posttoday

กัลย์ชฏารัตน์ ปัญญาวงศ์ จะอยู่รักษ์น่าน นานนาน

26 มีนาคม 2560

เป็นลูกหลานคนเมืองน่านที่เติบโตมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของน่านหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะเรื่องป่าไม้ที่ค่อยๆ หัวโล้น

โดย...กองทรัพย์

เป็นลูกหลานคนเมืองน่านที่เติบโตมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของน่านหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะเรื่องป่าไม้ที่ค่อยๆ หัวโล้น น้ำใจ-กัลย์ชฏารัตน์ ปัญญาวงศ์ บัณฑิตหมาดๆ จากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยวัย 24 ปี เธอมีความคิดที่จะไม่เริ่มต้นชีวิตออฟฟิศในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ แต่มุ่งหน้าสู่การทำไร่ทำฟาร์มและร้านอาหารของตัวเองที่บ้านเกิด

ด้วยดีกรีที่เรียนคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาชีววิทยา และการได้ลงพื้นที่ใน จ.น่าน ก่อนจบการศึกษาปัญหาการเกษตรดั้งเดิมในจังหวัด และศึกษาแนวทางการทำการเกษตรสมัยใหม่ของต่างประเทศ บวกกับความฝันของคุณแม่ที่อยากทำการเกษตรมาทั้งชีวิต ทำให้น้ำใจวางแผนจะทำฟาร์มในระบบแบบสมาร์ทฟาร์มตั้งแต่ยังไม่จบปริญญาตรี

กัลย์ชฏารัตน์ ปัญญาวงศ์ จะอยู่รักษ์น่าน นานนาน

น่านโดนโจมตีเรื่องการทำการเกษตร แต่น้ำใจขอสวนกระแสด้วยการปลูกผัก ทำเป็นร้านอาหารชื่อ น่านตะวันฟาร์ม “น้ำใจศึกษาและตัดสินใจว่าจะทำฟาร์มสมัยใหม่ตั้งแต่สองปีที่แล้ว ได้คุยกับคุณแม่ท่านก็บอกอยากมีฟาร์ม แต่สมัยก่อนการทำเกษตรสำหรับท่านเป็นไปได้ยาก คุณพ่อกับคุณแม่ก็เลยทำธุรกิจเสื้อผ้า ซึ่งทำมานานกว่า 20 ปีแล้ว ตอนแรกน้ำใจก็คิดว่าอาจจะดูแลกิจการเสื้อผ้าต่อ เพราะไปเรียนแฟชั่นดีไซน์เพิ่มเติมมาด้วย แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจว่าอยากมาทำฟาร์ม ซึ่งเป็นฟาร์มระบบใหม่ที่เป็นสมาร์ทฟาร์ม ในฟาร์มจะปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์ ปลูกเมลอน มะเขือเทศ และพืชผักสวนครัวแบบอินทรีย์ โดยที่มีร้านอาหารของเราที่นำวัตถุดิบจากฟาร์มมาปรุงให้คนมาเยี่ยมชิมกันสดๆ ทำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรแห่งใหม่ใน จ.น่าน เปิดร้านครั้งแรก 28 ต.ค. 2559 ที่ผ่านมา”

ความฝันอย่างหนึ่งของสาวน่านคนนี้ คือการได้เป็นครู “การเรียนจบด้านวิทยาศาสตร์มา ความฝันของน้ำใจเลยคืออยากเป็นผู้สอน ไม่จำเป็นต้องอยู่ในโรงเรียน ดังนั้น น้ำใจก็เลยเปิดเวิร์กช็อปเล็กๆ ที่ฟาร์ม สำหรับเด็กวัยประถม เกี่ยวกับงานการเกษตรแบบที่เราทำ ให้เขารู้ว่าโลกนี้มีการทำการเกษตรหลากหลายแบบ เด็กๆ จะได้ไม่ยึดติดกับความคิดที่ว่าไม่อยากทำการเกษตร เพราะหนักและเหนื่อย เราทำให้เขาเห็นว่าถ้าเราเปลี่ยนหรือพลิกมุมมองความคิดแค่นิดเดียวก็สามารถทำได้ เพราะที่น่านเด็กส่วนใหญ่จะมีต้นทุนทางการเกษตรอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่จะไม่กลับมาทำงานที่บ้าน”

กัลย์ชฏารัตน์ ปัญญาวงศ์ จะอยู่รักษ์น่าน นานนาน

น้ำใจ บอกอีกว่า “เด็กน่านจะเรียนหนังสือ ไปทำงานต่างจังหวัดหรือทำงานในกรุงเทพฯ จะไม่มีใครกลับมาที่บ้าน ดังนั้นพ่อแม่ที่เป็นเกษตรกรส่งลูกเรียน แต่ลูกไม่ได้กลับมาช่วยพ่อแม่ทำเกษตร พื้นที่นี้ก็ไม่มีการพัฒนา น้ำใจมาฝึกงานที่ศูนย์จุฬาฯ จ.น่าน ได้ลงพื้นที่คุยกับชาวบ้าน พบว่าที่นี่จะปลูกพืชเลียนแบบกัน เห็นใครปลูกอะไรก็ปลูกตาม เขาปลูกข้าวโพดเพราะไม่มีทางเลือก ไม่มีตลาดรองรับกรณีที่ปลูกอย่างอื่น เพราะส่วนหนึ่งลูกหลานไม่กลับมาช่วยเขา เขาก็ทำกันแบบเดิมๆ ก็ถูกพ่อค้าคนกลางกดไว้ 

“อย่างน้อยน้ำใจเข้ามาทำตรงนี้ เป็นจุดเล็กๆ ของเราเอง ลงทุนเอง เราทำได้ แต่จะให้น้ำใจไปบอกเขาให้มาทำเหมือนน้ำใจไม่ได้ ถ้าไม่มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว เราจะสอนเขาไม่ได้ ดังนั้นชาวบ้านก็จะเห็นตัวอย่าง ซึ่งตอนนี้หน่วยงานรัฐก็เข้ามาดูว่าเราทำอะไรบ้างแล้ว เอาจริงๆ การตลาดมีผลมาก น้ำใจทำฟาร์มของตัวเองให้สวย น่ามาเที่ยว เราลงทุนเยอะจริง แต่ถ้าฟาร์มน้ำใจไม่สวย เราจะจุดกระแสไม่ได้ โชคดีที่ความรู้ด้านการเกษตรมีคุณพ่อเป็นที่ปรึกษา เพราะท่านเรียนเกษตรโดยตรง ผักที่ใช้ในร้านก็พยายามปลูกเอง เพราะเรามีแปลงของตัวเองก็ทำได้หมด เราเป็นเหมือนชั้นวางของให้ชาวบ้าน ถ้าเขาเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ น้ำใจสามารถนำผลผลิตจากชาวบ้านมาขายได้ เราเป็นเหมือนตลาดเล็กๆ ให้เขา”

กัลย์ชฏารัตน์ ปัญญาวงศ์ จะอยู่รักษ์น่าน นานนาน

น้ำใจ บอกว่า สิ่งที่เธอได้รับมากกว่าเม็ดเงินที่ลงทุนไป คือการได้เห็นศักยภาพของตัวเอง ได้เห็นว่าเธอเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กน่านรุ่นใหม่คนอื่นๆ ที่อยากกลับมาทำงานที่บ้านเกิด “การกลับมาทำงานที่บ้านเป็นอะไรที่อบอุ่นมาก พ่อแม่ก็ดีใจ เพราะคงไม่มีพ่อแม่คนไหนที่อยากให้ลูกไปอยู่ไกลเรา ท่านดีใจที่เห็นเรากลับมาทำตรงนี้ ในอายุเท่านี้ แล้วเราคิดและทำเพื่อตัวเราเอง ครอบครัวเรา และคิดช่วยเหลือคนอื่นๆ ท่านก็ดีใจ น้ำใจถือว่าโชคดีที่คุณแม่พอมีต้นทุนให้ แต่ต้นทุนนั้นจะไร้ความหมายถ้าน้ำใจไม่ทำอะไรเลย เราก็ดีใจที่ได้กลับมาตรงนี้ เรากลับมาก็เป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น เพื่อนรุ่นเดียวกัน หรือเด็กๆ รุ่นต่อๆมาที่มาเยี่ยมฟาร์มของเรา

“เพื่อนน้ำใจในรุ่นเขาหรือรุ่นพี่หลายคนก็จะทำงานบริษัท เพราะติดภาพว่าเรียนจบสูงแล้วจะต้องอยู่ในบริษัท แต่ในใจลึกๆ เชื่อว่าเขาอยากจะมาอยู่ที่บ้าน แต่กว่าเขาจะกลับมาอายุเขาก็มากแล้ว สิ่งที่เขาคิดจะทำก็เพื่อตัวเขาเองแล้ว ด้วยสมรรถภาพและกำลังความคิด เขาก็จะอยู่ที่ตัวเอง ไม่ได้เข้าสู่ชุมชนหรือเผื่อแผ่ไปให้คนอื่น การพัฒนาบ้านเราก็ยาก”

ความฝันของสาวคนนี้ เธอบอกสั้นๆ แค่ว่า “อยากให้ จ.น่าน เป็นที่รู้จัก อยากให้ชาวบ้านเปลี่ยนแนวทางของการเกษตร อยากให้ชาวบ้านได้ปลูกแบบที่เราปลูก เรารู้ว่าเขามีปัจจัยหลายอย่างจำกัด ไม่สามารถลงทุนได้เลย ดังนั้นการที่เราจะทำอะไรใหม่ๆ ให้สำเร็จค่อนข้างยาก น้ำใจจึงตั้งใจว่าจะเริ่มต้นที่การเป็นตัวอย่างให้เด็กรุ่นใหม่ ให้เขามีความรู้และกลับไปพัฒนาบ้านเขาดีที่สุด”

กัลย์ชฏารัตน์ ปัญญาวงศ์ จะอยู่รักษ์น่าน นานนาน

กัลย์ชฏารัตน์ ปัญญาวงศ์ จะอยู่รักษ์น่าน นานนาน

กัลย์ชฏารัตน์ ปัญญาวงศ์ จะอยู่รักษ์น่าน นานนาน