Ze หรือ They รวมถึงประเทศไทย ก็มีเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้กลุ่มหลากหลายทางเพศถูกกล่าวถึงอีกครั้ง
ด้าน ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ หัวหน้าฝ่ายวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ความก้าวหน้าด้านความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยว่า ปัจจุบันกลุ่มแอลจีบีทีมีพื้นที่แสดงตัวตนมากขึ้นเพราะสังคมไทยยอมรับมากขึ้น
“คนรุ่นใหม่ในยุคเจนวายหรือเจนแซดไม่ค่อยจะนิยามตัวเองว่าเป็นเพศอะไร เพราะเขาเปิดกว้างในเรื่องความสัมพันธ์ พร้อมที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ และมีความยืดหยุ่นในอัตลักษณ์ของตัวเองมากขึ้น”
ดร.นฤพนธ์ ยังได้ฝากไปถึงชาวแอลจีบีทีที่ยังไม่กล้าแสดงตัวตนในสังคมว่า สังคมไทยเป็นสังคมของความหลากหลาย เกย์ กะเทย ทอม ดี้ พบได้กับคนทุกระดับชั้นตั้งแต่คนรวยถึงคนยากจน ซึ่งแต่ละระดับชั้นจะมีแวดวงและเพื่อนฝูงของตัวเอง
“แต่เกย์ชนชั้นกลางจะมีพลังมากกว่าคนอื่น เพราะเป็นชนชั้นที่สามารถชี้นำคนในสังคมได้พอสมควร ดังนั้นจึงอยากฝากให้เกย์ชนชั้นกลางเป็นสะพานให้ชาวแอลจีบีทีคนอื่นๆ ที่ยากจนหรืออยู่ในชนบทได้ออกมายืนในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น”
ปัจจุบันคำว่า เพศสภาพ กำลังเปลี่ยนชุดความคิดจากการยอมรับเฉพาะตามเพศกำเนิด เป็นการยอมรับ “ตัวตน” ตามเพศที่แสดงออก ซึ่งถือเป็นความเปิดกว้างอย่างหนึ่งของสังคมไทยและสังคมโลก นั่นเพราะการยอมรับความหลากหลายไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่การกดดัน บีบให้ปกปิดตัวตน หรือปฏิบัติต่อกันด้วยความเกลียดชังต่างหาก คือ สิ่งที่ควรละเลิก
เพราะไม่ว่าอย่างไรมนุษย์ทุกคนล้วนมีคุณค่าในตัวเอง