posttoday

นิติการณ์ ประกอบธรรม ‘ออมสกูล’ ความรู้แบ่งปันฟรี

07 มกราคม 2560

จากการเริ่มต้นสร้างและแบ่งปันวิดีโอความรู้ จำนวน 712 คลิป ในครั้งแรก และทยอยลงจนในปัจจุบันสามารถอัพโหลดวิดีโอ

โดย...พรเทพ เฮง ภาพ... กิจจา อภิชนรจเรข

จากการเริ่มต้นสร้างและแบ่งปันวิดีโอความรู้ จำนวน 712 คลิป ในครั้งแรก และทยอยลงจนในปัจจุบันสามารถอัพโหลดวิดีโอมากกว่า 1 หมื่นคลิป และมีจำนวนการเข้าดูมากกว่า 44 ล้านนาที หรือประมาณ 83 ปี

มีแต่คนที่มีความมุ่งมั่นสูงลิบเท่านั้นที่จะทำได้เช่นนี้ เพราะแม้แต่หน่วยงานภาครัฐหรือแม้กระทั่งโรงเรียนกวดวิชาต่างๆ ก็ไม่มีคลังข้อมูลความรู้ที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในวิชาต่างๆ มากมายขนาดนี้

ที่สำคัญที่สุดทุกอย่างแบ่งปันหรือแชร์แจกฟรีผ่านช่องทางยูทูบ เว็บไซต์รวมคลิปวิดีโอที่เป็นโซเชียลมีเดียยอดนิยมที่ทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่จำกัด

ออมความรู้ ออมวิชา ออมปัญญา ออมสกูล เป็นมอตโต้หรือคำนิยามตัวเองของ ออมสกูล (ormschool) กับความเชื่อมั่นและศรัทธาที่เขาให้คำนิยามว่า

“โลกนี้ไม่มีอะไรยาก เพียงแต่เราขาดคำอธิบายที่ทำให้เข้าใจง่าย”

นิติการณ์ ประกอบธรรม ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท WHO IS YOUR SISTER ซึ่งทำโครงการออมสกูล (ormschool) การเผยแพร่ความรู้ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เพื่อเตรียมตัวสอบเข้าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ความรู้ในระดับชั้นมัธยมศึกษาทั้งหมด และอุดมศึกษาบางส่วน ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ความมุ่งมั่นตรงนี้ของเขากำลังงอกงามขึ้นเรื่อยๆ

นิติการณ์ ประกอบธรรม ‘ออมสกูล’ ความรู้แบ่งปันฟรี

 

เจตจำนง

“แต่เดิมทีเราอยากได้ความรู้ก็ต้องไปซื้อความรู้ ต้องไปลงเรียนอะไรต่างๆ หรือลงทะเบียนกวดวิชา คือต้องเสียเงิน เราเห็นทั้งตัวเราเองแล้วก็น้องๆ ซึ่งบางคนไม่มีเงินซื้อ ก็เลยขาดโอกาส เป็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ในขณะที่เรียนห้องเดียวกัน นั่งที่ติดกัน คนหนึ่งซื้อความรู้ได้ เสาร์-อาทิตย์ไปเรียนได้ แต่อีกคนหนึ่งไม่มีโอกาส ก็รู้สึกว่าตรงนี้ไม่เท่ากัน” นิติการณ์เริ่มเท้าความถึงที่มาของออมสกูล

“ผมก็เลยตั้งคำถามมา 2 คำถาม คือหนึ่ง-ความรู้ดีๆ ให้ฟรีได้หรือเปล่า แล้วสอง-ความรู้ดีๆ ที่ฟรีเราจะส่งต่อไปให้คนที่ไม่มีโอกาสอย่างไร จึงเป็นที่มาที่ไปว่าทำไมจึงอยากช่วยน้องๆ ที่ไม่มีโอกาสได้รับความรู้ดีๆ ทั้งหมด เป็นประสบการณ์ตรงที่เราเติบโตมา เมื่อก่อนบ้านผมอยู่ใกล้ๆ กับสลัม เราก็เห็นเด็กสลัมมาตลอด จริงๆ แล้วเด็กสลัมนั้นฉลาดหัวดี เพราะเขาต้องเอาตัวรอด แต่สุดท้ายก็ไปไม่ได้เพราะที่บ้านไม่มีเงิน ไม่มีใครหยิบยื่นโอกาสให้ เขาก็เลยไปทำอย่างอื่น การได้รับการศึกษาไม่มีใครให้เขา พวกเขาก็เลยเข้าไปหาของราคาถูกที่พอจะซื้อได้ เข้าร้านเกมไปเล่นเน็ตไปเล่นเกมอยู่ในละแวกนั้น ในขณะที่บ้านคนมีตังค์สักหน่อยไม่ได้รวยมาก แต่พอส่งเรียนได้อย่างบ้านผมเป็นตึกแถวคนเชื้อสายจีน แทนที่จะไปเล่นเกม เสาร์-อาทิตย์ก็ไปซื้อความรู้ดีๆ ได้ ไปทำกิจกรรมในคอร์สการเรียนต่างๆ ได้ เราก็เห็นความแตกต่างอย่างนี้มากตลอดจนโต ซึ่งก็ได้ข้อคิดสองข้อคือ ความรู้ดีๆ ต้องสามารถให้ฟรีได้ และจะส่งต่อให้คนด้อยโอกาสอย่างไรแบบสะดวกๆ”

มันไม่ใช่เรื่องเงิน

“ผมหาเงินก้อนแรกด้วยการเอาหนังสือเก่าที่บ้านไปขายข้างรั้วจุฬาฯ เพื่อที่จะเอาเงินก้อนแรกมาซื้ออุปกรณ์ต่างๆ อย่างกล้องวิดีโอและสิ่งต่างๆ ด้วยงบเพียง 6,000 บาทแค่นั้น จนมีคลิปตัวแรกออกมา สนุกมากเป็นความทรงจำที่ดี เนื่องจากตอนนั้นเราเป็นเด็ก ไม่คิดถึงอนาคตเลย อยากจะทำเป้าหมายของเราให้สำเร็จเท่านั้น พอเวลาเราโตเราเริ่มคิดมาก มันก็ไม่สนุกแล้ว ตัดห่วงโน้นห่วงนี้ยึดหลักความสนุกเหมือนวันแรกที่เราเริ่มต้น ไม่คิดอะไรมาก ตั้งแต่ปี 2548 ที่เริ่มทำมา ถ้าคิดเรื่องเงินอย่างเดียวเราไปทำอาชีพอื่นดีกว่า ตรงนี้เรียกว่าเป็นความปรารถนาของผมดีกว่า มีความอยากตรงจุดนี้ คือไม่ต้องให้คนซื้อความรู้และไม่ต้องเดินทางไปข้างนอก ทุกวันนี้เด็กนักเรียนไม่มีเวลาพักผ่อน โดยเฉพาะทางบ้านที่ต้องเครียดกับเรื่องค่าใช้จ่าย ลูกขอเงินห้าพันไปเรียนพิเศษ แล้วต้องไปกินในร้านที่แพงๆ ด้วย ตรงจุดนี้เราก็ถามตัวเองว่าเมื่อไหร่จะเปลี่ยนกันได้เสียที เราก็เลยไม่มองเรื่องเงิน อยากจะแก้ตรงนี้ โดยส่วนตัวผมอยากเห็นมันเปลี่ยน วันหนึ่งถ้าผมมีลูก คนรุ่นต่อไปต้องมาลำบากอย่างผมเหรอ อยากเปลี่ยนตรงนี้

“11 ปีที่ผ่านมา ตอนเริ่มต้นที่เราทำโครงการนี้ อินเทอร์เน็ตยังไม่เร็วไม่แรง ยังไม่มีการโพสต์คลิปลงยูทูบ จะนำลงเว็บไซต์ก็ไม่เวิร์ก ในยุคนั้นเรารู้ดี ก็เลยมีการเปิดตึกขึ้นมาติว คล้ายๆ ทำเป็นรอบเหมือนโรงหนัง ทำเป็นตารางเวลาในแต่ละรอบแล้วก็ให้ตีตั๋ว 30 บาท เข้ามาเรียน คือทำแบบถูกๆ ด้วยข้อจำกัดทางเทคนิคและเทคโนโลยีทางออนไลน์ที่ยังมาไม่ถึง เน็ตยังไม่แรง แค่ส่งไฟล์เอ็มพี3 ก็ยังยากเลย ซึ่งต่อมาก็รองรับเด็กไม่ไหว เพราะมากันเยอะมาก ตอนนั้นเป็นตึกแถวอยู่ตรงวงเวียนใหญ่ ลาดหญ้าซอย 3 คงเป็นกิจการเพื่อสังคมหรือโซเชียล เอนเตอร์ไพรส์ ตั้งแต่เขายังไม่มีการบัญญัติศัพท์กันเลย เสาร์-อาทิตย์ เด็กมากันสามถึงสี่ร้อยคน รับไม่ไหวแล้ว มีห้องอยู่ 4 ห้อง อัดเข้าห้องละ 30 คน ได้แค่ 120 คนเท่านั้น ก็มาทบทวนว่าทำอย่างนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ 2 ข้อของเราคือ ฟรี และถึงทุกคน เพราะสุดท้ายตอนนั้นยังไม่ฟรี มีค่าเอกสารการเรียนและค่าสถานที่ 30 บาท

“ก็เลยเอาใหม่ โจทย์ที่จะไปได้ถึงเด็กที่ไกลที่สุดก็คือ ซีดี หาทางออกเพื่อให้กระจายได้มากที่สุด ก็นั่งไรต์ซีดีกันทั้งวันทั้งคืนเป็นร้อยๆ พันๆ ซึ่งก็ขายถูกแผ่นละ 30 บาท ช่วงซีดีทำอยู่ 3-4 ปี ตอนนั้นโดยหลักผมทำอยู่คนเดียวซึ่งหนักมาก สุดท้ายก็ไม่ใช่คำตอบของสิ่งที่เราตั้งไว้คือ ฟรีและทั่วถึง เพราะมีเด็กบางคนซื้อไม่ได้ ก็เลยพยายามหาสปอนเซอร์เข้ามาเพื่อที่จะได้แจกฟรี ตอนนั้นยังไม่มีคำว่ากิจการเพื่อสังคม ถ้าจะทำแบบแจกฟรีไม่เป็นบริษัทก็ต้องเป็นมูลนิธิ ซึ่งเราต้องเอากำไรมาสร้างคลิปความรู้ชิ้นต่อไปเรื่อยๆ เพียงแต่เราใส่หน้ากากเป็นบริษัท ซึ่งสิ่งที่ทำก็คือช่วยน้องๆ ในการส่งผ่านความรู้ไปให้ เพราะก่อนที่เราจะจดเป็นบริษัท เราไปวิ่งหาสปอนเซอร์มันไม่ได้ เพราะไม่มีตัวตน ก็เลยผลักดันให้เราทำโมเดลธุรกิจเพื่อหาสปอนเซอร์เอามาผลิตเป็นซีดีบรรจุคลิปความรู้เพื่อนำมาแจกให้น้องๆ”

โซเชียลมีเดียมาถูกจังหวะ

“การใช้ชื่อ ออมสกูล คำว่า ออม มาจาก สะสม ซึ่งเราเชื่อว่าจากประสบการณ์ของเรา ความรู้ไม่ได้เกิดจากการติวคืนสองคืนแล้วไปเอนฯ ติด แต่ต้องมีการสะสมมาเป็นปี จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือพอยูทูบเริ่มมา กำลังเข้าสู่ยุคโซเชียลมีเดีย ซึ่งตอนแรกๆ อัพโหลดได้แค่ 5 นาที ซึ่งเราก็พยายามตัดเป็นย่อยๆ หลายๆ คลิป ในปี 2549 เราเป็นที่แรกในประเทศไทยที่อัพโหลดคลิปความรู้ทั้ง 7 วิชาของ ม.ปลายขึ้นบนยูทูบทั้งหมด จริงๆ แล้วคลิปความรู้ของเราเป็นคนละตลาดกับพวกกวดวิชาหรือติว เพราะเด็กที่มาดูคลิปของเราเป็นส่วนเหลือหรือส่วนเกินที่ไม่มีโอกาสเข้าไปเรียนหรือกวดวิชาของโรงเรียนเหล่านั้น เด็กบางคนก็ไม่ชอบเรียนผ่านหน้าจอ ชอบเรียนหน้าจอ มีเงินจ่าย ก็เป็นคนละตลาดกัน แต่ผมคิดว่าเอาเข้าจริงการกวดวิชาในแต่ละวันก็เอาไปลงได้ไม่ครบหรอก อยากจะเรียนล่วงหน้าก็เรียนไม่ได้ต้องรอวันเวลา ซึ่งทำให้คนที่ไม่อยากรอก็มาเรียนทางยูทูบและออนไลน์

“ตอนนี้จะเข้าปีที่ 12 เด็กที่เป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการหรือ Subscribe ก็มี 1.11 แสนกว่ารายเข้าไปแล้ว แต่ก่อนหน้านี้ที่เราไม่ได้เก็บสถิติก็มีเยอะเหมือนกัน ถ้ามองในเรื่องของการเป็นชั้นเรียน เรามีคนเรียนเป็นหลักแสนคนถือว่าใหญ่มาก ซึ่งแตกต่างจากคลิปบันเทิงที่ดูผ่านไปแล้วผ่านไปเลย คลิปการเรียนจะต้องตั้งใจดู มีสมาธิรู้ว่าเรียนอะไร เมื่อโลกเปลี่ยน โอกาสการทำงานเพื่อสังคมก็เติบโตขึ้นมา เมื่ออินเทอร์เน็ตหรือออนไลน์เข้ามาคนอยู่ที่ไหนก็เรียนได้ ปัจจุบันการเรียนของนักเรียนนั้นเปลี่ยนไป เมื่อก่อนรอเรียนแต่ในห้องเรียน ต้องรอครูมาสอน ต้องรอวันเวลานั้น ยุคนี้คนเรียนล่วงหน้าได้ ตอนนี้คนเรียน ม.3 แต่มาเรียนล่วงหน้าผ่านคลิปในยูทูบของ ม.4 จนจบได้ ซึ่งเกิดขึ้นจริงแล้วของออมสกูลนี่แหละ หรือการทบทวนบทเรียนย้อนหลังก็ได้ มีดาราวัยรุ่นหลายคนก็เรียนของออมสกูล”

นิติการณ์ ประกอบธรรม ‘ออมสกูล’ ความรู้แบ่งปันฟรี

 

มองการศึกษาไทย

“คู่แข่งเราก็ไม่มี เพราะเราอยากจะเรียกให้เข้ามาด้วยซ้ำว่ามาช่วยกันทำเยอะๆ นักเรียนก็ได้ประโยชน์ ถ้าพูดถึงตลาดการศึกษายิ่งอยากให้มีคู่แข่งเยอะๆ จะได้มาช่วยพัฒนาให้มันดีขึ้น แต่ต้องฟรี จริงๆ แล้วเราก็ไม่กล้าพูดหรือวิจารณ์การศึกษาไทยว่าประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว แต่ว่าที่ผ่านมาระบบการศึกษาเปลี่ยนตลอด แต่ที่เราสามารถช่วยได้คือนักเรียนสามารถเข้าหาความรู้ที่ดีที่สุดได้ คือไม่จำเป็นต้องยึดติดกับครูในโรงเรียนเท่านั้น ซึ่งตรงนี้ก็ไม่ได้มองว่าครูในโรงเรียนมาตรฐานไม่ดีหรือไม่ถึง เมื่อมีความรู้ในอินเทอร์เน็ตหรือยูทูบ ซึ่งครูมีตัวเปรียบเทียบ ตรงนี้จะช่วยให้มาตรฐานครูต้องดีมากกว่าคลิปที่สอนทางยูทูบ จุดนี้ควรจะเปลี่ยน แล้วมีการต่อยอดความรู้จากในยูทูบกันในห้องเรียนเลย น่าจะเป็นคลิปของเราที่ทำให้โรงเรียนทั่วประเทศเกิดเหตุการณ์แบบนี้

“คลิปความรู้ของเราช่วยพลิกชีวิตคนหรือชีวิตเด็กท้ายห้องให้เก่งขึ้นมาได้ สามารถอัพมาตรฐานตัวเองขึ้นไปด้วยความรู้ที่เรียนด้วยตัวเองผ่านคลิปแล้วเอามาต่อยอดในห้องเรียน เด็กสามารถพลิกชีวิตตัวเองในการเรียนได้ด้วย ไม่ใช่เด็กได้ที่ 1 ของประเทศ ดูคลิปออมสกูลเท่านั้น แต่อยากให้เด็กท้ายห้องประสบความสำเร็จในการเรียนและการสอนด้วย

“เรายินดีนะถ้ามีคนที่มีความรู้เข้ามาช่วยพัฒนาต่อยอดระบบของเรา ตรงไหนที่ไม่เต็มก็ให้มาช่วยเติม จริงๆ เราก็เข้าใจคนไทยอยู่แล้ว จริงๆ แนวคิดนี้มีมาเป็น 20 ปีแล้ว ซึ่งทุกคนก็รู้ว่าดี การให้ความรู้ฟรี แต่ไม่มีคนทำ ตอนผมเริ่มทำก็ไม่มีการคิดมากเลย เพราะผมอยากทำอยู่แล้ว เรียนจบก็ทำเลย ทางบ้านก็สนับสนุนและเข้าใจ รู้ว่าการให้ความรู้ฟรีว่ามีคุณค่าต่อสังคมแค่ไหน

“พอพูดถึงการศึกษาในเมืองไทย งบประมาณส่วนใหญ่ในแต่ละปีจะลงไปที่ตึกและเรื่องอื่นๆ มากกว่าที่จะเป็นความรู้ที่เป็นเนื้อหา รูปแบบการเรียนการสอนก็ไม่เคยเปลี่ยนต้องรอให้นักเรียนเดินมาในห้องมารับความรู้ ทั้งที่ส่งไปได้แล้วในทุกทาง อยากให้ลงไปในส่วนที่สำคัญที่สุดของสาระการศึกษา นั่นคือความรู้ โลกเปลี่ยนไปหมดแล้ว”

ยุคแห่งการแชร์หรือแบ่งปัน

“เรามาชนเวลากับยุคสมัยพอดี เพราะเมื่อ 11 ปีที่แล้วเรามองไม่เห็นข้างหน้าหรอกว่าจะมีปุ่มไลค์ ปุ่มแชร์ การใช้พรีเซนเตอร์สาวสวยต้องขอบคุณแทนน้องเขา เพราะมาด้วยจิตอาสาเป็นทีมงานพี่ติวที่สอนอยู่นี่แหละ ซึ่งเราก็ไม่มีเงินไปจ้างคนสวยๆ หรอก ไม่ได้มีหลักการตลาดอะไรหรอก แต่การดึงเด็กนักเรียนเข้ามาดูคลิปคงไม่ใช่คนสวยๆ เพราะในคลิปของเราแทบจะไม่เห็นคนสอน เห็นแต่กระดาษกับปากกา เราไม่ขายหน้า ไม่โชว์ว่าคนนั้นเคยได้ที่ 1 คณะนั้นคณะนี้มาเป็นคนสอน เราอยากให้คนยึดติดกับความรู้เท่านั้น ไม่ใช้หลักการตลาดว่า คนนี้เก่งนะมาเรียนกับฉันเถอะ อยากให้คนติดที่ความรู้เป็นหลัก ค้นพบความจริงว่าความรู้ไม่ได้มาจากใครคนไหนที่มีชื่อเสียงหรือประสบความสำเร็จหรอก แต่มาจากใครก็ได้ที่รู้จริงมาแบ่งปันกัน

“สำหรับอนาคตที่วางไว้ ตอนนี้ทั้งหมดที่อัพโหลดลงไปมีหมื่นกว่าคลิปแล้ว ความรู้ทั้งโลกทั้งหมดที่ควรจะสร้างมีทั้งหมดล้านคลิป เป็นล้านรายชื่อความรู้ในรายการ เราก็จะทำไปให้ถึง เพราะตอนนี้เราทำมาถึงความรู้ในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว อย่างเช่นเคมีสำหรับนิสิตแพทย์ เราก็สอนแล้ว ซึ่งตอนนี้คนที่สอบติดแพทย์มาสอน อย่างกลุ่มนี้ก็มีพันสองพันคน ซึ่งก็สะท้อนว่าเราไม่ได้ต้องการปริมาณ เพียง 1 วิวแต่ช่วยชีวิตใครได้สักคน มันมีค่ามากกว่า เป็นคุณค่าที่คนจะได้รับ ทุกวันนี้ ยูทูบเปิดตัวเอดเซนส์ เราก็ได้เงินจากยอดวิวเข้ามาด้วย แต่ไม่เยอะ เงินได้เยอะไปไม่มีประโยชน์หรอกมาช่วยเหลือเพื่อการศึกษาดีกว่า ของเราทุกอย่างเป็นฟรีและไปให้ถึงทุกคนได้ เป็นออนไลน์เข้าถึงทุกคนได้

 “ความรู้ที่ดีๆ นักเรียนจะได้รับ ซึ่งนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งไม่ใช่ความรู้สาขาเดียว ไม่ใช่ใช้ในการสอบเท่านั้น ความเศร้าใจที่สุดของชีวิตก็คือความไม่รู้ เราจะไม่ปล่อยให้คนอยู่ด้วยความไม่รู้ จะไม่ให้คนดูถูกตัวเองว่าไม่รู้หรือโง่ต่อไป เราไม่ฉลาดจะไม่มีคำนี้อีกต่อไป โลกนี้ไม่มีใครโง่ มีแต่คนไม่รู้เพราะขาดโอกาส ตรงนี้เราจะมาช่วยตอบ

“ออมสกูล เป็นพี่สอนน้อง ใช้คำพูดอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ น่าจะมีการตั้งกระทรวงความรู้ขึ้นมา ระดมนักวิชาการสายคอนเทนต์มารวมไว้ที่เดียวกัน ผมมีความสุขนะที่ได้รับโทรศัพท์จากผู้ปกครองหรือครูที่โทรมา หรือแม้กระทั่งนักเรียนที่สอบติดตามที่ต่างๆ ทำให้ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ทำมาเราไม่เหนื่อยเลย เรามีความสุข จะทำต่อไปเรื่อยๆ การศึกษาความรู้ฟรีเป็นสิ่งที่มีค่า น้องที่ไปผูกคอตายเพราะไม่มีเงินกวดวิชา หรือบางคนต้องเล่นไวโอลินแลกเงิน บางคนต้องช่วยที่บ้านทำงาน ไม่มีเงิน ถึงจุดเปลี่ยนได้แล้ว ถ้าพวกเรารวมพลังกัน ไม่ต้องรอภาครัฐ โดยภาคประชาสังคมของเราสามารถรวมพลังกันได้”

ออกดอกงอกผล

“ผมจบนิติศาสตร์ จุฬาฯ มา ตรงนี้เป็นความสนใจส่วนตัวอีกด้านหนึ่ง ทำเป็นอาชีพแบบเต็มเวลา ถือว่าผมเป็นคนที่โชคดีคนหนึ่งที่มีเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ผมอยู่ได้และอยู่รอดในเชิงธุรกิจ อย่างเช่นมีสปอนเซอร์ใจดี อยู่ดีๆ ก็เข้ามาหาเราเอง เป็นแบรนด์ใหญ่ระดับประเทศ เราอยู่บนอินเทอร์เน็ตแล้วเขาเห็นอุดมการณ์ของเราที่ทำเพื่อนักเรียนอย่างแท้จริง เขาก็ยินดีช่วย แสดงให้เห็นว่าทำไปเรื่อยๆ ให้แน่วแน่มั่นคงถึงวันหนึ่งก็จะมีคนเห็นเอง เราก็ไม่ต้องเดือดร้อนในการต้องวิ่งหาค่าใช้จ่ายต่างๆ ทำงานง่ายขึ้น แล้วเขาก็อยู่กับเรามาเรื่อยๆ และมีหลายเจ้าเข้ามาสนับสนุน ตอนนี้เราอยู่ได้อย่างไม่ต้องกังวลพร้อมที่จะต่อยอดต่อไป

“ล่าสุด ที่เราลงคลิปไปในยูทูบ นับจำนวนก็หมื่นกว่าคลิปแล้ว เราลองนับเล่นๆ ดูกับเพื่อนๆ ซึ่งเป็นทีมงานรุ่นน้อง ถ้าเป็นผู้สอนก็มีประมาณ 40-50 คน ส่วนมากเป็นจิตอาสาที่อยากช่วยแบ่งปันความรู้ เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องที่รู้จักกันและมาจากหลายที่ รวมทั้งน้องๆ ที่ดูคลิปแล้วสอบเข้าเรียนได้ประสบความสำเร็จในชีวิตก็มาช่วยทำคลิปในจุดนี้ ตรงนี้เกินความคาดฝันของเราว่าจะเกิดปรากฏการณ์เหล่านี้ เพราะตอนเริ่มต้นเราไม่รู้หรอกว่าจะมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ซึ่งทำให้เรารู้ว่าคนส่วนใหญ่อยากช่วยรุ่นน้องอยากช่วยนักเรียน แต่ไม่มีเวทีหรือช่องทางเป็นศูนย์กลางที่จะมาช่วยกัน บางคนได้เป็นหมอเป็นวิศวะแล้วจะกลับมาทำคลิปสอนน้องอย่างไรล่ะ

“อย่างที่เราพูดเสมอเป็นสโลแกนของออมสกูลว่า ‘โลกนี้ไม่มีอะไรยาก เพียงแต่เราขาดคำอธิบายที่ทำให้เข้าใจง่าย’ เราทำคลิปความรู้มานานเรารู้ว่าคนที่เขาเก่ง ซึ่งเขาหัวดีนะ ไม่มีใครรู้เองหรอก มีเบื้องหลังที่มาทั้งนั้น มีทั้งพ่อ แม่ พี่ มาช่วยติว แต่สำหรับบางคนไม่มีใครมาบอกเลย เพราะที่บ้านมัวแต่ยุ่งอยู่กับการทำมาหากิน จับทางไม่ถูกยิ่งเรียนยิ่งงง ต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นความรู้ที่เรานำมาแบ่งปันเพื่อเป็นต้นทุนให้กับทุกคนเกิดความเท่าเทียมในการเข้าถึงความรู้จากการเรียน ที่บอกว่าเรียนยากความจริงไม่ยากหรอก

“ความฝันที่อยากเห็นว่า ความรู้ฟรีไม่ใช่ความฝันต่อไปอีกแล้ว 11-12 ปี ที่ออมสกูลทำมา สะท้อนให้เห็นว่ากำแพงที่ขวางกั้นความรู้ของคน โดยเฉพาะเรื่องเงิน ได้ถูกทำลายลงไปทีละเล็กทีละน้อยแล้ว ความรู้ฟรีที่แบ่งปันกันเกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่ว่ารอการเติบโตเติมเต็มให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ”