posttoday

ชีวิตใหม่กับความสุขติดดิน

08 ธันวาคม 2559

บนพื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ ณ นิคมเศรษฐกิจพอเพียงอำเภอวังน้ำเขียว หลายร้อยชีวิตจากสารทิศทั่วไทยได้มีชีวิตใหม่ งอกเงย เติบโต

โดย...มัลลิกา

บนพื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ ณ นิคมเศรษฐกิจพอเพียงอำเภอวังน้ำเขียว หลายร้อยชีวิตจากสารทิศทั่วไทยได้มีชีวิตใหม่ งอกเงย เติบโต ฝังรากอย่างยั่งยืนบนผืนแผ่นดินนี้ เรียกว่าบางคน พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพื่อดำเนินชีวิตตามศาสตร์พระราชา กินอยู่อย่างพอเพียง และเลือกดำรงชีพด้วยการเป็น “เกษตรกรรุ่นใหม่”

เกษตรกรรุ่นใหม่ ไม่ได้หมายถึงเกษตรกรวัยรุ่น อายุน้อยหน้าใส แต่หมายรวมถึงคนที่ไม่เคยทำการเกษตรมาก่อน หรือคนที่ทำการเกษตรแบบเดิมๆ ยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้ ยิ่งทำยิ่งยากจน ต้องขายไร่ขายนาไปขายแรงงานยังนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ จะเรียกว่าเกษตรกรรุ่นใหม่ ณ นิคมเศรษฐกิจพอเพียงฯ เป็นการดึงแรงงานคืนถิ่นก็ว่าได้ ทว่าผลของมันก็กว้างกว่านั้น เพราะคนไทยที่ไร้ที่ทำกินแต่ต้องการจะปลูกรากสร้างฐานให้ชีวิตอีกครั้งได้มาปักหลักที่นี่ นับเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างบูรณาการ

กินทุกอย่างที่ปลูกปลูกทุกอย่างที่กิน

นิคมเศรษฐกิจพอเพียงอำเภอวังน้ำเขียว มีพื้นที่ 3,798 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขาภูหลวง (โซนอี) กรมป่าไม้มอบให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) นำมาดำเนินการปฏิรูปที่ดิน จัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกร ภายใต้แผนแก้ไขปัญหาความยากจนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในพื้นที่ประมาณ 3,000 กว่าไร่ คัดเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน ให้เข้ามาทำประโยชน์ในที่ดิน ได้รับสิทธิครอบครัวละ 2 ไร่ 2 งาน

ปัจจุบันมีอยู่ราว 300 หลังคาเรือน เริ่มทยอยกันเข้ามาตั้งแต่ปี 2549 มีผู้คนหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเคยเป็นสถาปนิก ช่างไฟฟ้า คนขับรถรับจ้าง พ่อค้าแม่ขาย หนุ่มสาวโรงงาน นิสิตนักศึกษาจบใหม่ อายุตั้งแต่ 25-60 ปี บางคนไม่มีวุฒิการศึกษา บางคนก็ร่ำเรียนจนสำเร็จระดับปริญญาตรี 2 ใบก็มีมา มีภูมิลำเนาเดิม เหนือ ออก ตก ใต้ อีสาน ก็มารวมกันที่วังน้ำเขียว แต่ทุกคนต้องเป็นผู้ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินมาก่อน

ชีวิตใหม่กับความสุขติดดิน

 

พื้นที่แห่งนี้จึงเปรียบเสมือน “บ้านหลังใหม่” ที่จะให้ “ชีวิตใหม่” แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะมีหลายคนที่หอบผ้าหม้อไหกะละมังเข้ามา แต่ทนแดดทนฝนทนร้อนทนหนาว ไม่ยอมสู้ขุดดิน ถากหญ้า แผ้วทางที่ดินทำกินของตัวเองให้สำเร็จได้ ทนรับปรับสภาพอยู่ท่ามกลางป่าเขา ไร้แสงสีเสียง และไร้ความสะดวกสบายอย่างในตัวเมือง ในที่สุดก็ล่าถอยกลับไปประกอบอาชีพเดิมๆ หาหนทางอื่นดำรงชีวิตต่อไป นั่นเพราะ “เกษตรกร” ไม่ได้เหมาะกับทุกคน ทุกคนไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นเกษตรกร เห็นเขาทำดูเหมือนง่าย แต่ที่ยากกว่าการลงมือนั้นก็คือ “ใจ” ที่อดที่ทน มีความมุ่งมั่น และเข้าใจวิถีของความพอเพียง จึงจะสามารถอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ได้อย่างเปี่ยมสุข ซึ่งในที่สุดพื้นที่แห่งนี้ก็ได้คัดคนที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมแล้วล่ะ

ชัยชนะ สืบสิงห์ เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่รุ่นแรก (นับเป็นรุ่นทดลอง ปัจจุบันมี 12 รุ่น) ที่ผ่านการอบรมแล้วมาลงหลักปักฐานที่นี่เมื่อปี 2553 ตอนนั้นในพื้นที่มีอยู่แล้วประมาณ 150 ครัวเรือน ปัจจุบันอายุ 49 ปี พื้นเพเดิม จ.บุรีรัมย์ แต่ก็ย้ายที่อยู่ตามการงานไปเรื่อย เคยผ่านงานมาหลายอย่าง ทั้งขับรถแท็กซี่ ค้าขาย เป็นวินมอเตอร์ไซค์ ทำงานโรงงาน แต่มีหนึ่งงานคือการเกษตร ที่ไม่เคยเฉียดใกล้เลย

“ผมลาออกจากงานไปลงทะเบียนเป็นบุคคลว่างงาน ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดกาฬสินธุ์ แล้วได้รับการติดต่อให้มาฟังโครงการเกษตรกรรุ่นใหม่ เขาให้มาปฐมนิเทศ มีที่ดินให้ฟรี ซึ่งเป็นจุดที่เราต้องการ เพราะไม่เคยมีที่ดินของตัวเอง ผมไม่มีความรู้เรื่องการทำเกษตรเลย มีการฝึกอบรม 3 เดือน ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา อบรมเรื่องการทำเกษตร ทั้งทฤษฎี ปฏิบัติ พืชสวน เลี้ยงสัตว์ การประมง มีอบรมคอมพิวเตอร์ด้วย การทำบัญชีครัวเรือน มีบ้านพัก อาหารฟรี ทางภาครัฐสนับสนุนเราเต็มที่ ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

หลังจากอบรมเสร็จ ให้เราเลือกพื้นที่ตรงไหนของไทย มีหลายจังหวัด เชียงใหม่ ฉะเชิงเทรา ระยอง หนองคาย นครพนม ชุมพร โคราช ผมก็ตัดสินใจเลือกวังน้ำเขียว เพราะอยู่อีสาน ใกล้บ้าน แล้วใกล้กรุงเทพฯ พออบรมจบ เราต้องทดสอบอยู่ในพื้นที่ก่อน 2 ปี ถ้าเขาเห็นว่าเราอยู่ได้ทำได้ จะออกเอกสารสิทธิใบ ส.ป.ก.4-01 เป็นชื่อเรามีสิทธิทำประโยชน์ ช่วงทดลอง 2 ปี ทำมาก็เกิดใจรักชอบ ประกอบกับเพื่อนที่อบรมด้วยกันหลอมเป็นหนึ่งเดียวกัน มีใจแนวคิดเดียวกัน ร่วมมือกันมาอยู่นิคมฯ มา 40 คน ทุกวันนี้เหลืออยู่ 30 กว่าคน

ชีวิตใหม่กับความสุขติดดิน

 

ตอนที่เขาชี้ว่านี่คือแปลงของคุณนะ 2 ไร่ 2 งาน ดีใจมาก ในที่สุดเราก็มีพื้นที่ทำกินของตัวเอง ตอนนั้นบอกกับตัวเอง เราต้องรักษาให้ได้ ทาง ส.ป.ก.ให้เงินเดือนละ 3,000 บาทอยู่ 4 เดือน และให้เงินก้อนอีก 1 หมื่นบาท สำหรับซื้ออุปกรณ์ เขากลัวเราจะอยู่ไม่ได้ ตอนนั้นไม่มีอะไรเลยเป็นพื้นที่ลาดชัน มีหญ้ารก ยากลำบากในการเกษตรพอสมควร ก็ค่อยๆ ปลูกพืชผสมผสาน ปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงไก่ ปลา วัว แรกๆ ไม่ได้ทำอะไรมาก ปลูกทุกอย่างที่เราต้องกิน ยังไม่ได้ขาย เพราะเราต้องปรับพื้นที่ พอมีผลผลิตมากขึ้นก็เอาไปแบ่งปันเพื่อนบ้าน เขาก็มีสิ่งอื่นแบ่งปันคืนมา แรกๆ ไม่ได้มีรายจ่ายอะไรมาก เพราะก่อนลงมาอยู่นี่เราได้คำนึงถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ทำให้พอเพียง”

ชัยชนะ ยังเป็นประธานกลุ่มอนุรักษ์นิคมเศรษฐกิจพอพียงฯ ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ทำทุกอย่างเพื่อให้ป่าเพิ่มขึ้น ซึ่งมองย้อนกลับไปยังวันแรกที่เขามาอยู่ ถึงวันนี้ก็ 7 ปี เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นมาก

“ก่อนหน้านี้ไฟไหม้ป่าตลอด กลุ่มนี้ก็ตั้งมาปี 2553 นอกจากเราอยู่อาศัยหากิน เราควรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย มีกิจกรรมทุกปีไม่ขาด พอเข้าหน้าฝนปลูกป่า เข้าหน้าหนาวทำแนวกันไฟ ช่วงหน้าแล้งทำฝายชะลอน้ำ”

ตอนแรกมาอยู่ ชัยชนะ มีมอเตอร์ไซค์เก่า 1 คัน ถึงตอนนี้มีรถยนต์ และมอเตอร์ไซค์ใหม่อีก 1 คัน เพื่อใช้อำนวยความสะดวกในการขนส่งผลผลิต และสินทรัพย์นี้ทำให้เห็นว่าทำการเกษตรรู้จักเก็บหอมรอมริบก็สามารถมีเงินซื้อรถยนต์ไว้ใช้งานได้เหมือนกัน รายได้เฉลี่ย 1.5 หมื่นบาท/เดือน ชัยชนะ บอกว่า เป็นจำนวนเงินไม่มากหากเทียบกับเงินเดือนที่เคยได้รับ แต่การใช้ชีวิต ณ ตรงนี้ รายจ่ายนั้นต่ำ สิ่งของที่ซื้อก็พวกข้าวสาร เครื่องปรุงรส เครื่องดื่ม เพราะผัก ไก่ ไข่ เนื้อ ปลา ภายในเขตรั้วบ้านมีหมด หรือขาดเหลือชนิดใดก็เอาไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้าน

ชีวิตใหม่กับความสุขติดดิน

 

“เราทำการเกษตรในพื้นที่ไม่กี่ไร่ ขณะที่ชาวบ้านละแวกใกล้ๆ ทำไร่กัน 50 100 ไร่ เราทำในพื้นที่ขนาดเล็ก ตอนแรกไม่แน่ใจหรอกว่าจะเลี้ยงชีพเราได้ ยอมรับว่ามีท้อ การเกษตรเหนื่อยเราไม่เคย รายได้ไม่ได้มากอย่างที่คิด ทำงานโรงงานไม่ต้องคิด ตื่นเช้าไปทำในสิ่งที่เคยทำ สิ้นเดือนรับเงิน แต่ทำเกษตร ทำไงเราจะอยู่รอด ต้องวางแผน ต้องอดทน รักผืนดิน และนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง พออยู่ พอกิน พอประมาณ มาสร้างภูมิต้านทานให้กับครอบครัว เมื่อก่อนผมใช้เงินเดือนชนเดือน บ้านเช่า ข้าวซื้อ น้ำไฟทุกอย่างต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่ตอนนี้อยากกินอะไรก็ปลูกก็เลี้ยงเองปลอดภัยด้วย”

ณรงค์ศักดิ์ บุญวัฒน์ อายุ 50 ปี ชาว จ.พระนครศรีอยุธยา รองประธานชุมชนนิคมเศรษฐกิจพอเพียงฯ และประธานกลุ่มพืชสมุนไพร เพิ่งมาอยู่ได้ 2 ปี ก่อนหน้านี้เป็นช่างเชื่อมในโรงงานเงินเดือน 3 หมื่นบาท แต่กว่าที่เขาจะมาอยู่ที่นี่ได้ก็ผ่านอุปสรรคนานัปการ เริ่มอบรมเกษตรกรรุ่นใหม่รุ่นแรก แต่จบรุ่น 3 เพราะตระเวนไปดูงานตามพื้นที่ ส.ป.ก.จังหวัดอื่นๆ เช่น นครสวรรค์ ลพบุรี เพชรบูรณ์ แถมตอนให้ลงพื้นที่ก็เลือกพื้นที่ต้นน้ำ ในทำเลที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง แล้วแทนที่จะทำการเกษตร ก็ขอเวลาไปอบรมหาความรู้ต่อเกี่ยวกับการทำไฟฟ้าโซลาร์เซลล์

“ทำงานมาจุดหนึ่งผมรู้สึกอยากกลับมาอยู่กับธรรมชาติ อยากอยู่ป่า ผมอยู่ต้นน้ำกักเก็บน้ำได้ปีละครั้ง น้ำหมดก็ทำฝาย ไฟไม่มีก็ไปเรียนทำไฟ ไปเรียนเอาความรู้มาใช้ในพื้นที่ แล้วก็ไปช่วยติดให้บ้านอื่นด้วย ผมเลยไม่ต้องเสียค่าไฟ ในพื้นที่ก็ปลูกพืชผสมผสานไว้กินเอง และเพิ่งเริ่มจับกลุ่มปลูกพืชสมุนไพร เช่น ใบมะรุม ขมิ้นชัน ไพล อัญชัน ผมชอบทางนี้ ไม่ถนัดปลูกผักสลัดมันดูแลยาก ผมชอบเอาเวลาไปปลูกต้นไม้ ดูแลฝาย ดูแลป่าต้นน้ำ เรื่องรายได้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะแทบไม่มีรายจ่าย”

ผู้จัดการความสุขของตัวเอง

ว่างเว้นฝนไปหลายสัปดาห์แล้ว ในเดือนสุดท้ายของปีควรจะย่างเข้าฤดูหนาว ได้สัมผัสไอเย็นแล้ว แต่ในยามสายที่ตะวันค่อยๆ เคลื่อนมาตรงดิ่งกับศีรษะก็ยังแผดไอร้อนออกมา หากในแปลงผักที่มีสีเขียวชูช่อขึ้นสูงเพียงดิน ชาวสวนทั้งชายหญิงต่างกำลังก้มหน้ากันตัดผัก หยิบกำจัดตัวหนอน ถอนหญ้าที่แซมขึ้นกลางดงผัก ฯลฯ ความร้อนคงไม่ระคายผิวเท่าไหร่ เพราะอุปกรณ์กันแดดเพียบพร้อมทั้งเสื้อกางเกงปิดผิวมิดชิด หมวกปีกกว้างกันแสงแดด นี่แหละเครื่องแบบของเกษตรกร

ชีวิตใหม่กับความสุขติดดิน

ยุวลี ถาริวงศ์ อายุ 43 ปี ชาว จ.หนองบัวลำภู ผู้หญิงที่มาใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรเพียงลำพัง เธอก้าวข้ามความกลัว สู้ทนความลำบาก จนสามารถมีสิทธิครอบครองพื้นที่ทำมาหากินเป็นของตัวเองได้ และได้พบรักกับเจ้าของแปลงผักใกล้เคียงที่เบนเข็มทิศชีวิตมาเป็นเกษตรกรเช่นกัน งานนี้เรียกว่าเรือล่มในหนอง ครอบครัวของเธอจึงมีที่ดินทำกิน 2 แปลง

“มาอยู่ตั้งแต่ปี 2553 เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ รุ่น 4 ตอนแรกกลัวเหมือนกันเพราะเงียบ แล้วคนก็น้อย แต่ไม่เคยมีเหตุการณ์อะไรน่ากลัวเลย ก่อนมาทำงานโรงทอ เป็นหัวหน้าคุมพนักงาน เงินเดือน 1.5 หมื่นบาท ทำงาน 12 ชั่วโมง ตื่นเช้า เข้างาน 7 โมง เลิก 5 โมง ทำโอทีบังคับต่ออีก ทำเดิมๆ ทุกๆ วัน ก็เลยคิดว่าเราอยากทำอะไรก็ได้ที่เราสามารถเป็นผู้จัดการตัวเองได้ เลยนึกถึงการเกษตร เพราะที่บ้านหมดหน้านาก็ปลูกผัก ปลูกแตงกวาขาย แม่ก็ให้เราปลูกเอง ดูแล ขายเอง ก็เลยคิดลาออกมาทำตรงนี้ ในแปลงปลูกเบบี้แครอต ผักสลัดหลายชนิด เบบี้คอส ผักกาดแก้ว ผักกาดหอมใบแดง ชิโครี เรดโอ๊ก กรีนโอ๊ก”

ในพื้นที่บ้านของยุวลี นอกจากปลูกผักสวนครัวแล้ว ยังมีเลี้ยงแพะ ไก่ เป็ด ปลาดุก และมีแปลงผักสลัดสำหรับขาย นอกจากนี้ยังมีแปลงรวม คือพื้นที่รวม เช่น 22 ไร่ หารพื้นที่กับเพื่อนบ้านที่ต้องการพื้นที่ปลูกผักเพิ่ม เพราะความต้องการของตลาดมีมากและตัวเองมีกำลังทำไหว ในแปลงรวมนี้ ยุวลีก็ได้พื้นที่ 3 งาน ซึ่งเธอจะลงแปลงสลับกันในทุกๆ แปลง เพื่อที่จะได้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผักสลัดใช้เวลา 45 วัน ตั้งแต่เพาะเมล็ด เบบี้แครอตใช้เวลานาน 2 เดือน ปัจจุบันมีลูกค้าประจำมารับที่หน้าแปลงผักถึง 5 ราย เฉลี่ยราคาอยู่ที่ 65-80 บาท ทำให้เธอมีรายได้ประมาณ 2,000-3,000 บาท/สัปดาห์

ผักสลัดของนิคมเศรษฐกิจพอเพียงฯ เป็นที่ต้องการของตลาด เพราะได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรให้เป็นผักออร์แกนิก ไม่ใช้สารเคมีในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต พื้นที่เพาะปลูกก็อยู่ห่างไกลจากโรงงานอุตสาหกรรม ที่สำคัญพืชผักในนิคมฯ นี้ได้มาตรฐานไอโฟม (IFOAM : International Federation of Organic Agriculture Movements) ซึ่งสามารถจำหน่ายยังต่างประเทศได้

ชีวิตใหม่กับความสุขติดดิน

 

“ก่อนปลูกเราทำการตลาดเองก่อน ไปหาลูกค้าว่าต้องการผักอะไร จำนวนเท่าไหร่ ถึงมาเริ่มวางแผนปลูกให้ผลผลิตออกตรงกับที่ลูกค้าต้องการ แล้วเวลามีรีสอร์ท หรือหน่วยงานจัดกิจกรรมให้ชาวสวนไปขายเองเราก็ไป บอกเขาว่าเราปลูกโดยไม่ใช้สารเคมีใดๆ เลย แล้วคนที่รักสุขภาพอยู่แล้วเขาก็เต็มใจซื้อ ยิ่งเราได้มาตรฐานไอโฟมด้วยลูกค้ายิ่งมั่นใจ แต่หลังๆ ไม่ได้ออกไปขายแล้ว ไม่มีเวลามาลงแปลง ก็ขายแต่หน้าสวนให้มารับเอง ตอนนี้รับเพิ่มไม่ได้แล้ว เราต้องส่งผลผลิตให้ลูกค้าเก่าให้ครบตามออร์เดอร์ ก็มีของกลุ่มออร์แกนิกแลนด์ที่เรารวมตัวกันกลุ่มย่อยส่งให้วีเก็ท เดลี่ มีสหกรณ์น้ำซับ กสิกรรมไร้สารพิษ”

นอกจากปลูกผักเพื่อขายแล้ว ในฤดูหนาวชาวสวนยังปลูกไว้เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเก็บได้เพียงปีละหนึ่งฤดูเท่านั้น “เมล็ดสลัดทุกชนิดกิโลกรัมละ 2 หมื่นบาท เราซื้อมาแบ่งกัน แต่เมื่อปีที่แล้วเราเริ่มเก็บเมล็ดพันธุ์กันเอง ครอบครัวละ 2-3 อย่าง แล้วมาแบ่งปันกัน ก็ช่วยลดต้นทุนได้หลายพันบาท”

ชีวิตเกษตรกรเป็นชีวิตที่ลงตัวที่สุดตั้งแต่ทำงานเลี้ยงชีพมา ยุวลี เล่าด้วยรอยยิ้มว่า “ทำเกษตรอินทรีย์เรากินด้วยสุขภาพเราดี แล้วเราได้มอบสิ่งดีๆ ให้ผู้บริโภค เวลาเขามาที่แปลงเขามาเก็บผักเอง รู้วิธีการทำของเรา เขาก็ดีใจที่เขาได้กินของดีไม่มีสารเคมี บางคนมาก็ชอบธรรมชาติที่เราอยู่ บางคนก็บอกว่าไกลความเจริญ แต่เราก็อยู่กินได้ปกติ เราได้กินอิ่มแล้วมีแรงทำ แล้วเป็นงานที่ยั่งยืน ทุกวันนี้ทุกคนทำงานก็เพื่อปากเพื่อท้อง เรื่องอาหารการกินทุกวันอยู่แล้ว ทุกมื้อเราได้กินของที่มีประโยชน์ สุขภาพจิตก็ดี เทคโนโลยีก็มีใช้ อย่างโทรศัพท์มือถือเราก็เอามาใช้ทำการตลาดให้ลูกค้าสั่งทางไลน์แล้วมารับ หรือถ้าจำนวนเยอะเราส่งฝากรถตู้ไปให้ ถ้าออกไปขายเองก็ราคากิโลกรัมละ 150 บาท”

ยังมีความน่าสนใจภายในนิคมเศรษฐกิจพอเพียงอำเภอวังน้ำเขียว นั่นคือ “การท่องเที่ยวเชิงเกษตร” สามารถชมการสาธิตเพาะเมล็ด ลงแปลง เก็บผัก กินอาหารที่ปรุงสดๆ จากผักที่เราเก็บ แถมภายใน
นิคมฯ ยังมีฝายน้ำ มีธรรมชาติให้ชม มีไร่กาแฟให้คอกาแฟไปเก็บเมล็ด คั่วกาแฟ แล้วมาชงดื่มกันสดๆ หรือใครที่ชอบบุกป่า จะไปเดินป่า สร้างฝายชะลอน้ำก็ได้ และที่ขาดไม่ได้คือการรับฟังชาวบ้านถ่ายทอดประสบการณ์ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเสียงตอบรับจากผู้ที่ไปเยือนมาแล้วนั้นต่างได้แรงบันดาลใจและมุมมองความคิดที่เปลี่ยนไป

ความพอเพียงไม่ต้องปลูกผัก กินผัก อยู่ในไร่ในป่า หากแต่ความพอเพียงอยู่ในวิถีชีวิตของทุกคน ว่าแต่คุณหาจุดพอเพียงในชีวิตได้หรือยังเท่านั้นเอง