posttoday

ร่างกายเป็นมากกว่าร่างกาย เมื่อสองแขนติดปีกโบยบิน

14 มีนาคม 2560

ทันทีที่ม่านเปิดการแสดงองก์แรก เสียงปรบมือก็ดังกราวใหญ่ให้แก่การแสดงกายกรรมน่าตื่นตาตื่นใจ

โดย...ปอย

ทันทีที่ม่านเปิดการแสดงองก์แรก เสียงปรบมือก็ดังกราวใหญ่ให้แก่การแสดงกายกรรมน่าตื่นตาตื่นใจ ความตื่นเต้นถูกปลุกเร้าขึ้นทันใด กับการได้ชมโชว์เปิดโดยสามครูสาวสุดสตรองจากสตูดิโอออกกำลังกายแนวใหม่ “ห้อยโหนเซอร์คัส คอมมูนิตี้ ฟอร์ ไลฟ์-Hoy-Hon Circus Community 4 Life” ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ได้ครีเอทการแสดงโดยนำเทคนิคการเล่นกายกรรม ผสานกับการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพให้แข็งแกร่งจนดูเหนือมนุษย์

ครูโดนัท-ธิติกานต์ บวรศิวมนต์ ครูโอปอลล์-ศุธาภา อุตตะโมต และครูอดีตนักยิมนาสติกทีมชาติไทย ดีกรีเหรียญเงินซีเกมส์ ครูมะปราง-ปรางชริญา ศรีสามารถ พาคนดูโบยบินล่องลอยอยู่บนความสูงกว่า 8 เมตร กับอุปกรณ์การแสดง Aerial Hoop ห่วงวงกลมคล้องสอดรับกันกลายเป็นแชนเดอเลียร์ ร่างกายแขนและขากลายเป็นตัวแทนโคมไฟคริสตัลที่สร้างสรรค์ได้มากกว่าความระยิบระยับ เต็มไปด้วยความเปี่ยมพลังสว่างไสวส่งไปถึงหัวใจคนที่ได้ดูโชว์ ชื่อว่า “เซิร์ก เดอ เว : เดอะ ลาสต์ วินด์ ออฟ วินเทอร์-Cirque D’Hiver : The Last Wind of Winter” ดูโชว์คุณภาพสากลกันแล้ว ผู้ชมก็ได้ทำบุญจากการซื้อบัตรอีกด้วย สตูดิโอมีความตั้งใจจัดแสดงโชว์ปีละ 2 ครั้ง รวมถึงกิจกรรมเวิร์กช็อปเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้และทดลองการออกกำลังกายแนวใหม่ในแต่ละคลาสโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่ขอรับบริจาคตามกำลังศรัทธาเพื่อนำรายได้ไปมอบให้กับองค์กรการกุศลต่างๆ ต่อไป

การแสดงโชว์กายกรรมครีเอทโดยทีมนักแสดงไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ ครูกำปั้น-คริสเตียน น้อยนาเวศ กรรมการบริหาร มีดี ครีเอทีวิตี้ โชว์ ผู้บริหารสตูดิโอห้อยโหนเซอร์คัส คอมมูนิตี้ ฟอร์ ไลฟ์ ครูหนุ่มหน้าตาคมเข้มรับหน้าที่ Creator and Director บอกว่าการแสดงที่จุดไฟแห่งแรงบันดาลใจ คือ Le Reve - The Dream ซึ่งทีมครูสตูดิโอห้อยโหนได้ไปเรียนการแสดงกายกรรมรูปแบบนี้ถึงลาสเวกัส สหรัฐ

ร่างกายเป็นมากกว่าร่างกาย เมื่อสองแขนติดปีกโบยบิน

ก้าวข้ามขีดจำกัดร่างกาย

ความตระการตาของโลกแห่งกายกรรม โชว์ผ่านทักษะแห่งการเคลื่อนไหวร่างกายด้วยความแข็งแรง ผสานกับเทคนิคสุดอลังการ แสง สี เสียง และดนตรีเต็มรูปแบบ เครื่องแต่งกายงดงามระดับจัดเต็มอลังการ ทุกๆ รายละเอียด ครูกำปั้น คริสเตียน กล้ารับประกันว่าเทียบเท่ากับการแสดงกายกรรมระดับโลก โชว์ภายในเวลากว่า 2 ชั่วโมงเต็มประกอบด้วย 17 โชว์ย่อย นำเทคนิคการเล่นกายกรรมอย่าง Aerial Rope Aerial Silk Aerial Hoop Aerial Net Aerial Hammock Aerial Cube Straps Trapeze และการเต้นเพิ่มจังหวะความเร้าใจ ผสานกับการแสดงในรูปแบบ เซอร์คัส โชว์ ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อนในเมืองไทย

ครูกำปั้น ให้ความหมายเข้าใจโดยง่าย คำว่า Aerial ก็คือคำไทยที่ใช้คำว่า เหินเวหา และการโชว์ความผาดโผนถือเป็นครั้งที่สองของสตูดิโอ ครั้งแรกใช้ชื่อว่า Love Song in the Air ก็จัดการแสดงเพื่อการกุศลเช่นเดียวกัน

“โชว์ครั้งแรกนำบทเพลงรักในท่วงทำนองต่างๆ ของวงสุนทราภรณ์มาเป็นธีมหลักในการแสดงควบคู่กับกายกรรม เพื่อทำให้รู้สึกว่าเพลงไทยก็สามารถนำมาแสดงในโชว์แบบเซอร์คัสได้ นำทีมโดยครูทั้งหมดและนักเรียน 10 กว่าคนครับ รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดเรามอบให้กับมูลนิธิโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลีย (Blood Disease Patients) ส่วนครั้งนี้เรามีนักแสดงและทีมงานทั้งหมดเพิ่มขึ้นกว่า 60 คน ธีมการแสดงหวือหวาขึ้น เรียกว่าเป็นการร้อง เต้น เล่นกายกรรมที่ถือเป็นเซอร์คัสเต็มรูปแบบ มีเพลงสากลรวมถึงเพลงมิกซ์ขึ้นมาใหม่โดยเติมกลิ่นอายของเพลงสไตล์ EDM เพิ่มความสนุกของโชว์ให้มัน(ส์)สนุกขึ้น” ครูกำปั้น คริสเตียน เทรนเนอร์และผู้บริหารสตูดิโอ บอก

ในครั้งนี้ ห้อยโหนเซอร์คัส คอมมูนิตี้ ฟอร์ ไลฟ์ ขอเป็นส่วนหนึ่งในก้าวแรกสานต่อความฝันสู่โอลิมปิกของนักกีฬาคนพิการ โดยนำรายได้จากการแสดงหลังหักค่าใช้จ่ายมอบให้มูลนิธิคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย เตรียมความพร้อมให้แก่ทัพนักกีฬาในพาราลิมปิกเกมส์ ณ กรุงโตเกียว ปี 2020

ร่างกายเป็นมากกว่าร่างกาย เมื่อสองแขนติดปีกโบยบิน

“คนส่วนใหญ่มักมองข้ามความสำเร็จ ก็อาจยังไม่รู้ว่าปี 2016 นักกีฬาคนพิการได้ไปคว้าเหรียญรางวัลจากพาราลิมปิกมาถึง 18 เหรียญ แบ่งเป็น 6 เหรียญทอง 6 เหรียญเงิน และ 6 เหรียญทองแดง มากกว่าความภาคภูมิใจก็คือการพิสูจน์ได้ชัดนะครับว่า มนุษย์เราสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดทางร่างกายได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งตรงกับรูปแบบการแสดงโหนผ้า ก็มาจากความเชื่อมั่นและศรัทธาในศักยภาพในร่างกายมนุษย์ เราจึงอยากสนับสนุนคนกลุ่มนี้ให้สู้ไปได้ไกลสุดฝันด้วยกันครับ

การแสดงถือเป็นโชว์เคสของกลุ่มนักเรียนของสตูดิโอ รุ่นนี้มีอายุตั้งแต่ 8-55 ปี ได้รับการฝึกฝนด้านกายกรรมมาแล้ว พร้อมด้วยทีมงานรวมแล้วกว่า 60 ชีวิต เวทีล่าสุดคือเดอะสเตจ เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ บัตรราคา 500 1,000 1,500 และวีไอพี 2,000 บาท บัตรทั้งหมด 600 ที่ ขายหมดทุกที่นั่งครับ” ครูกำปั้น บอกด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจที่สุด

ครูคนเดิม เล่าย้อนไปที่จุดเริ่มต้นของ ห้อยโหนเซอร์คัส คอมมูนิตี้ ฟอร์ ไลฟ์ สตูดิโอออกกำลังกายแนวใหม่ ที่นำเทคนิคของการเล่นกายกรรมมาผสานกับการดูแลสุขภาพ เกิดจากกลุ่มเพื่อนๆ ที่มีใจรักการแสดงกายกรรมและการออกกำลังกาย

นอกจากครูกำปั้น คริสเตียน ก็มีครูอีก 6 คน คือ ครูอ๊าท-คมสันต์ ศรีปลื้ม ครูโดนัท-ธิติกานต์ บวรศิวมนต์ ครูโอปอลล์-ศุธาภา อุตตะโมต ครูมะปราง-ปรางชริญา ศรีสามารถ ครูพิช-ยศวัฒน์ องค์มีเกียรติ และครูกาว-กนกกาญจน์ โสดาราม แต่ละคนล้วนมีพื้นฐานของการเป็นแดนเซอร์คร่ำหวอดในแวดวงของการแสดงนับสิบปี ต่างกันที่สไตล์การเต้นและพื้นฐานการฝึกฝน เช่น บางคนเรียนสาย Contemporary Art, Jazz Dance, Ballet หรือ Street Dance มีความฝันร่วมกัน จึงรวมตัวกันเปิดสตูดิโอออกกำลังกาย โดยนำสิ่งที่รักและเชี่ยวชาญมาถ่ายทอดตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน ต่อยอดให้นักเรียนมีทักษะในการแสดงกายกรรม

ร่างกายเป็นมากกว่าร่างกาย เมื่อสองแขนติดปีกโบยบิน

“สะพานลอยสูง 5 เมตร เราลอยสูง 6 เมตรแต่ละคลาสที่เปิดสอนจึงจำกัดนักเรียนเพียงคลาสละไม่เกิน 8 คน เพื่อความทั่วถึงในการดูแล และยังตรงกับคอนเซ็ปต์ของสตูดิโอ ที่ต้องการให้ผู้เรียนรู้สึกอบอุ่น เหมือนได้อยู่กับกลุ่มเพื่อนและครอบครัวที่สนใจในสิ่งคล้ายๆ กัน ซึ่งนักเรียนอายุมากที่สุดคือ 55 ปี อาชีพแม่บ้านก็มากับหลาน มาส่งหลานเรียนนั่งดูแล้วอยากเรียนบ้าง

ผมย้ำเสมอครับว่า ไม่ว่าร่างกายหรือวัย ไม่ใช่ข้อจำกัดของมนุษย์ ร่างกายของเราสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่เคยๆ ทำในชีวิตประจำวัน ถ้าเรารู้จักร่างกายตัวเองลึกซึ้งก็จะรู้ว่ามันคือความมหัศจรรย์ การก้าวข้ามผ่านขีดจำกัดของตัวเองนอกจากให้ความภาคภูมิใจในตัวเองแล้ว ก็จะได้รู้อีกครับว่าคนเราสามารถทำอะไรก็ได้ถ้าหัวใจเราแกร่ง ร่างกายก็แข็งแกร่งเช่นกัน

ผมย้ำว่า เราก็จะเป็นอะไรได้มากกว่าที่เราเคยเป็น จากนักเรียนวัย 55 ปี แม่บ้านๆ เรียบร้อยมาก เมื่อโหนผ้าอยู่กลางอากาศก็กลายเป็นผู้หญิงอีกคนหนึ่ง ที่สมัยนี้ใช้คำว่า สวยสตรอง ทุกคนยอมรับเลยครับว่าบนเวทีโชว์เธอเซ็กซี่มาก ซึ่งเป็นความโดดเด่นของการออกกำลังกายที่ทำให้มีรูปร่างที่ดี เชื่อมั่นในตัวเอง”

จากสตูดิโอออกกำลังกาย เมื่อมีโอกาสดูโชว์ Aerial ของทีม Cirque du Soleil ลาสเวกัส ก็เกิดคำถามว่าทำไมจึงไม่มีการแสดงคุณภาพ สร้างสรรค์แรงบันดาลใจล้นทะลักรูปแบบนี้ให้คนไทยดูกันบ้าง?!!

“นอกจากความแข็งแรงและสุขภาพที่ดีของผู้เรียนแล้ว ก้าวต่อมาก็คือทำโชว์ดีๆ ให้นักเรียนเรากลายเป็นทีมเพอร์ฟอร์มานซ์สุดยอดเยี่ยม คนไทยยังขาดแคลนโชว์ชั้นดีผมจึงอยากเติมเต็มตรงนี้ จากสตูดิโอกำลังพัฒนาให้เป็นเธียเตอร์พัฒนาไปอีกก้าวนะครับ” ครูกำปั้น คริสเตียน บอกอย่างมีฝันเปี่ยมพลัง

ร่างกายเป็นมากกว่าร่างกาย เมื่อสองแขนติดปีกโบยบิน

นักเรียนติดปีกฝัน

สาวน้อยชั้นมัธยมปีที่ 1 โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ณาดา อิทธิกุล วัย 11 ขวบ Sprint บินขึ้นสูงกว่า 7 เมตร สูงกว่าการซ้อมที่อยู่ราว 5-6 เมตร เวทีนี้ส่งให้เธอไปไกลเกินฝัน

“ท่ายากที่สุด เล่นห่วงบนเกร็งตัวขึ้นไปขาเข้าด้านใน กว่าจะได้ท่านี้ก็ต้องซ้อมเป็นเดือนๆ เลยค่ะ เด็กมาแตร์ฯ มีกิจกรรมทำวันหยุดทุกคน ว่ายน้ำ เต้นรำ พอเพื่อนหันมาถาม ก็แปลกใจที่เราไม่มีอะไรทำสักอย่าง ก็เลยมาสมัครเรียนสตูดิโอห้อยโหนกับเพื่อน เริ่มเรียน Aerial Silk แต่ปีนยากเพราะต้องใช้แรงดึงตัว แล้วพลิกตัวขึ้นไปโดยสองขายึดผ้าไว้ แต่ฮูปขึ้นได้เลย ทันใจดี

เราบินได้สูงกว่าตอนซ้อม แล้วเหมือนมีแรงอะไรสักอย่างผลักให้เราสปรินต์ได้สูงขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ จนครูชมว่าสปรินต์ได้สูงกว่าตอนซ้อมสิบๆ รอบอีก ไม่รู้ตัวเลยนะคะ

ยิ่งกว่าความภูมิใจคือเราชนะตัวเอง เราไม่เคยทำได้ดีขนาดนี้มาก่อนเลยค่ะ”

ลูกศิษย์ห้อยโหนสตูดิโอ ปานใจ พัฒนกุลชัย อายุ 55 ปี มากที่สุดในคลาส “คุณป้าป๋อม” คนนี้เองที่ตามมาเฝ้าหลาน นั่งรอเบื่อๆ ก็ลองโหนดูบ้าง“วีกแรกที่ซ้อมปีนผ้า Aerial Silk ก็ถามตัวเองนะคะว่า เรามาทำอะไร มาเรียนเพื่ออะไร เพราะต้องซ้อมไปที่รายละเอียดเล็กๆ ผูกปมผ้าก่อนค่ะ ซ้อมได้กว่า 2 ปี ก็ตัดสินใจขึ้นโชว์ครั้งนี้ ดิฉันแต่งงานก็เป็นแม่บ้านอย่างเดียวเลี้ยงลูกสองคนไม่เคยไปไหน ขี้อายมาก การแสดงบนเวทีต่อหน้าคนเป็นร้อยไม่เคยคิดว่าเราจะทำได้เลย แล้ววันแสดงโชว์สปรินท์ผ้าสูง 8 เมตร กลับไม่มีความรู้สึกกลัว กังวลเลยค่ะ มีแต่ความสนุก ท่าต่อไปที่ท้าทายมากๆ คือสปรินท์หมุนเป็นเกลียว กี่รอบตอบไม่ได้หรอกค่ะ (หัวเราะ) เพราะหมุนติ้วๆ เลย เป็นท่ายากของซิลก์ที่มุ่มั่นว่าต้องทำให้ได้ค่ะ”