posttoday

ทำไมต้องใส่กางเกง

06 กันยายน 2559

สิ่งแปลกปลอมหลงยุคมีมากมาย ถ้าคิดให้ดีแม้แต่สิ่งใกล้ตัวเราที่สุดเช่นกางเกงก็เป็นหนึ่งในนั้น

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

สิ่งแปลกปลอมหลงยุคมีมากมาย ถ้าคิดให้ดีแม้แต่สิ่งใกล้ตัวเราที่สุดเช่นกางเกงก็เป็นหนึ่งในนั้น ความเคยชินในการใส่เครื่องนุ่งห่มที่เรียกว่ากางเกงของผู้คนยุคนี้ เอาเข้าจริงส่วนใหญ่ไม่มีเหตุผลอะไรรองรับ

และถ้าจะมีเหตุผลด้านการใช้งานอะไรบางอย่างรองรับจริงจัง เราก็ควรจะยกเลิกข้อบังคับทั้งหมดที่ทำให้ผู้หญิงต้องใส่กระโปรง แล้วหันมาใส่กางเกงให้หมด หรือไม่ก็ควรแนะนำให้ผู้ชายใส่กระโปรงในบางโอกาส

เมื่อย้อนไปดูแทบทุกวัฒนธรรมตลอดช่วงประวัติศาสตร์การใส่เสื้อผ้า กางเกงก็เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน

ไม่ว่าชายหรือหญิง จะเป็นชาวกรีก โรมัน อียิปต์ หรือจีน ก็ล้วนใส่กระโปรงหรือไม่ก็ผ้าคลุมมาก่อนใส่กางเกงทั้งสิ้น แถมยังมีชาวพม่า ชาวสกอต ที่ยังใส่มาถึงปัจจุบัน

กระโปรงหรือผ้าคลุมไม่ใช่แค่ตัดเย็บง่าย ยังสวมใส่สบาย จะถ่ายหนักถ่ายเบาก็สะดวก ยิ่งในสมัยที่พัฒนาการของส้วมไม่ก้าวหน้า อยากถ่ายหนักถ่ายเบาเมื่อไหร่ ก็แค่ถลกผ้าขึ้นแล้วนั่งลงที่ข้างทาง เรื่องจัดการเช็ดล้างก็สะดวก ไม่ต้องคอยถอดคอยถือ หรือต้องมาระแวงว่าถอดลงไปแค่ถึงจะไม่เปื้อน

มองในแง่นี้กางเกงจึงเหมือนเป็นเครื่องแต่งกายที่เพิ่มความลำบากมากกว่าความสบาย และถึงสมัยนี้ส้วมจะพัฒนาไปมากก็ยังน่าตั้งคำถามว่าจะใส่กางเกงให้ยุ่งยากไปทำไม

ทุกอย่างมีที่มา

สาเหตุการกำเนิดกางเกงทั่วโลกไม่ค่อยต่างกันนัก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมการขี่ม้าที่เข้มข้น เข้มข้นในที่นี้คือ ขี่เป็นประจำ ขี่เพื่อชีวิต เช่น ขี่เพื่อเดินทาง ล่าสัตว์ และออกรบ แทบตลอดเวลา

หลายคนอาจติดตาจากภาพยนตร์ว่าในยุคโบราณ บรรพบุรุษวัฒนธรรมต่างๆ ก็ขี่ม้ากันทั้งนั้น แต่ในความเป็นจริงหลายวัฒนธรรมเน้นการใช้งานรถม้า (เกวียน) มากกว่า

การขี่ม้าจะมีมาเนิ่นนานก็จริง แต่หากวัฒนธรรมไหนได้เริ่มลงหลักปักฐานใหญ่โตจะพัฒนาการใช้รถม้ามากกว่าการขึ้นควบขี่บนหลังม้าโดยตรงแทบทั้งสิ้น และกว่าการขี่หลังม้าจะได้รับความนิยมในกลุ่มนักรบของวัฒนธรรมเหล่านี้ก็จนกว่าอานและโกลนม้าจะพัฒนาขึ้นในช่วงหลังคริสตกาลเป็นต้นไป

รถม้า (เกวียน) เป็นพาหนะสำคัญสำหรับวัฒนธรรมการเกษตร เพราะจำเป็นต่อการขนส่งของหนักทั้งข้าวและของ ม้าตัวเดียวจะแบกน้ำหนักได้ก็แค่ปริมาณระดับหนึ่ง ม้าสองตัว สามตัวรวมพลังกันลากรถม้า ย่อมมีประสิทธิภาพในการขนส่งของที่หนักกว่า ใหญ่กว่า พาหนะในการรบของวัฒนธรรมดั้งเดิมเหล่านี้ก็พัฒนาจากพาหนะขนส่งประจำวันประเภทนี้อีกที

สงครามก่อนยุคจิ๋นซีฮ่องเต้ สงครามในภควัทคีตา การแข่งม้าของเบน เฮอร์ จึงใช้รถม้าเป็นหลัก

จะมีก็แต่ชนเผ่าเร่ร่อนที่ไม่ได้มีทรัพยากรมากพอ หรือไม่มีวิถีชีวิตที่จำเป็นต้องใช้งานรถม้าเท่านั้นที่จะนิยมขี่ม้าโดยตรง ซึ่งแต่ละคนก็ต้องฝึกทักษะการขี่หลังม้าส่วนบุคคลเอาเอง

เมื่อไม่มีรถม้า และต้องขี่ม้าเป็นประจำ จึงต้องคิดค้นกางเกงขึ้นมา เพื่อเป็นอุปกรณ์ประกอบ

กางเกงป้องกันผิวส่วนก้นและเป้าจากการเสียดสีเมื่อขี่ม้า กางเกงหนาๆ ป้องกันการกระแทกได้บ้าง กางเกงยังทำให้ขึ้นลงม้าสะดวกไม่ขวยเขิน

สำหรับวัฒนธรรมจีน ก่อนที่กางเกงจะเป็นที่นิยม ก็มีอุปกรณ์คล้ายๆ กางเกงอยู่เหมือนกัน แต่จะเป็นผ้าทรงกระบอกที่สวมเข้ากับขาแต่ละข้างผูกติดกับผ้าเตี่ยวเท่านั้น ทั้งคู่ไม่ได้เชื่อมเข้าด้วยกัน ข้างใครข้างมัน

จากรูปร่างหน้าตาจึงน่าจะเรียกว่าถุงขามากกว่ากางเกง ถุงขาจะถูกใส่ไว้ข้างในเสื้อคลุมอีกที สันนิษฐานว่ามีหน้าที่ช่วยเรื่องความอบอุ่น แน่นอนว่าช่วงเป้ายังคงปล่อยโล่งไว้เพื่ออำนวยความสะดวกในการขับถ่าย

ในยุคต่อมาถุงขาก็พัฒนาเชื่อมติดเข้าหากันแล้วเว้นร่องตรงกลางไว้

หลายท่านคงเคยคิดภาพกางเกงลักษณะนี้ได้ไม่ยาก ถ้านึกไม่ออกให้ลองหาภาพกางเกงเปิดก้นที่เด็กจีนชอบใส่กันมาดู

แล้วเมื่อภายหลังได้ซึมซับกางเกงของชนเผ่าเร่ร่อนมา ก็กลายเป็นกางเกงเต็มรูปแบบในที่สุด

ในสายตาของคนจีนก่อนจะรับวัฒนธรรมกางเกงเข้ามา กางเกงเต็มตัวจึงเป็นของชนเผ่าเร่ร่อนไร้วัฒนธรรม ไว้ใส่เพื่อการใช้งานเท่านั้น ไม่มีคุณค่าเรื่องความสวยงาม กางเกงจึงมีหน้าที่อยู่แค่ด้านในผ้าคลุมอีกที ไม่มีโอกาสได้อวดโฉมข้างนอก

ยกเว้นก็แต่กลุ่มชาวบ้านที่ต้องอาศัยความคล่องตัวมากๆ จึงไม่ต้องการผ้าคลุมรุ่มร่าม

ส่วนชุดที่ชาวจีนโบราณสวมใส่ที่ถือว่างดงาม ก็ต้องเป็นเสื้อคลุมที่มีแขนเสื้อยาวและกว้าง อวดความร่ำรวยด้วยเนื้อผ้าและความพลิ้วไหว

เรื่องนี้ชนเผ่าเร่ร่อนกลับเห็นว่า ทั้งการใส่ผ้าคลุมเฉยๆ โดยไม่มีกางเกง รวมถึงแขนเสื้อรุ่มร่าม ล้วนแต่เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตแทบทั้งสิ้น

แต่แล้วความหรูหรา อุดมสมบูรณ์ของวัฒนธรรมไม่ใช่ข้อได้เปรียบเสมอไป ในสนามรบ ชนเผ่าเร่ร่อนกลับมีความได้เปรียบเหนือกว่า

ชนเผ่าเร่ร่อนใช้ม้าหนึ่งตัวกับคนหนึ่งคนเป็นทหารหนึ่งหน่วย เคลื่อนที่ซ้ายขวาหน้าหลังคล่องแคล่วดังใจ ตรงกันข้ามกับรถม้าของกลุ่มวัฒนธรรมศิวิไลซ์ที่ต้องใช้คนสองคนขึ้นไป (คนหนึ่งขับ คนหนึ่งจับอาวุธ) กับม้าอย่างน้อยสองตัว รวมทั้งตัวรถศึก เพื่อให้เกิดหน่วยรบหนึ่งหน่วยเหมือนกัน ที่สำคัญคือ หากม้าตัวใดตัวหนึ่งอ่อนแรง รถศึกมีส่วนหนึ่งขัดข้อง หรือคนขับแค่คนเดียวหน้ามืดขึ้นมา หน่วยรบนั้นก็เท่ากับสูญเสียไปทั้งหน่วย

กาลเวลาจึงให้การขี่ม้าได้ชัยชนะในที่สุด ทุกวัฒนธรรมหันไปขี่ม้าแทบทั้งสิ้น กางเกงจึงเป็นที่นิยมไปด้วย

และคงนึกกันต่อไปได้ไม่ยาก ว่าทำไมผู้ชายจึงใส่กางเกง ส่วนผู้หญิงใส่กระโปรง

เคยชินกันไปมาจนยึดถือเป็นสรณะ จนในบางครั้งบางวัฒนธรรมบางยุค กางเกงก็กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับผู้ชาย และกระโปรงก็กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับผู้หญิง

มาถึงยุคนี้กระโปรงหรือกางเกงยังคงกลายเป็นสิ่งต้องห้ามอิหลักอิเหลื่อในหลายพื้นที่หลายวัฒนธรรม ในบ้านเราผู้หญิงใส่กระโปรงหรือกางเกงได้ แต่ผู้ชายกลับไม่สามารถกลับไปใส่กระโปรงได้อีกต่อไป หรือในบางกาลเทศะ เช่น เมื่อต้องใส่ชุดข้าราชการหรือชุดนักเรียน ก็ยังคงมีกฎว่าผู้หญิงต้องใส่กระโปรง และผู้ชายต้องใส่กางเกงเท่านั้น

กางเกงในทุกวันนี้จะจำเป็นอยู่บ้างก็ต่อเมื่อต้องใช้ในการเล่นกีฬา ถ้าเป็นในชีวิตประจำวันก็คงเพื่อความสะดวกในการปั่นจักรยานหรือขี่มอเตอร์ไซค์

ซึ่งก็ไม่น่าจะซีเรียสมากนัก ไม่เชื่อไปถามเพื่อนบ้านชาวพม่าดู (และเอาเข้าจริงกีฬาโอลิมปิกโบราณก็นุ่งลมห่มฟ้าแข่งขันกัน)

ยุคนี้หลายคนกล้าตั้งคำถามมากขึ้นกับภาพของประเพณีปฏิบัติเฉพาะถิ่นที่สืบมาจากอดีต ว่าโลกยุคนี้เปลี่ยนไปแล้ว เราจำเป็นต้องมีประเพณีแบบนี้อีกหรือ หลายคนรู้สึกภาคภูมิว่าคำถามเหล่านี้เป็นเพราะคิดเป็นและเห็นต่าง

กางเกงก็น่าจะเป็นหนึ่งในคำถามนั้น

แต่ก็ยังไม่เคยเห็นมีกระแสเรียกร้องของชาวไทยหรือชาวโลกตั้งคำถามกับกางเกง แล้วรณรงค์ให้ผู้ชายกลับไปใส่กระโปรง (ผ้าคลุม) เสียที (ถ้าจะมีก็เป็นจำนวนน้อยและเบาบางมาก) ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะอันที่จริงเราก็มีแนวโน้มจะยอมรับสิ่งนั้นๆ ได้ง่ายขึ้นมาก ขอแค่ถ้าเรา “เห็นต่าง” ประเทศเขาทำกัน