posttoday

‘โรคอ้วน’ มหันตภัยมืด มนุษย์เมือง

21 มกราคม 2560

สาเหตุการเสียชีวิตของคนในสังคมยุคปัจจุบันจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า

โดย...วิรวินท์ ศรีโหมด

สาเหตุการเสียชีวิตของคนในสังคมยุคปัจจุบันจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า เกิดจากโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรังมากกว่าโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยสาเหตุหลักโรคเหล่านี้จุดเริ่มต้นมาจากไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตบนพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ขาดการออกกำลังกาย ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ชอบรับประทานอาหารรสหวานมันเค็มจัด ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นภัยร้ายที่แทรกซึมฆ่าชีวิตของคนโดยเฉพาะในสังคมเมือง

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า โรคอ้วน เบาหวาน ความดัน ไขมันสูง โรคหัวใจหลอดเลือด โรคสมองตีบแตกตัน โรคเหล่านี้มักจะมาเป็นแพ็กเกจ ซึ่งเกิดจากการใช้ชีวิตแบบชาวตะวันตก ภายใต้บริบทการพัฒนาของสังคมเมือง ที่ทำให้คนมีวิถีชีวิตเปลี่ยนไป รักความสบาย เคลื่อนไหวน้อย มีสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านพฤติกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะการกิน

อย่างไรก็ตาม หลักความเป็นจริงคนไทยในอดีตที่มีสุขภาพแข็งแรง เพราะวิถีการดำรงชีวิตนิยมรับประทานอาหารพวกพืชผักผลไม้ตามธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันความเป็นสังคมเมืองกลับเลือกรับประทานอาหารที่สะดวก มีรสหวานเค็มมัน ซึ่งมีไขมันเยอะ จนก่อนให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้เสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วน

‘โรคอ้วน’ มหันตภัยมืด มนุษย์เมือง

 

จากการศึกษาพบว่า เดิมคนไทยน้ำหนักเกินค่าเฉลี่ยอยู่ 10% แต่ปัจจุบันในกลุ่มผู้ใหญ่มีน้ำหนักเกินถึง 30% ส่วนกลุ่มเด็กในเมืองน้ำหนักเกินอยู่ที่ 12.5% ซึ่งถือว่าเยอะมากกว่าเมืองในอดีต ผลลัพธ์เหล่านี้จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อร่างกายในระยะยาว

ผศ.นพ.ธีระ แนะนำว่า ทางแก้สามารถปฏิบัติได้ 2 วิธี คือ เริ่มที่ตัวบุคคล ควรใส่ใจไปพร้อมกับต้องมีความรู้ในการเลือกรับประทานอาหารที่ไม่เสี่ยงต่อสุขภาพ รวมถึงต้องมีความระงับยับยั้งชั่งใจว่า จะเชื่อหรือไม่กับข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย ส่วนภาครัฐ และภาคธุรกิจก็ควรใส่ใจคุณภาพชีวิตของประชาชนเช่นกัน แต่การที่รัฐออกนโยบายสาธารณะเพื่อสนับสนุนให้เอกชนเข้ามาลงทุนเปิดกิจการร้านอาหารหวังการไหลเวียนของเม็ดเงิน โดยไม่ใส่ใจว่าธุรกิจเหล่านั้น จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทยระยะยาว

ดังนั้น รัฐควรปรับตัวรู้เท่าทันสภาวการณ์พัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่ไปกับการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน เช่น อาจขอความร่วมมือร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดไม่ควรโฆษณาการเพิ่มขนาดอาหาร ด้วยเงินเพียงน้อยนิด เพราะยิ่งจะเป็นการเสี่ยงต่อสุขภาพ หรือขอความร่วมมือให้ทุกร้านมีเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ ไปจนถึงมาตรการขึ้นภาษี แต่ถึงอย่างไรมาตรการควบคุมเหล่านี้ไม่ใช้เพื่อกีดกันทางการค้า แต่เพื่อสร้างทางเลือกคู่ขนานให้กับผู้บริโภค