posttoday

ทุกชีวิตต้องมีห้องสมุด ‘ห้องสมุดมีชีวิต’

19 กันยายน 2559

ความรู้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมี และทุกที่ควรมีแหล่งความรู้ให้บริการฟรีแก่ประชาชน สังคมอุดมคติเช่นนี้ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย

โดย...กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

ความรู้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมี และทุกที่ควรมีแหล่งความรู้ให้บริการฟรีแก่ประชาชน สังคมอุดมคติเช่นนี้ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ยังน่าดีใจที่มีคนกลุ่มหนึ่งพยายามทำให้มันเกิดขึ้น เรื่องนี้ต้องยกเครดิตให้คนทำงานในสำนักอุทยานการเรียนรู้ ที่พยายามสร้าง “อุทยานการเรียนรู้” (TK Park-Thailand Knowledge Park) ขึ้นทั่วประเทศ ทำสำเร็จไปแล้ว 33 แห่ง ใน 24 จังหวัด ทั้งในรูปแบบของทีเคพาร์ค ห้องสมุดชุมชน และแหล่งเรียนรู้

อุทยานการเรียนรู้เกิดขึ้นแห่งแรกบนชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ นับเป็นครั้งแรกที่ห้องสมุดมีหน้าตาแปลกใหม่ตามคอนเซ็ปต์ “ห้องสมุดมีชีวิต” ห้องสมุดที่ทำให้ทุกคนไม่ต้องอ่านหนังสือเงียบๆ เพียงลำพัง แต่เปลี่ยนบรรยากาศให้ทุกคนมาอ่านหนังสือร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน มาเล่นคอมพิวเตอร์ร่วมกัน หรือจับกลุ่มติวหนังสือกัน นำร่องไปสู่อุทยานการเรียนรู้ในพื้นที่อื่นๆ ทั่วไทย อย่างแห่งที่ 2 เกิดขึ้นใน จ.ยะลา พื้นที่เปราะบางใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สามารถสร้างความสมานฉันท์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเป็นผลพลอยได้อันงดงามต่อสังคม

ต้อย-ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล ที่ปรึกษาสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานฯ เจ้าของโครงการห้องสมุดมีชีวิต เห็นว่า แหล่งเรียนรู้ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวง ทั้งที่ความรู้เป็นแรงขับเคลื่อนชั้นดีของประเทศ

ทุกชีวิตต้องมีห้องสมุด  ‘ห้องสมุดมีชีวิต’

 

คำว่า ห้องสมุดมีชีวิต หมายความว่า มีชีวิตในห้องสมุด มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กับผู้ใช้บริการ “ห้องสมุดต้องเป็นบริการสาธารณะ” ทัศนัยกล่าวต่อ... “แนวคิดของห้องสมุดเปลี่ยนไป ห้องสมุดไม่ใช่ที่เก็บหนังสือ ไม่ได้ให้บริการแค่หนังสืออย่างเดียว แต่ห้องสมุดต้องเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นพื้นที่ที่ทุกคนอยากเข้า นอกเหนือจากบ้าน จากโรงเรียน จากที่ทำงาน ให้ห้องสมุดเป็นพื้นที่ที่สาม ที่พอเข้ามาแล้วรู้สึกปลอดภัย รู้สึกว่าเป็นที่ของเขา รู้สึกว่าเป็นบ้านหลังที่สาม พอเข้ามาแล้วจะมีสมาชิกในบ้านที่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้” เธอเพิ่มเติม

รูปแบบของอุทยานการเรียนรู้ไม่ถูกจำกัดแค่ในอาคาร แต่เป็นพื้นที่ใดก็ได้อย่าง สวน ป่า ชุมชน หรืออะไรก็ตามที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นได้ เป็นพื้นที่ที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดสังคมที่ช่วยเหลือแบ่งปันกัน มีความโอบอ้อมกันและกัน มีความรู้สึกเป็นครอบครัวเดียวกัน ให้เป็นสังคมใหม่ที่เต็มไปด้วยความคิดและความรู้

ชายแดนใต้และค่ายทหาร

อุทยานการเรียนรู้ ยะลา เป็นภูมิภาคแห่งแรกหลังจากเปิด ทีเค พาร์ค ที่กรุงเทพฯ จากแนวคิดที่จะขยายเครือข่ายไปยังต่างจังหวัด ซึ่งในตอนนั้น (ปี 2548) จ.ยะลา มีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และมีความพร้อมที่จะเริ่มต้น เจตนารมณ์ของอุทยานฯ จะช่วยแบ่งปัน และกระจายโอกาสในการเข้าถึงการอ่านสำหรับเด็กและเยาวชนใน จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ทั้งยังมีภารกิจสำคัญในการเป็นศูนย์กลาง เพื่อกระจายองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการห้องสมุดมีชีวิตไปยังหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง

ทุกชีวิตต้องมีห้องสมุด  ‘ห้องสมุดมีชีวิต’

“หลายคนอาจมองว่า จ.ยะลา เป็นพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ น่ากลัว เป็นพื้นที่ของความขัดแย้ง แต่อุทยานฯ ไม่เคยเน้นเรื่องความต่างในศาสนาหรือเชื้อชาติใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้ไม่ว่าไทยพุทธ มุสลิม จีน ทุกคนทำกิจกรรมเดียวกัน อ่านหนังสือเหมือนกัน จึงเรียกได้ว่าห้องสมุดเป็นพื้นที่สมานฉันท์ ด้วยความรู้ ด้วยความเข้าอกเข้าใจกันในสังคมเดียวกัน” ดร.ทัศนัยกล่าว โดยปีที่ผ่านมา อุทยานการเรียนรู้ยะลา มีผู้ใช้บริการกว่า 2 แสนครั้ง และมีแนวโน้มที่จะมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ อุทยานการเรียนรู้ยังขยายไปสู่ค่ายทหาร ณ อุทยานการเรียนรู้ ศูนย์การเรียนรู้ค่ายสุนารี (SR Park) จ.นครราชสีมา ตามนโยบายให้กองทัพเป็นองค์กรของการเรียนรู้ ทางกองทัพภาคที่ 2 จึงได้นำ
รูปแบบของห้องสมุดมีชีวิตมาใช้ในพื้นที่ โดย พล.อ.มารุต ลิ้มเจริญ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก และที่ปรึกษา เอสอาร์ พาร์ค เผยว่า “เวลาที่พูดถึงอำนาจการรบนั้น การสร้างอำนาจการรบของทางทหาร นอกจากจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับยุทโธปกรณ์แล้ว สิ่งสำคัญที่ไม่แพ้กัน คือ คนและความรู้ ซึ่งเป็นอำนาจการรบที่ไม่มีตัวตน”

ล่าสุด สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ เพิ่งเปิดตัวอุทยานการเรียนรู้ ร้อยเอ็ด ห้องสมุดมีชีวิตเต็มรูปแบบแห่งแรกในภาคอีสาน หวังจะพัฒนาให้ จ.ร้อยเอ็ด เป็นศูนย์กลางการศึกษาของภูมิภาค

ทุกชีวิตต้องมีห้องสมุด  ‘ห้องสมุดมีชีวิต’

เด็กกรุงเทพฯ เด็กชนบท

ในด้านการเข้าถึงแหล่งความรู้ระหว่างเด็กกรุงเทพฯ และเด็กต่างจังหวัด ทัศนัย มองว่า มีความได้เปรียบเสียเปรียบกันละแบบ กล่าวคือ เด็กกรุงเทพฯ ได้เปรียบในการเข้าถึงข้อมูลได้หลายทาง ทั้งโรงเรียน ห้องสมุด และอินเทอร์เน็ต แต่สิ่งที่เด็กกรุงเทพฯ เสียเปรียบ คือ เรื่องเวลา

“เด็กกรุงเทพฯ อาจไม่มีเวลาเท่าเด็กต่างจังหวัด เพราะเสียเวลาไปกับการเดินทาง ไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากเท่าเด็กต่างจังหวัด เด็กต่างจังหวัดเขามีเวลา เขามีสภาวะแวดล้อมที่น่าเรียนรู้ โรงเรียนกว้างขวาง มีเวลาเรียนรู้นอกห้องเรียนมากกว่า แต่เรื่องระบบการศึกษาในโรงเรียนหรือการเข้าถึงข้อมูลในห้องสมุดหรือในอินเทอร์เน็ตอาจสู้เด็กกรุงเทพฯ ไม่ได้ อุทยานการเรียนรู้ที่ขยายไปสู่จังหวัดต่างๆ จึงเป็นตัวช่วยสร้างการศึกษาที่เท่าเทียม และหากระบบอินเทอร์เน็ตเข้าถึงทุกพื้นที่ก็จะเป็นอีกช่องทางให้เด็กได้เรียนรู้”

ดร.ทัศนัย ยังกล่าวด้วยว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดชีวิต สามารถหาได้จากหนังสือ ประสบการณ์ ความรู้จากพ่อแม่ ตายาย จากปราชญ์ท้องถิ่นที่ถ่ายทอดต่อกันมา และความรู้ที่ล่องลอยอยู่กลางอากาศ เช่น คอร์สออนไลน์

ทุกชีวิตต้องมีห้องสมุด  ‘ห้องสมุดมีชีวิต’

 

“สำหรับคนต่างจังหวัดจะมีคำถามว่า เขามีหนังสือที่อยากอ่านหรือเปล่า การกระจายหนังสือมีความเท่าเทียมและทั่วถึงไหม เราอำนวยความสะดวกให้หนังสือไปสู่มือผู้อ่านได้สะดวกสบายแล้วหรือยัง คนไทยอ่านหนังสือเยอะก็จริง แต่เราต้องตอบคำถามนี้ให้ได้”

นอกจากนี้ ถ้าพูดถึงเรื่องระบบการศึกษาของไทย เธอเห็นว่า เด็กไทยเรียนมาก แต่อาจไม่จำเป็น ความปรารถนาดีของผู้ใหญ่ที่อยากให้เด็กไทยเรียนรู้หลากหลาย แต่ก็มีคำถามต่อว่า หลักสูตรของเด็กเมืองกับเด็กชนบทจำเป็นต้องเหมือนกันหรือเปล่า

“หวังว่าการปฏิรูปการศึกษาที่กำลังเริ่มต้นอยู่ตอนนี้จะช่วยให้การศึกษาทำให้เด็กไทยไปสู่ฝันของพวกเขาได้ อย่างนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ก็อยากให้เป็นแบบนั้นจริงๆ ไม่ใช่เพิ่มเวลากวดวิชาแล้วลดวิชาทักษะการใช้ชีวิต” เธอทิ้งท้าย

ทุกชีวิตต้องมีห้องสมุด  ‘ห้องสมุดมีชีวิต’

ปีหน้าอุทยานการเรียนรู้จะขยายไปสู่ 6 จังหวัด ได้แก่ จ.นครราชสีมา แม่ฮ่องสอน กระบี่ ภูเก็ต ปัตตานี และนราธิวาส รวมทั้งจะขยายไปสู่โรงเรียนตระเวนชายแดนทุกแห่ง จากในตอนนี้มีเครือข่ายห้องสมุดในโรงเรียนมากถึง 300 แห่งทั่วประเทศไทย

สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือ ทีเค พาร์ค เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ก่อตั้งมานาน 12 ปี มีนโยบายหลักด้านการอ่าน การเรียนรู้ และการสร้างแหล่งเรียนรู้ หากนโยบายเหล่านี้ได้บรรจุเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ประชาชนก็จะสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง คนในประเทศก็จะถูกพัฒนาความคิด พัฒนาปัญญา ซึ่งคุณภาพของคนเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศ