posttoday

พลิกโฉมกรุงเทพฯ มหานครแห่งอาเซียน

08 ตุลาคม 2559

กรุงเทพมหานคร กำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะยกระดับจากเมืองหลวงของประเทศไทย

โดย...กองบรรณาธิการ

กรุงเทพมหานคร กำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะยกระดับจากเมืองหลวงของประเทศไทย เมืองท่องเที่ยวที่คนทั่วโลกรู้จัก มาสู่การเป็นเมืองศูนย์กลางของภูมิภาคที่ผ่านมาแม้ว่าเราจะมีความพร้อมด้านทำเลที่ตั้งที่มีศักยภาพเหมาะสมที่จะเป็นเมืองศูนย์กลางแห่งอาเซียน แต่ยังขาดการพัฒนาเมืองให้รองรับกับการเป็น โกลบอล ซิตี้

ประจวบเหมาะกับการที่รัฐบาลต้องการให้หน่วยงานรัฐนำที่ดินที่มีอยู่มากมายมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด โครงการร่วมลงทุนกับเอกชนเพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้เปิดโต รวมถึงความพยายามในการจัดระเบียบพื้นที่ที่เคยถูกปล่อยปละละเลยจนไร้ระเบียบ จึงทำให้หลายๆ โครงการจึงถูกปัดฝุ่นนำกลับมา เพื่อพลิกโฉมกรุงเทพฯ ให้ก้าวไปอีกขั้น

ส่งเสริมพัฒนาเขตเมืองชั้นในปั้น กทม.สู่ศูนย์กลางภูมิภาค

ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร โดยสำนักผังเมือง ก็ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการก้าวไปสู่การเป็นเมืองในระดับภูมิภาค ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงผังเมืองกรุงเทพฯ เพื่อใช้ในการส่งเสริม ชี้นำในการพัฒนาเมือง ซึ่งจะต้องมีมาตรการทางผังเมืองต่างๆ มาใช้ให้บรรลุสู่เป้าหมาย โดยได้มีการศึกษา และวิเคราะห์ ความเหมาะสมของมาตรการตามผังเมืองรวม เพื่อส่งเสริมการพัฒนา ในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ ชั้นใน และเขตกรุงเทพฯ ชั้นกลาง โดยจะนำมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงผังเมืองกรุงเทพฯ ต่อไป 

พลิกโฉมกรุงเทพฯ มหานครแห่งอาเซียน

ผลการศึกษาโครงการศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมของมาตรการตามผังเมืองรวม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่เขตกรุงเทพฯ ชั้นในและเขตกรุงเทพฯ ชั้นกลาง ซึ่งจะอยู่ในแนวถนนวงแหวนรัชดาภิเษก และพื้นที่ต่อเนื่อง รวม 25 เขต ประกอบด้วย ฝั่งพระนคร 17 เขต ได้แก่ เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรู เขตสัมพันธวงศ์ เขตดุสิต เขตบางซื่อ เขตจตุจักร เขตห้วยขวาง เขตดินแดง เขตพญาไท เป็นต้น และฝั่งธนบุรีอีก 8 เขต ได้แก่ เขตคลองสาน เขตธนบุรี เขตบางกอกใหญ่ เขตบางกอกน้อย เขตบางพลัด เขตภาษีเจริญ เขตจอมทอง และเขตราษฎร์บูรณะ

ทั้งนี้ จากการสำรวจพื้นที่ชั้นในและชั้นกลางของกรุงเทพมหานคร จะพบว่า แปลงที่ดินส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก เป็นอุปสรรคต่อการก่อสร้างอาคาร อาคารส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ทำให้มีสภาพเสื่อมโทรม แต่ไม่สามารถรื้อถอนและสร้างขึ้นใหม่ได้ เนื่องจากต้องมีการถอยร่นตามกฎหมายควบคุมอาคาร

ขณะที่ถนนส่วนใหญ่มีความคับแคบและไม่ต่อเนื่องเป็นโครงข่ายที่สมบูรณ์ ทำให้เกิดข้อจำกัดในการก่อสร้างอาคาร เนื่องจากต้องมีความสูงไม่เกินกว่าที่กฎหมายควบคุมอาคารกำหนด ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินมีการใช้ที่ขัดต่อสุขลักษณะ ความปลอดภัย และสวัสดิภาพของสังคม เนื่องจากเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีมาก่อนการใช้บังคับผังเมืองรวม ส่วนที่ดินของรัฐส่วนใหญ่เป็นแปลงที่ดินขนาดใหญ่ มีการใช้ประโยชน์ที่ต่ำกว่าประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังมีการประชุมกลุ่มย่อย เพื่อรับฟังความเห็น ของผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนหน่วยงาน และตัวแทนประชาชนที่เกี่ยวข้อง มีข้อสรุปดังนี้

พลิกโฉมกรุงเทพฯ มหานครแห่งอาเซียน

 

กลุ่มอนุรักษ์และท่องเที่ยวกำหนดทิศทางการอนุรักษ์ และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และกรุงธนบุรี ให้เป็นเมืองน้ำ ให้มีการอนุรักษ์และสร้างสรรค์เมืองและชุมชนริมน้ำ แสดงถึงวิถีไทย เน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วิถีชีวิตแบบไทย ประเพณีวัฒนธรรมไทย โดยการส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมไทย โดยการมีส่วนร่วมของภาครัฐภาคเอกชน ประชาชน และชุมชน

สำหรับแนวทางการดำเนินการ อนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และกรุงธนบุรี ประกอบด้วย การวางและจัดทำผังเมืองและข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังเมือง ประกอบกับการควบคุมแบบซ้อนทับ ในข้อบัญญัติตามกฎหมายควบคุมอาคาร เพื่อกำหนดแนวอาคาร ความสูง รูปแบบ และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม การส่งเสริมการอนุรักษ์อาคาร ที่มีคุณค่า โดยมาตรการโอนสิทธิการพัฒนา หรือ Transfer of Development 3 การจัดทำโครงการนำร่อง การอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ การเปลี่ยนถ่ายการสัญจร ในย่านอนุรักษ์ เช่น ย่านนางเลิ้ง โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน

พื้นที่พาณิชยกรรมและสำนักงาน ทิศทางการพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นศูนย์กลางด้านพาณิชยกรรมของภูมิภาค เนื่องจากกรุงเทพฯ มีศักยภาพในการพัฒนาไปสู่ Global City เป็น Logistics Hub เศรษฐกิจมีการขยายตัว ค่าแรงมีความเหมาะสม ตลาดเติบโตมาก ที่ดินพร้อมจะพัฒนายังมีอยู่มาก

แนวทางการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของกรุงเทพฯ ได้แก่ 1 แก้ไขปรับปรุงแผนผัง และข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังเมืองรวมให้เป็นไปตามมาตรฐาน Global City 2 กำหนดมาตรการส่งเสริม เช่น FAR โบนัส ให้หลากหลายและจูงใจ และมาตรการทางผังเมืองอื่นๆ เช่น การโอนสิทธิการพัฒนา 3 ดำเนินโครงการพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็น Smart City

กลุ่มที่อยู่อาศัย การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางในเขตชั้นในและเขตชั้นกลางของกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมาไม่สามารถทำได้ เนื่องจากที่ดินและที่อยู่อาศัยในเขตชั้นในและชั้นกลางมีราคาแพงเกินกว่าความสามารถของผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง เขตชั้นในราชการของกรุงเทพฯ เป็นแหล่งงานของผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ขณะที่ผู้มีรายได้น้อย และปานกลางไม่สามารถแบกรับค่าการเดินทางเพื่อเข้ามาทำงานจากเขตชานเมืองได้

พลิกโฉมกรุงเทพฯ มหานครแห่งอาเซียน

สำหรับแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางในเขตชั้นในและชั้นกลางของกรุงเทพฯ 1.จัดทำแผนรายสาขาด้านที่อยู่อาศัย และการปรับปรุงแผนผัง และข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ประเภทที่อยู่อาศัยของผังเมืองรวม 2.ปรับปรุงและเพิ่มมาตรการส่งเสริม สำหรับที่อยู่อาศัยราคาถูก Affordable Housing ในเขตชั้นในและชั้นกลาง 3.แก้ไขปรับปรุงข้อบัญญัติ เรื่องควบคุมอาคาร ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาคารอยู่อาศัย ที่จอดรถยนต์ และอื่นๆ 4.พัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย การพัฒนาชุมชน และการดำเนินโครงการ พัฒนาและฟื้นฟูตัวเมือง ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในและชั้นกลาง

กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ ศักยภาพของกรุงเทพฯ ในด้านเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์และอุตสาหกรรมบริการ เนื่องจากกรุงเทพฯ มีการกระจุกตัวของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Creative Economy และอุตสาหกรรมบริการที่ทำรายได้ให้กับประเทศไทย โดยปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐที่ส่งเสริมการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และอุตสาหกรรมบริการอยู่แล้ว

สำหรับแนวทางการพัฒนากรุงเทพฯ ในด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และอุตสาหกรรมบริการ ได้แก่ 1.การปรับปรุงแผนผังและข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังเมืองรวม เพื่อรองรับเศรษฐกิจสร้างสรรค์และอุตสาหกรรมบริการ เช่น อุตสาหกรรมสีเขียว Green Industry อุตสาหกรรมแนวตั้ง Vertical Industry เป็นต้น 2.การปรับปรุงและเพิ่มมาตรการส่งเสริม สำหรับกิจกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมบริการ เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล ในเขตชั้นในและชั้นกลางของกรุงเทพฯ 3.ดำเนินการโครงการพัฒนา และฟื้นฟูเมืองย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมบริการ ในเขตชั้นในและชั้นกลางของกรุงเทพฯ

กลุ่มสถาบันราชการ สาธารณูปโภคและสาธารณูปการ การใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเขตชั้นในและชั้นกลางของกรุงเทพฯ มีที่ดินของรัฐเป็นจำนวนมาก และเป็นแปรงที่ดินขนาดใหญ่ เป็นคนนำที่ดินของรัฐมาใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นสถาบันราชการ สาธารณูปโภคและสาธารณูปการ รวมทั้งการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ให้เต็มตามศักยภาพ

พลิกโฉมกรุงเทพฯ มหานครแห่งอาเซียน

สำหรับแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐให้มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 1.จัดทำแผนรายสาขา ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐ และปรับปรุงแผนผัง และข้อกำหนด การใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทสถาบันราชการ สาธารณูปโภคและสาธารณูปการของผังเมืองรวม 2.การวางผังและออกแบบย่านสถาบันราชการระดับประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 3.การจัดทำแผนการลงทุน พัฒนาย่านสถาบันราชการ ประกอบกับการพัฒนาเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า และพึ่งพาตนเองทางการเงินได้

ขณะเดียวกัน ได้มีการนำเสนอมาตรการส่งเสริมในการพัฒนาพื้นที่ชั้นในและชั้นกลางของกรุงเทพฯ เพื่อให้เป็นคอมแพกต์ ซิตี้ ซึ่งในเขตเมืองชั้นในจะสามารถพัฒนาอาคารได้สูงขึ้น แต่จะต้องเปิดพื้นที่โล่งมากขึ้นด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้นำที่ดินแปลงใหญ่ๆ ของภาครัฐนำออกมาพัฒนา เช่นเดียวกับโครงการขนาดใหญ่ของเอกชน เพื่อชี้นำการพัฒนาของเมือง ซึ่งขณะนี้ก็มีหลายโครงการที่รัฐบาลผลักดันให้เกิดขึ้น เช่น การพัฒนาที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย การพัฒนาที่ดินโรงงานยาสูบ การพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น

แลนด์มาร์คแม่น้ำเจ้าพระยานทีแห่งชีวิตของคนกรุงเทพฯ

อนาคตในอีกไม่ช้านี้กรุงเทพฯ กำลังจะเกิดแลนด์มาร์คสำคัญแห่งใหม่ เพื่อใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ท่ามกลางสวนสาธารณะร่มรื่น ผู้คนออกมาปั่นจักรยาน ชื่นชมสัมผัสบรรยากาศควบคู่ไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา สายน้ำแห่งชีวิตของคนกรุงเทพฯ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ด้วยแนวความคิดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้มีพื้นที่สาธารณะเพื่อคนเมือง รองรับรูปแบบการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ที่นับวันจะเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ยากขึ้นทุกที รวมถึงแก้ปัญหาชุมชนรุกล้ำแม่น้ำ จึงเกิดเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้นักออกแบบ สถาปนิก นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกันศึกษา ร่วมกันวาดฝันเมืองในอนาคต

พลิกโฉมกรุงเทพฯ มหานครแห่งอาเซียน

ความคาดหวังที่จะเนรมิตเส้นทางริมเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งยาวไกล ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ไปจนถึงสุดเขตกรุงเทพฯ รวมระยะทางทั้งสิ้น 57 กิโลเมตร แต่เพื่อเป็นการนำร่องจึงเตรียมสร้างในเฟสแรกก่อนที่ระยะทาง 14 กิโลเมตร จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า บนพื้นฐานการพัฒนาโดยอนุรักษ์ สืบสานและสร้างสรรค์ ให้เป็นมรดกชาติในแนวทางมรดกโลก เมืองริมฝั่งแม่น้ำที่งดงามด้วยนิเวศวัฒนธรรม นิเวศธรรมชาติ ผ่านแรงบันดาลใจและพลังสร้างสรรค์ที่ไม่หยุดนิ่ง

อันธิกา สวัสดิ์ศรี อาจารย์ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ร่วมออกแบบทางริมเจ้าพระยา ฉายภาพผู้คนกำลังเดิน ปั่นจักรยาน สามารถสัญจรเชื่อมต่อไปยังระบบขนส่งมวลชน รถ ราง เรือ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะการ “เดิน” คือรูปแบบการเดินทางที่ประหยัดที่สุด ซึ่งคนเมืองทุกคนมีสิทธิเข้ามาใช้ประโยชน์จากเส้นทางนี้ได้ไม่ถูกปิดกั้นเหมือนในอดีต

แนวคิดการออกแบบเปรียบเสมือน “พญานาค” แบ่งเป็นส่วนหัว คือ กรุงเทพฯ ใจกลางระบบคมนาคมทุกทิศทาง ถัดมาคือท้องจะเป็นพื้นที่ของ วัด วัง ย่านเก่าแก่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และส่วนหาง เป็นพื้นที่เมืองใหม่บริเวณเขตบางนา ทั้งหมดถูกพัฒนาเชื่อมโยงถึงกันไม่ขาดตอน

อันธิกา กล่าวว่า สิ่งที่แลนด์มาร์คแห่งนี้จะมอบให้กับเมือง ประการแรกคือ ทางเดินบนน้ำ ไม่จำเป็นต้องสร้างตลอดทั้งแนว แต่จะมีทางตัดเข้าสู่ลานวัดได้ทันที เช่นที่ วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร วัดเก่าแก่มีมาก่อนสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ การสร้างให้ทางเข้าไปในวัดนอกจากจะไม่บดบังโบราณสถานแล้วยังช่วยส่งเสริมสถานที่แห่งนั้น

พลิกโฉมกรุงเทพฯ มหานครแห่งอาเซียน

 

สำหรับชุมชนสำคัญอย่าง ชุมชนศรีคราม ชุมชนมิตรคาม 1 ถือได้ว่าเป็นแหล่งควรค่าแก่การอนุรักษ์ เส้นทางจึงถูกออกแบบให้อ้อมชุมชนไป ขณะเดียวกันยังคงเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตคนริมน้ำ แม้ว่าชุมชนบางแห่งจะต้องย้ายออกเพื่อเปิดทางให้มีการพัฒนา แต่จะเข้าสู่กระบวนการของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ สร้างความมั่นคงในครอบครัวได้อยู่เป็นหลักแหล่งมากยิ่งขึ้น

ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ หลายพื้นที่ริมเจ้าพระยาถูกเอกชนซื้อไปใช้สร้างเป็นโรงแรม ห้างสรรพสินค้า ทำให้ผู้คนเข้าไม่ถึงแม่น้ำ ดังนั้นแลนด์มาร์คนี้จะส่งเสริมในเรื่องของการท่องเที่ยว เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวชาติและต่างชาติ และคาดการณ์ว่าพื้นที่ถัดจากแนวพัฒนาประมาณ 40 เมตร จะถูกประเมินราคามูลค่าที่ดินเพิ่มขึ้นอีกด้วย

เป้าหมายสำคัญที่สุดคือด้านสุขภาพ ประชาชนทุกคนจะมีพื้นที่ออกกำลังกาย ลานสันทนาการ ศาลาพักผ่อนริมน้ำสูดอากาศโดยไม่ต้องอยู่แต่ในห้องแอร์คอนดิชั่น ไม่ต้องไปวิ่งออกกำลังริมถนน ลดค่ารักษาพยาบาล ลดค่ายารักษาโรคต่างๆ ถือเป็นผลพลอยได้ทางอ้อมเรื่องสุขภาวะของเมืองใหญ่ ผู้คนเลือกไปสวนสาธารณะมากกว่าเข้าห้างสรรพสินค้า ไม่ต้องใช้รถใช้ถนน แก้ปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนักได้

ส่วนความสามารถในการป้องกันน้ำท่วม ที่ผ่านมากรุงเทพฯ ประสบกับปัญหาเขื่อนกั้นน้ำบางจุดหรือบางชุมชนเป็นจุดอ่อน เกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย ดังนั้นจึงออกแบบพัฒนาเขื่อนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มการเข้าถึงของรัฐได้มากยิ่งขึ้น เช่น การขุดลอก เก็บขยะทำได้สะดวก เพราะหากหน่วยงานรัฐเข้าถึงได้ก็จะทำให้การบริหารจัดการในอนาคตมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย

พลิกโฉมกรุงเทพฯ มหานครแห่งอาเซียน

 

ขณะที่รูปแบบการรักษาความปลอดภัย จะเพิ่มแสงไฟส่องสว่าง ติดตั้งกล้องซีซีทีวี โดยแต่ละชุมชนริมน้ำสามารถออกแบบระบบบริหารจัดการของตัวเองได้ เช่น แผนจัดการขยะ ห้องน้ำ รวมถึงพื้นที่ความเป็นส่วนตัวสำหรับคนในชุมชนเท่านั้น

“แม่น้ำเจ้าพระยามีความสำคัญต่อคนเมืองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ยังมีย่านประวัติศาสตร์ที่คนไม่เคยเห็นมาก่อนเพราะอยู่ในพื้นที่ปิดมาโดยตลอด ดังนั้นแลนด์มาร์คแห่งนี้จะส่งเสริมการเดินทาง ท่องเที่ยว และกำหนดแนวทางพัฒนาเมืองยุคสมัยใหม่ต่อจากนี้” อันธิกา กล่าว

ภายหลังจากคณะที่ปรึกษาออกแบบโครงการจัดทำแผนแม่บทเสร็จสิ้นแล้วขั้นตอนจากนี้จะถูกส่งไปให้สำนักการโยธากทม. พิจารณาหาผู้รับเหมาก่อสร้างขณะเดียวกันผู้ออกแบบจะต้องชี้แจงต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กรมเจ้าท่า คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า หากเป็นไปตามแผนคาดว่าต้นปี2560 จะเริ่มก่อสร้างทันที