posttoday

เขื่อนแม่วงก์กับมาตรา 44

08 กันยายน 2559

เขื่อนแม่วงก์เป็นกรณีด้านการพัฒนากับสิ่งแวดล้อมที่ต่อเนื่องยาวนานหลายปีกับหลายรัฐบาล

โดย...ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

เขื่อนแม่วงก์เป็นกรณีด้านการพัฒนากับสิ่งแวดล้อมที่ต่อเนื่องยาวนานหลายปีกับหลายรัฐบาล เมื่อกรมชลประทานวางแผนที่จะสร้างเขื่อนที่อ่างเก็บน้ำจะต้องท่วมทับผืนป่าในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จนเกิดกระแสของความไม่เห็นด้วย และเกิดการขยับขับเคลื่อนเพื่อการคัดค้านอย่างจริงจังมาแล้ว 2 ครั้ง 2 ครา จนยุติการพิจารณาในปี 2557

กรณีเขื่อนแม่วงก์กลายเป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อมีแนวคิดว่าจะเสนอให้ใช้มาตรา 44 ในการสร้าง โดยมองว่าการสร้างเขื่อนจะเป็นประโยชน์ต่อการเกษตรกรรมและการป้องกันน้ำท่วม เมื่อแนวคิดนี้ปรากฏออกมาในสื่อ ทำให้เกิดกระแสจากหลายฝ่ายและเกิดการเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง

สำหรับผมแล้ว กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับ NGO แม้ว่า NGO จะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ แต่คนที่เห็นด้วยว่าไม่ควรสร้างก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเพียงแค่นั้น ยังมีอีกมากรวมถึงหน่วยงานภาครัฐเอง

ในครั้งที่มีการพิจารณา EIA เรื่องเขื่อนแม่วงก์ โดย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ในปี 2557 ที่ประชุมของ คชก.มีมติไม่สร้างเขื่อนแม่วงก์ เนื่องจากกรมอุทยานฯ ได้ทำหนังสือคัดค้านการสร้างเขื่อนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เพราะมีป่าสมบูรณ์เกินกว่าจะปล่อยให้มีการสร้างเขื่อน (คำให้สัมภาษณ์ของเกษมสันต์ จิณณวาโส เลขาฯ สผ. ในขณะนั้น ปัจจุบันดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

ในจดหมายราชการลงวันที่ 18 พ.ย. 2557 จากกรมอุทยานฯ ถึง เลขาฯ สผ. ระบุชัดเจน “…จึงมีความเห็นไม่ควรสร้างเขื่อนแม่วงก์...” ซึ่งหากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ไม่เห็นด้วย โอกาสที่จะสร้างเป็นไปได้ยากมาก ต่อให้ EIA ผ่านการพิจารณา ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสร้างได้ เพราะหน่วยงานอย่างกรมอุทยานฯ เป็นผู้ให้อนุญาตโดยใช้ EIA ประกอบการพิจารณา เมื่อหน่วยงานเจ้าของพื้นที่คัดค้านตั้งแต่ต้น การพิจารณาจึงยุติโดยขอให้ทางกรมชลประทานกลับไปดูใหม่ และจากคำให้สัมภาษณ์ล่าสุดของท่านปลัดกระทรวงฯ กรมชลประทานไม่ได้ส่งเรื่องเข้ามาให้ สผ.พิจารณาอีกเลยจนถึงบัดนี้

จริงอยู่ที่การใช้มาตรา 44 สามารถข้ามขั้นตอนใดก็ได้ แต่ในอดีตที่ผ่านมายังไม่เคยมีการใช้มาตรา 44 เพื่อข้ามขั้นตอนจากการคัดค้านของหน่วยงานภาครัฐมาก่อน ซึ่งหากจะทำคงต้องเป็นเรื่องที่พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ

นอกจากนี้ จดหมายของกรมอุทยานฯ ยังระบุถึงจดหมายจากกระทรวงต่างประเทศ ที่ได้รับข้อความจากศูนย์มรดกโลกและองค์กรระหว่างประเทศ IUCN ในกรณีเรื่องเขื่อนแม่วงก์ โดยจดหมายระบุว่า “...ศูนย์มรดกโลกเสนอว่าให้ไทยระงับโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จนกว่าผลการประเมิน EIA จะครบถ้วน และมีผลการประเมินที่เกี่ยวข้องกับเขตมรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร”

ศูนย์มรดกโลกเป็นผู้ดูแลเรื่องมรดกโลกโดยตรงและ IUCN เป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เป็นองค์กรที่ปรึกษาในการจัดการเขตมรดกโลกทั่วโลก รวมถึงการสนับสนุนการวิจัยและประเมินชี้วัดเขตมรดกโลกต่างๆ ซึ่งประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการแก้ปัญหาในเขตมรดกโลกเขาใหญ่ เพื่อให้ยังคงสถานะเป็นมรดกโลกอยู่ได้ เพราะทำให้เกิดประโยชน์ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่เป็นสายเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยในทุกวันนี้

การใช้มาตรา 44 ในกรณีเขื่อนแม่วงก์ หมายถึงข้ามขั้นตอน EIA และการประเมินผลกระทบต่อมรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร ขัดแย้งกับที่ศูนย์มรดกโลกและ IUCN ขอร้องไว้ หากเป็นเช่นนี้จริงย่อมส่งผลกระทบต่อสถานภาพของเขตมรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่ฯ ยังอาจส่งผลกระทบต่อเขตมรดกโลกอื่นๆ รวมถึงภาพลักษณ์ของไทยในเวทีโลก ตลอดจนการค้าระหว่างประเทศที่หลายคนทราบดีว่า ปัจจุบันการต่อรองยกประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นโจทย์หลัก (ประมง IUU กรณีงาช้าง กรณีม้าน้ำ ฯลฯ ที่ผู้อยู่ในวงการจะทราบดี)

ทั้งหมดที่กล่าวมา ผมอยากชี้ให้เห็นว่ากรณีนี้ไม่ใช่การขัดแย้งกันเรื่องเสือดีหรือเสือไม่ดี ไม่ใช่แค่การขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับ NGO ฯลฯ แต่มันมีความนัยที่ลึกซึ้งกว่านั้นและมันเกี่ยวข้องกันมากมายกว่าที่เราคิด

สำหรับผมแล้ว แนวคิดก็ยังคงเป็นแค่แนวคิด ไม่ได้หมายความว่าทุกคนเห็นด้วยแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ มาตรา 44 วันนี้พรุ่งนี้ เพราะหากพิจารณาทุกเรื่องให้รอบคอบแล้ว มันคงไม่ง่ายเช่นนั้น ทั้งการคัดค้านของหน่วยราชการเจ้าของพื้นที่ ทั้งการข้ามขั้นตอนที่องค์กรระหว่างประเทศเสนอมา

โดยส่วนตัวผมไม่คิดว่าจะมีการใช้มาตรา 44 ในกรณีนี้ครับ