posttoday

ทายาท ศรีปลั่ง ยึดกฎแห่งกรรม สู่หลักบริหารองค์กร

11 มีนาคม 2560

กฎแห่งกรรมมีจริง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว สิ่งนี้หลายคนถูกพร่ำสอนมาตั้งแต่เด็ก แต่หลายคนเมื่อได้พบเห็นประสบการณ์ตรงหน้า

 โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

กฎแห่งกรรมมีจริง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว สิ่งนี้หลายคนถูกพร่ำสอนมาตั้งแต่เด็ก แต่หลายคนเมื่อได้พบเห็นประสบการณ์ตรงหน้าไม่เป็นไปดังคำสอนที่เคยได้ยิน พานคิดไปว่าเหตุใดกฎแห่งกรรมไม่ทำงาน ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป

 สำหรับ ทายาท ศรีปลั่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะไนล์ เขาใช้เวลาช่วงกลางชีวิตพิสูจน์ด้วยหลักวิทยาศาสตร์จนรู้แจ้งว่า "กฎแห่งกรรมมีจริง"

 นอกจากยึดหลักนี้ใช้ดำรงชีวิตของตัวเอง ยังมีแนวคิดถ่ายทอดหลักคิดเรื่องกฎแห่งกรรมให้องค์กรใช้บริหารงานอีกด้วย

 ทายาท เล่าว่า ตั้งแต่เด็ก ก็ไม่ใช่เด็กที่ครอบครัวพาเข้าวัด หรืออ่านหนังสือธรรมะ เพราะที่บ้านมองว่าเป็นเรื่องงมงาย ซึ่งเขาเองไม่ได้สนใจศึกษาธรรมะแต่อย่างใด

 ยิ่งครอบครัวส่งไปศึกษาต่อต่างประเทศทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา และยังได้ทำงานที่นั่นอีกระยะหนึ่ง ก็ยิ่งไม่มีความเชื่อหรือศรัทธาเรื่องเหล่านี้ กระทั่งชีวิตล่วงเลยเข้าสู่วัยเกือบ 50 ปี

 จุดเริ่มต้นที่ทำให้ ทายาท เกิดความสงสัยและอยากลองค้นหาคำตอบว่า "กฎแห่งกรรมมีจริงหรือไม่?"

 คือช่วงหนึ่งเขาป่วยเป็นไมเกรนหนักมาก ถึงขั้นถูกหามเข้าไปนอนในห้องไอซียูและต้องฉีดมอร์ฟีนระงับความเจ็บปวดนาน 10 วัน ระหว่างเป็นไมเกรนก็เห็นภาพสัตว์ที่เขาเคยตีศีรษะสมัยเด็กผุดขึ้นมา ทำให้เกิดคำถามในใจว่าเหตุใดต้องเห็นภาพเหล่านี้ พลันนึกตามไปว่าสัตว์เหล่านี้คงเจ็บมากเหมือนกันตอนที่ถูกทำร้าย

 เมื่อหายจากอาการไมเกรน จึงเริ่มสนใจอยากศึกษาเรื่องกฎแห่งกรรม ประกอบกับมีเพื่อนชวนไปทำบุญ พร้อมชักชวนให้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยด้านพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุผลว่าจะได้เชื่ออย่างมีหลักการและไม่งมงาย

 ทายาท จึงตัดสินใจเรียนต่อด้านพุทธจิตวิทยา ศึกษาหาคำตอบที่อยากรู้ว่า ทำไมต้องเจ็บป่วย ทำไมบางคนรวย

 ระหว่างเรียนก็ได้พบกับคนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบที่เขาไม่เคยเจอมาก่อน เช่น บางคนมีฐานะยากจน ทำให้สงสัยว่าทำไมบางคนต้องลำบากเช่นนั้น ขณะที่บางคนมีชีวิตที่ขึ้นๆ ลงๆ ซึ่งตัวเขาเองก็เช่นกัน ยิ่งทำให้อยากค้นพบความจริงว่า กฎแห่งกรรมมีจริงหรือไม่? หรือเป็นแค่ตำราอยู่ในพุทธคัมภีร์

 ด้วยเหตุนี้เอง ทายาท จึงเลือกศึกษาลงลึกในคำสอนของพระพุทธเจ้า พร้อมสนใจทำวิจัยเรื่องกฎแห่งกรรม และด้วยความที่เคยไปเรียนและไปทำงานในต่างประเทศ จึงมีโอกาสเข้าถึงช่องทางค้นคว้าหาความรู้จากหลายแหล่ง เช่น ไปอ่านงานวิจัยหรือผลงานในต่างประเทศ ซึ่งก็พบบทวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตอบคำถามเกี่ยวกับอดีตชาติว่ามีจริงหรือไม่?

 โดยมีคนจากศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ เป็นตัวอย่างในงานวิจัยนั้น ปรากฏว่าคนเหล่านี้ต่างเห็นอดีตชาติของตัวเองเช่นกัน ดังนั้นแม้ ทายาท ไม่ได้สนใจ ไม่เชื่ออย่างเต็มที่ว่าอดีตชาติมีจริง แต่เขาก็เชื่อว่า เมื่อการวิจัยสะท้อนว่าอดีตชาติมีจริงได้ กฎแห่งกรรมก็น่าจะมีจริงเช่นกัน 

ทายาท ศรีปลั่ง ยึดกฎแห่งกรรม สู่หลักบริหารองค์กร

 “สมัยเด็กเราเป็นโรคเยอะ เจ็บป่วยง่าย เป็นหอบหืดตลอด โตมาก็ไม่ค่อยได้อยู่กับพ่อแม่ จะเป็นคนกลัวความสูง กลัวพูดในที่สาธารณะ ซึ่งเราอยากแก้ปมเหล่านี้จึงไปหา นพ.ธวัชชัย กฤษณะประกรกิจ ผู้ที่ทำเรื่องจิตใต้สำนึกบำบัด ที่ศูนย์อนัมคารา เลยหายจากโรคกลัวความสูง เพราะได้ย้อนอดีตพบว่าชาติที่แล้วเราเป็นนักบินและตกเครื่องบินตายเลยกลัวความสูง ส่วนเรื่องประหม่าต่อหน้าผู้คนในที่สาธารณะ ก็ไปบำบัด พบว่าเป็นเรื่องของในอดีตเคยเกิดมาเป็นลูกที่อยู่แต่ในกรอบ พ่อแม่บังคับเล่นดนตรี ต้องเรียนเก่ง บังคับทุกอย่าง”

ทายาท อธิบายว่า เขาไม่ได้สนใจเรื่องอดีตชาติมาก แต่สนใจเรื่องกฎแห่งกรรม ทว่าอดีตชาตินำมาซึ่งการพิสูจน์กฎแห่งกรรมดังนั้นก็ยินดีศึกษา โดยส่วนตัวเขาไม่ได้เชื่อเรื่องอดีตชาติแบบ 100% แต่เชื่อ 50/50 จึงอยากหาเครื่องวัด อยากรู้ว่าสิ่งที่เห็นเกี่ยวกับอดีตชาติช่วงที่ไปบำบัดเป็นเรื่องที่คิดไปเองหรือไม่ เลยนำเข้าเครื่องไบโอฟีดแบ็ก เครื่องวัดหัวใจและภาวะสมองมาใช้ทำวิจัย การวัดจากเครื่องนี้ทำให้รู้ว่าสภาวะที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่คนพูดจากอดีตหรือพูดจากการปรับแต่งเรื่อง

ตัวอย่างงานวิจัยของทายาท คือพนักงานของเครือสหพัฒน์ ก่อนวิจัยได้วางหลักเกณฑ์ว่าผู้ที่เป็นตัวอย่างวิจัยต้องเป็นคนที่มีการศึกษา มีวุฒิภาวะ มีตำแหน่งหน้าที่การงาน เพราะคนกลุ่มนี้ไม่มีเวลาดูภาพยนตร์หรือเข้าเจ้าเข้าทรง เป็นคนที่อยู่ในโลกของความเป็นจริง โดยได้คัดเลือกจนเหลือกลุ่มตัวอย่างวิจัยกว่า 200 คน ที่เชื่อมั่นว่ามีคุณภาพ พบว่า มีคนที่ป่วยเพราะเหตุจากอดีต คนยากจนก็จากอดีต คนไร้คู่ครองไม่มีคนรักก็จากอดีตชาติ เมื่อรู้ถึงอดีตแล้ว สิ่งที่ทำเพิ่มคือนำคนเหล่านี้เข้าสู่แนวทางเจือจางกรรม

 “คนไทยติดคำว่า แก้กรรม แต่ในพระไตรปิฏก ไม่มีการแก้กรรม โดยการแก้กรรมคือพิธีกรรม ทำให้เราสบายใจเท่านั้น แถมพิธีกรรมบางอย่างไปสร้างเวรกรรมเพิ่มอีก สิ่งที่พระพุทธองค์สอนคือให้ทำบุญ เพื่อเจือจางกรรมเก่า แต่ต้องเป็นบุญใหม่ที่สามารถไปจางกรรมเก่าได้ เช่น เคยฆ่าสัตว์ ทรมานสัตว์ ต้องทำบุญช่วยชีวิตคน ช่วยชีวิตสัตว์ ไม่ใช่การทำสังฆทาน โดยนำเงินไปหยอดตู้อย่างเดียว แต่อาจไปช่วยเพื่อนมนุษย์เพื่อให้เขาหายป่วยโดยที่ไม่ใช่การทำบุญหวังผลอย่างที่คนไทยทำ” 

 ทายาท มองว่า การย้อนอดีตเป็นการให้คนได้ปลดปล่อยอารมณ์ตกค้าง เมื่อทำร่วมกับการเจือจางกรรม ผลลัพธ์ที่เกิดคือ คนผู้นั้นจะมีหิริโอตตัปปะ ไม่กล้าทำบาป ไม่กล้าทำผิดอีก จากนั้นก็จะมีสุขภาพจิต สุขภาพกายดีขึ้น เมื่อมองไปในมุมของการทำงาน ก็จะเกิดความเป็นทีมงานดีขึ้น จึงอยากให้นำวิธีการนี้มาใช้กับสังคมไทย

 "ที่ผ่านมา ประเทศไทยพัฒนาคนโดยใช้หลักตะวันตกมาโดยตลอดตั้งแต่อุตสาหกรรมเข้ามา แต่เรากลับได้ยินคำกล่าวว่า ทำไมสังคมไม่ค่อยมีความสุข แม้นำระบบของชาติตะวันตกมาใช้ เช่น ระบบสร้างความผูกพันในองค์กร แต่ก็ยังไม่มีความสุข คนก็ยังกลั่นแกล้งกัน ไม่อายต่อบาป แต่หากนำหลักเจือจางกรรม โดยนำเรื่องศีล 5 การเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษเข้าไปประยุกต์ใช้ในองค์กร คนเราก็จะไม่กล้าทำเรื่องไม่ดีเลย เพราะละอายต่อบาป"

 ทายาท ระบุว่า ในมุมของการบริหารองค์กร การประเมินผลงานไม่ตรงความจริง มาสาย ลักทรัพย์ พูดจาเอาตัวรอดไปวันๆ มุสาวาทา มีผลเป็นบาปทั้งนั้น การเจือจางกรรมเหล่านี้ไม่ง่าย ส่วนใหญ่ต้องได้รับผลกรรมก่อนจึงจะรู้สึกตัว เช่น หลายคนต้องเป็นมะเร็งก่อน ต้องได้รับความทรมานจากการทำบาป คนที่โกหกอยู่ดีๆ จะมีคนเกลียด หากมีการนำกรรมคัลเจอร์ คือมีวัฒนธรรมองค์กรที่นำเรื่องบาปบุญ เรื่องการประพฤติตามศีล 5 ไปใช้ จะช่วยยั้งไม่ให้เกิดการทำบาปเหล่านี้ได้

 เมื่อพิจารณาพฤติกรรมศีล 5 ในองค์กรหรือในสังคมที่คนไทยทำผิดกันบ่อย ทายาท อธิบายว่า คงเป็นเรื่องโกหกเพื่อเอาตัวรอด

 "บางคนบอกว่าทำไว้ก่อนทั้งที่ยังไม่ได้ทำ ส่วนสาเหตุที่ทำให้คนลาออก ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมผิดศีล 5 เกิดการลวนลามทางเพศในองค์กร หลายคนที่ถูกกระทำไม่กล้าพูด แต่เมื่อเจอนักวิจัยที่น่าเชื่อถือพูดคุยด้วยแบบหนึ่งต่อหนึ่งจึงกล้าบอกออกมา นอกจากนั้นเรื่องการกลั่นแกล้งกันในที่ทำงานก็เป็นพฤติกรรมผิดศีลอีกข้อที่พบมาก"

 ด้านพฤติกรรมในสังคม โดยเฉพาะการใช้โลกโซเชียลมีเดียนั้น เราจะพบว่าคนที่ทำผิดเพราะตามกระแสก็มีมากมาย หลายครั้งมีกระแสออกมาว่าคนนั้นผิด ซึ่งในข้อเท็จจริงผิดจริงหรือไม่ยังไม่ทราบ แต่คนก็ว่าและด่าไปแล้ว เรียกว่าเป็นการทำบาปแบบไม่ยั้งคิดก็ได้ 

 "สังคมไทยควรมีสติ ละอายต่อบาป หลายครั้งเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดและถูกนำมาแชร์บนโลกโซเชียล เราสงสารผู้เสียหายหรือชอบซ้ำเติมคนในสังคมกันแน่ เราชื่นชมยินดีในความลำบากของคน ทำไมต้องไปชื่นชมพฤติกรรมที่คนคนหนึ่งโดนใส่ความมากเกินไปในสิ่งที่เขาทำ ถ้าเราเจอคนทำร้ายคนอีกคนให้ทุกข์ใจ...เราอยู่กับใครก่อน ใจเราไปอยู่กับคนทุกข์ใจก็ถือว่า โอเค ถ้าไปกระหน่ำซ้ำเติมคนทำร้าย ไปยินดี มีแวบหนึ่งไหมที่อยากช่วยคนตกทุกข์ได้ยาก สรุปคือสิ่งเหล่านี้มาจากการแยกแยะบาปบุญคุณโทษไม่เป็น ทำให้คนใช้โซเชียลทำบาปพอๆ กับได้ทำบุญ" 

 ทายาท ชี้ว่า ในประเทศไทยไม่มีบริษัทที่ให้คำปรึกษาองค์กรในแนวทางเรื่องบาปกรรม แนวทางนี้ต้องอาศัยงานวิจัยและอ้างอิงพระไตรปิฎกที่ตรงพระสูตร ส่วนเรื่องอดีตชาติบำบัดที่ทำกัน ส่วนใหญ่เปิดเป็นสำนักหรือศูนย์มากกว่า ขณะที่บริษัทนำทั้งเรื่องอดีตชาติบำบัดและแนวทางเรื่องบาปบุญมารวมกันเพื่อช่วยให้เกิดผลดี ช่วยให้บุคลากรในองค์กรย้อนความทรงจำ ระเบิดอารมณ์ตกค้างไป จากนั้นคิดสูตรเจือจางกรรม นำธรรมะ ศีล 5 มาประกอบเพื่อปรับปรุงให้ชีวิตดีขึ้น

 "ปัจจุบันมีองค์กรทยอยนำวัฒนธรรมศีล 5 ไปใช้ในองค์กรแล้ว เช่น เครือสหพัฒน์ทำเรื่องนี้เป็นปีที่ 3 คุณบุญเกียรติ โชควัฒนา ซีอีโอเครือสหพัฒน์เน้นเรื่องการเป็นองค์กรปลอดบาป ซึ่งก็สร้างการยอมรับได้ง่าย ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าใช้ได้จริง ไม่ว่าจะเป็นคนศาสนาใด ผลที่ได้รับคือทุกคนสุขภาพดีขึ้น งานดีขึ้น ลูกน้องดีขึ้น" 

 ท้ายนี้ ทายาท ฝากไว้ว่าหากองค์กรใดก็ตาม ดำเนินการตามแนวทางหลักธรรมาภิบาล ทำกิจกรรมเพื่อสังคม (ซีเอสอาร์) ทำทุกอย่างที่ใครๆ ก็ว่าดีกับองค์กรแล้วแต่ก็ยังไม่เกิดผลดี จ้างนักกลยุทธ์มือหนึ่งของประเทศมาช่วยโฆษณาออนไลน์แล้ว แต่องค์กรก็ยังเติบโตได้ไม่ถึงไหน น่าจะลองเปลี่ยนมาใช้แนวทางบาปบุญและพฤติกรรมศีล 5 ในองค์กรดู เพราะความดีมีผลจริง การลงทุนจริงน้อยกว่าวิธีอื่นที่เคยทำมา

 "โดยส่วนตัวเชื่อว่าถ้าบาปของคนในองค์กรจางลง องค์กรจะกลับสู่ปกติ เรื่องดีๆ จะเกิดได้มาก หัวหน้าดีขึ้น ลูกน้องจะพลอยดีขึ้นด้วย ลูกค้าก็เหมือนมีพลังงานบางอย่างดึงดูดให้เข้ามา" ถือเป็นแนวคิดที่น่าสนใจทีเดียวกับการนำเรื่องศีล 5 มาประยุกต์ใช้กับการทำงานในองค์กร