posttoday

‘ใช้ชีวิตช้าๆ แบบวางแผน’ นที ศาสตร์ยังกุล

15 มกราคม 2560

บางคนอาจจะมีวิธีผ่อนคลายแตกต่างกันไป แต่สำหรับผู้บริหารระดับหัวกะทิ นที ศาสตร์ยังกุล

โดย...วราภรณ์ ภาพ : วิศิษฐ์ แถมเงิน

บางคนอาจจะมีวิธีผ่อนคลายแตกต่างกันไป แต่สำหรับผู้บริหารระดับหัวกะทิ นที ศาสตร์ยังกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายสร้างสรรค์แบรนด์ บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ และผู้ถือหุ้น บริษัท เกียกรุงเทพ สาขารังสิต ในวัย 48 เขาสามารถเลือกใช้วิธีทำให้ชีวิตช้าลงด้วยการปั่นจักรยานสัมผัสกับความงดงามสองข้างทางที่เขาขี่ผ่าน แต่กว่าจะสามารถใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายได้
ต้องมีการวางแผนทุกก้าวของจังหวะชีวิตให้รอบคอบ รัดกุม

ปูอนาคตตั้งแต่เด็ก

นที บอกว่า ด้วยงานส่วนใหญ่เป็นที่ปรึกษาองค์กรต่างๆ เขาจึงสามารถทำให้ชีวิตเรียบง่ายสบายๆ ตามวิถีได้ แต่การจะทำให้ชีวิตตามสบายเช่นนั้นต้องผ่านการวางแผนชีวิตอย่างดีตั้งแต่เด็กๆ ภายใต้คำถามว่า ต้องทำอย่างไร ชีวิตจึงจะมั่นคง

“เป้าหมายชีวิตตั้งแต่เด็กของผม คือ อยากไปอยู่กับธรรมชาติ แม้ผมจะเกิดกรุงเทพฯ แต่พอโตก็ได้ไปเที่ยวต่างจังหวัดบ่อยกับคุณพ่อคุณแม่ ความฝันของผมขณะที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัย คือ อยากไปใช้ชีวิตต่างจังหวัด อยากไปซื้อที่เก็บไว้ อยากอยู่เงียบๆ แม้ผมแต่งงานแล้วแต่ก็ตั้งใจไม่มีลูก เพราะกลัวเลี้ยงเขาไม่ดี กลัวลูกไม่มีงานที่ดีทำ เพราะวัยเขาแข่งขันค่อนข้างสูง ถ้าลูกไม่มีพื้นฐานที่ดี เขาจะสู้เพื่อนไม่ได้ อยากให้ลูกมีอนาคตที่ดีต้องส่งลูกไปเรียนโรงเรียนอินเตอร์ ถ้าไม่ได้เรียนโรงเรียนที่ดีไม่มีทางที่จะเป็นผู้บริหารระดับสูงได้ ลูกต้องเหนื่อยและต้องดิ้นรน ผมจึงตัดสินใจไม่มีลูก และเริ่มเก็บเงินตั้งแต่วัยรุ่น แม้ในวัยเด็กผมถูกตามใจ คุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้คิดเอง เลี้ยงแบบอิสระ อยากทำอะไรทำ แต่ผมชอบวิทยาศาสตร์ ชอบอะไรที่เป็นเหตุเป็นผล หนังสือวิทยาศาสตร์ผมชอบอ่านมากๆ” อีกทั้งนทียังชอบเครื่องยนต์กลไก และชอบรถยนต์มาตั้งแต่เด็กๆ อายุเพียง 5 ขวบ เขาก็รู้จักรถยนต์ทุกยี่ห้อแล้ว พอเข้ามหาวิทยาลัยเขาเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถานที่ที่เขาชอบที่สุดคือห้องสมุด ชอบเข้าไปศึกษาดูหนังสือรถยนต์ โตขึ้นเขาจึงก้าวเข้าสู่วงการรถยนต์แห่งแรกคือโตโยต้า ได้ทำงานร่วมกับ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ซึ่งนับเป็นโชคดีของเขาที่ได้ทำงานร่วมกับคนเก่งๆ ทั้งนั้น เพราะการทำงานกับคนเก่งๆ จะทำให้เราได้ความรู้และมุมมองใหม่ๆ ซึ่งหาเรียนในโรงเรียนไม่ได้

‘ใช้ชีวิตช้าๆ แบบวางแผน’ นที ศาสตร์ยังกุล

 
ทุ่มเททำงานเก็บเงิน
 
คีย์สำคัญของการสามารถใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ได้ในบันปลายแบบสบายๆ นทีแนะว่า ในวัยเริ่มทำงานควรทุ่มเทอย่างจริงจัง ขยันเก็บขยันทำขยันออม ชีวิตก็จะออกแบบได้

“ย้อมกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผมเริ่มทำงานด้วยเงินเดือนที่มากกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันถึง 3 เท่า แต่ผมก็ทำงานหนักกว่าเพื่อนๆ ตั้งแต่เด็ก ผมนอนน้อยมากคือ หลังจากเลิกงานบริษัทผมไปร้องเพลงตามไนต์คลับ ผมจึงมีเงินเก็บมาก แม้เหนื่อยแต่ก็ต้องยอมแลก แต่ผมร้องเพลงตอนกลางคืนด้วยความสุข ผมทำงานและร้องเพลงไปด้วยนานกว่าสิบปี เพราะพอออกจากโตโยต้ผมไปนั่งในตำแหน่งผู้บริหารของฟอร์ด ซึ่งทำงานหนักมาก ๆ เพราะความต้องการในงานที่ดีก็ค่อนข้างสูง ตอนนั้นนโยบายทีฟอร์ดผลักดันคือ การส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอลล์ พูดได้เต็มปากเลยว่า E20 ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ผมมีส่วนร่วมผลักดันในทุกรูปแบบ แม้เป็นผู้บริหารแต่ผมไม่เครียดมาก เพราะผมมีแนวคิดอย่างหนึ่งในการทำงานคือ งานส่วนงาน ส่วนตัวคือส่วนตัวต้องแยกแยะ ถ้าพยายามทำดีที่สุดแล้วทำไม่ได้ก็ต้องยอมรับเอาเท่าที่ได้ ผมจะไม่กดดันคนไม่กดดันลูกน้อง  ซึ่งจะแตกต่างจากตอนเริ่มทำงานใหม่ ๆ มีบ่อยครั้งที่กดดันลูกน้องจนถึงขั้นเสียน้ำตา แต่พอโตขึ้นถ้าลูกน้องทำไม่ได้ ก็พยายามสอน ไม่ได้ก็คือไม่ได้อย่าคิดมาก  แล้วสอนเขาเพื่อให้เขาทำได้ ผมจึงพยายามสอนคนให้เก่ง ถึงที่สุดแล้วเราต้องสร้างคนขึ้นมาทดแทน เราทำเองทุกอย่างไม่ได้ตลอดไป ”
 
การใช้ชีวิตสโลว์ได้ นทีแนะอีกว่า ต้องใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท อย่าใช้เงินเกินตัว และอย่าเป็นหนี้ ภายใต้คติ “เงินกู” เท่านั้น ไม่มี “เงินกู้”  ถ้ากู้ต้องสร้างความงอกเงยเพื่อต่อยอดธุรกิจ ไม่ใช่กู้มาซื้อของซื้อความสุขชั่วคราว

“ อย่าไปกู้เงินมาก ๆ เพื่อซื้อคอนโดราคาแพง หรือบางคนต้องผ่อนทั้งรถทั้งคอนโดมันทำให้ชีวิตขาดความเป็นอิสระ มันเหนื่อย ในมุมมองของผมนะครับ ถ้าเราไม่มีหนี้มันจะมีข้อดีคือ ไม่พอใจงานก็ไม่ต้องทำ ออกเลย ชีวิตเราก็จะไม่รู้สึกกดดัน เพราะเราจะไม่มีภาระ เจอคนที่ทำงานไม่ดีเราก็ออกได้เลย แต่ถ้าเรามีหนี้ เราต้องอดทนอยู่กับคนไม่ดี  ซึ่งผมคิดว่า เราไม่ต้องง้อเขา แม้คนบอกว่าระดับผมขับรถเบนซ์ ซื้อคอนโดแพง ๆ อยู่ แต่ผมคิดว่า ทำไมผมต้องมานั่งผ่อน ซื้อสดดีกว่าไม่ต้องเป็นหนี้ใคร ใช้รถเก่าๆ ขี่จักรยาน คอนโดเล็ก ๆ พออยู่ได้ก็พอแล้ว เก็บเงินไว้ทำประโยชน์ดีกว่า ” นทีว่า ให้คิดเสมอว่า ชีวิตเราเลือกได้ แต่กว่าจะเลือกได้ นทีย้ำอีกว่า ชีวิตนี้ต้องมีวินัยตั้งแต่เด็ก ให้ออมเงินด้วย

 “ผมซื้อประกันบำนาญของออมสินตั้งแต่อายุ 30 ปี ตอนนั้นคนไม่นิยมซื้อประกัน อีกทั้งต้องมีวินัยในการทำงานเก็บเงินซึ่งเด็กๆ เก็บเดือนละ 1,000-2,000 บาท และต้องเก็บอย่างสม่ำเสมอ” จึงจะปลอดภัย ส่วนตัวนทีเองแบ่งเก็บถึง 50 %ขึ้นไปจากรายได้ทั้งหมด

‘ใช้ชีวิตช้าๆ แบบวางแผน’ นที ศาสตร์ยังกุล

อายุ 40 ปี มุมมองเริ่มเปลี่ยน

อายุ 20-30 ปีนทีมุ่งมั่นทำงานอย่างหนัก และพออายุ 40 ความคิดเริ่มตกผลึกขึ้น และเริ่มใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายขึ้น

“ปัจจุบันงานหลักๆ ของผมคือ เป็นที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ สร้างภาพลักษณ์ให้กับบุคคลและองค์กร สร้างภาพลักษณ์ให้ธุรกิจของลูกค้าดูดี เช่น ธุรกิจกาแฟ เป็นต้น ตอนผมเริ่มทำงานตอนอายุ 20 ต้น ๆ ผมกอบโกยความรู้ไว้เยอะมาก พออายุ 30 ผมยังทำงานหนัก พื้นฐานผมเป็นคนใจร้อน อยากทำงานให้เสร็จเร็วๆ แต่งานต้องออกมาดี ความรับผิดชอบต่องานตอนนั้นของผมสูงมาก เจ้านายสั่งอะไรไม่เคยพลาด ดังนั้นถ้าสั่งงานลูกน้องเราก็คาดหวังว่า งานต้องออกมาดีที่สุดเช่นกัน แต่เด็กไทยบางคนไม่ชอบคิดเอง  ชอบถามคำถามง่าย ๆ หากมีลูกน้องถามผม ผมจะบอกเขาว่า ผมไม่มีคำตอบ  ผมไม่ได้เก่งที่สุด ให้เขาไปคิดเองก่อน เอาคำตอบอยู่ในใจ ก่อนแล้วค่อยมาถาม อย่ามักง่ายทุกอย่างต้องเคี้ยวให้ ต้องป้อน มันทำให้เขาไม่มีการพัฒนา ให้เขาคิดทำงานให้ออกมาดีที่สุดก่อน หากเขาพยายามแล้วทำไม่ได้ ผมจึงจะสอนเขาเพิ่ม ผมค่อนข้างสตริกต์ในการทำงานมากๆ ต้องเป๊ะเว่อร์ เพราะผมอยากสอนงานให้เขาทำงานให้ดีที่สุด เหมือนเราต้องส่งสินค้าเกรดเอให้ลูกค้าทุกครั้ง ”

เมื่อการทำงานต้องเสร็จสมบูรณ์แบบโปเฟสชั่นแนล แต่ต้องบริหารความเครียดของตนเองให้ได้

 “ หากเราฝึกทำงานให้ดีที่สุดจนติดเป็นนิสัย เราต้องทำงานที่ดีไปโดยอัตโนมัติ เพราะเราทำด้วยแรงปรารถนา จุดเปลี่ยนของผมอาจมาจากตอนผมอายุ 30 ปลาย ๆ ผมออกจากงานรถประจำตำแหน่งก็ต้องคืนเขาไป ผมตัดสินใจไม่ซื้อรถใหม่ราคาแพง แล้วเอาเงินไปซื้อจักรยาน ซื้อคอนโดในเมืองที่เดินทางสะดวกไม่ต้องขับรถผมคิดว่าคุ้มค่ากว่า มีเงินเหลือก็ซื้อรถเก่าๆ ที่พอขับได้ ซื้อคอนโดเพิ่มปล่อยให้คนเช่า แต่หากซื้อรถยนต์ป้ายแดงเงินจะหายไปหมด  เพราะผมมีเป้าหมายชีวิตว่า ผมอยากเก็บเงินเอาไว้ซื้อที่ที่ต่างจังหวัด แล้วผมก็ไม่สูบบุหรี่และไม่กินเหล้า คิดดูคนเราคนเรากินเหล้าเดือนหนึ่งจะหมดเงินไปราว 3-4 พันบาท ปีหนึ่ง ๆ หมดไปกับเรื่องพวกนี้ 4-5หมื่นบาท ลองคิดดูว่าผ่านไป 30 ปี เงินหาย 1.2-1.5  ล้านบาท ผมพูดกับคนรู้จักเสมอว่า ทุกคนมีเงินเก็บเป็นล้านได้ถ้ารู้จักคิด รู้จักวางแผน แต่จะฟุ่มเฟือยเล็ก ๆ หมดไปกับจักรยาน กล้อง เลนส์ ท่องเที่ยว และกินอาหารดี ๆ ที่เราชอบ ”

‘ใช้ชีวิตช้าๆ แบบวางแผน’ นที ศาสตร์ยังกุล

 ชีวิตประจำวันอันแสนสุข

เมื่อคนเราออกแบบชีวิตได้ และพุ่งเป้าไปให้ถึงเป้าหมายได้แล้ว เราก็จะสามารถใช้ชีวิตในแต่ละวันได้อย่างมีความสุข

“ ชีวิตประจำวันของผมตอนนี้ คือ ตื่น 6 โมงเช้า ตอนเช้าอากาศก็ดี ผมจะออกกำลังกายราวครึ่งชั่วโมงในฟิตเนสของคอนโด ออกกำลังกายเสร็จมานั่งเคลียร์งานที่บ้าน ผมเข้าออฟฟิศประมาณ 2-3 วันต่อสัปดาห์ เข้าตอนมีประชุม แต่ผมเพิ่งใช้ชีวิตได้แบบนี้ไม่เกิน 1 ปี แต่ต้องแลกมากับรายได้ที่เสียไป แต่เราไม่เป็นหนี้ เดือนหนึ่งๆ ผมมีรายจ่ายจริง ๆ ไม่เกิน 2 หมื่นบาทไม่ต้องทำงานก็อยู่ได้แล้ว  และชีวิตผมเรียบง่ายมากขึ้น ความสบายกายสบายใจในชีวิตดีขึ้นเยอะ สุขภาพจิตก็ดี เพราะเราสามารถเลือกอยู่กับสิ่งที่เราอยากทำอยากเป็น มีเวลาคิดอะไรเยอะ ส่วนวันที่เหลือผมเอากล้องแมนนวลไปถ่ายรูปเล่น ต้องหาซื้อฟิล์มถ่ายเสร็จไม่รู้ว่ารูปจะออกมาเป็นอย่างไร พอส่งฟิล์มไปล้างก็ต้องลุ้นว่า อัดรูปออกมาแล้วจะดูได้หรือไม่ ย้อนเวลาไปหาวัยเด็ก ชีวิตมีความสุข หรือว่าง ๆ เอาของที่สะสมมาปัดฝุ่น มานั่งเล่น ”
 กิจกรรมหนึ่งที่นทีชื่นชอบมากคือ การปั่นจักรยานไปย่านนางเลิ้ง ค่อยๆ ปั่นไปดูบ้าน ได้ดูวิถีชีวิตผู้คนซึ่งหากขับรถยนต์คุณจะไม่มีโมเมนต์นี้เลย

ความสุขจากการปั่นจักรยาน
 
ความสุขกับการปั่นจักรยาน คือ ทำให้นทีเห็นวิถีชีวิตของผู้คนสองข้างทาง ได้ดูสถาปัตยกรรมอันงดงาม และสถานที่ที่นทีมีความสุขกับการได้ไปเยือนมากที่สุดคือ  การขี่จักรยานผ่านทุ่งนาในประเทศญี่ปุ่น

 “อย่างไปที่ประเทศญี่ปุ่นผมจะมีความสุขมาก หากได้ปั่นจักรยานข้ามเมือง เขาจะมีจักรยานให้ปั่นข้ามเมือง ได้ขี่ผ่านทุ่งหญ้าเป็นเมืองชนบทที่สวยงามซึ่งเป็นเส้นทางที่คนญี่ปุ่นขี่จริงๆ ราว ๆ 20 กิโลเมตร มันชิลล์แล้วก็สวยมาก ขี่แต่ละฤดูก็จะให้บรรยากาศที่ต่างกัน แต่ผมมักไปหน้าร้อน ได้เห็นดอกไม้ผลิ ทุ่งนาสีเขียว อีกที่หนึ่งที่น่าไปขี่จักรยานเช่นกัน คือ สิงคโปร์ พอดีมีบ้านของเพื่อนอยู่ที่นั่น ได้ไปขี่จักรยานเลียบทะเลวิ่งไปถึงช้อปปิ้งของสิงคโปร์ได้เลย สนุกได้เห็นธรรมชาติ เห็นทะเลผ่านบ้านเก่าสวยงามมากๆ ผมมีความคิดอย่างหนึ่ง คือ ทำไมต่างประเทศสามารถอนุรักษ์บ้านเก่า ๆ ได้ แต่ทำไมเมืองไทยทำไม่ได้ ในแง่ประวัติศาสตร์ผมคิดว่า ควรเก็บสถานที่ประวัติศาสตร์เหล่านี้เอาไว้  บ้านเราคิดจะทำทางปั่นจักรยานเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา จะทำไปทำไมเสียดายงบประมาณ 3.5 หมื่นล้าน เอาไปสร้างโรงเรียนโรงพยาบาลดีกว่า ไม่มีคนขี่หรอก เพราะคนไทยไม่นิยมขี่จักรยาน ของเราขี่เป็นแฟชั่น แต่คนขี่ในชีวิตจริง คือ ขี่ไปทำงานหรือขี่แทนรถยนต์หายาก อย่างตอนผมปั่นจักรยานไปทำงานสามารถทำได้เพราะบ้านอยู่พระราม 3 ปั่นไปสีลมใช้เวลาแค่ 15 นาทีก็ถึง สมัยนั้นปั่นเสร็จก็ไปอาบน้ำที่ฟิตเนสย่านสีลมแล้วค่อยไปทำงาน ไม่ต้องผจญกับรถติด แถมยังได้ออกกำลังกาย ไม่ต้องรู้สึกหงุดหงิดกับรถติด ตอนนี้ผมค่อนข้างพอใจกับชีวิต ว่าง ๆ ไปพักผ่อนที่แก่งคอยกับพะเยา ซึ่ง 2 ที่นี่ผมคิดว่าจะไปใช้ชีวิตในบั้นปลายที่นี่ อยากไปเปิดร้านที่เรารัก ได้ไปอยู่กับธรรมชาติ ใช้ชีวิตที่เรียบง่ายแต่มีความทันสมัย ไปอยู่กัน 2 คนตายาย และจะพาคุณพ่อคุณแม่ไปอยู่ด้วย”
 
คำคมในการดำเนินชีวิต อย่าใช้ชีวิตแบบประมาท

สุดท้ายนทีฝากบอก คนรุ่นหลังว่า ใช้ชีวิตอย่าฟุ้งเฟ้อ ต้องมีวินัย ส่งงานต้องรับผิดชอบ ทำงานเกรดเอเหมือนส่งอาจารย์แล้วเราจะเจริญก้าวหน้า นี่คือคำคมที่เขาใช้ในการทำงานมาโดยตลอดขณะที่มีไฟลุกโชติช่วงอยู่ บั้นปลายชีวิตจึงสามารถออกแบบได้
 
“คติการทำงานของผมคือ ต้องทำงานให้ดีที่สุด เพราะทุกอย่างเป็นแบรนดิ้ง ใช้แล้วต้องไม่ผิดหวัง ใช้เราแล้วต้องได้สินค้าเกรดเอ ยิ่งเราทำงานดีมันจะเป็นแบรนดิ้งติดตัวเราไป เพราะทุกอย่างเป็นภาพลักษณ์ อย่าใช้ชีวิตแบบประมาท เด็กไทยควรมีความรับผิดชอบ อดทน ผมอยากให้เด็กไทยอินกับคำว่า แบรนดิ้ง เรื่องการตลาดเขาจะขายของก่อนอย่างเดียว ผมคิดว่าการขายแบรนด์สำคัญ เมืองไทยเราไม้เยอะ แต่เราขายไม้หลักร้อย หลักพัน ซึ่งหากเราใส่ดีไซน์ที่ดูดีเข้าไปนิดเดียว สามารถเพิ่มมูลค่าราคาไม้ชิ้นเดียวกันให้ขึ้นเป็นหลักหมื่น ยิ่งถ้าเราสร้างแบรนด์ได้อีกเผลอๆ ขายได้เป็นแสน ๆ การศึกษาไทยต้องมีการพัฒนาอย่างเร่งด่วนไม่นับรวมเรื่องภาษาซึ่งเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว  เด็ก ๆ ทุกคนต้องเรียนรู้เรื่องแบรนดิ้ง เรื่องการออกแบบคุณค่าของงานดีไซน์และอีกวิชาที่ต้องส่งเสริมให้เด็กไทยเรียนรู้คือ การทำบัญชี อยากให้ภาครัฐส่งเสริมให้เด็กรู้ว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร หากคนรุ่นใหม่มีภาษาที่ดีไม่ว่าภาษาไทยหรือเทศ เข้าใจเรื่องแบรนด์เรื่องงานออกแบบ รู้เรื่องตัวเลขบัญชี ขอแค่เข้าใจคอนเซปต์ ไม่ต้องทำเป็นก็ได้ เขาจะมีศักยภาพทำอะไรก็ได้ มีความสามารถในการแข่งขันบนโลกที่หมุนเร็วขึ้นทุกวัน ต่อยอดทำงาน ทำธุรกิจกับต่างประเทศได้ง่ายขึ้น ทุกวันนี้เราพยายามผลักดัน SME ผลักดัน OTOP แต่มันไปต่อไม่ได้ เพราะบ้านเราขาดพื้นฐานในเรื่องเหล่านี้ ”