posttoday

‘พีระชาติ เรืองประดิษฐ์’ หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะป๊อก หนุ่มลุ่มน้ำสู่คนบนดอย

26 พฤศจิกายน 2559

ถือเป็นความภูมิใจ เป็นความปีติในชีวิตการทำงาน ได้มีโอกาสถวายงานรับใช้ในโครงการพระเจ้าอยู่หัว

โดย...ยินดี ฤตวิรุฬห์

“ถือเป็นความภูมิใจ เป็นความปีติในชีวิตการทำงาน ได้มีโอกาสถวายงานรับใช้ในโครงการพระเจ้าอยู่หัว การได้เข้ามาทำงานเพื่อคนบนดอยภายใต้โครงการหลวงของพระเจ้าอยู่หัว  นอกจากได้ทำงานแล้ว ยังเป็นบุญเป็นกุศล ที่เราได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมทำให้ชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวเขาดีขึ้นชาวเขามีความสุข มีรอยยิ้ม เพราะทุกพื้นที่ที่มีโครงการหลวงเข้าไปนั้น  กำลังบ่งบอกว่าชาวเขากำลังจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น“นี้คือคำให้สัมภาษณ์ของ พีระชาติ เรืองประดิษฐ์หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะป๊อก

พีระชาติ ไม่ได้เป็นคนบนดอยหรือเป็นหนุ่มเหนือ แต่เป็นหนุ่มจากแดนใต้ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช จบวิทยาลัยเกษตรอยุธยาทุ่งหันตรา ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อปี 2533
ก็ได้เดินทางจากนครศรีธรรมราช มาทำงาน บนพื้นที่สูงของภาคเหนือ ในโครงการหลวง โครงการส่วนพระองค์ของพระเจ้าอยู่หัว โครงการหลวงซึ่งได้เปลี่ยนสถานะมาเป็นมูลนิธิโครงการหลวงปี พ.ศ. 2536

การตัดสินใจพาตัวเองจากภาคใต้ไปภาคเหนือในครั้งนั้น เพราะได้รับคำแนะนำของ ทวี รักษาชล ซึ่งขณะนั้นทำงานอยู่กองสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ และเป็นอาสาสมัครทำงานโครงการหลวง ในตำแหน่ง ผู้ประสานงานโครงการหลวงห้วยโป่ง-ห้วยน้ำริน

หลังจากได้รายงานตัวที่สำนักงานโครงการหลวงแล้ว ก็เดินทางเข้าไปประจำศูนย์”โครงการหลวงห้วยโป่ง-ห้วยน้ำริน“ ซึ่งอยู่ในเส้นทางเชียงใหม่-เวียงป่าเป้า ในระยะทางประมาณ 75 กม. ที่ในตอนนั้นศูนย์แห่งนี้ยังถือว่าทุรกันดาร การเดินทางยังลำบาก และจะต้องเดินเท้าขึ้นไปประมาณ 8 กม.

“ผมจำได้วันแรกที่ตัดสินใจทำงานและไปอยู่ที่ศูนย์โครงการหลวงห้วยโป่ง-ห้วยน้ำรินยังไกลความเจริญมาก เพราะรถโดยสารมีวันละเที่ยว และเมื่อถึงทางแยกจะต้องเดินเท้าเข้าไป แต่ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจจะไปทำงานถวายในหลวง ประกอบกับเคยเป็นนักเรียนเกษตรอยู่กับป่ากับเขาและชาวบ้าน ทำงานหนักมาก่อน ผ่านปัญหาอุปสรรคต่างๆในการทำงานมามาก ดังนั้นการตัดสินใจไปทำงานบนดอยก็ไม่เป็นปัญหาอะไรเลยสำหรับลูกเกษตร ผมคิดอยู่เสมอว่า งานหนักไม่เคยฆ่าคน“ พีระชาติ กล่าว

เส้นทางการทำงาน “พีระชาติ” เริ่มงานครั้งแรกในตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ส่งเสริมเกษตร ผักเมืองหนาว ขณะนี้โครงการหลวงส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกถั่วแดง ก็เพิ่งเคยเห็น กาแฟก็ไม่เคยปลูก หนุ่มปักษ์ใต้รู้จักแต่ต้นยางพารา ดังนั้นการทำงานในช่วงแรกก็ใช้วิธีเรียนลักพักจำจากชาวบ้านบ้าง อ่านหนังสือบ้างก็สามารถทำงานได้

สิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ทำให้เขาสามารถทำหน้าที่ และยังคงทำงานในโครงการหลวงนับตั้งแต่แรกเริ่มเมื่อปี 2533 จนถึงปัจจุบันกว่า 26 ปี คือ ความจริงใจ เข้าใจวิถีชีวิตของชาวเขานั่นเอง เพราะในพื้นที่บนดอย ชาวเขาที่นี่ส่วนใหญ่เป็นเผ่ามูเซอดำ หรือลาหู่เชเล และมีเผ่าลีซอ และคนพื้นเมืองบ้าง

การสื่อสารยิ่งมีปัญหา เพราะภาษาปักษ์ใต้เจอภาษาเหนือ ภาษาชาวเขา มึน แต่ด้วยจริงใจ ความมุ่งมั่น ที่มีต่อชาวบ้าน ใช้เวลาไม่นานชาวบ้านก็ยอมรับ และก็รู้จักกันทั่วทุกหมู่บ้าน และชาวบ้านบนดอยต่างเรียกและให้สมญานามพีระชาติ ว่าอาจารย์อ้วน

‘พีระชาติ เรืองประดิษฐ์’ หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะป๊อก หนุ่มลุ่มน้ำสู่คนบนดอย

 

พีระชาติ กล่าวว่า การทำงานโครงการหลวง นอกจากมีโอกาสได้ถวายงานรับใช้ในโครงการพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังได้มีโอกาสช่วยเหลือชาวเขา สมัยก่อนนอกจากความยากจนแล้วยังขาดแคลนในทุกด้าน  ดังนั้นการเข้ามาทำงานของเขา นอกจากได้ทำงานแล้วยังได้บุญกุศลที่ได้ช่วยคนที่ลำบากและด้อยโอกาสให้พวกเขาเหล่านั้นมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม การทำงานส่งเสริมการเกษตรหากเปรียบเทียบกับการเล่าเรียนแล้วก็คล้ายกับการศึกษานอกโรงเรียนนั่นเองคือในการทำงานและทำหน้าที่จะต้องไปสอนให้ความรู้กับชาวบ้าน ชาวเขา ดังนั้นเจ้าหน้าที่โครงการหลวงที่ขึ้นไปทำงานบนดอยมักจะถูกเรียกขานจากคนบนดอยว่าอาจารย์และยังมีอาสาสมัครจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาช่วยงานซึ่งเป็นอาจารย์ คนที่มาสอนมาแนะนำอาชีพให้กับชาวเขาจึงเป็นอาจารย์

พีระชาติ กล่าวว่า การทำงานของโครงการหลวง นอกจากงานพัฒนาอาชีพ ด้านเกษตรโดยการปลูกพืชเมืองหนาวทดแทนฝิ่นและให้เกษตรกรชาวเขามีรายได้ มีที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง ไม่ต้องบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย โครงการหลวงยังมีงานพัฒนาอาชีพนอกภาคเกษตร เช่น หัตถกรรม ทอผ้าเป็นต้น นอกจากนั้น ก็พัฒนาด้านสังคม การรวมกลุ่มอาชีพต่างๆ จัดตั้งสหกรณ์ ตลอดจนดูแลกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ต้นน้ำลำธาร โดยยึดหลักให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่อย่างพอเพียงและคำขวัญของโครงการหลวง “ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก”

ดังนั้น งานพัฒนาอาชีพต่างๆ ของโครงการหลวงเมื่อมีผลผลิต ทางศูนย์จะรับซื้อคืนทั้งหมดโดยมีฝ่ายตลาดและแปรรูปนำผลผลิตไปจำหน่ายหรือแปรรูปภายใต้แบรนด์โครงการหลวง การดำเนินงานแบบครบวงจรสามารถทำให้งานโครงการหลวงก้าวหน้าและมีสินค้าจำหน่ายทั่วไป และส่งผลดีไปยังผู้ผลิตบนดอยมีอาชีพและรายได้ตลอดจนความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

“ในการทำงานนั้นเราจะเข้าไปถึงทุกที่ทุกโครงการที่เข้าไปทำ เช่น ที่ อ.แม่วาง โครงการหลวงแม่สะป๊อก ซึ่งถือเป็นแหล่งต้นน้ำในการสนับสนุนก็จะให้ชาวบ้านปลูกผักปลูกพืชอินทรีย์ เพราะต้นน้ำจะไม่ปนเปื้อน และบางพื้นที่ก็ปลูกด้วยระบบปลอดภัย คือแม้ใช้สารเคมีบ้างแต่จะมีระยะเวลาที่ปลอดภัยในการจะตัดหรือเก็บผักออกมา“

ปัจจุบันพื้นที่ในโครงการแม่สะป๊อก มีชาวบ้านในเครือข่าย 450 ครัวเรือน ปลูกพืชหมุนเวียนไป มีทั้งผักสลัด มีทั้งปลูกงา ซึ่งถือว่าให้ผลผลิตที่ดี การส่งเสริมให้ปลูกงาก็เพื่อลดการปลูกข้าวโพด เพราะข้าวโพดปลูกนานๆ ดินจะเสีย ส่วนงาเป็นที่ต้องการและได้ราคาดี

“ในการให้การสนับสนุนชาวเขาในโครงการ ทางศูนย์จะให้ชาวบ้านมารับผักต้นกล้าที่ทางศูนย์จะเพาะไว้ให้และนำไปปลูกเพราะหากให้นำเมล็ดพันธุ์ไปปลูกเองบางครั้งไม่ปลูกตามที่กำหนด ผักก็จะออกมาไม่ตรงกับที่ตลาดต้องการ ไม่เพียงพอกับความต้องการ ดังนั้นทางโครงการจะเพาะให้นอกจากได้ผักตามกำหนดระยะเวลาแล้ว ยังสามารถจัดการในเรื่องของตลาดได้ด้วย”

พีระชาติ กล่าวว่า ในการทำงานโครงการหลวง เขาก็ได้เปลี่ยนหน้าที่การทำงาน ไปเรื่อยๆตามภาระงาน การทำงานในโครงการหลวง นอกจากมีโอกาสรับใช้ถวายงานในโครงการส่วนพระองค์แล้ว  ก็ได้รับโอกาสในการเข้าเฝ้าฯรับเสด็จ โดยทุกปีจะมีงานประจำปีของโครงการหลวง ชาวโครงการหลวงก็ร่วมแรงร่วมใจกันจัดงานเพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน และรอรับเสด็จทุกๆ ปี จะมีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเชื้อพระวงศ์หมุนเวียนเสด็จฯ มาเปิดงาน

“มีความภูมิใจและเป็นเกียรติกับตัวเองที่สุดในชีวิตทำงาน คือเมื่อปี 2555 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ในพื้นที่โครงการหลวงแม่สะป๊อก ทรงโปรดให้หัวหน้าโครงการหลวงแม่สะป๊อกเข้าเฝ้าฯ และถวายรายงานด้วย”

นอกจากโครงการหลวงได้ให้อาชีพมีเงินเดือนพอประมาณแบบพอเพียงแล้ว ยังเปิดโอกาสได้ลาศึกษาต่อ และให้โอกาสไปศึกษาดูงาน/ฝึกงานในต่างประเทศ เช่น อิสราเอล ไต้หวัน จีน เป็นต้น

พีระชาติ หรืออาจารย์อ้วน ตามคำเรียกของชาวเขา กล่าวว่า ปัจจุบันภูมิใจมากกับภาระและงานที่ได้ทำมาในชีวิต และก็จะยังคงมุ่งมั่นทำงานในโครงการหลวงต่อไปเพื่อถวายพ่อหลวงผู้ทรงก่อตั้งโครงการหลวงฯ แม้พระองค์ท่านจะเสด็จสู่สวรรคาลัยแล้วก็ตาม