posttoday

วัฒนธรรมสามก๊ก

26 กันยายน 2559

พูดถึงประวัติศาสตร์จีนต้องพูดถึงเรื่องสามก๊ก ยุคสามก๊กเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 1,800 ปีที่แล้ว

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

พูดถึงประวัติศาสตร์จีนต้องพูดถึงเรื่องสามก๊ก ยุคสามก๊กเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 1,800 ปีที่แล้ว เป็นยุคสมัยของจีนที่ถูกทำมาเป็นวรรณกรรมจนเป็นที่แพร่หลายที่สุดทั้งในจีนและทั่วโลก

ในไทยใครไม่เคยได้ยินชื่อ โจโฉ เล่าปี่ ซุนกวน ขงเบ้ง กวนอู เลย ก็ถือว่าแปลก ส่วนในจีนความอินในสามก๊กเข้มข้นกว่าเป็นธรรมดา

หรือกระทั่งในญี่ปุ่น บางครั้งก็ดูอินกว่าประเทศต้นฉบับ จับมาทำหุ่นกระบอกอลังการระดับชาติก็เคยมาแล้ว เขียนเป็นการ์ตูนพล็อตท้าทายบทบาทในประวัติศาสตร์ หรือทำเป็นเกมขายทั่วโลก ก็เอาหมด

สามก๊กที่โด่งดังไม่ใช่สามก๊กจากประวัติศาสตร์ แต่เป็นสามก๊กวรรณกรรม ที่ผ่านมามีคนเรียบเรียงแต่งเรื่องสามก๊กมาหลายฉบับ ที่แพร่หลายที่สุดก็ฉบับล่อกวนตง ซึ่งแต่งเมื่อ 600-700 ปีที่แล้ว

ซึ่งเป็นธรรมดาที่พอเอาประวัติศาสตร์มาแต่งเป็นวรรณกรรม ภาพลักษณ์ของบุคคลในนั้นก็ต้องโอเวอร์แอ็กติ้ง

ผู้นำอย่างเล่าปี่ในบันทึกประวัติศาสตร์เป็นคนมนุษยสัมพันธ์ดี ในวรรณกรรมก็ต้องให้ถึงขั้นพนมมือแก่ทุกชนชั้น ขงเบ้งที่ว่าเก่งก็ต้องให้มีสติปัญญาชาญฉลาดถึงขั้นหยั่งรู้ดินฟ้า โจโฉเป็นยังเติร์กผู้ปีนป่ายอำนาจก็ต้องวางบทบาทให้ฉลาดเจ้าเล่ห์เหลี่ยมจัด ทั้งนี้ทั้งนั้น Inspired on a true story.

ให้คนอ่านได้รักแรง เกลียดแรง จะได้ตราตรึง

ก็ถ้าพจมานมีบุคลิกสู้นิดยอมแพ้หน่อย ชายกลางตลกน้อยๆ ปนซีเรียสบ้าง ส่วนหม่อมแม่พูดจาค่อยไม่เก่ง บ้านสว่างวงศ์คงดับคาวงวรรณกรรม

วรรณกรรมมักต้องตัดความครึ่งๆ กลางๆ ของผู้คนที่ไม่จำเป็นทิ้งไป แล้วใส่สีสันจัดจ้านเข้าแทน หรือบางครั้งก็ไม่ใช่คนเดิมในประวัติศาสตร์เลยก็มี

สามก๊กไม่ได้ใส่สีเฉพาะเรื่องบุคคล ด้านเหตุการณ์ที่โม้จนคนอ่านส่วนใหญ่คิดว่าเกิดขึ้นจริงเลยก็มี เช่นเรื่องขงเบ้งใช้ “กลเมืองว่าง”

เรื่องมีอยู่ว่า ขงเบ้งใช้คนผิดพลาด ทำให้สูญเสียกองกำลังรักษาด่าน สุมาอี้ฝ่ายตรงข้ามจึงยกทัพเข้าประชิดเมือง

วิกฤตนี้ขงเบ้งต้องยอมเสี่ยง สั่งเปิดกำแพงเมืองทุกด้าน แล้วขึ้นไปเล่นดนตรีทำทีสบายใจบนเชิงเทิน เชื้อเชิญให้สุมาอี้เข้ามาจับ ปรากฏว่าสุมาอี้เกิดลังเล กลัวความชาญฉลาดของขงเบ้ง กลัวโดนซ้อนกลซุ่มโจมตี สุมาอี้จึงตัดสินใจถอยทัพไม่รุกต่อ เมืองนั้นจึงปลอดภัยอย่างฉิวเฉียด

ซึ่งอันที่จริงไม่มีเหตุการณ์นี้ในบันทึกประวัติศาสตร์แต่อย่างใด

แต่คนอ่านสามก๊กทั้งจีนไทย ฯลฯ ต่างเห็น “กลเมืองว่าง” เป็นกลยุทธ์สุดยอด หลายคนศึกษาเอามาใช้จริง เพราะมันตรงกับหลักสงครามจิตวิทยาอยู่เหมือนกัน (ลองถามพวกเล่นหุ้นดู)

สรุปว่าความโม้ของวรรณกรรม ในบางด้านก็เอามาใช้ประโยชน์กับชีวิตได้

ที่จริงเรื่องโม้เหล่านี้ล่อกวนตงไม่ได้คิดขึ้นเองทั้งหมด ชาวบ้านชาวช่องช่วยโม้เล็กโม้น้อยกันมาก่อนก็เยอะ

และความโม้ระดับชาวบ้านที่ยิ่งไปกันใหญ่ บางครั้งยังแปรสถานะมาเป็นที่พึ่งทางใจ เล่าปี่คือเทพเจ้าช่างจักสาน เตียวหุยเป็นเทพเจ้าของคนขายเนื้อ ถ้าให้สุดๆ ต้องระดับกวนอู เป็นทั้งเทพแห่งทรัพย์สิน เทพแห่งวงการช่างตัดผม (แต่ที่จริงกวนอูตัดหัว ไม่ใช่ตัดผม) เป็นเทพแห่งแก๊งสเตอร์ และแห่งตำรวจ ในองค์เดียว

ทั้งหมดผสมโรงด้วยการปั้นรูปปั้นแต่งองค์ทรงเครื่องบูชากราบไหว้ สร้างตำนานนิทานยิบย่อยแตกแขนง

ความจัดจ้านแบบชาวบ้านในเรื่องสามก๊กเยอะและเปรี้ยวหวานมันเค็มเป็นจับฉ่าย ส่วนวรรณกรรมคัดมาบางส่วนให้กลมกล่อมเป็นบรั่นดี

และที่จริงความศักดิ์สิทธิ์และตำนานที่งอกเงยแบบบ้านๆ ก็มีหน้าที่ของมันอยู่ สามก๊กและชาวบ้านมีความสัมพันธ์แบบพึ่งพา

สามก๊กสำหรับชาวบ้าน คือนามธรรมที่จับต้องได้ ชาวบ้านต้องการสัญลักษณ์ความซื่อสัตย์ก็หยิบเอากวนอูมาใช้ ต้องการระบายความคับแค้นขุนนางเจ้าเล่ห์ขี้ฉ้อก็ละเลงใส่ตัวละครโจโฉ

ชาวบ้านสำหรับสามก๊ก คือผู้ทำให้สามก๊กยังมีลมหายใจอยู่ทุกที่ ทุกเวลา

สุดท้ายประวัติศาสตร์ก็ว่ากันไปอย่างหนึ่ง วรรณกรรมก็ว่ากันไป ชาวบ้านก็ว่ากันไปอีกอย่าง

และเพราะมันสารพัดตามแต่ละคนจะยึดถือ พองิ้วหรือละครสามก๊กออกมาทีไร แต่ละคนก็จะมีตัวละครอยู่ในใจว่า เอ๊ะ! ไอ้นี่ไม่เหมือนโจโฉ เจ้านี้แสดงไม่สมบทบาทเล่าปี่ คนนี้ไม่เห็นเหมือนกวนอู

ทั้งที่เคยเห็นตัวจริงกันรึก็ไม่

แต่ก็เข้าใจได้ ก็สังคมและการเรียนรู้ได้บ่มเพาะให้เรามีตัวละครนั้นๆ อยู่ในใจเรียบร้อยแล้ว

เพราะสามก๊กประกอบด้วยภาพ 3 ภาพซ้อนกัน นั่นคือ 1.ภาพจากบันทึกประวัติศาสตร์ 2.ภาพจากวรรณกรรม และ 3.ภาพในใจชาวบ้าน ทั้งหมดมีทั้งส่วนซ้อนทับและแตกต่าง

วงประวัติศาสตร์เรียนรู้มาก็มีโจโฉของตัวเองแบบหนึ่ง วงอ่านวรรณกรรมอินมาก็มีโจโฉของตัวเองประมาณหนึ่ง วงชาวบ้านบ่มเพาะมาก็มีของตัวเองได้เช่นกัน และที่สำคัญคือภายในแต่ละวงยังมีสิทธิแตกต่างกันเอง

ความวุ่นวายของการมีภาพ 3 ภาพซ้อนกันอยู่ในเวลาเดียวกันก็มีอยู่บ้าง เพราะเวลาถกเถียงกันแบบเบลอๆ บางคนก็เผลอเอาโจโฉในประวัติศาสตร์จริงมานั่งหักล้างโจโฉตัววรรณกรรม บางคนหาว่ากวนอูในวรรณกรรมมีพฤติกรรมไม่ละเอียดลออเท่ากวนอูที่เขานับถือบูชา

ปรากฏการณ์นี้มีทั้งวงสามก๊กของไทยและของจีน เป็นเรื่องปกติ

นักวิชาการและครูบาอาจารย์ผู้มีความรู้ในจีน บอกเสมอว่า ภาพทั้ง 3 อยู่ร่วมกันได้ ขอแค่เมื่อถึงเวลาก็ต้องแยกแยะให้ได้ด้วย

นั่นหมายความว่าจะมีสามก๊กฉบับการ์ตูนเฮฮา ฉบับตีความกลับตาลปัตร หรือจะให้กวนอูเป็นเทพแห่งความรัก ขงเบ้งเป็นเทพแห่งกรมอุตุ ก็เป็นไปตามแต่พัฒนาการและชะตากรรมของสังคม แต่ถึงที่สุดแล้วเมื่อจะจริงจังขึ้นมา ก็น่าจะให้รู้ว่าไผเป็นต้นฉบับ ไผเป็นปรากฏการณ์งอกเงย

ส่วนจะชี้ต่อว่าวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่เหมือน ไม่จริง ไม่ตรง ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรม และจะมีประโยชน์ต่อสติปัญญาของสังคมอย่างยิ่งถ้าอธิบายว่าเพราะอะไร และจากมุมมองไหน แต่คงไม่มีใครมีสิทธิห้ามให้สามก๊กหยุดงอกเงย

สิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดที่ผมจะสารภาพก็คือ เนื้อหาข้างต้นผมไม่ได้คิดเอง แต่เป็นเนื้อหาสรุปคร่าวๆของรายการโทรทัศน์ของจีน เค้าเอาเรื่องพวกนี้ขึ้นมาคุยเป็นปกติแล้วคนดูรายการนี้ก็มีไม่น้อย

การให้ความรู้ของสื่อจีนที่สอนให้เท่าทันวรรณกรรม เท่าทันประวัติศาสตร์ของจีนดูไม่เลวเลย เพราะต่างเสริมความเข้าใจระหว่างนักประวัติศาสตร์ นักอ่าน และชาวบ้านตาดำๆ ไม่ให้เหวี่ยงใส่กันง่ายดายเกินไป เพราะทุกฝ่ายก็ต่างมีประโยชน์ในขอบข่ายของตนเอง