posttoday

รู้แล้วต้องทำ ‘A Call to Action’ พัฒนาไทยยั่งยืน

26 มกราคม 2560

ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย “การพัฒนาที่ยั่งยืน” หลังเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ (UN General Assembly) ณ กรุงนิวยอร์ก

โดย...กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย “การพัฒนาที่ยั่งยืน” หลังเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ (UN General Assembly) ณ กรุงนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2558 พร้อมผู้นำประเทศกว่า 193 ชาติ เพื่อรับรอง “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก 17 ประการ” ที่ประชาคมโลกตกลงร่วมกันเพื่อนำไปใช้เป็นกรอบการดำเนินนโยบายเพื่อการพัฒนาในอีก 15 ปีข้างหน้า (ปี 2558-2573)

หนึ่งปีหลังการให้สัตยาบัน วันนี้ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาค ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก ซึ่งการทำงานทั้งหมดเพิ่งถูกเผยแพร่ไว้ในหนังสือ A Call to Action : ประเทศไทยกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2573 ขององค์การสหประชาชาติ ที่ได้เล่าเรื่องราวการทำงานด้านการพัฒนาของประเทศไทย ทั้งกรณีศึกษาและผลการปฏิบัติงานขององค์กรในประเทศไทยที่ใช้ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นหนทางที่สหประชาชาติยอมรับ และถูกพิสูจน์แล้วว่าสามารถนำประเทศไทยไปสู่เป้าหมายทั้งหมดได้จริง

หนังสือ A Call to Action จัดทำโดยมูลนิธิมั่นพัฒนาและสำนักพิมพ์ต่างประเทศ Editions Didier Millet (EDM) เพื่อจำหน่ายให้คนไทยและต่างชาติได้รับรู้กันในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นผู้กำหนดนโยบาย ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ ข้าราชการ ผู้นำชุมชน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป โดยทำในรูปแบบหนังสือภาษาอังกฤษและจะจัดทำในรูปแบบหนังสือภาษาไทยเป็นอันดับต่อไป

รู้แล้วต้องทำ ‘A Call to Action’ พัฒนาไทยยั่งยืน

 

นับเป็นหนังสือเล่มแรกที่นำเสนอเนื้อหาเชิงลึกอย่างตรงไปตรงมาบนพื้นฐานข้อมูลที่หลากหลายเกี่ยวกับสถานะของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน บนเส้นทางที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 ประการให้ได้ ภายในปี 2573 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2558 ซึ่งองค์การสหประชาชาติเรียกการพัฒนานี้ว่าเป็น “การเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลก”

เนื้อหาโดยสรุปในหนังสือกล่าวถึงความท้าทายสำคัญที่ประเทศไทยกำลังเผชิญในด้านต่างๆ แม้ว่าจะมีความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ที่สาคัญคือ หนังสือได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการที่ประเทศไทยใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และการทรงงานด้านการพัฒนาของพระองค์เป็นเข็มทิศนำทางในการพัฒนาด้านต่างๆ โดยแบ่งออกเป็น 17 บท ตาม 17 เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งเนื้อหาวิเคราะห์เป้าหมาย แนวทาง และสิ่งที่ยังจะต้องดำเนินการในเรื่องต่างๆ

นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงตัวอย่างของการพัฒนาทั้งที่ประสบความสาเร็จและที่ยังต้องดำเนินการ เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นถึงภาพรวมของความก้าวหน้าในการพัฒนาของประเทศไทย และความจำเป็นที่จะต้องผนึกกำลังบนเส้นทางที่มุ่งสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้นแล้ว A Call to Action จึงเป็นแหล่งความรู้สำหรับผู้ที่สนใจว่าประเทศไทยจะทำให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนได้อย่างไร ด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่บนพื้นดิน ในน้ำ หรือทรัพยากรมนุษย์ เขียนโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสถิติข้อมูลของประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งเหมาะสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายและผู้ที่สนใจด้านการพัฒนาของประเทศไทยเป็นสำคัญ

รู้แล้วต้องทำ ‘A Call to Action’ พัฒนาไทยยั่งยืน

ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา ผู้ทำงานวิจัยด้านเศรษฐกิจพอเพียงโดยหนึ่งในนั้นคือ ผลงานในการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จากการศึกษาวิจัยพบว่า ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้คนไทยได้เรียนรู้ว่า การพัฒนาที่ไม่สมดุลหรือความไม่ยั่งยืน ทำให้ประเทศชาติไปไม่รอด เราจึงต้องกลับมาไตร่ตรองการเลือกแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับภูมิสังคม นั่นคือ การพัฒนาตามทางสายกลาง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นความสมดุลของการพัฒนา และการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

“การที่จะทำให้การพัฒนาที่สมดุลเกิดความยั่งยืนในที่สุดได้นั้น จำเป็นต้องบ่มเพาะหลักคิดพอเพียงให้กับคนรุ่นใหม่ ยกตัวอย่างในเรื่องของการศึกษา ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนกว่าครึ่งหนึ่งในประเทศไทยที่พยายามใช้หลักการพอเพียงในการปลูกฝังเยาวชนให้มีหลักคิดในการตัดสินใจและดำเนินชีวิต จนได้รับการรับรองว่าเป็น สถานศึกษาพอเพียง และมีโรงเรียนที่ผ่านการประเมินเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา 121 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ ที่สามารถเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนอื่นได้ โรงเรียนพอเพียงเหล่านี้ คือแหล่งบ่มเพาะบุคลากรที่จะช่วยพัฒนาประเทศให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

รู้แล้วต้องทำ ‘A Call to Action’ พัฒนาไทยยั่งยืน

 

“ประเทศไทยได้นำเสนอไว้ในเวทีโลกมาโดยตลอดว่า เราใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนำทางไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อที่จะบรรลุ 17 เป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ และวันนี้เรามีหนังสือ A Call to Action ที่นำเสนอตัวอย่างรูปธรรมในการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้ในการพัฒนาในระดับต่างๆ รวมถึงตัวอย่าง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และการพัฒนาประเทศตามหลักการทรงงานของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ทรงคุณค่าที่จะนำพาการพัฒนาประเทศไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้” ดร.ปรียานุช กล่าว

สัตยาบันที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติได้ให้ไว้นั้นจะนำไปสู่การพัฒนาโลกอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ทางด้าน เสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถึงการพัฒนาของประเทศไทยว่า ไทยเป็นประเทศแรกที่ก้าวจากการเป็นประเทศในประเทศซีกโลกใต้ที่ต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศมาเป็นประเทศคู่ค้าทางเศรษฐกิจที่สาคัญ ซึ่งการเปลี่ยนบทบาทตัวเองในครั้งนี้เป็นความหวังอย่างหนึ่งที่อาจจะทำให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคทางตอนใต้ของโลกเกิดการรวมตัวกันเพื่อการพัฒนามากขึ้น

รู้แล้วต้องทำ ‘A Call to Action’ พัฒนาไทยยั่งยืน ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา

 

“ประเทศไทยต้องการที่จะเผยแพร่หลักการเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งพระราชทานให้คนไทยเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วให้กับนานาประเทศ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนี้เป็นหลักการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ใช้เป็นหลักในการทรงงานและการพัฒนา บนพื้นฐานความรู้และคุณธรรมในการดำเนินการด้วยความพอประมาณ มีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี เพราะเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยให้ประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างมั่นคงในช่วงที่ผ่านมา และยังคงเป็นหลักการในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนด้วย”

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ประการขององค์การสหประชาชาติ ประกอบด้วย การขจัดความยากจน ขจัดความอดอยาก การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การศึกษาที่มีคุณภาพ ความเท่าเทียมทางเพศ สุขาภิบาลและน้ำสะอาด การมีพลังงานสะอาดใช้อย่างเพียงพอ งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ พัฒนาภาคอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างให้เกิดชุมชนเมืองที่ยั่งยืน การบริโภคและผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ การดูแลเรื่องสภาพภูมิอากาศ ดูแลทรัพยากรทางน้ำ ชีวิตบนพื้นดิน การสร้างความสงบยุติธรรมและสถาบันที่เข้มแข็ง และภาคีความร่วมมือเพื่อผลักดันให้ถึงเป้าหมาย

รู้แล้วต้องทำ ‘A Call to Action’ พัฒนาไทยยั่งยืน

 

รศ.ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา ได้กล่าวทิ้งท้ายโดยน้อมนำพระราชดำรัสตอนหนึ่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ครั้งที่พระองค์ทรงตอบรับต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ได้ปฏิบัติหน้าที่แทนประชาชนชาวไทยในพิธีกราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2559 ว่า “... ข้าพเจ้าขอตอบรับเพื่อสนองพระราชปณิธาน และเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งปวง….” ด้วยความสานึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ พวกเราปวงชนชาวไทย ก็พร้อมที่จะสืบสานพระราชปณิธาน และประพฤติปฏิบัติตนซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมเป็นอย่างมาก ดังที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสรับสั่งดังข้างต้น...

รศ.ดร.จิรายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยคุณสมบัติของชาวไทยตามที่ในหลวง รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานพรเมื่อวันขึ้นปีใหม่ ประกอบกับประโยชน์ที่จะได้รับจากหนังสือเล่มนี้ จะนำไปสู่ความคิดริเริ่มที่จะลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง พร้อมทั้งร่วมมือร่วมใจกันเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานพระราชปณิธาน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม และให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายในระดับสากล ซึ่งจะนำพาให้ประชาชนในประเทศได้มีมาตรฐานชีวิตที่ดีขึ้น และก่อให้เกิดสังคมที่มีคุณภาพอันเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขอย่างยั่งยืนสืบไป

ดังที่ทุกท่านกล่าวย้ำไว้ถึงเรื่อง “การลงมือทำ” ดังชื่อหนังสือ “A Call to Action” ที่เมื่อรู้ก็ต้องปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลจริง