posttoday

ถอดเกร็ด ชายในวรรณคดีไทย

29 มกราคม 2560

พอเอ่ยถึง “วรรณคดี” เชื่อขนมกินได้ว่าหลายคนอ้าปากหาว ตาปรือรอ และส่วนใหญ่รู้จักหรืออ่านเรื่องต่างๆ

โดย...นกขุนทอง ภาพ : ประกฤษณ์ จันทะวงษ์

พอเอ่ยถึง “วรรณคดี” เชื่อขนมกินได้ว่าหลายคนอ้าปากหาว ตาปรือรอ และส่วนใหญ่รู้จักหรืออ่านเรื่องต่างๆ จากในห้องเรียน น้อยคนที่จะซื้อมาอ่านเพราะใจพิสมัย แต่ใช่ว่าจะไม่มี เพราะเสน่ห์ของวรรณคดียังคงสร้างความหฤหรรษ์ และให้ความรู้ในด้านต่างๆ ทว่าผู้ที่จะถอดความระหว่างบรรทัดนั้นได้ รวมถึงเข้าใจในคำศัพท์เก่า คำราชาศัพท์ หรือบทโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ก็ต้องใส่ใจไปกับเนื้อหาเรื่องราว แค่อ่านคงไม่พอ ต้องทำความเข้าใจและศึกษาเพิ่มเติม

ฟังดูแล้วสำหรับคนที่ถอดใจจากวรรณคดีเป็นทุนยิ่งดูยุ่งยาก แต่อย่าลำบากใจ เพราะ “มาลัย (จุฑารัตน์)” นามปากกาของ “จุฑารัตน์ กิตติก้องนภา” ได้เขียนให้เรื่องยากๆ เข้าใจง่าย ผ่านผลงานที่เขียนไว้เป็นหมวดหมู่ สนใจเรื่องไหนก็หามาอ่านได้ ราชินีพันหนึ่งราตรี สีดาผู้ซื่อสัตย์ โสนน้อยผู้เสียสละ มัทรีผู้เมตตา เล่าเรื่องนิทานเวตาล พระเจ้าสิบชาติและพระพุทธเจ้า ราชาธิราช เป็นอาทิ

“อ่านพระอภัยมณีตอนเป็นนักเรียน ชอบแต่ก็ยังรู้สึกว่าวรรณคดีเข้าใจยากไปสำหรับเด็ก ยิ่งพวกร้อยกรองยากในการตีความบางคำ พอมาเขียนหนังสือเลยมีความคิดว่าจะทำยังไงให้เด็กสนใจในวรรณคดีมากขึ้น เพราะวรรณคดีเป็นศิลปะประจำชาติ แล้วในหลายประเทศมีนิทานก่อนนอน พ่อแม่เล่าให้ลูกฟัง เราก็อยากให้วรรณคดีเป็นนิทานก่อนนอน ตอนนั้นก็เขียนเรื่องนางในวรรณคดี แล้วได้ผลตอบรับที่ดี ก็เลยสนใจเรื่องอื่นๆ”

ล่าสุดกับหนังสือ “ชายในวรรณคดีไทย” ตีความทั้งตัวเอกตัวรองในวรรณคดี แต่ละคนมีชาติกำเนิด ภูมิหลัง ความเป็นอยู่ พฤติกรรมต่างกัน มาลัย (จุฑารัตน์) นำเสนอ 33 ตัวละคร จาก 22 เรื่อง คือ ลิลิตพระลอ เวนิสวาณิช เงาะป่า ขุนช้างขุนแผน มหาเวสสันดรชาดก ลักษณวงศ์ พระอภัยมณี พระรถเสน (พระรถเมรี) พระสุธน มโนห์รา มณีพิชัย สมุทรโฆษคำฉันท์ อิลราชคำฉันท์ สาวิตรี ไชยเชษฐ์ สังข์ศิลป์ชัย คาวี จันทโครพ ศกุนตลา สังข์ทอง มัทนะพาธา ไกรทอง และระเด่นลันได

ถอดเกร็ด ชายในวรรณคดีไทย

 

“แม้เคยอ่านแล้ว ตอนจะเขียนเรื่องนี้ก็เอามาอ่านอีก แล้วเขียนออกมาเป็นโครงใหญ่ เอามาย่อ จับจุดที่น่าสนใจมานำเสนอ ตัวละครนึกคิดยังไง จับทีละจุดออกมาอีกที แต่ละเรื่องผู้ชายไม่เหมือนกัน ถ้าในเรื่องหากผู้ประพันธ์ไม่สอดแทรกความคิดของตัวละคร เราจะไม่ใช้ความคิดเราตีความ จะนำเสนอมุมอื่นแทน เช่น เรื่องพระสุธน มโนห์รา เขาพูดถึงการกระทำเราก็ตีความตามการกระทำ หนึ่งมีความพากเพียร สองอดทนกล้าหาญ สามชาญฉลาดมีความรอบรอบ หรือสังข์ศิลป์ชัย เป็นคนเก่งแต่มีปัญหาอยู่ที่พ่อมีเมียมาก แล้วทำให้ตัวเองโดนกลั่นแกล้งจากเมียคนอื่นๆ ของพ่อ ตัวนี้เขาไม่ค่อยอธิบายด้านความคิดจิตใจ แต่อธิบายเรื่องความเก่ง สู้รบเก่ง เรื่องเวนิสวาณิช พระเอกบัสสานิโยไม่ได้มีความโดดเด่นอะไรเลย ฐานะยากจน ยืมเงินเพื่อน ความสามารถก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ แต่ได้คู่ชีวิตที่มีปัญญาเฉียบแหลมและร่ำรวยอย่างนางปอร์เชีย จึงทำให้ปัญหาต่างๆ ทั้งของเขาและเพื่อนคลี่คลายได้ แต่ถ้าเขานำเสนอความคิดของตัวละคร เช่น ขุนแผนลักพานางพิมกลับมาจากขุนช้าง เขามีคำเปรียบเทียบว่าในใจของขุนแผนอยู่กับวันทองเหมือนดื่มน้ำเห็นปลิงทุกครั้งไป คือขุนแผนมีความรู้สึกในทางลบกับนางวันทองอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ เราก็ถอดออกมาเป็นประโยคให้เข้าใจง่าย อย่างพระไชยเชษฐ์ เป็นตัวละครพื้นฐานของตัวละครไทย มีภรรยาอยู่แล้วไปเจอนางเอก รักนางเอกมากกว่า ทำให้นางๆ ทั้งหลายอิจฉา คนมาก่อนอิจฉาคนที่มาทีหลัง อิจฉาเสร็จก็ใส่ความพระไชยเชษฐ์ ก็หูเบาเป็นปกติของตัวละครผู้ชายที่ตอนนี้เห็นกันบ่อยๆ”

นอกจากวิเคราะห์ตัวละคร มาลัย (จุฑารัตน์) ยังสะท้อนวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ สภาพสังคมบ้านเมือง วัฒนธรรมประเพณี การค้าขาย อาหาร ข้าวของเครื่องใช้ รสนิยมความเชื่อ “อย่างเรื่องขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี ของสุนทรภู่ เขียนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สุนทรภู่ไม่ได้ให้พระเอกเก่งในการรบ เพราะบ้านเมือง ณ เวลานั้นการรบไม่ใช่จุดมุ่งหมายสูงสุดของผู้ชายในยุคนั้น เขามาทางเรื่องดนตรี การศึกษา การเจรจาการทูตมากกว่า แต่ละเรื่องสะท้อนว่าสังคมสนใจอะไรดีกว่า ซึ่งไม่ได้สะท้อนจากตัวผู้เขียนเอง เพราะเขาอาจไม่ใช่ตัวแทนของผู้ชายทั้งหมด แต่มุมมองของสังคมจะอยู่ในเรื่องนั้น”

แม้วรรณคดีบางเรื่องไม่เคยอ่าน แต่เรื่องย่อ หรือตัวละครจากหลายเรื่องเป็นที่รู้จักคุ้นเคย ดังนั้นการนำวรรณคดีมาย่อยให้ผู้อ่านเข้าถึงง่าย อาจเป็นสะพานเชื่อมโยงผู้อ่านไปถึงวรรณคดีต้นฉบับ ซึ่งมีวรรณศิลป์งดงาม ค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ ทำความเข้าใจ เพื่อจะไปพบกับความจรรโลงใจและแก่นแท้ที่อยู่ในวรรณคดีเรื่องนั้นๆ