posttoday

หัวเราะต่อชีวิต

03 สิงหาคม 2559

ประโยชน์ของเสียงหัวเราะมิได้มีแค่ระยะสั้น แต่ยังส่งผลต่อชีวิตในระยะยาว เพราะเสียงหัวเราะสัมพันธ์กับสุขภาพจิตที่ดี

โดย...พิชชาภา ศุภวัฒนกุล กองทุนบัวหลวง

“ฉันชื่นชอบคนที่ทำให้ฉันหัวเราะได้ ฉันชอบเสียงหัวเราะเป็นที่สุด เพราะช่วยรักษาความป่วยไข้ได้มากมาย และยังเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์” ออเดรย์ เฮปเบิร์น นางฟ้าแห่งฮอลลีวู้ดเคยว่าไว้เช่นนั้น

เช่นเดียวกับที่ดาราดังกล่าวไว้ ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ต่างสนใจในเสียงหัวเราะ และมีบ้างที่ตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้มาเนิ่นนานหลายปีแล้ว ว่าเสียงหัวเราะนั้นช่วยเยียวยาหรือบำบัดความเจ็บป่วยได้จริงหรือ เพราะเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เนื่องด้วยเราทุกคนล้วนหัวเราะได้อยู่แล้ว แถมยังช่วยเสริมให้เรามีสุขภาพดีอีกด้วย โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มแต่อย่างใด จนสามารถดำเนินชีวิตของตัวเองตามวิถี “กินดี อยู่ดี ดูดี สุขภาพดี” ได้อย่างสมบูรณ์แบบได้

ประการแรกที่ชัดเจนสุดคือ การใช้เสียงหัวเราะเพื่อช่วยบำบัดนั้นบรรเทาความเครียดได้ เราทราบดีว่าความเครียดมิเพียงเป็นภัยต่อสุขภาพจิต อาจเกิดภาวะซึมเศร้าและอาการหวาดวิตกในขั้นรุนแรงได้ แต่ความเครียดยังใช้ร่างกายมนุษย์เป็นแหล่งฟักตัวชั้นดี ดังที่World Heart Federationระบุว่า ความเครียดสามารถกลับมาจู่โจมด้วยโรคร้ายแรงถึงขั้นเอาชีวิต อย่างเช่นโรคหัวใจและหลอดเลือด ความเครียดสะสมจะลดการไหลเวียนของเลือดที่ส่งไปเลี้ยงหัวใจ จนอัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ ซ้ำร้ายยังเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่หลอดเลือดจะแข็งตัวอีกด้วย

น่าคิดต่อไปว่าหากสิ่งง่ายๆ ในชีวิตประจำวันแค่การหัวเราะนั้น จะสามารถปัดเป่าอาการเจ็บป่วยทางร่างกายได้จริงหรือ

รายงานจากMayo Clinic อธิบายไว้ว่า ประโยชน์เฉพาะหน้าของเสียงหัวเราะนั้น เกิดจากลักษณะท่าทางขณะเปล่งเสียง ได้ช่วยให้ร่างกายเกิดความเปลี่ยนแปลงทางสรีระ เพราะขณะเราหัวเราะ ร่างกายของเราจะสูดรับอากาศที่เต็มไปด้วยออกซิเจนมากกว่าการหายใจตามปกติ เมื่ออัดออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย ก็จะไปกระตุ้นอวัยวะภายใน เช่น หัวใจ ปอด และกล้ามเนื้อมัดต่างๆ ทั้งยังกระตุ้นให้สมองหลั่งสารเอ็นโดรฟินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เสียงหัวเราะมิเพียงช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต แต่ยังช่วยผ่อนคลายแรงเครียด ซึ่งถูกกดจากการไหลเวียนของเลือด พร้อมทั้งยังช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้ดีอีกด้วย

ประโยชน์ของเสียงหัวเราะมิได้มีแค่ระยะสั้น แต่ยังส่งผลต่อชีวิตในระยะยาว เพราะเสียงหัวเราะสัมพันธ์กับสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำกับควบคุมระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ยิ่งหัวเราะยิ่งทำให้ภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพ และยังช่วยทุเลาอาการเจ็บปวดไปด้วย เสียงหัวเราะยังช่วยให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนนิวโรเปปไทด์ เพื่อต้านความคิดเชิงลบ ความหดหู่ และอาการป่วยที่คุกคามร่างกาย รวมทั้งภาวะซึมเศร้าและอาการหวาดวิตกต่างๆ

รศ.วิลเลี่ยม บี. สเตรนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีระและการออกกำลังกาย แห่งมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ต้าแห่งเอ็ดมอนตันยังระบุไว้ในรายงานของสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐฯ ถึงประสิทธิภาพเชิงบำบัดของเสียงหัวเราะ ซึ่งเกิดประโยชน์ในหลายด้านตามที่ปรากฎในบันทึกของแพทย์หลากหลายสาขา ไม่ว่าเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ เนื้องอก ดูแลผู้ป่วยหนัก จิตเวช เวชศาสตร์ฟื้นฟู รูมาติก งานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรืองานดูแลเพื่อบรรเทาอาการ เป็นต้น ข้อมูลจากบันทึกทางการแพทย์เหล่านี้ช่วยรับรอง และเป็นหลักฐานที่แสดงถึงคุณค่าของเสียงหัวเราะ ว่ามิใช่แค่พฤติกรรมตอบสนองของร่างกายขณะเกิดความเบิกบาน แต่ยังเป็นวิธีบำบัดอีกแขนง ซึ่งเป็น “ตัวช่วย” ที่ดีขณะอยู่ในกระบวนการรักษาตัว

ทั้งหมดนี้ช่วยย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างเสียงหัวเราะที่มีต่อการขจัดความเครียดและทัศนะเชิงบวก ว่าเป็นแหล่งอำนวยประโยชน์อย่างมากมาย การใช้เสียงหัวเราะโดยลำพังนั้น อาจมิใช่วิธีการรักษาที่สมบูรณ์ในตัวเอง หรือจัดการกับโรคร้ายได้ทั้งหมด แต่ในที่นี้ เราได้ตั้งข้อสังเกตจากรายงานทางคลินิกที่สำคัญ ที่ได้รับการพิสูจน์ถึงความสามารถในการบรรเทา ยับยั้ง และรักษาอาการทางอารมณ์ต่างๆ

และยังช่วยยืนยันในสิ่งที่ออเดรย์ เฮปเบิร์นเคยกล่าวไว้นั้น ไม่ผิดจากความจริงสักเท่าไหร่นัก เพราะท้ายที่สุดแล้ว ชีวิตที่มีความสุขคือชีวิตที่มีสุขภาพดีมิใช่หรือ

ข้อมูล: World Heart Federation, ‘Cardiovascular Disease Risk Factors’ // Mayo Clinic, ‘Stress relief from laughter? It's no joke.’ // William B. Strean ‘Laughter Prescription.’ Canadian Family Physician 55.10 (2009): 965–967.National Center for Biotechnology Information, U.S. National Library of Medicine, National Institutes of Health.