posttoday

‘ธรณ์’ รักษ์ทะเล

24 กันยายน 2559

ผลพวงจากไอเดีย “การปฏิรูปทะเลไทย” ของ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง

โดย...พิเชษฐ์ ชูรักษ์

ผลพวงจากไอเดีย “การปฏิรูปทะเลไทย” ของ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ผลักดัน “พีพี โมเดล” จนประสบความสำเร็จ แม้จะยังไม่ได้ทั้งระบบ แต่ก็ประจักษ์ผ่านยอดจัดเก็บรายได้ของอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ประจำปี 2559 (จัดเก็บระหว่างเดือน ต.ค. 2558-ส.ค. 2559) ที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวได้มากถึง 502 ล้านบาท ต่างกับปี 2558 ที่ทำได้เพียง 74 ล้านบาท ตัวเลขนี้สามารถอธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงระหว่างปริมาณนักท่องเที่ยวและการดูแลทรัพยากรทางทะเลได้เป็นอย่างดี

อาจารย์ธรณ์ ระบุว่า ในฐานะเป็นคนริเริ่ม “พีพี โมเดล” ซึ่งเกาะพีพีมีเนื้อที่ 387 ตารางกิโลเมตร ซึ่งประกอบไปด้วยหาดนพรัตน์ธารา สุสานหอย หาดไร่เลย์ ทะเลแหวก หมู่เกาะปอดะ และอื่นๆ ดำเนินการไม่นานเพียง 9 เดือน มีนักท่องเที่ยว 1.6 ล้านคน เทียบกับเกรทเบริเออร์ของออสเตรเลียมีนักท่องเที่ยว 2.4 ล้านคน/ปี ขณะที่มีเนื้อที่ 3.44 แสนตารางกิโลเมตร มีเกาะ 1,000 เกาะ มีแนวปะการัง 3,000 แห่ง ของเรามีประมาณ 20 แห่ง เมื่อเทียบระดับโลกตัวเลขนี้สะท้อนชัดว่าประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวมามากแค่ไหน

การดูแลทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น กรณีอุทยานหาดนพรัตน์ธาราฯ มีเรือยางเพียงลำเดียวในการดูแลนักท่องเที่ยว แต่รายได้รวมอาจจะเกินหมื่นล้าน ซึ่งทำให้พีพีเป็นเกาะที่มีการท่องเที่ยวทางทะเลมากที่สุดในโลก แต่ปัญหาที่ตามมาก็อีกมาก ขณะที่อุปกรณ์และบุคลากรไม่เพียงพอ

‘ธรณ์’ รักษ์ทะเล

 

“ตอนเริ่มโมเดลมีเรือมาขออนุญาต 90 ลำ ภายหลังมาขออนุญาตเพิ่มเป็น 1,500 ลำ ซึ่งเท่ากับว่าก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการขออนุญาต และนอกจากนี้ยังมีอยู่นอกระบบอีกประมาณ 300 ลำ ปัญหาบนเกาะมีเยอะ ทั้งการทิ้งน้ำเสีย ขยะ ซึ่งคนในพื้นที่ต้องให้ความร่วมมือ ผู้ประกอบการต้องให้ความร่วมมือ ผมทำก็ต้องพอมีอะไรพอให้ทำได้บ้าง

“ที่ผมเคยบอกมูลค่าทางทะเล 30 ล้านล้าน มันอาจจะมากกว่านั้น แทนที่จะขยายแหล่งท่องเที่ยว สิ่งแรกที่เราควรจะทำให้ได้ก่อนคือจัดการกับแหล่งท่องเที่ยวเก่าให้ได้ก่อน ซึ่งขณะนี้ทางอุทยานฯ ก็เริ่มทำ มีอุทยานต้นแบบ เช่น ดอยอินทนนท์ เขาใหญ่ แต่พีพีไปอีกสเต็ปแล้ว ถ้าทำได้เป้าหมายเราจะไปมรดกโลก

“โชคดีที่ตอนนั้นไม่ผ่าน เพราะถ้าฝรั่งมาเห็นก็อาจร้องกรี๊ดระงมและด่าเช็ดเม็ด แต่พม่าเขาเสนอไปแล้ว ในอีก 2 ปีพม่าก็จะได้แล้ว ถ้าพม่าได้ก่อน เวิลด์เฮอริเทจปั๊มลงไปก็จะกลายเป็นแบรนด์ จะทำให้สิ่งที่เราเคยฝันคือนักท่องเที่ยวไฮเอนด์ก็จะไปหมด มีแต่นักท่องเที่ยวแมส แต่คนมาก็จะห่วยลงเรื่อยๆ และมีปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาชญากรรมจะตามมาอีก”

ข้อเสนอแนะของคนรักษ์ทะเลอย่างอาจารย์ธรณ์ ก็คือ นโยบายการท่องเที่ยวจะต้องมีการประสานกันมากกว่านี้ ระหว่างการท่องเที่ยวกับการอนุรักษ์ เพราะฝ่ายอนุรักษ์เคยเป๋ไปแล้วครั้งหนึ่ง “ขณะนั้นกลายเป็นว่าอุทยานฯ ไปรับการท่องเที่ยว ทั้งที่มีหน้าที่ตรวจทะเล ตรวจป่า นักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามา แต่เขาบอกการท่องเที่ยวสำคัญก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เปิดร้านขายน้ำ เปิดร้านอาหาร กลายเป็นบริการนักท่องเที่ยว ก็มันสนุกกว่า เหนื่อยก็ไม่เหนื่อยมาก ทั้งที่เรื่องท่องเที่ยวไม่ใช่สาระของอุทยานแห่งชาติ ก็ต้องเรียกว่าเป๋

‘ธรณ์’ รักษ์ทะเล

 

“พอเอากลับมา เราก็จะบอกว่าอุทยานแห่งชาติ ทรัพยากรสำคัญที่สุด แต่ก่อนปิดกันที่ไหน หลังๆ ก็เริ่มปิด-เปิดเกาะ เช่น เกาะตาชัย และที่อื่นๆ อ่าวมาหยาก็ต้องถึงเวลาปิดบ้าง เพื่อแสดงให้เห็นว่าทรัพยากรสำคัญกว่า

“นอกกรมอุทยานก็มีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เขาก็มีมาตรา 17 ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 เช่น เกาะไข่ก็ต้องปิด ผมก็พยายามทำไป 2 ทางพร้อมกัน คนก็พูดถึง กระแสก็เริ่มเปลี่ยน เพราะเดิมทีคนไทยเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว นักท่องเที่ยวคือพระเจ้า ห้ามแตะ จะทำอะไรก็ได้

“ตอนนี้ถ้านักท่องเที่ยวห่วยมากันเยอะก็ไม่อยากได้ พอกระแสเปลี่ยน คนก็เริ่มเปลี่ยน อุทยานฯ ถ้าตั้งหลักให้ดีก็จะเปลี่ยนตาม และเริ่มดูแลได้ แต่ปัญหาคือปริมาณนักเที่ยวยังเพิ่มขึ้น มันก็ต้องวัดกัน

“แต่ถ้าแก้ให้ถูกจุด ต้องแก้นักท่องเที่ยวกลุ่มแมสพื้นที่เฉพาะที่กระจุกมาก โคตรกระจุก และทุ่มกำลังคนลงไปให้ถูกจุด เช่น อย่างที่นี่พื้นที่ใหญ่ รายได้เยอะ แต่คนไม่พอ นักวิทยาศาสตร์ทะเลเพิ่งขอกรมอุทยานฯ แต่ก่อนมีคนเดียว อีก 6 ปีก็จะเกษียณแล้ว

‘ธรณ์’ รักษ์ทะเล

 

“ฉะนั้นรายได้ของประเทศตอนนี้คือการท่องเที่ยว อย่างอื่นเข็นไม่รอด นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็กระจุกอยู่ในทะเล ถ้าเป็นผมสิ่งแแรกสุดแก้เรื่องระบบบำบัดน้ำเสียทั้งประเทศ เอาเรื่องเดียว เรื่องขยะก็ว่ากันไป พีพีมี 23 ตัน ก็ขนขึ้นฝั่ง ก็ยังดีกว่าทิ้งไว้บนเกาะ แต่น้ำเสียมันลงแนวปะการังหมด และไปจัดการแหล่งท่องเที่ยวกระจุกตัวให้ได้

นักวิชาการด้านประมง ระบุว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาพีพีก็เป็นนักท่องเที่ยวจีนที่มาจากภูเก็ต ผู้ประกอบการกลุ่มนี้เข้ามาซื้อกิจการที่ภูเก็ต แต่ขนคนมาเที่ยวที่พีพีแบบเดย์ทริป ไม่ใช่มาซื้อหรือทำกิจการที่กระบี่

“คราวก่อนนี้เรือโป๊ะที่จับได้ไม่มีคนไทยเลย มีแต่คนจีน มาจอดเรือนิ่งอยู่ไม่ต่ำกว่า 4 ปี ผมยึดแนวปะการังเลย พวกนี้เอาเครื่องบินชาร์เตอร์บินมา รถก็เอามา โรงแรมช่วงโลว์ไม่มีรัสเซีย เขาก็ขายคืนละ 800 คน หน้าไฮคืนละ 7,000 คน ไทยก็ยอม เพราะช่วงโลว์ไม่มีคน ถ้าเจ๊งก็มาซื้อ มาสร้างคอนโดเองอีก ไม่ใช่คอนโดหรูนะ แถวสนามบิน นักท่องเที่ยวมาก็ยัดมาอยู่ เรือก็มีเป็นร้อย เราก็ไม่ได้อะไร เขาก็พยายามจับกันอยู่”

ถามตรงๆ บางนโยบายการท่องเที่ยวของรัฐสวนทางกับการอนุรักษ์ เช่น กระบี่จะสร้างโรงไฟฟ้า สตูลจะสร้างท่าเรือนน้ำลึกปากบารา “ผมไม่ได้มีปัญหากับการพัฒนา แต่อยู่กับว่าจะพัฒนาที่ไหน ผมบอกแล้วว่าทะเลไทยมีชายฝั่ง 2,600 กิโลเมตร ไม่ถึง 10% ที่เป็นอุทยานแห่งชาติ เหลืออีก 90% ก็ไปพัฒนาในพื้นที่เหล่านี้สิ แต่ละพื้นที่มีการจัดตั้งที่แตกต่างกัน ผมไม่เคยเห็นมีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเปลี่ยนมาเป็นอุทยานแห่งชาติ ทำไมจะเอาอุทยานฯ ไปเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม

‘ธรณ์’ รักษ์ทะเล

 

“แต่ละพื้นที่ที่จัดตั้งขึ้นมาให้แต่ละหน่วยงานดูแล แต่ละหน่วยงานก็มีวัตถุประสงค์ของมัน ผมก็ไม่ได้เรียกร้องให้ทะเลทั้ง 100% ไม่ต้องมีอะไรเลย แต่พื้นที่ที่เป็นอุทยานฯ เป็นทรัพยากรที่ต้องดูแลและส่งต่อให้ลูกหลาน ไม่มีข้อไหนที่เขียนไว้ให้เก็บพื้นที่อุทยานฯ ไว้เป็นพื้นที่สำหรับการพัฒนาในอนาคต”

“กรณีโรงไฟฟ้ากระบี่ไม่ได้อยู่ในอุทยานแห่งชาติ อยู่ในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม เชิญไปว่ากันเอง ผมไม่ยุ่งเกี่ยว แต่ท่าเรือปากบารา ผมยืนยันไม่เห็นด้วย เพราะเป็นอุทยานแห่งชาติ  ถ้าอยู่นอกอุทยานฯ และไม่ส่งผลกระทบต่ออุทยานฯ อย่างรุนแรงก็ไปว่ากันเอง

“ผมไม่ได้เป็นนักวิชาการที่คัดค้านทุกอย่าง แต่ถ้าอยู่ในอุทยานแห่งชาติ ก็ต้องมีเหตุมีผล ทำไมพยายามจะเอาที่เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของประเทศไปพัฒนาอีก ที่ก็มีอีกตั้งเยอะ ไปที่อื่นสิ สร้างไม่ได้ก็เรื่องของคุณ

“สนามบินภูเก็ตที่จะขยาย ติดอุทยานฯ ถ้าสร้างแล้วแนวปะการังพัง ก็ไม่ควรสร้าง ถ้าถามว่าทางเลือกคืออะไร ไม่ใช่หน้าที่ผม ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสนามบิน และถ้าจะสร้าง อุทยานฯ ก็ต้องเก็บไว้ให้ได้ ส่วนไปสร้างที่ไหนไม่ใช่เรื่องของผม ผมไม่ต้องตอบ เขาชอบมาถามว่าให้สร้างที่ไหน ไม่รู้ แต่ที่ชัดเจนที่สุด คือ อุทยานฯ ก็คืออุทยานฯ จะมาถามทำไม

“ปัญหาคือเรื่องการสร้างท่าเรือภูเก็ตที่จะสร้างหลายที่ ซึ่งผมก็ค้านอยู่ดี ทำไมไม่ไปสร้างฝั่งตะวันออก ถ้าสร้างฝั่งตะวันตกลมมันเข้าจะสร้างทำไม จะใช้ได้กี่เดือน แต่ถ้าสร้างก็ต้องขออุทยานฯ ถ้าอุทยานฯ ไม่เห็นด้วยก็จบตรงนั้น แต่ที่ไม่มีทางพอ เพราะคนสร้างมันอยากสร้าง”

ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจนโยบายของรัฐจึงมุ่งเน้นแต่ปริมาณนักท่องเที่ยว “เฉพาะภูเก็ตปีละ 18 ล้านคน กระบี่อีก 5 ล้านคน รวมพังงาแล้วคงกว่า 30 กว่าล้าน ส่วนนักท่องเที่ยวไทยก็เท่าเดิม เที่ยวแค่ไหนก็เท่าเดิม ขณะนี้รายได้จากต่างชาติ 2 เท่า ปัญหาคือนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ไปเที่ยว 12 เมืองที่เขาต้องการให้ไป แต่มาที่นี่ที่เดียว มาซื้อจิวเวลรี่ที่นี่ มาจับปลาดาวถ่ายรูป มาจับปะการังถ่ายรูป

“ตอนนี้อุทยานฯ กำลังเตรียมจับกุมเพราะผิดไซเตส เพราะทำผิดกฎหมายมีคนกี่คนที่ถืองาช้างกลับ แต่เศษปะการังถือกันทุกคน ที่กองอยู่ที่สนามบินก็ได้แค่ริบ ถ้าจับก็ดีจะได้ตกเครื่องกันบ้าง ซึ่งการท่าฯ เขาไม่มีอำนาจดำเนินคดี ต้องให้เจ้าหน้าที่ไซเตสไปจับ ปรับ 2 หมื่นบาท ขณะนี้กรมอุทยานฯ กำลังดำเนินการ” ธรณ์ ระบุ

ทิศทางและแนวโน้มการปฏิรูปทะเลไทยจะเดินไปสู่จุดไหน ไม่อาจคาดเดาได้ เพราะมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่อาจารย์ธรณ์ ย้ำว่า เขาเองยังมุ่งมั่นรักษาทะเลไทย ทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อไป โดยจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อเก็บทรัพยากรทางทะเลไว้ให้ลูกหลาน