posttoday

พลังผู้หญิงไทย ‘ทูตสันถวไมตรีองค์กรนานาชาติ’

08 มีนาคม 2560

8 มี.ค.ของทุกปี ถือเป็นวันสตรีสากล วันเรียกร้องสิทธิสตรีไปทั่วโลก สำหรับประเทศไทยในช่วงปีที่ผ่านมา

โดย...วราภรณ์ ภาพ เสกสรร โรจนเมธากุล

8 มี.ค.ของทุกปี ถือเป็นวันสตรีสากล วันเรียกร้องสิทธิสตรีไปทั่วโลก สำหรับประเทศไทยในช่วงปีที่ผ่านมา ผู้หญิงไทยมีบทบาทระดับนานาชาติมากมาย โดยได้รับการยกย่องให้ทำหน้าที่ทูตสันถวไมตรีในองค์กรระดับนานาชาติ อาทิ “เจ้าหญิงนักกฎหมาย” แห่งสยาม พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ทรงสนพระทัยในการให้ความช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในกระบวนการยุติธรรม โดยทรงเน้นไปที่กลุ่มผู้ต้องขังหญิงและเด็กติดผู้ต้องขัง

ล่าสุด สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ แต่งตั้งพระองค์ให้ทรงเป็น “ทูตสันถวไมตรี” ด้านหลักนิติธรรมของอาเซียน ซึ่งผู้อำนวยการส่วนภูมิภาคของ UNODC ระบุว่า พระองค์จะทรงช่วยส่งเสริมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และทรงมีความสนพระทัยเป็นพิเศษในปัญหาเรือนจำ

ฟากนักแสดงสาวชาวไทย ปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก สวนดอกไม้ ได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตสันถวไมตรี UNHCR คนแรกในอาเซียน รวมถึงทูตกิจกรรมคนแรกในประเทศไทยของยูเอ็นดีพี เฟรนช์ฟราย-ธัญชนก มูลนิลตา มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2015 โดยเธอดำรงตำแหน่ง “เฟรนด์ ออฟ ยูเอ็นดีพี” เพื่อช่วยสนับสนุนยูเอ็นดีพีรณรงค์การพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย ผ่านโครงการการพัฒนาอย่างยั่งยืนของยูเอ็นดีพีทั่วประเทศ

นอกจากนี้ การประสบความสำเร็จของตัวแทนสาวไทยบนเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2016 โดย น้ำตาล-ชลิตา ส่วนเสน่ห์ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2016 ที่ทำผลงานได้ดีติดท็อป 6 บนเวทีระดับโลกได้ ทำให้สำนักงานปลัดกระทรวงพัฒนามนุษย์ มอบรางวัลสตรีดีเด่นประจำปี 2560 เชิดชูเกียรติ (รางวัลพิเศษ) “สตรีตัวอย่างผู้สร้างแรงบันดาลใจ” ให้ด้วย

มาดูบทบาทที่สำคัญของสาวไทยในเวทีเพื่อสังคมระดับนานาชาติ

พลังผู้หญิงไทย ‘ทูตสันถวไมตรีองค์กรนานาชาติ’ ไปรยา ลุนด์เบิร์ก สวนดอกไม้

ทูตสันถวไมตรี UNHCR คนแรกในอาเซียน

การได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทูตสันถวไมตรีสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR คนแรกของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังความปลาบปลื้มให้ ไปรยา ลุนด์เบิร์ก
สวนดอกไม้ เป็นอย่างมาก

เธอขึ้นกล่าวขณะรับตำแหน่งทูตสันถวไมตรีของ UNHCR คนแรกในอาเซียน มีใจความบางตอนว่า เธอจะอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ และยังกล่าวอีกว่าที่ผ่านมาเธอมีโอกาสร่วมงานกับ UNHCR มา 3 ปีแล้ว ในการเป็นกระบอกเสียงและช่วยรณรงค์ให้กับผู้ลี้ภัย ซึ่งการทำงานตรงนี้ไม่เคยรู้สึกว่าเหนื่อยหรือหนัก ในฐานะที่เป็นมนุษย์ควรช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

สำหรับการทำงานของเธอ ถ้าเปรียบกับชีวิตของผู้ลี้ภัยไม่ได้หนักเลย การทำงานเพื่อมนุษยธรรมและสังคมเป็นสิ่งที่ดาราควรทำ “เพราะอาชีพดาราถูกสร้างขึ้นมาเพราะสังคม ถ้าไม่มีสังคมก็ไม่มีอาชีพดารา ซึ่งมีหลายเรื่องในสังคมที่เราลงมาช่วยกันได้” ตอนนี้เธอรู้สึกว่าปัญหาผู้ลี้ภัยอยู่ในช่วงวิกฤตของโลก มีคนกว่า 65 ล้านคนทั่วโลกต้องหนีออกจากบ้านตัวเอง ในฐานะที่เธอเป็นเพื่อนมนุษย์ก็ต้องร่วมมือกันช่วยเหลือ

ไปรยา ยังกล่าวอีกว่า เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เธอได้ส่งอีเมลไปหา UNHCR เพราะอยากมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างจริงจัง ซึ่งช่วงนั้นเป็นจังหวะที่มีข่าวเรื่องชาวซีเรียและโรฮีนจา พอดี

“วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานกับ UNHCR อย่างเป็นทางการ ปูรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูง ภารกิจของ UNHCR มีความซับซ้อนและมีขอบเขตที่กว้างใหญ่ ใช้เวลายาวนานนับ 10 ปีในการแก้ปัญหา ซึ่งปูขอยืนหยัดที่จะเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจครั้งนี้และขออุทิศชีวิตนี้ให้กับการทำงานด้านมนุษยธรรมให้กับเพื่อนมนุษย์”

พลังผู้หญิงไทย ‘ทูตสันถวไมตรีองค์กรนานาชาติ’ ไปรยา ลุนด์เบิร์ก สวนดอกไม้

เฟรนด์ ออฟ ยูเอ็นดีพี คนแรกของไทย

เป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจสำหรับ เฟรนช์ฟราย-ธัญชนก มูลนิลตา มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2015 ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเฟรนด์ ออฟ ยูเอ็นดีพี คนแรกของไทย จากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นดีพี เพื่อช่วยสนับสนุนยูเอ็นดีพี รณรงค์การพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย ผ่านโครงการพัฒนาอย่างยั่งยืนของยูเอ็นดีพีทั่วประเทศ

“ตำแหน่งเฟรนด์ ออฟ ยูเอ็นดีพี จะมีภารกิจ 1 ปี ภารกิจแรกที่ทำคือ การลงพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ เพื่อดูแลเรื่องระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม และจะลงพื้นที่รวม 6 ครั้ง ส่วนตัวสนใจที่จะไปติดตามโครงการเกษตรอินทรีย์ที่เคยทำไว้ตอนประกวดมิสไทยแลนด์เวิลด์ที่ อ.กัลยานิวัฒนา เชียงใหม่ต่อไป เพื่อให้ประสบความสำเร็จอย่างชัดเจนและยั่งยืน”

ในโอกาสวันสตรีสากลนี้ ในฐานะที่เธอเป็นผู้หญิงซึ่งทุกวันนี้โอกาสต่างๆ ก็อำนวยให้ผู้หญิงมากขึ้นแล้ว เธอให้ทัศนะว่าผู้หญิงกับผู้ชายก็มีความเก่งแตกต่างกัน ตัวเธอเองก็เป็นผู้หญิง แต่ก็มีความแกร่งและอดทนได้หมด

“เรื่องเด็กอยากให้เด็กอยู่ดีกินดี เพราะปัญหาโภชนาการเป็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เฟรนช์ฟรายอยากบอกผู้หญิงว่า เราชอบเอาตัวไปเปรียบเทียบกับคนอื่น จึงทำให้เราขาดความมั่นใจ อย่างเฟรนช์ฟรายครั้งแรกก็ไม่กล้ามาประกวด แต่ถ้าวันนั้นไม่กล้า เราก็ยังจะไม่กล้าต่อไป จริงๆ ชีวิตต้องกล้าเสี่ยง ต้องกล้าทำให้เหมาะสม ผู้หญิงทุกคนมีศักยภาพ ขอให้มั่นใจจะทำให้เรามีความสุขมากขึ้น แต่ความมั่นใจนั้นต้องไม่ทำร้ายคนอื่น”

พลังผู้หญิงไทย ‘ทูตสันถวไมตรีองค์กรนานาชาติ’ เฟรนช์ฟราย-ธัญชนก มูลนิลตา

สตรีตัวอย่างผู้สร้างแรงบันดาลใจ

เมื่อ ชลิตา ส่วนเสน่ห์ ได้รับรางวัล “สตรีตัวอย่างผู้สร้างแรงบันดาลใจ” จากสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำให้เธอรู้สึกดีใจที่เธอสามารถเป็นตัวอย่างและเป็นแบบอย่างให้กับหลายๆ คน ทั้งการดำเนินชีวิตและสู้ชีวิต เธอจึงอยากเป็นตัวอย่างให้กับทุกคนในการเอาชนะความไม่สมบูรณ์แบบ เช่น ตัวเธอเองต้องทำงานตั้งแต่เด็ก ซึ่งย้อนกลับไปในวันนี้ก็รู้สึกเหนื่อยท้อเหมือนกัน แต่ก็ต้องให้กำลังใจตัวเองให้ต่อสู้ต่อไป

“ตาลน่าจะเป็นตัวอย่างได้ในเรื่องความอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค เห็นคุณค่าของตัวเอง ยกตัวอย่างตาลไม่มีอะไรเลย แต่ตาลก็ไม่เคยดูถูกตัวเองว่าต่ำต้อย ทำงานไม่ได้สูงส่ง แต่ตาลก็ไปทำงานทุกๆ งานแบบไม่เกี่ยงงาน เอาชนะความไม่สมบูรณ์ เพราะตาลคิดว่าเราได้รับหน้าที่อะไรเราก็ตั้งใจทำ และตั้งใจทำให้ดีที่สุด

อย่างตอนเด็กๆ เรามีหน้าที่เรียนก็เรียน ว่างก็มาช่วยแม่ทำงาน ตาลตั้งใจทำงานทุกอย่างด้วยความเต็มใจ จึงไม่รู้สึกเครียด อย่างตอนเด็กๆ ตาลอยากได้ของ เห็นเพื่อนๆ มีกระเป๋าสวยๆ ตาลอยากได้ ตาลก็ต้องหันกลับมาดูที่แม่ แม่ทำงานหนัก แม่มีภาระครอบครัวมีรายจ่าย ไหนจะค่าบ้านค่าเล่าเรียนน้องสาวอีก ตาลก็ต้องคิดว่า สิ่งที่เราจะซื้อมันจำเป็นไหม ถ้าไม่จำเป็นก็พักความสุขไว้ก่อน

ตอนเด็กๆ แม้ตาลอยากได้ แต่การที่ตาลได้คลุกกคลีกับแม่ตั้งแต่เด็ก เห็นแม่ทำงานหลายอย่าง ตาลได้เห็นความลำบากของแม่ว่า มันเหนื่อย ทำให้ตาลเห็นคุณค่าของเงิน ตอนเริ่มทำงานพิเศษช่วงปิดเทอมตาลมีเงินเก็บหลักหมื่นบาท โดยทำงานตั้งแต่มัธยมปลายเก็บเงินมาเรื่อยๆ พอเก็บเงินได้ก็ไม่อยากใช้ เพราะรู้สึกเสียดาย

การทำงานช่วยฝึกตาลให้ได้ปรับตัวเข้ากับผู้อื่นเพราะได้เจอคนหลายรูปแบบ ทำให้ตาลดูเหมือนโตกว่าอายุ การทำงานตั้งแต่เด็กสอนให้ตาลต้องปรับตัว เพราะได้เจอคนหลายวัย ตาลจะดูว่าคนนี้ชอบแบบนี้แล้วตาลจะปรับตัวให้เข้ากับเขา เพราะเราบอกเขาไม่ได้ว่า ให้ปรับตัวแบบนี้ สู้เราปรับตัวเองดีกว่าค่ะ”

สุดท้ายเนื่องในวันสตรีสากล ชลิตา อยากเรียกร้องความเห็นใจจากคนในสังคมต่อปัญหาเด็กกำพร้า รวมทั้งเด็กๆ ที่ป่วยเพราะติดเชื้อเอชไอวีที่ติดต่อทางพันธุกรรม เธออยากให้ทุกคนให้โอกาสกับเด็กๆ กลุ่มนี้

“ตาลอยากให้ทุกคนให้โอกาสกับเด็กกลุ่มนี้ บางคนคิดรังเกียจว่าเป็นโรคติดต่อ อยากเรียกร้องให้โอกาสกับเด็กกลุ่มนี้มากกว่า โรคมันไม่ได้ติดกันง่ายๆ ควรให้โอกาสพวกเขาได้มีที่ยืนในสังคมบ้าง”

พลังผู้หญิงไทย ‘ทูตสันถวไมตรีองค์กรนานาชาติ’ ชลิตา ส่วนเสน่ห์