posttoday

เรื่องยิ่งใหญ่ สู่คนตัวเล็ก

07 กันยายน 2559

สำนักพิมพ์สถาพร บุ๊คส์ ร่วมกับโครงการกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จัดทำนวนิยายชุด “รักห่มฟ้า”

โดย...นกขุนทอง

สำนักพิมพ์สถาพร บุ๊คส์ ร่วมกับโครงการกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จัดทำนวนิยายชุด “รักห่มฟ้า” มีจุดเริ่มต้นจากการที่ต้องการน้อมนำโครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และศาสตร์พระราชาที่นำมาใช้กับผู้ต้องขังเพื่อให้เขาสามารถนำไปดำเนินชีวิตได้หลังพ้นโทษ โดยเลือกปัญหา “ยาเสพติด” มาเป็นคอนเซ็ปต์หลักของนวนิยายชุดรักห่มฟ้า

เมื่อเรื่องราวถูกนำมาแต่งเป็นนวนิยายอรรถรสของความเป็นนวนิยายยังอยู่ครบ แนวเรื่องจึงมีทั้งโรแมนติก ดราม่า แอ็กชั่น หากแต่แฝงเร้นไปด้วยสาระที่ปนอยู่ในความบันเทิงซึ่งได้นักเขียนมือฉมังของสำนักพิมพ์ที่เคยมีผลงานการันตีความสนุกควบคู่ไปกับแง่คิดดีๆ ที่ผู้อ่านได้นำไปต่อยอดเกิดประโยชน์แก่ชีวิตได้

เรื่องยิ่งใหญ่ สู่คนตัวเล็ก

 

รักห่มฟ้า มีทั้งหมด 5 เรื่อง คือ “พระจันทร์กลางใจ” เขียนโดย “ญนันทร”  ธีมหลักคือ การให้โอกาสอดีตผู้ที่เคยติดคุก ได้มีที่ยืนในสังคม เรื่อง “ใต้แสงดารา” โดย “ซ่อนกลิ่น” สะท้อนปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหายาเสพติด และการยอมรับของสังคมต่อผู้เคยต้องโทษ เรื่อง “ฟ้าล้อมทราย” โดย “คณิตยา” เป็นเรื่องเดียวที่เหตุการณ์เกิดที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เรื่อง “พรายแสนดาว” โดย “กรรัมภา” คอนเซ็ปต์เรื่องการปลูกพืชทดแทนการปลูกฝิ่นและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเรื่อง “พราวเวหา” โดย “ลัลล์ลลิล” นำเสนอบทบาทหน้าที่ของพนักงานอัยการ (นางเอก) ควบคู่ไปกับภารกิจของทหารสายลับที่ทำงานด้านยาเสพติด และตำรวจ (พระเอก) ที่สะท้อนถึงกระบวนการเส้นทางการค้ายาและการจับกุม

ชีวิตจริงยิ่งกว่านวนิยาย

ก่อนที่จะลงมือเขียน นักเขียนทั้ง 5 คนได้ค้นคว้าข้อมูล รวมถึงเข้าร่วมฟังกิจกรรมเสวนาโครงการต่างๆ เกี่ยวกับปัญหายาเสพติดอยู่หลายครั้ง โดยได้รับความร่วมมือจากโครงการกำลังใจ และกระทรวงยุติธรรม ทั้งในการให้ข้อมูลด้านเอกสารความรู้พาชมสถานที่ และแหล่งข้อมูลบุคคลเพื่อที่จะได้ซักถามเพื่อที่จะนำมาใช้ในนวนิยายให้ถูกต้อง

เรื่องยิ่งใหญ่ สู่คนตัวเล็ก

 

นวนิยายชุดรักห่มฟ้าอยู่ในขั้นตอนกำลังเขียน หากระหว่างนี้ก็ยังมีการค้นคว้าหาข้อมูลอยู่ตลอด ล่าสุดไปดูสถานที่จริงในหลายหน่วยงาน ณ จ.เชียงราย เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูล เช่น เรือนจำชั่วคราวดอยราง ได้พูดคุยกับนักโทษคดียาเสพติดที่เข้าร่วมในโครงการกำลังใจ ได้ไปเยี่ยมชมแดนหญิง ณ เรือนจำกลางเชียงราย

ได้พูดคุยกับนายทหารหลายระดับ ณ ฐานปฏิบัติการช้างมูบ เพื่อได้ทราบถึงเส้นทางลำเลียงยาเสพติดข้ามพรมแดนไทย-พม่า การลาดตระเวน ขั้นตอนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหารร่วมกับชาวบ้านกับตำรวจ ได้ไปศึกษาด้านการใช้แนวทางการพัฒนาทางเลือกแก้ไขปัญหายาเสพติด ณ หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้คงมีให้ได้เห็นในเรื่องพรายแสนดาว ของ
กรรัมภา (นามปากกาของ กนิษฐา ปานเกตุ) และเรื่องพราวเวหา ของ ลัลล์ลลิล (นามปากกาของ เปรมปรีดา วงศาบาล)

เรื่องยิ่งใหญ่ สู่คนตัวเล็ก

 

ได้เยี่ยมโครงการพัฒนาดอยตุง ได้เห็นชาวบ้านทำงานทอผ้า เซรามิก ซึ่งทุกสิ่งล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูลสิ่งละอันพันละน้อยที่จะนำมาใส่ในนิยายทั้ง 5 เรื่อง แยกรสแยกเรื่องกันไป ผู้อ่านไม่ต้องหวั่นว่าจะเป็นนิยายแนวสารคดีเพราะการนำสาระความรู้สอดแทรกเข้าไปนั้นเนียนละมุนดังหลายเรื่องที่ผ่าน 

ซ่อนกลิ่น นามปากกาของ มนต์ชัย ศิริลัทพร ผู้เขียนเรื่อง ใต้แสงดารา ได้เล่าแนวเรื่องว่า นางเอกเป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติด มีความกังวลว่า เวลาออกมาแล้วสังคมจะให้โอกาสเขาแค่ไหน พระเอกทำงานอยู่กรมควบคุมความประพฤติ “ที่ได้มาดูงานครั้งนี้ตรงกับเรื่องที่จะเขียนเลยเพราะนางเอกอยู่ในโครงการกำลังใจให้ผู้ต้องขังหญิงออกไปสู่โลกภายนอกได้ไม่หวนมาสู่เส้นทางเดิม ได้ฝึกวิชาชีพ ได้เรียนหนังสือจนจบปริญญาตรี มีใบปริญญาแต่ไม่มีโอกาสทำงาน นางเอกต้องเผชิญกับความเสียดทานของสังคมว่าเขาจะเข้มแข็งได้แค่ไหน

เรื่องยิ่งใหญ่ สู่คนตัวเล็ก

 

ที่ไปแดนขังหญิง ผมได้อารมณ์ของตัวละคร ได้ขอคุยกับผู้ต้องขังหญิงที่มีพล็อตเรื่องคล้ายนางเอก คือนางเอกติดคุกเพราะไปส่งยาให้แฟนแล้วไม่ซัดทอดแฟน เวลาไปสัมภาษณ์ตัวจริง เราได้รู้
อารมณ์ลึกๆ ของผู้หญิงว่าเขาคิดยังไง เขารู้สึกอะไรตอนนั้นถึงยอมเสียสละตัวเองเพื่อผู้ชายคนเดียว และผมได้คุยกับผู้อำนวยการเรือนจำว่า ท่านมีแนวทางดูแลเกี่ยวกับผู้ต้องขังหญิงยังไง ในคุกเรียนหนังสือกันยังไง ก็คือได้รู้มาว่าเรียนทางไปรษณีย์กับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มีการจัดสอบในเรือนจำ ทำให้เราได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ก่อนเราจะเขียนนิยายชุดนี้ เราได้อบรมกันก่อนเรื่องยาเสพติด ได้แนวทางมาคร่าวๆ เราจะทำเรื่องอะไร ก็มาแบ่งหัวข้อ ผู้ต้องขังโครงการกำลังใจ บทบาทอัยการ นักการทูต เศรษฐกิจพอเพียง ศาสตร์พระราชา แต่ทุกเรื่องมีแกนสำคัญคือยาเสพติด”

เรื่องยิ่งใหญ่ สู่คนตัวเล็ก

 

รักห่มฟ้า โอบอุ่นสลายม่านหมอกดำของชีวิต

นักเขียนทั้ง 5 คน ยังมีโอกาสได้เข้าร่วมและสังเกตการณ์ดูกิจกรรมการนำแนวทางการพัฒนาทางเลือกมาปรับใช้กับผู้ต้องขัง ณ พระตำหนักดอยตุง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย โดยโครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ นำผู้ต้องขังชายที่เข้ารับการอบรมเศรษฐกิจพอเพียงตามโครงการกำลังใจในพระดำริฯ ในการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในเรือนจำ ของเรือนจำชั่วคราวดอยราง จ.เชียงราย 48 คน เข้าศึกษาดูงานโครงการพัฒนาดอยตุงพื้นที่ 52 ไร่ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มผู้ต้องขัง กลุ่มชาวเขา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ตัวแทนมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และผู้พ้นโทษที่ผ่านการพัฒนาทางเลือก โดยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จมาเป็นองค์ประธาน

ทั้งนี้ ฐานการเรียนรู้ 4 ฐานประกอบด้วย ฐานที่ 1 ผู้อาวุโสโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ฐานที่ 2 ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น/ชุมชน ฐานที่ 3 คนรุ่นใหม่ในโครงการพัฒนาดอยตุงฯ และฐานที่ 4 ภาคีเครือข่ายโครงการกำลังใจฯ

เรื่องยิ่งใหญ่ สู่คนตัวเล็ก

 

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ได้กล่าวคำกราบทูลในวันงาน โดยสรุปใจความว่า พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงมีพระดำริให้ดำเนินการในโครงการกำลังใจฯ ขึ้นเพื่อดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงและเด็กติดผู้ต้องขัง เมื่อประมาณ 9 ปีที่ผ่านมา ได้ประสบความสำเร็จจนกระทั่งได้มีการนำไปสู่การจัดทำมาตรฐานระดับโลก นอกจากนี้ยังทรงได้มีพระเมตตาต่อผู้ต้องขังชาย โดยได้มีพระดำริในการช่วยเหลือ ให้โอกาสผู้ต้องขังชายที่ใกล้พ้นโทษ ให้สามารถมีอาชีพ มีทัศนคติในเชิงบวกและที่สำคัญไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำอีก โดยนำแนวทางตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้

นอกจากนี้ พระเจ้าหลานเธอฯ มีความตั้งพระทัยอย่างแน่วแน่ที่จะช่วยเหลือผู้ต้องขังให้มีทางเลือก ในการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้นและหลากหลาย โดยได้มีพระกรุณาประสานให้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์เข้ามาช่วยเหลือ เพื่อนำแนวทางการพัฒนาทางเลือก (Alternative Development) ของมูลนิธิฯ ที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ในระดับสากลมาพัฒนาร่วมกับโครงการกำลังใจในพระดำริฯ โดยยังคงยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และประทานคำแนะนำให้เริ่มดำเนินการที่เรือนจำชั่วคราวดอยราง จ.เชียงราย ในการนี้กระทรวงยุติธรรม โดยสำนักกิจการในพระดำริฯ จึงได้ประสานให้ทีมนักวิชาการ จากศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือเข้ามาช่วยดำเนินการร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2559

เรื่องยิ่งใหญ่ สู่คนตัวเล็ก

 

จากการประเมินผลการทำกิจกรรมกลุ่มกับผู้ต้องขังพบว่า การเรียนรู้ที่ผ่านมาของผู้ต้องขังยังเป็นแบบการจำส่วนการคิด และวิธีปฏิบัติก็อาจยังทำได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร ดังนั้นศูนย์วิชาการสารเสพติด กรมราชทัณฑ์ และกรมคุมประพฤติ จึงร่วมออกแบบกระบวนการและแนวทาง ที่จะนำแนวทางการพัฒนาทางเลือกมาปรับใช้กับผู้ต้องขัง เพื่อเติมเต็มให้ผู้ต้องขังมีความรู้ในระดับที่พร้อมใช้มีวิธีคิดที่ถูกต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติเป็นที่ยอมรับของสังคมและที่สำคัญคือสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยมีอาชีพที่สุจริตหาเลี้ยงตนเองได้และไม่หวนกลับไปทำผิดซ้ำอีก ซึ่งในประเด็นของอาชีพนี้ ทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หยุดการประกอบอาชีพที่ไม่สุจริตและหันกลับมาทำคุณประโยชน์ให้สังคม ได้เข้ามาช่วยเหลือผู้ต้องขังในเรือนจำดอยราง

อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินงานตามโครงการนี้ยังอยู่ในขั้นทดลอง ที่จะต้องมีการประเมินผลและถอดบทเรียนร่วมกันระหว่างศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ กระทรวงยุติธรรม และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เพื่อให้ได้แนวทางที่สามารถนำไปใช้กับผู้ต้องขังในเรือนจำอื่นๆ ได้ ยังมีกิจกรรมที่ต้องดำเนินการต่อไป จนผู้ต้องขังทั้ง 48 ราย ได้รับการพักการลงโทษ ทั้งยังต้องติดตามดูแล ให้ความช่วยเหลือหลังพ้นโทษอีกด้วย นอกจากกิจกรรมนำผู้ต้องขังมาศึกษาดูงานแล้วในวันนี้ ยังมีนักเขียน 5 ท่าน ในเครือสถาพร บุ๊คส์ มาร่วมกิจกรรมด้วย ซึ่งเป็นไปตามโครงการที่ฝ่าพระบาทมีพระวินิจฉัย ให้สร้างความรู้ในกระบวนการยุติธรรม และศาสตร์แห่งพระราชา ผ่านการเล่าเรื่องในรูปแบบนวนิยาย

เรื่องยิ่งใหญ่ สู่คนตัวเล็ก

 

ด้าน ญนันทร นามปากกาของ เพียรพริมา เหมือนประสาท เขียนเรื่อง พระจันทร์กลางใจ ได้เล่าถึงกระบวนการทำงานว่า “ในแง่ของนิยายเราจะนำแนวทางการทำงานของโครงการกำลังใจและต้นแบบของผู้ต้องขังที่กลับตัวกลับใจออกไปสร้างชื่อเสียงด้วยตัวเองได้ อันนี้คือแนวความคิดเอามาเขียนเรื่องนี้

โปรเจกต์นี้เราเริ่มกันตั้งแต่ปีที่แล้ว มีอบรมเรื่องยาเสพติด ตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงสี่โมงเย็น เป็นการบรรยายเพื่อให้เห็นต้นตอการระบาดของยาเสพติด การเปลี่ยนแปลงวิธีการค้ายา เส้นทางการค้ายา วันที่ไปเรือนจำดอยราง ได้คุยกับนักโทษอายุ 67 ปี ลุงปลาบปลื้มกับโครงการกำลังใจมาก ตอนอยู่ในเรือนจำลุงบอกว่าสาหัสมาก เมื่อได้ถูกเลือกมาอยู่ในโครงการลุงได้เรียนรู้การทำเกษตร ได้เลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ เมื่อพ้นโทษไปลุงก็จะไปเลี้ยงหมู ขยายพันธุ์หมู ซึ่งทำให้เรามองเห็นมุมสว่างของโครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เห็นพระบารมีของพระองค์ท่านที่ทำให้ชีวิตหนึ่งมีความหวัง ตอนที่คุยเห็นแววตาของลุง เป็นแววตาที่ดีใจมาก มีประกายตา ความรู้สึกนี้จะนำมาใส่ในนิยายแน่นอน”

เรื่องยิ่งใหญ่ สู่คนตัวเล็ก

 

คณิตยา นามปากกาของ ขติยา มหาสินธ์ เขียนเรื่อง ฟ้าล้อมทราย นำเสนอผ่านนางเอก ที่เป็นเลขานุการเอก อัครราชทูต พระเอกเป็นที่ปรึกษาของทูตอียิปต์ จากการหาข้อมูลจากผู้เคยดำรงตำแหน่งเลขานุการเอก ได้ทราบว่าประเทศไหนที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับประเทศไทย ก็คือ อียิปต์ “นวนิยายจะสนุก เรื่องต้องมีความขัดแย้ง เราก็ต้องหาจุดนี้มา แล้วอียิปต์มองผู้เสพยาเสพติดเขาให้โทษหนักไปเลย แต่ของไทยเราผู้เสพต้องได้รับการบำบัดรักษา ก็ใช้วิธีการเผยแพร่แนวทางพัฒนาทางเลือก ศาสตร์ของพระราชามาใช้ เราใช้วิธีแผนซ้อนแผนการจัดฉากจาก 2 ตัวละคร (พระเอก-นางเอก) ก็เป็นกระบวนการของนวนิยายเข้าไปให้ดูมีความขัดแย้ง นอกจากนี้ในเรื่องก็ให้ตัวเองผลักดันให้ยูเอ็นรองรับเรื่องการนำแนวทางพัฒนาทางเลือก ศาสตร์ของพระราชา โครงการดอยตุงของสมเด็จย่า”

นิยายชุด รักห่มฟ้า จะเปิดตัวในวันที่ 4 ต.ค.ที่จะถึงนี้ เตรียมร่วมสัมผัสความรัก กำลังใจ ที่จะช่วยให้ตัวละครทุกตัวที่เคยอยู่ในมุมมืดมิดได้เดินออกมาสู่แสงสว่าง และผู้คนสังคมให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น จริงใจ ไม่หยามเหยียดกัน คืนชีวิตใหม่ให้เพื่อนมนุษย์ด้วยความรักและกำลังใจอันยิ่งใหญ่