posttoday

ออกกำลังกายพิชิตโรค

15 กันยายน 2559

การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนสามารถปฏิบัติได้เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง

โดย...วราภรณ์   ภาพ... กิจจา อภิชนรจเรข

การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนสามารถปฏิบัติได้เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง โดยเฉพาะผู้ที่ป่วย หากหันมาออกกำลังกายตามแพทย์สั่งแล้ว จะพบว่าการออกกำลังกายสามารถพิชิตโรคได้จริงๆ ดังเช่น 3 บุคคลตัวอย่าง แคนดี้ ถาวรมาศ ที่ป่วยเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือโรคพุ่มพวง SLE ที่อาศัย Pole Dance ช่วยทำให้โรคทุเลาลง นำพล พลดงนอก โปรแกรมเมอร์ผู้ชนะเลิศหมวดสุขภาพดีของ Fitness First Platinum สยามพารากอน ที่ป่วยเป็นมะเร็งช่องอกและเขาใช้การออกกำลังกายเวตเทรนนิ่งในการฟื้นฟูตัวเองหลังทำคีโม และข้าราชการหนุ่มนักไตรกีฬา สรรินทร์ จรัลนภา ที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้และต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง แต่การออกกำลังกายอย่างมีระเบียบวินัยช่วยพิชิตโรคได้จริง

ออกกำลังกายพิชิตโรค แคนดี้ ถาวรมาศ

Pole Dance ไต่เสาตามจังหวะเพลง

เซเลบริตี้สาววัย 37 ปี แคนดี้ ถาวรมาศ เจ้าของธุรกิจจำหน่ายครีมบำรุงรอบดวงตา Cholie และกำลังออกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าสำหรับคนผิวแพ้ง่าย เธอป่วยเป็นโรค SLE หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง แคนดี้ เล่าว่า อาการของโรคเริ่มเมื่อ 9 ปีที่แล้ว สิ่งสังเกตโรค คือ รูปร่างที่ผอม มักเป็นไข้ต่ำๆ ในช่วงเย็นของทุกวัน ซึ่งตอนนั้นเธออายุเพียง 28 ปี รูปร่างผอมบางเป็นปกติ ใบหน้าตอบ แต่สิ่งผิดสังเกตคือกระดูกโครงหน้าตรงกระหม่อมเว้าลึก คิดว่าผอมเกินไปจึงเป็น จึงตั้งใจไปฉีดฟีลเลอร์เพื่อเติมเต็มให้ขมับมีเนื้อที่เต็มขึ้น แต่คุณหมอด้านผิวพรรณ บอกว่า ไม่ใช่เพราะผอมแล้วกระดูกยุบ น่าจะมาจากอาการของโรคอื่น

เมื่อทำการตรวจเลือดจึงพบว่าเธอเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือโรคพุ่มพวง โดยเป็นที่ผิวหนังบริเวณใบหน้าฝั่งขวามือด้านเดียว ต้องรักษาด้วยการกินสเตียรอยด์และพบเปอร์เซ็นต์ของโรคนี้บริเวณผิวหนังน้อยมาก ซึ่งการเจ็บป่วยมาจากผลของการใช้ชีวิต เช่น ปาร์ตี้หนัก ดื่มแอลกอฮอล์ ชอบกินอาหารจังก์ฟู้ด และกินไม่เป็นเวลา ดื่มน้ำอัดลม กินอาหารไม่ครบ 5 หมู่ นอนดึกตี 4 ตี 5 แต่ตื่นเช้าไปเรียนตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เข้าสู่วัยทำงานก็ยังปฏิบัติเช่นนั้นอยู่ อารมณ์จึงหงุดหงิดง่าย เครียด ที่สำคัญคือไม่ออกกำลังกาย

“ส่วนใหญ่คนเป็น SLE จะไม่ได้เสียชีวิตเพราะโรค แต่จะตายเพราะโรคแทรกซ้อน ชอบมีผื่นคัน และจะเสียชีวิตด้วยเบาหวาน ตับไตหัวใจวาย สิ่งที่คุณหมอเป็นกังวลที่ต้องให้แคนดี้ดูแลตัวเอง คือเราไม่รู้ว่าจะมีโรคแทรกซ้อนมาเมื่อไหร่ เป็นผื่นคันก็เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับเรา”

คุณหมอยังบอกว่า นอกเหนือจากยาที่รักษาแล้ว ยังต้องออกกำลังกายเป็นประจำ คือสิ่งเดียวที่จะช่วยได้ แต่ตัวเธอเองแต่เดิมไม่ชอบออกกำลังกาย พยายามฝืนวิ่งก็วิ่งได้แป๊บเดียว เช่นเดียวกับการปั่นจักรยาน หรือเล่นเวตเทรนนิ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝืนเธอรู้สึกไม่ชอบ ไม่สนุก อีกทั้งคุณหมอยังให้นั่งสมาธิเพื่อสงบจิตใจก็ทำไม่ได้อีก แต่ก็ยังต้องกินยาสเตียรอยด์ ซึ่งส่งผลต่อร่างกายให้อยากอาหาร กินจนร่างกายจากน้ำหนักขึ้นมากจาก 44 กิโลกรัม ขึ้นมาถึง 48 กิโลกรัม และไม่ออกกำลังกายและนอนน้อยเหมือนเดิม

ผ่านไป 2 ปี เธอรู้สึกไม่ไหว น้ำหนักยังขึ้นเหมือนเดิม เธอจึงต้องเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต คือปาร์ตี้และดื่มให้น้อยลง พออายุ 35 ปี รู้สึกร่างกายไม่ค่อยดี ไม่ค่อยสนุก และยังคงต้องกินสเตียรอยด์วันละ 3 เม็ด

“พออายุ 35 ปี รู้สึกไม่ไหวมากๆ จึงหันมาควบคุมอาหาร และต้องหาการออกกำลังกายที่ถูกจริตของตัวเองแล้วก็มาพบ Pole Dance ดีตรงเป็นกีฬาที่เล่นในร่มไม่เป็นอันตรายกับโรคเอสแอลอีเล่น Pole Dance ได้ปีกว่าแล้วพบว่าร่างกายแข็งแรงมากขึ้น พอพบกีฬาที่เหมาะกับเราแล้ว แคนดี้ก็เล่นหนักมากเมื่อ 7 เดือน ตอนนี้พบว่าร่างกายแข็งแรง มีกล้ามเนื้อมากขึ้น อีกทั้งช่วยในการโฟกัสคือการตั้งสมาธิให้อยู่บนเสาได้อย่างปลอดภัย

พอร่างกายได้ออกกำลังกาย พบความสุขมากขึ้น เพราะร่างกายก็หลั่งสารเอนดอร์ฟิน ซึ่งเป็นตัวที่ใช้รักษาโรคเอสแอลอีได้ดีมากๆ ตอนนี้ไปพบคุณหมอๆ พอใจมากๆ เพราะโรคยังคงสภาพ ไม่กำเริบบ่อยๆ ไม่เป็นโรคกลดไหลย้อนแล้ว ซึ่งเมื่อก่อนเป็นหนักมาก อีกทั้งเล่นโพลแดนซ์ยังได้ท่าสวยๆ ไม่ต้องฝืนใจวิ่ง ได้อยู่ในสังคมเพื่อนที่เล่น Pole ท่าจะยากหรือเหนื่อยแค่ไหนเราก็ทำได้”

แคนดี้เริ่มมีระเบียบวินัยในการออกกำลังกายมากขึ้น โดยออก 5 วัน/สัปดาห์ วันละ 2-3 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ อีกทั้ง Pole Dance ยังเป็นกีฬาที่ใช้แรงทั้งตัว ทำให้ร่างกายแข็งแรงตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าเลยก็ว่าได้ ได้ทั้งคาดิโอ ได้ทั้งเวตเทรนนิ่งอีกด้วย

“ตอนนี้ร่างกายสุขภาพดีมากจากการออกกำลังกาย โรคสงบ จิตเป็นสมาธิ ไม่วอกแวก เล่นแล้วช่วยกระตุ้นระบบหายใจ เราต้องแอ็กทีฟตลอดเวลา พอขึ้นไปอยู่บนเสาต้องใช้กำลังแขนมาก ผู้หญิงปกติยกเวตก็ยกแค่ 5-10 กิโลกรัม ก็เยอะแล้ว แต่แคนดี้ต้องยกตัวเองน้ำหนักประมาณ 45 กิโลกรัม ร่างกายเฟิร์มกระชับทั้งตัว ได้ทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และเล่นเสริมพิลาทิสเพื่อเสริมกล้ามเนื้อมัดเล็ก เล่นแล้วรู้สึกเหนื่อยมาก”

ปัจจุบันแคนดี้ไม่ต้องกินยาสเตียรอยด์แล้ว เพราะเธอออกกำลังกายอย่างจริงจัง อาการของโรคสงบดีขึ้น แม้โรคจะยังอยู่กับเธอไปตลอด เพราะหากไม่ดูแลตัวเองอาจติดเชื้อไวรัสได้ง่าย การออกกำลังกายคือเป็นยาที่จะรักษาสุขภาพได้จริงๆ โรคไม่พัฒนา ทำให้ไม่อยากอาหารร่างกายก็ไม่อ้วน

ออกกำลังกายพิชิตโรค นำพล พลดงนอก

 

‘เวตเทรนนิ่ง’ พิชิตมะเร็งทรวงอก

อายุเพียง 27 ปี นำพล พลดงนอก อาชีพโปรแกรมเมอร์ ก็พบว่าป่วยเป็นมะเร็งช่องอกเสียแล้ว แต่หลังจากการรักษาคีโมบำบัดสิ่งเดียวที่จะทำให้สุขภาพที่ผอมโซกลับมามีกำลังกายใจอีกครั้ง คือการออกกำลังกายในฟิตเนส ซึ่งปัจจุบันติดตามโรคมา 2 ปี มะเร็งยังไม่กลับมากร้ำกราย แถมการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอยังทำให้สุขภาพที่แข็งแรงจนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศหมวด Health ของ Fitness First Platinum Siam Paragon มาครองได้อีกด้วย

“ผมเป็นโปรแกรมเมอร์ มีอยู่วันหนึ่งผมหายใจไม่ออก คิดว่าเป็นหวัด ก็ไม่ได้ทำอะไร แต่ตัวบวมขึ้นมากๆ จึงไปพบแพทย์ และวันนั้นก็เหมือนโลกทลาย แพทย์แจ้งว่าผมเป็นมะเร็งในช่องอกประเภทที่ใหญ่และลุกลามเร็วมาก ต้องฉายรังสี โชคดีที่การรักษาได้ผล มะเร็งหยุดโตแต่ปอดผมก็ถูกทำลายไปด้วยบางส่วน หลังทำคีโมน้ำหนักหายไปหลายสิบโล อ่อนแอ ท้อแท้ และคีโมไม่ได้ผลเท่าที่ควร ทำให้ผมต้องผ่าตัดเอามะเร็งออก ผมต้องอยู่เฉยๆ 1 เดือน และห้ามออกกำลังกาย 1 ปี ผมจึงหันไปออกกำลังกายเบาๆ ด้วยการเล่นไทเก็ก” ผลของการทำคีโมทำให้น้ำหนักตัวของเขาหายไปหลายสิบโล

“ก่อนป่วยผมนอนวันละ 4-5 ชั่วโมง/วัน เป็นอยู่อย่างนี้ประมาณ 3-4 ปี พออายุ 27 ปี จึงป่วยเป็นมะเร็ง เบ็ดเสร็จผมใช้เวลารักษาตัว 1 ปีกว่าๆ ผอม น้ำหนักเคย 70 กิโลกรัม เหลือ 55 กิโลกรัม กล้ามเนื้อเหลว รู้สึกจะตายให้ได้ ตอนหายป่วยแล้วนอนพัก บอกตัวเองว่าถ้าหายเราจะออกกำลังกาย ต้องใช้โอกาสรอดให้คุ้มค่าที่สุด เปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองทั้งหมด กินอาหารครบทุกมื้อ
นอนเร็ว ตื่นเช้า ออกกำลังกายแรก คือ รำไทเก็ก เพราะเบาๆ เคลื่อนไหวช้าๆ ช่วยยืดเส้น อีกทั้งได้ฝึกลมหายใจ ซึ่งต้องฝึกเพราะหลังผ่ากลางหน้าอก ผมไม่สามารถหายใจได้ปกติ หายใจได้ตื้นๆ จึงเหนื่อยง่าย ความดันสูง”

พอออกกำลังกายไปได้ 2-3 เดือน เขาอยากเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้มากขึ้น จึงเลือกเข้าเล่นเวตเทรนนิ่ง “ผมเลือกเข้าฟิตเนส เพราะเวลาเป็นลมจะได้มีคนเห็นได้ง่ายๆ ระยะแรกเข้าฟิตเนสอาศัยเล่นเอง แต่เล่นแล้วสูดหายใจให้ถูกต้องจะช่วยลดอาการบาดเจ็บ ผมจึงเล่าปัญหาของผมให้เทรนเนอร์ฟังว่า ผมเพิ่งผ่าตัดมาไม่กล้าเล่นเครื่อง ไม่กล้าเล่นหน้าอก เทรนเนอร์บอกว่าให้หลีกเลี่ยงบริเวณที่เคยผ่าตัดเลย และสอนท่าที่ทำให้กล้ามเนื้อมัดอื่นๆ จากเท้าไล่ขึ้นมาแข็งแรง จากขามาแกนกลางลำตัว ผมจึงตัดสินใจจ้างเทรนเนอร์ เขาคอยเป็นกำลังใจ ชวนให้ไป เพราะช่วงแรกๆ เวลาออกกำลังกายแล้วเจ็บ ผมก็ไม่อยากไป ก็ห่างจากการออกกำลังกายไปพักหนึ่ง แต่ถึงจุดหนึ่งรู้สึกว่าผมไม่ไหวแล้ว ต้องออกกำลังกาย ไม่อย่างนั้นเราต้องกลับมาป่วยอีกแน่ จึงเอาเงินเก็บของตัวเองมาใช้เพื่อการออกกำลังกาย จ้างเทรนเนอร์เพื่อเพิ่มระเบียบวินัยในการออกกำลังกายมากขึ้น”

ผลจากการออกกำลังกายทุกวัน 3 เดือน พบว่าอาการเจ็บป่วยและสุขภาพโดยรวมดีขึ้น จากเดิมก่อนเล่นครั้งแรกตอนอายุ 28 ปี แต่ระบบเผาผลาญไขมันเหมือนคนอายุ 35 ปี แต่หลังจากออกกำลังกายเป็นประจำพบการเผาผลาญไขมันดีขึ้นเท่าอายุจริง มีกล้ามเนื้อชัดเจน ปัญหาเหนื่อยง่ายหายใจติดขัดจากการผ่าตัดน้อยลง ไม่ไออีกแล้ว ปัจจุบันนำพลเล่นฟิตเนสมานาน 2 ปี ร่างกายดีขึ้น มะเร็งไม่กลับมากล้ำกราย

“ตอนนี้ร่างกายผมสมบูรณ์เกือบเต็มร้อย สามารถลงแข่งวิ่งมินิมาราธอน 10-20 กิโลเมตร มาแล้ว โดยวิ่ง 10 กิโลเมตร มา 5 รอบ 20 กิโลเมตร ไป 1 รอบ การออกกำลังกายดีจริงๆ ผมเคยอ่านบทความพบว่า มะเร็งจะแพ้ออกซิเจน ถ้าเราออกกำลังกาย สูดออกซิเจนเข้าไปในร่างกายมากๆ ออกซิเจนก็จะถูกส่งไปทั่วร่างกาย สามารถยับยั้ง ป้องกันมะเร็งได้ และทุกโรคผมเชื่อแบบนั้น จิตใจสดชื่น ผมคิดว่าเราต้องรู้จักแบ่งเวลา ว่างก็มาออกกำลังกาย ทำงานทำได้ ทำให้เต็มที่ในเวลาที่แบ่งเอาไว้ ผมคิดว่าเราเสียเงินไปออกกำลังกายดีกว่านำเงินไปรักษาโรค”

ออกกำลังกายพิชิตโรค สรรินทร์ จรัลนภา

ไตรกีฬาปราบภูมิแพ้เรื้อรังรุนแรง

ข้าราชการหนุ่มแห่งกรมศิลปากร สรรินทร์ จรัลนภา วัย 38 ปี นักไตรกีฬาที่เคยป่วยเป็นต่อมทอนซิลอักเสบและภูมิแพ้เรื้อรังมาตลอดชีวิต เคยป่วยเป็นต่อมทอนซิลอักเสบขนาดที่คุณหมอบอกว่า หากป่วยอีกครั้งหน้าต้องตัดต่อมทอนซิลทิ้งเลยนะ จากเดิมเคยหนัก 100 กิโลกรัม เมื่อหันมาเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอ พบว่าปัจจุบันหายจากโรคต่างๆ แล้ว

“สมัยเรียนมหาวิทยาลัยเป็นภูมิแพ้ แพ้ฝุ่นละออง แพ้เหงื่อตัวเอง เป็นผื่นขึ้นตลอด แต่ก็ยังนอนดึกและดื่มสังสรรค์กับเพื่อน แต่พอเริ่มวัยทำงานในวัย 30 ปี เป็นต่อมทอนซิลอักเสบบ่อยมาก อาการหนักขึ้นต้องไปหาหมอตลอด จนคุณหมอบอกว่าถ้าเป็นอีกครั้งต้องตัดต่อมทอนซิลทิ้งเลยนะ ครั้งนั้นเป็นหนักต้องนอนโรงพยาบาล 3 วัน” มาถึงจุดที่บอกว่าตัวเองไม่ไหว ตอนหนัก 97 กิโลกรัม เบื่อการเป็นโรคภูมิแพ้ เป็นๆ หายฯ เขาจึงเริ่มออกกำลังกายอย่างเต็มที่ในวัย 34 ปี อีกทั้งเขาอยากเปลี่ยนแปลงตนเองเป็นคนใหม่และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก เลิกดื่มเหล้า หันมาออกกำลังกายอย่างจริงจัง ช่วงเช้าตื่นตี 4 ตื่นมาปั่นจักรยาน อาบน้ำแต่งตัวทำงานด้วยการปั่นจักรยาน หลังเลิกงานวิ่งออกกำลังกายและว่ายน้ำ ออกกำลังกายจนร่างกายแข็งแกร่ง เขาเพิ่มขีดความสามารถตัวเองไปลงวิ่งแข่งมินิมาราธอน และพัฒนาตนเองมาเป็นนักไตรกีฬา

“ผมออกกำลังกาย 7 วัน/สัปดาห์ บ้านผมอยู่ตลิ่งชันก็ปั่นจักรยานมาที่สนามหลวง เย็นไปวิ่งที่ธรรมศาสตร์หรือสนามหลวงบ้าง วิ่ง 1 ชั่วโมง ใช้พลังงานไปราว 500 กิโลแคลอรี พอออกกำลังกายหลายอย่าง อยากสร้างความท้าทายให้ตัวเองโดยการสมัครไตรกีฬา เพราะอยากเอาชนะตัวเอง ผมจึงเริ่มแข่งไตรกีฬาตั้งแต่ปี 2557 ลงแข่งปีละ 3-4 ครั้ง”

แม้การเริ่มออกกำลังกายในช่วงแรกจะเต็มไปด้วยความยากลำบากก็ต้องบังคับใจตัวเองให้ได้ หลักการออกกำลังกายคือ เราต้องมีเป้าหมาย ถามตัวเองว่าอยากออกกำลังกายเพื่ออะไร

“ผมอยากออกกำลังเพื่อให้หายจากโรค น้ำหนักตัวก็หาย ปัจจุบันเหลือราว 70-72 กิโลกรัม ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมพอใจมาก เริ่มออกกำลังกายความเปลี่ยนแปลงในตัวเห็นผลเรื่อยๆ แต่ต้องออกกำลังกายกับกินอาหารให้เหมาะสมและเพียงพอ กินเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ระยะแรกออกกำลังกายเองได้ ปีต่อๆ มาอยากฝึกอยากมีเป้าหมายก็ต้องอ่านหนังสือ หรือฝึกกับรุ่นพี่ที่เก่งๆ เพื่อเพิ่มเทคนิคการฝึกซ้อม ตลอด 3 ปีของการออกกำลังกาย ผมออกกำลังกายเข้มข้นทุกวัน ตอนนี้โรคก็หายหมด ตามตัวไม่มีผื่นขึ้นอีกแล้ว จึงไม่ต้องไปหาหมอ รู้สึกกระฉับกระเฉงมากขึ้น หากรู้สึกเครียดเพียงแค่ได้ออกกำลังกายจิตก็จะมีสมาธิกับจังหวะการปั่น ทำให้ลืมความเครียดไปได้อย่างดี”