posttoday

ฐิติพัฒน์ ศุภภัทรานนท์ เรามีหน้าที่ตอบแทนสังคม

21 มกราคม 2560

จุดเริ่มต้นของการเป็นหนึ่งในพลังทำความดีตอบแทนสังคมของคนเราอาจแตกต่างกัน แต่สำหรับ โอ๋-ฐิติพัฒน์ ศุภภัทรานนท์

โดย...พุสดี สิริวัชระเมตตา

จุดเริ่มต้นของการเป็นหนึ่งในพลังทำความดีตอบแทนสังคมของคนเราอาจแตกต่างกัน แต่สำหรับ โอ๋-ฐิติพัฒน์ ศุภภัทรานนท์ ผู้บริหารแบรนด์ผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลสุขภาพผิวและเส้นผมแบรนด์ธัญ (THANN) เขาเริ่มต้นจากการตระหนักมาสู่การเรียนรู้และลงมือทำจริง

 โอ๋ย้อนวันวานถึงจุดออกสตาร์ทในการบ่มเพาะจิตอาสาให้เกิดขึ้นว่า หลังจากที่จับพลัดจับผลูไปอยู่ในชมรมจุฬาทักษิณ ตอนที่เรียนอยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้เขาได้สวมบทเด็กค่ายฯ ลงพื้นที่ไปในหมู่บ้านหรือชุมชนต่างๆ ที่ยังขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวก บางแห่งไม่มีน้ำ ไม่มีไฟฟ้าใช้ ซ้ำร้ายไม่มีแม้แต่ห้องน้ำด้วยซ้ำ ประสบการณ์ตรงที่ได้รับเหล่านี้ ทำให้เขาเริ่มเข้าใจถึงช่องว่างของความไม่เท่าเทียมกันในสังคมอย่างชัดเจน

 จากบทบาทเด็กค่ายฯ ชมรมในวันนั้น ซึ่งเขาทำได้เพียงลงแรงเพื่อทำประโยชน์กลับคืนให้กับสังคม แต่พลังเล็กๆ จากการทำความดีนั้น ได้กลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่จุดประกายความคิดให้เขาอยากจะตอบแทนสังคมเมื่อมีโอกาส

 "ผมยึดมั่นในเกียรติภูมิของจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน สำหรับผมแน่นอนว่าการได้เข้ามาเรียนที่นี่ ก็มีเกียรติแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญคือเราต้องรักษาเกียรติภูมิของจุฬาฯ ไว้ด้วย" ผู้บริหารหนุ่มกล่าวด้วยแววตามุ่งมั่น พร้อมบอกว่า ด้วยความตั้งใจที่มีในตัวเอง เมื่อเขาผันตัวมาสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจเต็มตัว เขาจึงไม่ลังเลแม้แต่น้อยที่จะร่วมส่งต่อความดีคืนสู่สังคม

“วันหนึ่งผมนอนดูสารคดีช่องดิสคัฟเวอร์รี่ ชาแนล อยู่ที่บ้าน วันนั้นเขานำเสนอเรื่องราวของโรงพยาบาลช้างโดยมูลนิธิเพื่อนช้างเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของโลก ตั้งอยู่ที่ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ตั้งขึ้นเมื่อปี 2536 เพื่อเป็นสถานที่ในการพักพิงและรักษาช้างที่ได้รับบาดเจ็บจากทุกกรณี โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย รวมถึงการรณรงค์ต่อต้านการทารุณกรรมช้าง นับตั้งแต่ก่อตั้ง โรงพยาบาลแห่งนี้ได้รักษาช้างที่บาดเจ็บจากการเหยียบกับระเบิด ถูกมนุษย์ทำร้าย ฯลฯ ไปแล้วถึง 4,000 เชือก ผมดูไปก็น้ำตาไหลไป อยากจะช่วย แต่ตอนนั้นด้วยความที่เราเพิ่งตั้งบริษัทได้ 3-4 ปี ก็ยังไม่พร้อม เลยได้แต่เก็บความตั้งใจนี้ไว้ และบอกกับตัวเองว่า ถ้าวันหนึ่งมีทุนทรัพย์ที่พร้อมจะเข้ามาช่วยเหลือแน่นอน”

ฐิติพัฒน์ ศุภภัทรานนท์ เรามีหน้าที่ตอบแทนสังคม

 

 จากเรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจซึ่งถูกถ่ายทอดผ่านหน้าจอ โอ๋ใช้เวลาบ่มเพาะจนกลายเป็นรูปธรรมและนำมาสู่โครงการ “THANN for Thai Elephant” ที่ทำต่อเนื่องมา 5 ปีแล้ว เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์งานของโรงพยาบาลช้าง และนำรายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายเซตผลิตภัณฑ์เพื่อช้างบริจาคให้กับโรงพยาบาลช้างทั้งหมด เนื่องจากที่นี่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ที่ผ่านมาเงินช่วยเหลือทั้งหมดมาจากภาคเอกชนของไทยและต่างประเทศเท่านั้น

 “40 ปีที่ผ่านมา จำนวนช้างไทยลดลงอย่างรวดเร็วจนเหลือเพียง 7,000-8,000 เชือก ในจำนวนนี้เป็นช้างป่าประมาณ 3,000 เชือก ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำประชากรช้างลดลงอย่างน่าใจหาย คือมนุษย์เราไปทำลายป่าซึ่งเป็นบ้านของเขา บางครั้งพาเขาไปลากซุงแถวชายแดน ก็โชคร้ายไปเหยียบกันระเบิด บางเชือกก็เจอทารุณกรรมจนตาบอด ประสาทหลอนก็มี ผมเองในฐานะคนไทยคนหนึ่งพอรู้แบบนี้ก็อยากมีส่วนช่วย เพราะช้างก็ถือเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของเรา ในอดีตบรรพบุรุษของเราก็ใช้ประโยชน์จากเขา ดังนั้นในวันที่เขาอาจไม่ได้ทำประโยชน์เหมือนเก่า เราก็ควรดูแลเขา เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้มีการอนุรักษ์ช้างไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่คู่เมืองไทยตลอดไป"

 ทุกวันนี้โรงพยาบาลช้างมีบุคลากรประจำที่ทำการดูแลช้างอยู่เพียง 10 คนเท่านั้น แบ่งเป็นสัตวแพทย์ 2 คน และควาญช้าง 8 คน และมีค่าใช้จ่ายปีละไม่น้อยกว่า 9-10 ล้าน ซึ่งรายรับที่ได้ในแต่ละปียังไม่เพียงพอในกรณีที่มีช้างเข้ามาทำการรักษาเป็นจำนวนมาก

 “ทุกปีผมจะไปเยี่ยมเยียนบุคลากรที่ทำงานที่นั้น รวมทั้งช้างป่วยที่เข้ามาอยู่ในความดูแลของมูลนิธิ ปีที่แล้วก็ไปมา 2 ครั้ง ไปทีไรก็น้ำตาซึม ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่มูลนิธิฯ อยากได้แน่นอนคือทุนทรัพย์ที่มาช่วยเหลือ แต่อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือกำลังใจดีๆ ที่เราทุกคนสามารถส่งต่อไปยังคนทำงานที่นั่น ซึ่งทุกคนทำด้วยหัวใจที่เสียสละจริงๆ” ผู้บริหารคนเก่งกล่าวทิ้งท้าย