posttoday

วิ่งเพื่อ(ชัก)แม่น้ำทั้ง 5 เจตนาของคนต้นน้ำ

11 มกราคม 2560

ระหว่างที่กระแสวิ่งเพื่อระดมทุนเพื่อจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลบางสะพาน

โดย...กองทรัพย์ ภาพ... นิคม พุทธา

ระหว่างที่กระแสวิ่งเพื่อระดมทุนเพื่อจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลบางสะพาน ด้วยการจัดโครงการวิ่งการกุศล “ก้าวคนละก้าว” ระยะทาง 400 กม. ของอาทิวราห์ คงมาลัย หรือตูน บอดี้สแลม กำลังเป็นข่าวครึกโครม ผู้คนมากมายให้ความสนใจ จนได้รับยอดบริจาคทะลุ 70 ล้านบาท

เพื่อป่าและสายน้ำ

ในอีกฟากหนึ่งมีชายคนหนึ่งกำลังเตรียมงานวิ่งของเขาอย่างเงียบๆ งานนี้ไม่มีการกุศล หรือระดมทุน ชายคนนี้วิ่งจากดอยหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ลัดเลาะริมน้ำปิง มุ่งหน้าสู่ปลายทางคือแม่น้ำเจ้าพระยา เขาออกวิ่งเพื่อผืนป่าและสายน้ำ แต่เขาออกวิ่งเพื่อรณรงค์และบอกเล่าเรื่องราวของผืนป่าและสายน้ำ เพราะเชื่อว่าอย่างน้อยหยดน้ำเล็กๆ หยดหนึ่ง เมื่อรวมกับอีกหลายหยด จะมีพลังดังน้ำสายใหญ่ที่ไหลหล่อเลี้ยงผู้คนและสรรพสิ่งได้ เขาเริ่มออกวิ่ง วิ่งเพื่อวิ่ง วิ่งไปตามถนนที่อยู่ใกล้แม่น้ำ เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาผืนป่าและสายน้ำ

นิคม พุทธา หรือพี่อ้วน ประธานกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำปิงตอนบน คือชายที่กำลังเอ่ยถึง เขาเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้นิยมธรรมชาติ นักอนุรักษ์ที่เข้มข้นคนนี้ เคยเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จากนั้นผันตัวมาเป็นเอ็นจีโอ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย จากนั้นก็กลับมาบ้านเกิด อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

วิ่งเพื่อ(ชัก)แม่น้ำทั้ง 5 เจตนาของคนต้นน้ำ

 

บนเส้นทางอนุรักษ์สายใหม่ของนิคม เขากลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด อ.เชียงดาว สร้างแนวคิดแบบใหม่โดยเริ่มหว่านเมล็ดพันธุ์ธรรมชาติในตัวเยาวชน เริ่มดำเนินกิจกรรมกับเด็กและเยาวชนในปี 2552 ใช้พื้นที่ของตัวเองสร้างเป็นสถานที่ส่งเสริมการเรียนรู้เชื่อมโยงกับค่ายลูกเสือ เป็นค่ายเยาวชนเชียงดาว กิจกรรมในค่ายมีทั้งการให้เด็กดูหนัง สไลด์ เกี่ยวกับผืนป่า สัตว์ป่า การพาเดินป่าดูระบบนิเวศในป่าต้นน้ำปิง ศึกษาพืชพรรณไม้ ดูนก มีกิจกรรมทำแนวกันไฟในหน้าแล้ง และมีกิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติบนดอยหลวงเชียงดาวสำหรับเยาวชนและผู้สนใจ

“ผมเคยปะทะทั้งฝีปากและฝีมือกับผู้มีแนวคิดต่างกัน และสูญเสียความเชื่อมั่นกับงานอนุรักษ์ แต่ในฐานะที่ทำงานด้านอนุรักษ์มาตลอด ไม่สามารถละทิ้งการอนุรักษ์ได้ แม้จะไม่มีองค์กรสังกัด ไม่มีงบประมาณหลัก และแนวคิดในการอนุรักษ์ก็ไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ และคิดว่าเมล็ดพันธุ์ของงานนี้จะแผ่ขยายได้อีก แม้จะค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ”

วิ่งเพื่อ(ชัก)แม่น้ำทั้ง 5 เจตนาของคนต้นน้ำ

ออกก้าวจากต้นน้ำ

แม่น้ำมาจากภูเขา และหยดน้ำเล็กๆ ไหลรวมกันเป็นแม่น้ำสายใหญ่ หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตบนผืนแผ่นดิน แต่ปัจจุบันแม่น้ำสายต่างๆ กำลังอยู่ในสภาวะเสื่อมโทรม จากการกระหน่ำกอบโกยจากแม่น้ำอย่างขาดจิตสำนึกของคนบางกลุ่ม ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงสู่แม่น้ำ เท่ากับทำลายสายน้ำที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิต

ในปี 2558-2559 วิกฤตการณ์สภาพอากาศของภาคเหนือปกคลุมด้วยฝุ่นควัน แม่น้ำต้นน้ำปิงแห้งขอด ขณะที่แม่น้ำสายใหญ่ของประเทศอย่างแม่น้ำเจ้าพระยาก็ยังอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการถูกคุกคามอย่างไม่ลดละ เพราะปัจจุบันคนเมืองกรุงนั้นให้ความสำคัญกับแม่น้ำน้อยลง จนเหมือนแม่น้ำกับคนกรุงแทบไม่รู้จักกัน คนละเลยต่อสายน้ำ และมุ้งเน้นแต่จะหาประโยชน์ให้มากที่สุดโดยปราศจากความเข้าใจ

“จากความเป็นห่วงถึงวิกฤตของสายน้ำ ทำให้ผมหาทางปกป้องแม่น้ำที่เป็นดั่งสายเลือดของคนไทย แต่การจัดงานการระดมความคิดของผู้ที่ทำงานกับสายน้ำ เพื่อต้องการให้เสียงจากภาคประชาชนสะท้อนไปยังภาครัฐทำให้ผมคิดว่ามันใหญ่เกินกำลังของผม ผมเกิดความคิดว่าจะทำอย่างไรให้ผู้คนเข้าใจปัญหาของผืนป่าและสายน้ำ ซึ่งการวิ่งของผมในช่วงเดือน ธ.ค. 2559-มี.ค. 2560 มีแผนจะจัดกิจกรรมวิ่งเพื่อผืนป่าและสายน้ำ จากเชียงดาว-กรุงเทพฯ โดยวิ่งวันละ 20-30 กิโลเมตร เป็นเวลา 4 เดือน เดือนละ 10 กว่าวัน โดยหวังกระตุ้นให้คนตื่นตัว เอาจริงเอาจังกับการรักษาป่าและสายน้ำ จะได้ไม่เกิดภัยพิบัติซ้ำซากเพราะฝีมือมนุษย์อีก ซึ่งผมเองก็คงได้เรียนรู้จากการวิ่งของตัวเองครั้งนี้ด้วย” นิคม กล่าวก่อนจะเริ่มต้นออกวิ่งในเดือน ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา

วิ่งเพื่อ(ชัก)แม่น้ำทั้ง 5 เจตนาของคนต้นน้ำ

 

ในวัย 55 ปี เราไม่สงสัยเรื่องการเตรียมจิตเตรียมใจสำหรับการวิ่งครั้งนี้เลย หากแต่การเตรียมร่างกายของชายผู้มุ่งมั่นคนนี้เขาเตรียมตัวอย่างไร คำตอบที่จะได้รับน่าทึ่งไม่ต่างจากความคิดเขา นิคมวิ่งทุกวันใน อ.เชียงดาว เส้นทางเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งที่เขาสนใจว่าวันนี้อยากเห็นอะไร เขาเดินขึ้นดอยหลวงเชียงดาวที่ใครก็ว่าสุดหินทุกสัปดาห์ วิ่งลงมาพลิ้วไหวไม่ต่างจากสายน้ำ ข้อกังวลเรื่องร่างกายจึงไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป

งานวิ่งเพื่อป่าและสายน้ำเริ่มต้นขึ้นแล้ว ช่วงที่หนึ่งคือวันที่ 17-28 ธ.ค. 2559 และนิคมกลับมาวิ่งช่วงที่สอง ตั้งแต่วันที่ 7-18 ม.ค. 2560 ซึ่งเหตุผลของการแบ่งช่วงการวิ่งครั้งละ 10 วัน เหตุผลหนึ่งเพราะนี่เป็นการวิ่งรณรงค์ เป็นการวิ่งที่ไม่ท้าทายสถิติ แต่เป็นการวิ่งเพื่อสร้างการเรียนรู้ เขาจึงค่อยสร้างการรับรู้ไปทีละน้อย

“ทำอะไรต้องรู้กำลังตัวเอง (ยิ้ม) ผมจะออกวิ่งตอนเช้าและตอนเย็น พักระหว่างทาง วิ่งไปตามถนนที่อยู่ใกล้กับแม่น้ำเป็นหลัก ไม่ได้ศึกษาเส้นทางวิ่งที่แน่นอน แต่ผมวิ่งตามเส้นทางที่เคยเดินธรรมยาตราจากขุนเขาน้ำแม่ปิง สู่ที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา การเดินธรรมยาตรา เป็นการเดินแบบช้าๆ พิจารณาสิ่งใกล้ตัว ได้ระลึกถึงคุณค่าของสรรพสัตว์ และการดำรงอยู่ยังประโยชน์ต่อผู้อื่น เป็นการบ่มเพาะการอยู่กับตัวเอง บ่มเพาะความเมตตากรุณา สำหรับการวิ่งของผมเพื่อรณรงค์ บอกเล่าสถานการณ์ของต้นน้ำให้คนกลางน้ำและปลายน้ำฟัง เพื่อให้เกิดความร่วมมือกัน ปกป้องผืนป่าและรักษาสายน้ำ

วิ่งเพื่อ(ชัก)แม่น้ำทั้ง 5 เจตนาของคนต้นน้ำ

 

“ผมวิ่งแบบลูกทุ่ง ใช้รองเท้าที่คุ้นเคย วิ่งบนเส้นทางแห่งสายน้ำ แต่ละเส้นทางที่ผมไป พบเจออะไรจะถ่ายภาพไว้บันทึกความทรงจำ พูดคุยกับชาวบ้านหลายๆ เรื่อง ทำให้เราได้รู้ ได้เห็น ผมนำโปสต์การ์ดติดตัวมาด้วยเพื่อให้ผู้คนที่อาศัยย่านสายน้ำได้บอกกล่าวสถานการณ์ของพวกเขา และนำมาบอกกล่าวให้กับเพื่อนๆ ที่ติดตามบนเฟซบุ๊กทุกวัน ในแต่ละช่วงผมวิ่งช่วงละ 10 วัน จากนั้นก็พักกลับไปทำงานและกิจกรรมอื่นๆ ที่ค่ายเยาวชน จากนั้นก็จะกลับลงมาวิ่งต่อจากเส้นทางที่ค้างอยู่ ครั้งสุดท้ายผมจะนำโปสต์การ์ดที่รวบรวมทั้งหมดมาบอกกล่าวให้คนปลายทางคือกรุงเทพมหานครได้รับรู้ร่วมกัน”

เรื่องราวผ่านรายทาง

ทุกเรื่องเล่าของนิคมล้วนแฝงด้วยความหมายของการอนุรักษ์ ทุกคำบอกเล่าแฝงด้วยความห่วงใยธรรมชาติ เช่น ขณะที่วิ่งผ่านบ้านห้วยข้าวต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน “อ.ลี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นปะเกอกะเญอ ปะเกอกะเญอหลายหมู่บ้านถือมังสวิรัติ ด้วยศรัทธาและมีมานานแล้ว อาชีพทำไร่ข้าวโพดและสวนลำไย พื้นที่เป็นภูเขาสูง มีอุทยานแห่งชาติแม่ปิงและเป็นป่าต้นน้ำแม่ลี้ แม่หาด ไหลลงแม่ปิงเหนือเขื่อน วันนี้ตอนบ่ายพัก พอมีเวลาได้แจกเอกสารรณรงค์อนุรักษ์ผืนป่าและสายน้ำ และพูดคุยกับเด็กๆ”

วิ่งเพื่อ(ชัก)แม่น้ำทั้ง 5 เจตนาของคนต้นน้ำ

 

หรืออย่างเรื่องเล่าของ อ.ดอยเต่า “สงสัยว่า เมื่อก่อนคงมีเต่าเยอะ อาศัยอยู่ในป่า ในดอย เดี๋ยวนี้คงเหลือเพียงรูปปั้น อย่างที่เห็น แถวนี้มีสายน้ำแม่หาด 1 ใน 14 สายน้ำที่ไหลลงแม่ปิง ก่อนเข้าเขื่อนภูมิพล แต่ก็ดูแล้งๆ อาจจะเป็นเพราะเป็นป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณแล้ง มีต้นไม้ขนาดเล็ก และมีการสูบน้ำเข้าสวนลำไยกันมาก เพราะต้องมีผลผลิตนอกฤดู คิดๆ ไปก็สงสารชาวบ้าน อ.ดอยเต่า เดิมก่อนมีเขื่อน เคยอาศัยอยู่และทำไร่ ทำนา อยู่ตามที่ราบลุ่ม สองฝั่งน้ำแม่ปิงยังอุดมสมบูรณ์ หลังจากที่มีน้ำเขื่อนท่วมสูงขึ้นมา ชาวบ้านต้องอพยพ ย้ายถิ่นฐาน ไปอยู่บนภูเขาสูงที่แล้งๆ มีแต่ดินลูกรังและไม่ค่อยมีน้ำ คนที่ใช้น้ำใต้เขื่อนเขาจะรู้บ้างไหมหนอ ว่าคนที่นี่เขาเคยเสียสละ เพื่อให้คนอื่นๆ ได้มีน้ำ มีไฟ ไว้กินไว้ใช้มากว่า 50 ปีแล้ว

“ผมไม่ได้หวังว่าการออกวิ่งของผมครั้งนี้จะสำเร็จ ผมเป็นคนไม่ได้โด่งดังมีชื่อเสียงและเป้าหมายก็ไม่ได้เป็นตัวเงิน แต่ก็มีคนคอยให้กำลังใจ คอยไถ่ถามว่าต้องการความช่วยเหลืออะไร ผมได้รับคำแนะนำมากมาย เห็นความปรารถนาดีจากเพื่อนพี่น้อง บางครั้งเราอาจจะต้องมีความพยายามมากกว่าหนึ่งครั้งจึงจะสำเร็จ ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ทำครั้งแรกผู้คนคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงฉับพลัน แต่เชื่อว่าการใช้พลังจิตพลังใจในการขับเคลื่อนงานอนุรักษ์แทนการใช้พลังมวลชนเหมือนที่เคยทำมาจะเป็นอีกทางหนึ่งที่เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น” นิคม อธิบาย

วิ่งเพื่อ(ชัก)แม่น้ำทั้ง 5 เจตนาของคนต้นน้ำ

 

ผู้ชายชื่อนิคมกับการออกวิ่งสร้างคุณค่าและการรับรู้ทางสังคมอย่างเงียบๆ ในครั้งนี้ หวังถึงการขอให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาที่มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงของแหล่งน้ำ โดยเฉพาะคนในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำทั้ง 5 สาย (ปิง วัง ยม น่าน และเจ้าพระยา) ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สิ่งที่จะเติบโตไปหลังจากนี้อย่างแน่นอน คือ กระแสการเปลี่ยนแปลงเพื่อปกป้องและฟื้นฟูผืนป่าอย่างยั่งยืน เพื่อรักษาแหล่งน้ำและอากาศบริสุทธิ์