posttoday

มนัส จรรยงค์

19 กุมภาพันธ์ 2560

ปี 2550 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เป็นปีครบรอบชาตกาล 100 ปี มนัส จรรยงค์ นักเขียนแม่แบบผู้ทรหดบนเส้นทางวรรณกรรมไทย

โดย...พริบพันดาว 

ปี 2550 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เป็นปีครบรอบชาตกาล 100 ปี มนัส จรรยงค์ นักเขียนแม่แบบผู้ทรหดบนเส้นทางวรรณกรรมไทย

เพราะฉะนั้น ในปี 2560 นี้ จึงเป็นปีครบรอบชาตกาล 110 ปี ของ มนัส จรรยงค์

ประภัสสร เสวิกุล นักเขียนนิยายนามระบือและศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และเป็นอดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ผู้เพิ่งล่วงลับไปเมื่อปีสองปีที่ผ่านมา ได้เขียนในบทความชื่อ “เทพบุตรแห่งสวนอักษร” กล่าวถึง มนัส จรรยงค์ อย่างยกย่องเชิดชูด้วยความชื่นชมว่า

“หากเอ่ยฉายา เทพบุตรแห่งสวนอักษร นักอ่านส่วนใหญ่คงจะทราบได้โดยทันทีว่า นั้นหมายถึงราชาเรื่องสั้นไทยที่ชื่อ มนัส จรรยงค์ แม้มนัสจะเสียชีวิตไปเป็นเวลานานถึง 46 ปีแล้ว แต่ชื่อเสียงและผลงานของเขาก็ยังคงเป็นที่กล่าวถึงเสมอ และเป็นเรื่องบังเอิญที่ผมเพิ่งจะรื้อตู้หนังสือและเจอพ๊อคเก็ตบุ๊ครวมเรื่องสั้นชุด จับตาย ของ มนัส จรรยงค์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2527 โดยสำนักพิมพ์วลี ราคา 20 บาท เปิดอ่านทวนความจำ…

มนัส จรรยงค์

 

“...ผลงานด้านเรื่องสั้นของ มนัส จรรยงค์ ทั้งในชื่อจริง และนามปากกา ‘อ.มนัสวีร์’ ‘รุ่ง น้ำเพชร’ ‘ฤดี จรรยงค์’ ฯ น่าจะมีมากกว่า 1,000 เรื่อง นอกจากนี้ ยังมีสารคดีและเรื่องยาวอีกจำนวนหนึ่ง เรื่องสั้นของ มนัส จรรยงค์ ได้รับการยกย่องว่ามีความโดดเด่นในเนื้อหา ความงดงามของภาษา ความคมคายในความคิด นอกเหนือจากความสนุกสนานเร้าใจ และสะท้อนภาพของชาวบ้านและผู้คนในท้องถิ่นได้อย่างมีเลือดเนื้อและจิตวิญญาณ เสน่ห์ประการสำคัญของมนัสเป็นดังที่ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ บันทึกไว้ว่า ‘เราจะไม่เคยได้ยินเสียงร้องอุทธรณ์ ถึงความยากไร้ดังออกมาจากเรื่องสั้นของเขา แต่เราจะมองเห็นรอยยิ้มบนใบหน้าของคนที่เข้าใจในโลกและชีวิต และไม่ยอมพ่ายแพ้’”

ในตำแหน่งที่คนรุ่นหลังและนักเขียนด้วยกันสถาปนาให้เป็น “ราชาเรื่องสั้นของเมืองไทย” คงไม่เกินจริง มาลัย ชูพินิจ นักเขียนนามอุโฆษของไทยที่อยู่เหนือกาลเวลาอีกคนหนึ่ง ให้ฉายา มนัส จรรยงค์ ว่าคือ “แจ๊ค ลอนดอนเมืองไทย”

แล้ว แจ๊ค ลอนดอน เหมือน มนัส จรรยงค์ อย่างไร? เขาเป็นนักเขียนอเมริกัน มีชีวิตอยู่คร่อมระหว่างศตวรรษที่ 19 และ 20 ใช้ชีวิตเป็นคนทำงาน คนเร่ร่อน เคยหยุดเรียนหนังสือเพื่อออกมาหางาน-เงิน เพื่อเลี้ยงชีพ ใช้ชีวิตคลุกคลีกับชนชั้นกรรมาชีพมาโดยตลอด เช่นเดียวกับมนัส ที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับชาวบ้านและชนชั้นทำงานโดยทั่วไปอย่างกำซาบได้ถึงเลือดเนื้อชีวิตและวิญญาณ

เช่นกัน ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ได้ตั้งฉายาให้ มนัส จรรยงค์ ด้วยความรักและนับถือว่า “คอลด์เวลล์แห่งลุ่มแม่น้ำเพชร” ใช่แล้วในความหมายที่เชิดชูเทียบกันกับ เออร์สกิน เพรสตัน คอลด์เวลล์ นักเขียนอเมริกัน ที่เขียนถึงชีวิตของผู้คนยากจนที่มีทั้งชาวผิวขาวและผิวดำในชนบททางภาคใต้ของสหรัฐ อันเป็นถิ่นกำเนิดของเขา ด้วยท่วงทำนองหม่นเศร้าและเป็นจริง หนังสือของคอลด์เวลล์ในแบบปกอ่อนขายได้กว่า 80 ล้านเล่ม และถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 40 ภาษา เขาจึงเป็นหนึ่งในนักเขียนนิยายยุคคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่มีผู้อ่านมากที่สุดคนหนึ่ง

หากย้อนเวลากลับไปในปี 2473 ที่ มนัส จรรยงค์ มีงานเขียนเรื่องแรกไปตีพิมพ์ จนถึงบั้นปลายชีวิตในปี 2508 จากอายุขัยเพียง 58 ปี ที่จากไป ด้วยปริมาณที่มากมายแต่เปี่ยมด้วยคุณภาพ

มนัส จรรยงค์

 

อาจินต์ ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เคยกล่าวว่า

“มนัส จรรยงค์ เป็นยักษ์ใหญ่ของวงวรรณกรรมไทย ผลงานของเขาเรื่องแล้วเรื่องเล่าที่หลั่งไหลขึ้นมาโดยไม่หยุดยั้งได้ตอกย้ำลงไปในความรู้สึกของนักอ่านว่า นี่คือวรรณกรรมที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์ที่สามารถสร้างขึ้นได้จากชีวิตไทยทั่วๆ ไป ทำให้มหึมาขึ้นด้วยความสามารถพิเศษส่วนตัวของเขา มีวิธีการเลือกจับจุดเด่นของชีวิตอันหลากหลายพลิกขึ้นมาให้ต้องแสงเดือนแห่งธาตุแท้ของมนุษย์ ขัดให้สุกปลั่งด้วยวิธีการเสนอที่เชี่ยวชาญ แล้วเป่า...เพี้ยงกำกับลงด้วยอาคมเฉพาะตัวคือ ความทรหด ความเรียบง่าย ความสุข ความเศร้า ความเป็น ความตาย ทางออกแบบลิขิตแทนพรหม และอาวุธที่ชโลมมากับอารมณ์ขัน”

เรื่องสั้นเรื่อง “จับตาย” ได้รับการคัดเลือกจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย แปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อว่า “Shoot To Kill” โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร และตีพิมพ์ในนิตยสาร SPAN : An Adventure in Asian and Australian Writing ของสมาคมนักเขียนแห่งออสเตรเลีย (The Followship of Australian Writers) เมื่อปี 2501 และในปี 2525 สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ได้ยกย่องให้ มนัส จรรยงค์ เป็นหนึ่งใน 15 นักเขียนเรื่องสั้นไทยดีเด่นในรอบ 100 ปี และเป็นปีเดียวกันที่เรื่องสั้น “จับตาย” ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และออกฉายในปีเดียวกัน  

เรื่องสั้นของ มนัส จรรยงค์ มีแก่นเรื่องชัดเจน ลงลึกไปในจิตใจของตัวละคร สะท้อนถึงประสบการณ์และความจัดเจนในชีวิต แสดงให้เห็นถึงโลกทัศน์หรือมุมมองชีวิตที่มีต่อโลก มีความเป็นมนุษยนิยมอย่างถ่องแท้ ซึ่งสมควรที่จะไปหามาอ่านกันเพราะอยู่เหนือยุคสมัยและมีสารัตถะของชีวิตอยู่ครบครัน