posttoday

รื้องานวิจัยลงจากหิ้ง สู่ความเข้าใจของผู้คน

02 พฤศจิกายน 2559

ในยุคปัจจุบันนี้เป็นที่แน่ชัดว่าทุกประเทศและนักวิชาการ รวมถึงผู้สนใจใฝ่รู้ ต่างให้ความสำคัญของการวิจัยทั้งนั้น

โดย...พริบพันดาว ภาพ... เอพี, รอยเตอร์, เอเอฟพี, สกว.

ในยุคปัจจุบันนี้เป็นที่แน่ชัดว่าทุกประเทศและนักวิชาการ รวมถึงผู้สนใจใฝ่รู้ ต่างให้ความสำคัญของการวิจัยทั้งนั้น รวมถึงการทุ่มเทงบประมาณลงสู่การวิจัยเพื่อนำไปสู่การผลิตสินค้าได้คุณภาพและสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ ประเทศไทยก็เช่นกันแม้จะเทียบกับประเทศอื่นๆ งานวิจัยบ้านเราอาจจะมีปริมาณและคุณภาพในเชิงลึก รวมถึงงานวิจัยที่สร้างนวัตกรรมออกมามีไม่มากนัก แต่ปัจจุบันงานวิจัยที่มีอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม มีอยู่ในระดับที่มากพอสมควร และถูกเก็บอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ไม่ได้ถูกเผยแพร่ออกมามากนัก แม้จะมีการเผยแพร่แต่ก็ยากเกินที่จะทำความเข้าใจ

ในยุคที่โซเชียลมีเดียเฟื่องฟูและโลกออนไลน์กลายเป็นจุดศูนย์กลางของคนรุ่นใหม่ สื่อยุคใหม่ที่เน้นความกระชับรวดเร็ว เข้าใจง่ายๆ ภายในไม่กี่นาที ทำให้งานวิจัยดูเหมือนจะถูกทอดทิ้งให้ห่างไกลผู้คนมากขึ้น แม้จะมีโจทย์ที่ยาก แต่ก็มีความพยายามที่จะทำให้งานวิจัยกลายเป็นสิ่งที่ย่อยง่าย ดูแป๊บเดียวแล้วเข้าใจสามารถนำไปต่อยอดสู่สิ่งต่างๆ ได้ มาดูกระบวนการของงานวิจัยแปลงร่างกัน

รื้องานวิจัยลงจากหิ้ง สู่ความเข้าใจของผู้คน

 

ความจริงการอ่านงานวิจัยไม่ใช่เรื่องยาก

การวิจัย หมายถึง กระบวนการแสวงหาความรู้ความจริงที่มีระบบและวิธีการที่น่าเชื่อถือเพื่อนำความรู้ความจริงที่ได้นั้นไปใช้ในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาหรือก่อให้เกิดความรู้ใหม่ๆ ความสำคัญของการวิจัยเพื่อเพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆ ทางวิชาการ เป็นการแสวงหาความรู้หรือความจริงเพื่อสร้างเป็นกฎ สูตรทฤษฎี ในแต่ละสาขาวิชา และเพื่อนำไปประยุกต์หรือใช้ประโยชน์ในงานต่างๆ มีจุดมุ่งหมายในการนำผลการวิจัยไปใช้ในเชิงปฏิบัติโดยตรง ที่ประชุม Pan Pacific Science Congress ในปี 1961 ที่สหรัฐ ได้แยกความหมายของคำว่า วิจัย (RESEARCH) ไว้ดังนี้

 R - Recruitment and Relationship หมายถึง การฝึกคนให้มีความรู้ รวมทั้งรวบรวมผู้มีความรู้และปฏิบัติงานร่วมกันติดต่อสัมพันธ์และประสานงานกัน

 E - Education and Efficiency หมายถึง ผู้วิจัยจะต้องมีการศึกษา มีความรู้ และสมรรถภาพสูงในการวิจัย

 S - Sciences and Stimulation เป็นศาสตร์ที่ต้องพิสูจน์เพื่อค้นคว้าหาความจริงและผู้วิจัยจะต้องมีพลังกระตุ้นให้เกิดความริเริ่ม กระตือรือร้นที่จะวิจัยต่อไป

 E - Evaluation and Environment ผู้วิจัยจะต้องรู้จักการประเมินผลดูว่างานวิจัยที่ทำอยู่มีประโยชน์สมควรจะทำต่อไปหรือไม่ และต้องรู้การใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ในการวิจัย

 A - Aim and Attitude มีจุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายที่แน่นอนและมีเจตคติที่ดีต่อผลของการวิจัย

 R - Result ผลของการวิจัยที่ได้มาจะเป็นทางบวกหรือลบก็ตาม จะต้องยอมรับผลของการวิจัยนั้น เพราะเป็นผลที่ได้มาจากการค้นคว้าอย่างเป็นระบบและเชื่อถือได้

 C - Curiosity ผู้วิจัยจะต้องมีความอยากรู้อยากเห็น มีความสนใจและขวนขวายในงานวิจัยอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าความอยากรู้นั้นจะมีเพียงเล็กน้อยก็ตาม

 H - Horizon เมื่อผลการวิจัยปรากฏขึ้นแล้ว ย่อมทำให้ทราบและเข้าใจในปัญหาเหล่านั้นได้ เหมือนกับเกิดแสงสว่างขึ้น แต่ถ้ายังไม่เกิดแสงสว่าง ผู้วิจัยจะต้องดำเนินการต่อไปจนกว่าจะพบแสงสว่าง ซึ่งก็คือผลของการวิจัยจะต้องก่อให้เกิดสันติสุขแก่สังคม

รื้องานวิจัยลงจากหิ้ง สู่ความเข้าใจของผู้คน

 

โดยสรุปแล้ว การวิจัย คือ กระบวนการที่เป็นระบบน่าเชื่อถือสำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่างๆ ที่สนใจ บนเวทีเสวนาหัวข้อ “การใช้สื่อใหม่เผยแพร่งานวิจัย เพื่อการสื่อสารไปสู่สาธารณะ” รศ.ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้านสื่อสารสังคม บอกว่า ฐานข้อมูลความรู้จาก สกว.มีอยู่เยอะมาก

“สกว.มีชุดความรู้เยอะมากในสต๊อกของ สกว.ที่พูดถึงอาหารที่เข้ากับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี และความเป็นอยู่ ซึ่งถูกปรับแปลงให้เหมาะสมกับผู้บริโภค เวลาศึกษาหรือวิจัย ผลงานที่จะออกมาอยากให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง คลังข้อมูลที่เรียกว่า อี-ไลบรารี เป็นฐานข้อมูลของโครงการวิจัยทั้งเล่ม มีอยู่ประมาณ 200 เรื่อง ซึ่งคนที่จะเข้าไปอ่านจะต้องเป็นฮาร์ดคอร์ที่จะใช้ฐานข้อมูลวิจัยเหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์จริงๆ ทีนี้เรามีความเชื่อชุดหนึ่งว่าองค์ความรู้เรื่องงานวิจัยต้องเผยแพร่ให้สาธารณะได้มีความรู้ ผลงานต่างๆ ที่ทำเป็นอินโฟกราฟฟิกก็ไปปรากฏอยู่ในแอพพลิเคชั่น
ของ สกว. งานวิจัยที่มีอยู่ 1,500 เรื่อง/ปี ที่สามารถทำอินโฟกราฟฟิกและโมชั่นกราฟฟิกได้ ซึ่งต้องเร่งมือทำให้ทัน จริงๆ ประโยชน์หลักในการสนับสนุนการวิจัยของเราไม่ใช่ตอบโจทย์รัฐบาล แต่เราตอบโจทย์สังคมซึ่งเป็นเป้าหมายหลัก และเป็นทาร์เก็ต ยูสเซอร์ ที่สำคัญที่สุดของงานวิจัยทั้งหลาย”

สำหรับปีนี้ สกว.มีโครงการประลองไอเดียสร้างสรรค์สังคมกับการประกวด “วิจัยแปลงร่าง 2 ตอน กินอยู่” ซึ่งต่อจากโครงการ “กินเป็น” เมื่อปีที่แล้ว ประกวดสร้างสรรค์สื่ออินโฟกราฟฟิก และโมชั่นกราฟฟิก เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้แสดงความสามารถในการย่อยงานวิจัยคุณภาพของ สกว.

รศ.ดร.จันทร์จรัส บอกว่า “จากปีที่แล้ว กินเป็น มาสู่ กินอยู่ ในปีนี้ อยากนำเสนองานวิจัยในช่องทางอื่น ตอนนี้เศรษฐกิจกระแสหลักรัฐบาลก็พยายามผลักดันในเรื่องของครีเอทีฟ อีโคโนมี หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยประกอบด้วยองค์ประกอบหลายส่วนด้วยกัน ก็คือความเป็นคน ความเป็นชุมชน วิถีชีวิต ซึ่งจะมีผู้บริโภคอยู่ในนั้น นอกจากกินตามท้องถิ่นแล้วก็ยังกินตามฤดูกาลด้วย”

รื้องานวิจัยลงจากหิ้ง สู่ความเข้าใจของผู้คน

การสื่อสารงานวิจัยสู่คนรุ่นใหม่ต้องง่ายและสนุก

อินโฟกราฟฟิก (Infographic) ย่อมาจาก Information Graphic คือ ภาพหรือกราฟฟิก ที่บ่งชี้ถึงข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นสถิติ ความรู้ ตัวเลข ฯลฯ เรียกว่าเป็นการย่นย่อข้อมูลเพื่อให้ประมวลผลได้ง่ายเพียงแค่กวาดตามอง ซึ่งเหมาะสำหรับผู้คนในยุคไอทีที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลซับซ้อนมหาศาลในเวลาอันจำกัด เหตุผลเพราะมนุษย์ชอบและจดจำภาพสวยๆ ได้มากกว่าการอ่าน และในปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมในโลกของโซเชียลเน็ตเวิร์ก

ส่วนโมชั่นกราฟฟิก (Motion Graphic) หรือกราฟฟิกเคลื่อนไหว เป็นสื่อซึ่งมีลักษณะที่เข้าใจได้ง่าย เป็นงานกราฟฟิกที่เคลื่อนไหวได้ โดยการนำเอามาจัดเรียงต่อๆ กัน อธิบายให้เข้าใจอย่างง่าย คือ การทำให้ภาพวาด 2 มิติ เคลื่อนไหวได้ เหมือนการทำการ์ตูนแอนิเมชั่นนั่นเอง ปัจจุบันได้มีการใช้โมชั่นกราฟฟิกเป็นสื่อในโลกออนไลน์กันมากขึ้น เนื่องจากสามารถอธิบายและทำความเข้าใจได้ง่ายเมื่อถูกสื่อสารออกไป

จริงๆ แล้วในงานวิจัยต่างๆ ที่เป็นเรื่องยากและทำการสื่อสารกับคนทั่วไปไม่ได้ อินโฟกราฟฟิกกับโมชั่นกราฟฟิกจะแปลงร่างงานวิจัยให้อ่านง่ายขึ้น ซึ่งเป็นผลดีของสื่อสมัยใหม่ในยุคโซเชียลมีเดีย

นพ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา หมอหนุ่มไฟแรงผู้เขียนหนังสือขายดี “เรื่องเล่าจากร่างกาย” และ “500 ล้านปีของความรัก” ชี้ว่า สื่อสมัยใหม่ช่วยจัดการข้อมูลความรู้ไปสู่ผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น

“สื่อสมัยใหม่ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป สมัยก่อนความรู้จากนักโภชนาการหรือหมอค่อนข้างล้มเหลว เพราะการสื่อสารไม่ดีพอ ทักษะไม่ดี ตอนนี้ก็มีคนที่มาเชื่อมจากตรงกลาง ซึ่งเป็นนักสื่อสารมืออาชีพที่คอยแปลข้อมูลจากหมอหรือนักโภชนาการอีกทีหนึ่ง ด้วยความที่ต้องสื่อสารกับประชาชนจำนวนมาก ปัจจุบันก็มีอินสตาแกรมและเพจดังๆ บนเฟซบุ๊กเยอะขึ้น การแปลงร่างงานวิจัยให้เป็นโมชั่นกราฟฟิกและอินโฟกราฟฟิกได้ช่วยเติมเต็มช่องว่างที่มีมานานมากแล้ว อย่างผมเรียนหมอมา คนมักจะบอกว่าหมอพูดหรือเขียนไม่รู้เรื่อง ทั้งที่น่าจะมีทักษะในการสื่อสารที่ดี เพราะต้องสื่อสารกับประชาชนโดยตรง ทั้งนักวิทยาศาสตร์และหมอใช้ชีวิตอยู่กับงานวิชาการ ซึ่งต้องการความแหลมคมและรอบคอบกว่าการใช้ภาษา การทำข้อมูลตรงนี้ก็จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างคนในสายวิทยาศาสตร์ที่มีทักษะการสื่อสารที่ไม่ค่อยดีนัก แต่คนทำอินโฟกราฟฟิกและโมชั่นกราฟฟิกสามารถโฟกัสสิ่งที่เขาทำได้ดี สามารถช่วยสื่อสารกับคนทั่วไปได้ ซึ่งแชร์ผ่านออนไลน์ในอินเทอร์เน็ตจะสามารถช่วยให้คนหันมาสนใจมากขึ้น และเชื่อว่ามีการพัฒนามากขึ้นไปกว่านี้อีกเรื่อยๆ

รื้องานวิจัยลงจากหิ้ง สู่ความเข้าใจของผู้คน

 

นักวิจัยใช้เวลาหลายปีกับงานวิจัยชิ้นหนึ่งและอยากให้ผลงานวิจัยของตัวเองสร้างผลกระทบต่อสังคม นพ.ชัชพล บอกว่า ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะนำไปสู่จุดนั้น ซึ่งตัวเชื่อมในการผลิตสื่อตรงนี้จะโตขึ้นอีกเยอะ เหมือนกับตลาดต่างประเทศ

“เพราะสื่อสมัยใหม่ช่วยลดช่องว่างในการสื่อสารเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายขึ้น”

การเลือกแบบการสื่อสารเป็นโมชั่นกราฟฟิก ต้องบอกว่า ในปัจจุบันภาพที่เคลื่อนไหวจะเป็นภาพที่คนสนใจได้ง่าย งานวิจัยบางชิ้นในเล่มรายงานมีสิ่งที่น่าสนใจให้เล่นหลายอย่างมาก การเล่าเป็นภาพออกมาเหมาะสมกับคนยุคนี้ ภาพเคลื่อนไหวก็ดึงดูดความสนใจได้ดีไม่แพ้กัน สามารถเล่นกับภาพและเสียงได้ ณภัทร โชคจินดาชัย นักแสดงคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการใช้สื่อใหม่

“ในชุดข้อมูลเดียวกัน ถ้าเป็นเนื้อหาหรือเทกซ์อย่างเดียว เด็กวัยรุ่นเขาจะโยนทิ้งเลยไม่อ่าน แต่พอเป็นอินโฟกราฟฟิกหรือโมชั่นกราฟฟิกเขาก็จะสนใจมาก ขอยกตัวอย่างเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีโมชั่นกราฟฟิกที่เรียกว่า รู้สู้ Flood ก็เป็นไวรัลและโด่งดังมากๆ ที่เกี่ยวกับน้ำท่วม พอมีคลิปตัวนี้เปิดออกมาก็มีคนดูหลายล้านวิว ทำให้เรามีความรู้เกี่ยวกับน้ำท่วมมากขึ้น

“ความรู้สึกแรกที่เราเห็นคำว่างานวิจัยก็จะอึ้ง จริงๆ แล้วงานวิจัยเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา นวัตกรรมทุกอย่างเกิดขึ้นจากงานวิจัย ถ้าแปรเป็นงานอินโฟกราฟฟิกหรือโมชั่นกราฟฟิกคนรุ่นผมก็จะไม่กลัวงานวิจัย พร้อมที่จะดูและอ่านเพื่อทำความเข้าใจกับมัน วัยรุ่นจะมีความอยากรู้อยากเห็นมาก และชอบที่จะกดเข้าไปอ่านข้อมูลต่างๆ ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอินโฟกราฟฟิกและภาพเคลื่อนไหวแบบโมชั่นกราฟฟิก ซึ่งพอเจอแบบนี้ก็ทำให้รู้สึกว่าอยากเพิ่มพูนความรู้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคต การทำอย่างนี้จะทำให้ข้อมูลยากๆ ถูกย่อยให้เข้าใจง่ายมากขึ้น และเปิดพื้นที่ให้กับคนทำงานในด้านของสื่อ เป็นที่ปล่อยของของคนรุ่นใหม่”