posttoday

รวมเคล็ดลับ ป้องกัน ‘การชิงทรัพย์’

09 พฤศจิกายน 2559

ช่วงนี้ภัยใกล้ตัวที่มีให้เห็นและเป็นข่าวเกือบทุกวัน มักเป็นภัยที่เกิดจากการชิงทรัพย์ ฉกชิงวิ่งราว จี้ปล้น ทั้งตัวบุคคล ร้านค้า หรือสะดวกซื้อ

โดย...ภาดนุ ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์

ช่วงนี้ภัยใกล้ตัวที่มีให้เห็นและเป็นข่าวเกือบทุกวัน มักเป็นภัยที่เกิดจากการชิงทรัพย์ ฉกชิงวิ่งราว จี้ปล้น ทั้งตัวบุคคล ร้านค้า หรือสะดวกซื้อ ล่าสุดมีข่าวแก๊งมิจฉาชีพจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาตระเวนดูลาดเลาเหยื่อที่ทำธุรกรรมธนาคารซึ่งเบิกถอนเงินจำนวนมาก จากนั้นจะสะกดรอยไปทุบรถแล้วขโมยเงินตอนเหยื่อเผลอ หรือข่าวรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ถูกขโมยก็ยังมีให้เห็นเป็น
ระยะ

ถ้าผู้เสียหายไม่ได้รับบาดเจ็บหรือโดนทำร้ายร่างกายก็นับว่าโชคดีไป แต่บางรายโชคร้ายอาจโดนฟันโดนแทงจนถึงขั้นเสียชีวิตก็มีมาแล้ว ดังนั้นก่อนที่จะเกิดเรื่องร้ายๆ ขึ้น เรามาหาทางป้องกันไว้ก่อน ด้วย “รวมเคล็ดลับป้องกันการชิงทรัพย์” ในที่สาธารณะที่เรานำมาฝากคุณผู้อ่าน อย่างน้อยก็เป็นการป้องกันภัยเบื้องต้นและช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้

1.วิธีป้องกันการลักทรัพย์

ปล้นทรัพย์ ในสถานประกอบการหรือร้านค้า

- หมั่นสำรวจความแน่นหนาแข็งแรงของกลอนประตูหรือแม่กุญแจของร้านค้าอยู่เสมอ

- การจัดร้านหรือสถานประกอบการ ควรจัดของหรือทางเข้า-ออก ให้สามารถมองเห็นทั้งจากด้านนอกและด้านในได้

- ควรติดปุ่มสัญญาณเตือนภัยในร้านหรือสถานประกอบการไว้หลายๆ จุด เช่น ใต้เคาน์เตอร์ ใต้โต๊ะทำงาน และในห้องน้ำ เป็นต้น

การเปิด-ปิดร้าน

- ไม่ควรเปิดร้านแต่เช้าตรู่ หรือปิดร้านดึกจนเกินไป เพราะโจรอาจสบโอกาสลงมือได้ง่าย

- ขณะกำลังจะเปิดร้าน ถ้ามีคนแปลกหน้ามาติดต่อซื้อ-ขายให้ระมัดระวัง หากเป็นไปได้ควรปฏิเสธไปเลย

ขณะอยู่ในร้าน

- ไม่ควรอยู่ในร้านเพียงลำพัง โดยเฉพาะเด็กหรือสตรี ถ้าต้องไปหยิบของหลังร้าน ควรเรียกคนมาอยู่ดูแลหน้าร้านเสมอ

- ให้ระมัดระวังคนแปลกหน้าที่มักเดินวนเวียนมาหลายๆ ครั้ง ถ้าพบเห็นควรรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบ และสังเกตจดจำรูปพรรณคนแปลกหน้าที่เข้ามาในร้านค้าไว้ด้วย

- ไม่นำสินค้าราคาแพงๆ มาให้เลือกคราวละหลายๆ ชิ้น

- ไม่ควรเก็บเงินสดจำนวนมาก หรือทรัพย์สินมีค่าไว้ภายในร้าน

การรับพนักงาน

- แนะนำให้ทำทะเบียนประวัติของพนักงานโดยละเอียด ทั้งรูปถ่าย บัตรประจำตัวประชาชน สถานที่ติดต่อ ที่อยู่ญาติพี่น้อง และอื่นๆ

2.วิธีป้องกันการล้วงกระเป๋าและชิงทรัพย์ในที่สาธารณะ

- ไม่นำทรัพย์สินมีค่าพกติดตัวไปเป็นจำนวนมาก ถ้าจำเป็นต้องนำติดไป ควรแยกเก็บไว้หลายๆ ที่

- พกกระเป๋าเงินไว้ในที่ปลอดภัย เช่น กระเป๋ากางเกงด้านหน้า เป็นต้น

- กระเป๋าถือสตรีไม่ควรหิ้วหรือสะพายบ่า ควรถือกระชับหรือแนบกับลำตัวไว้

- พึงระลึกไว้เสมอว่า คนร้ายอาจเป็นได้ทุกเพศ ทุกวัย อย่าได้ประมาท

- ในสถานที่ที่มักเกิดเหตุร้าย เช่น ที่รกร้าง ในซอยเปลี่ยว ควรหลีกเลี่ยง หรือในสถานที่ที่มีฝูงชนเบียดเสียดก็ควรระมัดระวังเช่นกัน

- เมื่อรู้ตัวว่าถูกล้วงกระเป๋า หรือพบเห็นผู้อื่นถูกล้วงกระเป๋า ให้รีบส่งเสียงดังเพื่อขอความช่วยเหลือทันที

3.วิธีป้องกันการปล้นชิงทรัพย์สำหรับผู้ทำธุรกรรมที่ธนาคาร

การฝาก-ถอนเงิน

- หากต้องเบิกหรือถอนเงินจำนวนมาก ควรขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไปคุ้มครอง

- ไม่ควรฝากหรือถอนเงินในเวลาใดเวลาหนึ่งเป็นประจำ เพราะคนร้ายอาจรู้แกว

- ควรนับเงินจำนวนมากในที่ลับตา มิฉะนั้นจะเป็นที่สะดุดตาของคนร้าย

- ควรแยกเงินเก็บไว้หลายๆ แห่ง ทั้งกระเป๋าถือ กระเป๋ากางเกงด้านหน้า ฯลฯ

คนแปลกหน้า

- ให้ระมัดระวังหรือหมั่นสังเกตคนแปลกหน้าที่เฝ้าตามเราอยู่

- หากสงสัยว่ามียวดยานพาหนะติดตามอย่างผิดสังเกต อย่าหยุดหรือจอดรถ แต่ให้รีบขับรถเข้าหาเจ้าหน้าที่ตำรวจ

4.วิธีป้องกันการโจรกรรมรถยนต์และมอเตอร์ไซค์

- ติดตั้งอุปกรณ์พิเศษสำหรับป้องกันการโจรกรรมรถยนต์โดยเฉพาะ

- จดจำ หรือบันทึกรายละเอียดของรถคุณ แล้วนำติดตัวไว้เสมอ

- ควรจอดรถในที่ที่ปลอดภัย ไม่จอดนอกบ้าน ล็อกประตูบ้านทุกครั้ง ถ้าเป็นมอเตอร์ไซค์ควรล่ามโซ่ไว้ด้วย

- หากกุญแจรถหรือฝาน้ำมันหาย ให้เปลี่ยนกุญแจรถที่ใช้อยู่ทันที

- ไม่รับคนแปลกหน้าขึ้นรถในสถานที่เปลี่ยวๆ ใครจะว่าไม่มีน้ำใจก็ช่างเถอะ

- การนำรถยนต์ไปซ่อมแซม ล้างอัดฉีด ควรเลือกสถานที่ที่คุ้นเคยและไว้ใจได้ หรือถ้าไม่รีบไปไหนก็ควรอยู่ดูแลรถตรงนั้นโดยตลอด

- ถ้าซื้อรถมือสอง ก่อนตกลงซื้อขาย ควรนำหมายเลขเครื่อง ตัวถัง และป้ายทะเบียนไปตรวจสอบก่อน และควรเปลี่ยนกุญแจใหม่ทั้งหมด

หากมีเหตุด่วนเหตุร้าย แจ้ง 191 หากรถยนต์หาย แจ้ง 1192