posttoday

ซีอีโอ ยุคดิจิทัล

17 กันยายน 2559

“ณัฐนัย อนันตรัมพร” หรือ “เก็ท” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม (ITEL) วัย 29 ปี

โดย...บงกชรัตน์ สร้อยทอง ภาพ... ภัทรชัย ปรีชาพานิช

“ณัฐนัย อนันตรัมพร” หรือ “เก็ท” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม (ITEL) วัย 29 ปี ลูกชายคนที่ 2 ของ “สมบัติ อนันตรัมพร” ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น (ILINK) ที่เป็นผู้ก่อตั้งและดำเนินธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายสายสัญญาณสื่อสารคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม และธุรกิจวิศวกรรมรับเหมาวางสายสัญญาณ

รุ่นลูกปลุกปั้นและต่อยอดเป็น ITEL ธุรกิจโทรคมนาคม ให้บริการวงจรสื่อสารความเร็วสูงผ่านโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง พร้อมให้บริการพื้นที่เซิร์ฟเวอร์และศูนย์สำรองข้อมูล โดยใช้เวลา 5 ปี ด้วยงบ 2,000 ล้านบาท และเพิ่งนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา

เก็ท เล่าว่า ตลอดการใช้ชีวิตหรือการทำงาน รวมถึงพี่สาวและน้องสาวทั้งหมด 4 คน จริงๆ คือแบบแผนที่คุณพ่อได้ออกแบบไว้ และมีการกล่อมทำให้ซึมซับและเรียนรู้ ตามแนวคิดที่เขาได้เลือกเอาไว้แล้ว พี่สาวคนโตเป็นหมอตามที่คุณพ่อคิด เพราะพ่อมองว่าหมอสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้

เมื่อเป็นผู้ชายคนเดียว คุณพ่อจะพูดให้ฟังตลอดว่าต้องดูแลหน้าบ้านเป็นหลักให้พี่และน้อง ควรเรียนด้านวิศวกรรมเพื่อเรียนรู้ความเป็นเหตุเป็นผล และไปต่อปริญญาโทด้านการเงินเพื่อให้ครอบคลุมเหมือนที่หลายคนเขาประสบความสำเร็จกัน สิ่งที่เห็นตั้งแต่เด็กๆ พ่อเขาพาไปดูงาน คิดว่าเขาพาไปเที่ยวเท่านั้น แต่สิ่งนั้นมันซึมซับและทำให้เราได้รับแรงบันดาลใจจากพ่อไปโดยปริยาย

เขา กล่าวว่า พื้นฐานไม่ได้เป็นคนเรียนเก่ง แต่ด้วยวิธีการกล่อมและการดูแลของพ่อทำให้มาถึงวันนี้ได้ แม้ระหว่างทางจากความเป็นเด็กทำให้ไม่เข้าใจเหตุผล เพราะเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น อันดับที่จะดีอยู่ใน 10 อันดับแรก พ่อก็เป็นคนกล่อมให้ลองสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และติดตัวสำรองอันดับที่ 767

“พอเข้าไปเกิดช็อกกับสภาพแวดล้อมและโกรธพ่อมาก เพราะเดิมอยู่โรงเรียนเก่าไม่ต้องอ่านหนังสือมาก เกรดเฉลี่ยก็อยู่ระดับ 3 กว่าอยู่แล้ว แต่ที่ใหม่เกรดได้ 3 พอดี แถมตกวิชาเคมีด้วย ก็สู้กันไป จนจะเข้ามหาวิทยาลัยพ่อก็อยากให้เดินตามรอยเขาเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี บางมด แต่แอดมิชชั่นได้ที่คณะวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์และคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ความคิดถึงเพื่อนที่ส่วนใหญ่ก็ต้องเข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสอบตรงติดที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ แต่เป็นสาขาเครื่องกล ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับงานที่จะทำน้อยกว่าและใจพ่อก็อยากให้เข้าที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไม่กล้าไปพูดกับเขาตรงๆ จึงเขียนจดหมายถึงพ่อแล้วไปสอดไว้ที่ประตูบอกว่า ที่ผ่านมาไม่เคยขออะไรพ่อเลย แต่จะขอเรียนที่จุฬาฯ สรุปพ่อไปปรึกษากับแม่แล้วเขียนจดหมายกลับมาหาเราว่า แล้วแต่ลูก”

ความคิดแบบเถ้าแก่ที่ซึบซัมวิธีการใช้เงินและการหาเงินจากพ่อเขาก็เริ่มฉายแววตั้งแต่ระดับมัธยม เพราะความที่อยากมีเงินใช้เองและไม่กล้าขอ เริ่มต้นจากที่มีโทรศัพท์มือถือของตัวเอง เพราะที่ผ่านมาจะใช้ต่อจากพี่สาว ม.4-5 เกมแร็กนาร็อกกำลังดัง เลยหาเงินจากการเก็บไอเท็มเกมที่สูงๆ เผื่อมีคนสนใจแล้วไปเปลี่ยนเป็นเงินจริง จนสามารถซื้อโนเกีย 8310 ที่ตอนนั้นราคา 1.5 หมื่นบาท แต่เลือกซื้อมือสองที่ 1.2 หมื่นบาท และใช้ไปตั้งแต่ ม.5 และใช้ไปจนถึงเรียนมหาวิทยาลัยปีที่ 1

นอกจากนั้น ได้รู้จักบริหารจัดการเงินตั้งแต่เด็ก เพราะเรียนมหาวิทยาลัยได้ค่าขนมวันละ 150 บาท เช้าที่บ้านไปส่ง แต่ตอนเย็นให้กลับเอง แต่ค่ารถไฟฟ้าบีทีเอส ต่อรถเมล์ ต่อรถสองแถวกลับบ้านที่วัชรพล ทำให้เขาเหลือใช้จ่ายเพียงวันละ 80 บาท ฉะนั้นวันหนึ่งที่เขาจะไปกินฟูจิกับเพื่อนต้องคิดหนักแล้ว เพราะแค่ข้าวหน้าแกงกะหรี่ราคา 140 กว่าบาทแล้ว

แนวคิดการเป็นเจ้าของธุรกิจเองยังไม่จบอยู่แค่นั้น เพราะปี 3 จากความชอบส่วนตัวได้แปลงเป็นธุรกิจจนสามารถหาเงินแตะหลักล้านบาทได้แล้ว จุดเริ่มต้นคือความชอบติดไฟรถเป็นซีนอนด้วยต้นทุนที่ 3,000 บาท แล้วลองไปโพสต์ในอินเทอร์เน็ตบริการติดตั้ง 8,000 บาท พบว่ามีคนสนใจ ทำให้ได้ส่วนต่างถึง 5,000 บาท จึงเริ่มทำกับเพื่อนจริงจังกัน โดยหลักคิดตอนนั้นคือพยายามฝึกฝนถอดใส่กันชนฝึกฝนไปเรื่อยก่อน จนได้แนวคิดจากที่พ่อคอยสอนไว้ว่า ถ้าหมอ 1 คน รักคนไข้ได้ 1 คน เรียนวิศวะ 1 คน ก็เปลี่ยนชิ้นส่วนอะไรได้ทีละอัน แต่ถ้าคิดอย่างเถ้าแก่ต้องหาคนมาช่วยที่จะทำให้เราติดได้เยอะขึ้นและแบ่งกำไรกัน ทำให้เรามองไปที่อู่รถที่เราหาลูกค้ามาแล้วจ้างอู่ติดให้เขาไป 500 บาท/คัน ทำได้ 2 ปี ได้เงินมา 2 ล้านบาท แต่ทำไปเรื่อยๆ ราคาเริ่มลดลงตามวงจร สุดท้ายก็ต้องเลิกไปเพราะเริ่มขาดทุน

สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ทำให้คิดไปถึงคำสอนที่บอกเราตลอดเวลาว่า “ถ้าอยากมีก็ต้องทำ” เพราะพ่อเคยขายตังเมคล้ายลอตเตอรี่มาก่อน สมัยพ่อทำอะไรที่แบกหามได้ก็จะทำหมด บวกกับที่เขาเริ่มคิดว่าการทำธุรกิจต้องควรเริ่มจากความชอบก่อนเป็นลำดับแรก และเมื่อมารวมกับแรงบันดาลใจว่าอยากมีเงิน และมองทุกอย่างให้รอบด้านพยายามเชื่อมโยงเครือข่าย ทุกอย่างก็น่าจะเดินไปได้

ช่วงเรียนปริญญาตรีอยากทำงานเหมือนคนทั่วไปก่อน แต่สรุปพ่อไม่ให้ โยนโจทย์มาว่าต้องไปเรียนต่อด้านการเงินและมหาวิทยาลัยชื่อดัง แต่ที่ผ่านมาเรียนคาบเส้นมาตลอดแต่ไปสหรัฐต้องมี TOEFL 100 คะแนน ทำได้ 101 คะแนน GMAT ต้องได้ 650 คะแนน และทำได้ 652 คะแนน มาสะดุดตรงที่เกรดเฉลี่ยที่มหาวิทยาลัยจะตอบรับคือ 2.75 แต่เขาทำได้ 2.7 เท่านั้น ซึ่งก็ต้องไปเจรจากับมหาวิทยาลัย ทำให้ต้องเรียนรู้ถึงความพยายามฝ่าฟัน

เมื่อไปเรียนก็ต้องบริหารค่าใช้จ่ายเพราะที่บ้านส่งมาให้เดือนละ 2,000 เหรียญสหรัฐ/เดือน แต่ค่าหอพักก็ 1,500 เหรียญสหรัฐแล้ว ความที่ทำกับข้าวไม่เป็นทุกวันจะกินไก่ต้มจิ้มน้ำพริกแม่ประนอม เพราะสามารถกินได้เกือบทั้งสัปดาห์ด้วยเงิน 8 เหรียญ ให้รางวัลตัวเองแค่กินข้าวกะเพราสัปดาห์ละครั้ง และหาเงินเพิ่มด้วยการเป็นผู้จัดการโครงการทำโปรแกรม SAP และปิดงานได้เร็วกว่าที่กำหนดไว้จนได้เงินมา 1.4 หมื่นเหรียญสหรัฐ

เมื่อเรียนจบยืนยันจะไม่กลับบ้าน เพราะไม่อยากกลับไปเป็นเงาพ่อ และตั้งเป้าหมายว่าจะประสบความสำเร็จจากที่นี่ไปให้ได้ก่อน เขียนสมัครงานแบบลงรายละเอียดแบบ 1 ต่อ 1 บริษัท เลยส่งไปทั้งหมด 700 แห่ง มี 1 บริษัทให้เป็นผู้จัดหาการลงทุนโดยตรงจากแคนาดามาลงทุนในสหรัฐ ได้เงินตอบแทน 9 หมื่นเหรียญสหรัฐ/ปี แปลงเป็นเงินบาท 2-3 ล้านบาท ด้วยอายุ 22-23 ปี ตอนนั้นถือว่าดีมาก แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมา

กลับมาก็เจอเหตุการณ์น้ำท่วมที่บ้าน และให้พักแค่ 3 วัน เริ่มทำงานในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป โดยไม่บอกว่าต้องให้ทำอะไรบ้าง เมื่อเข้ามาอย่างนั้นย่อมไม่ได้เป็นที่ยอมรับจากพนักงานแน่ ทำให้ต้องเริ่มหาวิธีให้ได้รับการยอมรับ จากเข้าไปคลุกคลีและสร้างผลงานให้เข้าตาทุกคน วิธีง่ายสุดคือการเข้าไปแก้จุดอ่อนเอามาทำ เพราะการไปสร้างใหม่เลยจะยาก งานไหนที่เข้าถึงลูกค้าไม่ได้ เราเริ่มไปคุยเองทำเองใหม่ ซึ่งก็ผ่านการที่คนอื่นหรือลูกค้าไม่เชื่อใจและดูถูก เปลี่ยนให้เป็นการสร้างแรงขับและพลังในการทำงานแทน จนนำไปสู่การยอมรับ

“จุดอ่อนที่เห็น คือ ILINK มีรายได้เติบโตกระโดดเมื่อมีโครงการเข้ามา ปัญหาคือไม่มีรายได้ที่ต่อเนื่อง จึงเสนอธุรกิจโครงข่ายโทรคมนาคมขึ้น เพราะโทรคมนาคมเป็นกระดูกสันหลังด้านการสื่อสาร และเห็นว่าบริษัทมีกระแสเงินสด 600 ล้านบาท แต่ความจริงเงินลงทุนจริงคือ 2,000 ล้านบาท จึงเดินสายเจรจากับธนาคารจนได้เงินกู้ 1,000 กว่าล้านบาท และขออนุมัติที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วย เพราะเป็นอนาคตของบริษัท และทำให้ได้รับการยอมรับจากที่ผู้ถือหุ้น จากเดิมมองเป็นการวางแผนการลงทุนเป็น 10 ปี แต่บอกพ่อว่าธุรกิจนี้จะช้าไม่ได้ ช้าคือแพ้ แม้แต่สลึงเดียวก็ยังไม่ได้คืน แต่ถ้าชนไปจนสุดจะมีโอกาสชนะ กลายเป็นเงินลงทุนทั้งหมด 5 ปี แต่สามารถครอบคลุมวางสายใยแก้วนำแสงที่ต่างจากคู่แข่งและครอบคลุมพื้นที่ได้ทั้งหมด 75 จังหวัดทั่วไทย จนตอนนั้นใครๆ ก็เรียกผมว่าตัวผลาญเงิน”

ช่วงเริ่มต้นโครงการนั้น คุณพ่อก็บอกว่า หากผิดพลาดอะไรขึ้นมาอย่างน้อยเก็ทก็ได้เรียนรู้ เพราะเอาเข้าจริงเงินไม่ใช่ทุกอย่าง เพราะธุรกิจเดิมเรายังมีอยู่จะได้รู้อะไรที่ทำแล้วเจ๊ง แต่ถ้าไปได้แล้วเกิดสำเร็จขึ้นมาก็เท่ากับได้โบนัสที่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งเรารู้ว่าเขาก็คอยประคองให้เราได้เรียนรู้อยู่

ตลอดที่เติบโตมาก็มีความกดดัน รู้สึกน้อยใจ และไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำให้เขาด้วย แต่เมื่อคุณพ่อสวนเขามาว่า “เก็ทยังดียังมีคนที่ทำให้และอยู่กับเก็ท แต่พ่อไม่ว่าจะมีเงินขนาดไหน แต่ทั้งพ่อทั้งแม่เขาก็ไม่ได้อยู่เห็นความสำเร็จของเราเลย” จากวันนั้นเขาก็ฉุกคิด และตั้งใจที่จะทำให้พ่อและแม่เห็นและให้เขาพูดได้อย่างเต็มปากว่าเขารู้สึกภูมิใจในตัวเรา ซึ่งที่ผ่านมาเขาไม่เคยพูดให้เราฟัง แต่ก็ไปบอกกับคนอื่น ซึ่งเราก็อยากได้ยินกับหูเราเองสักครั้ง

จากเดิมที่เติบโตภายใต้บริษัทแม่ แต่วันนี้ ITEL ที่เขาเติบโตเตรียมออกมาเติบโตเอง สิ่งที่เขายึดถือเสมอมา คือ ต้องนำเสนอสิ่งที่มี สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า เรามีหน้าเดียวกับลูกค้าคือเสนอสิ่งที่ดีที่สุด ไม่ต้องมาต่อรองผม เมื่อทุน 20 ผมขอกำไร 20% เพราะเป็นปกติการทำธุรกิจต้องมีกำไร “แสดงความจริงใจกับธุรกิจและลูกค้าตั้งแต่แรก” และสำหรับลูกน้องบอกเลยว่าใครที่ผมเรียกหรือให้มาช่วยทำงาน นั่นแสดงว่าผมไว้ใจหมด

คู่แข่งในตลาดมีประมาณ 8-9 ราย ล้วนเป็นรายใหญ่ แต่รายใหญ่ก็มีจุดอ่อน แต่โมเดลธุรกิจตั้งแต่ ILINK ไม่ได้เริ่มจากความคิดของเรา แต่มันเกิดจากการก๊อบปี้จากสิ่งที่มีอยู่แล้ว ดึงจุดแข็งทุกอย่างมาประกอบร่างและอาศัยช่องว่างหรือจุดอ่อนที่เห็นมาพัฒนาต่อ หรือเรียกว่า C&D (ก๊อบปี้และพัฒนา) ไปไม่มีวันหยุด โดยเฉพาะธุรกิจใหม่อย่างศูนย์รับฝากข้อมูลที่มากับความที่ลูกค้าเหมือนฝากหัวใจเขาเอาไว้ โอกาสเกิดความผิดพลาดย่อมมีได้ แต่ทำอย่างไรให้เขาเชื่อใจเรา สิ่งที่เกิดขึ้นเราไม่มีวันสั่งลูกค้าได้แต่เราสามารถสั่งตัวเองได้ ว่าต้องทำงานให้เร็ว 24 ชั่วโมง หากเกิดเหตุอะไรเราต้องอยู่กับเขา

พ่อยังย้ำเสมอว่า การร่วมมือของผู้บริหารเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ทำงานกับพนักงานผู้บริหารต้องลงมา นี่คือหลักการที่คุณพ่อยึดหลักมาตลอด โดยอิงมาจากพระราชดำรัสของในหลวงที่ท่านจะสอนให้คิดใหญ่ แต่เวลาทำก็ต้องลงให้ลึกในรายละเอียด ทำให้ต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับพนักงานเสมอ และให้เขาสัมผัสหรือเข้าถึงเราได้ เมื่อละเอียดและเชื่อมต่อกับเขา สิ่งที่ปรากฏคือความผิดพลาดในเนื้องานจะน้อยลง

เมื่อต้องทำงานกับพ่อ พ่อจะเป็นคนฝ่ายตั้งรับและปล่อยให้คิด ที่ผ่านมารุ่นที่ 2 ส่วนใหญ่รุ่นแรกพ่อจะคิดให้และลูกทำตาม แต่เขาพ่อให้โอกาสให้รุก จนบางทีพ่อรุกมาตัวเขาก็จะไม่ยอมเพราะเคยชินกับที่พ่อยอมมา อะไรที่ผมไม่เห็นด้วยก็จะบอกว่ามันไม่ใช่ มันผิด ก็จะได้สติจากเขาว่า ให้ใจเย็นๆ ก่อน ฟังก่อน เพราะปกติคนฟังจะได้เปรียบ อีกทั้งสิ่งที่พ่อแสดงให้เห็นคือ แกเอามาประมวลผลก่อนจากสิ่งที่ฟัง ซึ่งนำมาปรับใช้กับการทำงานได้ เพราะต้องฟังลูกค้าก่อน ไม่ใช่อยากขายอะไรก็พูดไปกับสิ่งที่เรามีและอยากนำเสนอ ปรากฏลูกค้าไม่ได้ต้องการหรือมีปัญหาในเรื่องนี้ก็จะเสียเวลากันไปทั้งคู่

โมเดลธุรกิจของคุณพ่อที่ยกให้เห็นอยู่เป็นประจำ คือ เอามาจาก “ร้านอาหารซ้งโภชนา” ที่ทุกเดือนไปกินจะมีเมนูใหม่ออกมาให้ลูกค้าได้ลองเสมอ แสดงว่าเขาพัฒนาทุกวัน ซึ่งทำให้เห็นได้ว่า คนที่จะทำธุรกิจให้ชนะได้ ต้องเป็นคนที่ฟัง คนที่ไม่หยุดเรียนรู้ และเป็นคนที่สู้ เพราะหากถ้าคิดว่าคนรวยแล้วทุกอย่างก็จะจบ เพราะคนอื่นเขาจะวิ่งไม่หยุด

นอกจากนั้น สิ่งที่ผมยึดหลักการใช้ชีวิตและการทำงานมาจากพ่อ คือ การเป็นนักสู้ สู้ให้ได้ในทุกสถานการณ์ เมื่อปี 2530 พ่อคิดการใหญ่ต้องก้าวออกมาจากพนักงานบริษัท แม้ไม่รู้ว่าการลาออกครั้งนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่การคิดใหญ่ของพ่อ คือออกมาแล้วก็ต้องทำเลย ดังนั้นคำว่า “จะ” ค่อนข้างแย่ และพ่อยังได้แรงเสริมที่ดีจากหลังบ้านที่ดีจากคุณแม่ ที่เป็นคนที่มีความละเอียดรอบคอบและลงในรายละเอียดมาก หลายเรื่องที่มุมผู้ชายมองว่าเป็นเรื่องทั่วไป แล้วจะอะไรหนักหนา แต่ด้วยความละเอียดอย่างนี้จึงมีทุกวันนี้

สิ่งที่เขาได้ความละเอียดจากแม่มา คือ ความไม่มือเติบในการลงทุน เพราะเงิน 2,000 ล้านบาท สามารถขยายธุรกิจวางระบบโครงข่ายใยแก้วนำแสงครอบคลุมถึง 75 จังหวัด คนอื่นอาจใช้เยอะกว่านี้ หรือเงินได้นี้ทำได้ 30-40 จังหวัด

รุ่นคุณพ่อคุณแม่จะมีแนวคิดที่ค่อนข้างอนุรักษนิยม คือ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงและไม่กล้าก้าวออกมาจากความคิดเดิม เคยชินกับการทำอะไรก็จะทำอย่างนั้น ดังนั้นธุรกิจใหม่จะเกิดขึ้นได้ยาก เมื่อมาสู่ยุคเขา เขาจะเป็นฝ่ายบู๊ลุยธุรกิจใหม่ ส่วนพ่อกับแม่จะเป็นฝ่ายบุ๋นที่ใช้ประสบการณ์ที่มีคอยป้องกันความเสี่ยงไม่ให้เกิดความเสียหาย พ่อกับแม่เขาไม่ค่อยสร้างหนี้ ทำธุรกิจมีกระแสเงินสดตลอดมา ส่วนเราบอกถ้าไม่กู้เราไม่มีเงินลงทุน ซึ่งเขาก็จะเป็นคนคอยเหยียบเบรก คอยคุมจังหวะ ดังนั้นการทำงานด้วยกัน ต่างช่วยกันปิดจุดอ่อนของแต่ละฝ่าย ทำให้การทำงานมีการเสริมกันมากกว่า เพราะบางทีเราไปเร็วมากคอยแต่ใส่คันเร่ง เขาจะคอยบอกให้แตะเบรกคุมจังหวะเรา ทำให้ทุกอย่างออกมาลงตัว

สิ่งสำคัญอีกอย่างที่คุณพ่อบอกว่าเสมอ คือ พี่น้อง 4 คนต้องรักกัน ไม่ว่าจะทะเลาะกันแค่ไหนต้องรักกัน ที่บ้านเหมือนจะมีทีท่าไม่ค่อยกล้าขออะไรกับพ่อแม่มาตั้งแต่เด็กๆ แต่เมื่อใครทำผิดอะไรก็จะกล้ารับผิด และจะกล้าแสดงความรัก ทุกครั้งที่เจอจะไม่เขินที่จะเข้าไปกอดคุณพ่อหรือคุณแม่ เพราะคิดว่าเป็นการทำจากความรู้สึกที่ดีที่สุด อย่างแม่ก็จะชอบไปกอดเขาเข้าจากด้านหลัง ส่วนพ่อวันไหนปิดโครงการเหนื่อยมา ก็จะเดินไปที่ห้องนอนที่เขานอนอยู่ แล้วไปกระซิบข้างหูเขาบอกว่าวันนี้เราทำสำเร็จอีกแล้วนะครับพ่อ พ่อมักจะตอบว่าดีแล้วล่ะลูก แต่ตอนเช้าจะโทรมาถามใหม่ว่าเมื่อคืนลูกว่าอะไรนะ จริงๆ เราแค่ต้องการแสดงออก ไปบอกเขาว่าเราทำอะไรที่สำเร็จไป มันคือกำลังใจและอยากให้เขาภูมิใจในตัวเรา

ในวัย 29 ปี เก็ทก้าวมาตรงจุดนี้ถือว่าค่อนข้างเร็ว และเป้าหมายของเขาที่จะทำต่อไป คือ การวางระบบให้บริษัทอยู่ได้อย่างยั่งยืน “วางระบบให้แน่น” ไม่ใช่คนใดคนหนึ่งไม่อยู่งานหน้าบ้านหรือหลังบ้านเดินไม่ได้ กลไกในบริษัทเดินต่อไปไม่ได้ ต้องไว้ใจลูกน้องที่แม้เขาจะถึงขั้นตัดสินใจแทนเราไม่ได้ แต่อย่าลืมว่าเขาสามารถเก็บข้อมูลการตัดสินใจมาให้เราได้เกือบ 99% ก็สามารถทำให้งานเดินหน้าไปได้เร็วได้ เราต้องหามดงานคนที่ทำงานแทนเราได้ จึงต้องวางระบบเลือกคนทำงานให้ได้ตั้งแต่ต้น ซึ่งเขาขอเวลาให้ระบบมันทำงานได้ดีภายในอีก 3-5 ปี

ตอนนี้ก็รอเพียงน้องสาวคนที่ 3 มาเสริมทัพงานหลังบ้าน หลังจากที่เขาออกตัวว่าขอให้น้องได้ไปหาประสบการณ์ทำงานก่อน 2 ปี ที่ไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์ก่อน จนปัจจุบันอยู่ระหว่างการเรียนต่อ เหตุผลคือเพราะตัวเองแม้มีโอกาสทำงานที่สหรัฐแต่มีทีมงานเพียง 10 คน และไม่มีโอกาสได้เห็นวิสัยทัศน์ขององค์กรใหญ่มาก่อน ฉะนั้นหวังว่าประสบการณ์ทำงานของน้องจะสามารถมาช่วยมองภาพกว้างและมีความเป็นสากลมากกว่า ส่วนน้องสาวคนเล็กเพิ่งเรียน ม.4 และสนใจจะเป็นนิติกรอย่างที่พ่อได้แนะนำเอาไว้

สุดท้ายที่เขาเห็นและจะยึดแบบที่พ่อทำ คือ การช่วยงานสังคมในแบบที่พอจะทำได้ เพราะพ่อไปเป็นผู้พิพากษาสมทบมานานหลายปีมาก เช่นเดียวกับพี่สาวที่มีกลุ่มทำงานเพื่อสังคมที่จะแต่งชุดซูเปอร์ฮีโร่ไปให้กำลังใจผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่โรงพยาบาลศิริราช สำหรับเขาเองที่ผ่านมามีโอกาสไปพูดสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กมัธยม เขาก็ยินดีที่ทำเหมือนที่คุณพ่อและคนในบ้านให้ความสำคัญไม่แพ้งานบริษัทของตัวเอง

จะเห็นได้ว่า กว่าที่ผู้ชายคนนี้จะประสบความสำเร็จขั้นหนึ่ง มีเรื่องราวและต้องอาศัยความอึดและมุมานะไม่น้อย ใช่ว่าสิ่งที่คนรุ่นพ่อมีธุรกิจที่รองรับอยู่แล้ว แต่เขาก็ไม่เคยที่จะหยุดนิ่งอยู่กับที่ และพร้อมสำหรับคิดการใหญ่ และไม่ละเลยที่จะลงรายละเอียดอย่างระมัดระวังเสมอ