posttoday

นพ.นภดล นพคุณ สิวกับฮอร์โมน

23 กรกฎาคม 2559

นพ.นภดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย แนะนำเกี่ยวกับการดูแลรักษาสิว

โดย...สุภชาติ เล็บนาค

นพ.นภดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย แนะนำเกี่ยวกับการดูแลรักษาสิว โดยสิวเกิดจากฮอร์โมนไปกระตุ้นต่อมไขมันให้โตและผลิตไขมันได้มากขึ้น และจะทำให้ใบหน้าและหนังศีรษะเกิดความมันมาก อีกทั้งยังมีแบคทีเรียที่ชื่อว่า P.acne เพิ่มมากขึ้นในบริเวณรูขุมขน ในต่อมไขมันขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้รูขุมขนบริเวณที่มีสิว สร้างเคราตินที่ผิดปกติ ทำให้เกิดการอุดตันที่บริเวณรูขุมขนนั้น และเป็นตัวกระตุ้นสิวอักเสบมากขึ้น

นอกจากนี้ ก็ยังมีปัจจัยอื่นกระตุ้นให้สิวกำเริบ เช่น ความเครียดจะกระตุ้นต่อมไขมัน การนวด ขัด ถูใบหน้าแรงๆ การล้างหน้าด้วยสบู่บ่อยเกินไป การใช้ยาทาบางอย่าง เช่น สเตียรอยด์ เครื่องสำอางและสารเคมีบางอย่างอาจจะกระตุ้นให้เกิดสิวได้ หรือกลุ่มคนที่มีอาชีพที่ต้องสัมผัสอากาศร้อน-เหงื่อออกมาก หรือทำงานที่ต้องสัมผัสน้ำมันก็เช่นกัน

ทั้งนี้ การเป็นสิวอาจเกิดจากการสะสมจากการล้างเครื่องสำอางออกไม่หมด เกิดจากการใช้ยาสเตียรอยด์ และเกิดจากเชื้อรา โดยการวินิจฉัยจะแยกโรคจากรูขุมขนอักเสบและที่เกิดจากสเตียรอยด์ เพราะจะมีลักษณะเป็นตุ่มแดงๆ บริเวณรูขุมขน และจะเกิดหลังจากการใช้สารสเตียรอยด์ประมาณ 2 สัปดาห์

โดยคนที่เป็นสิว สิวอุดตัน มีลักษณะเป็นตุ่มนูนที่ผิวซึ่งเป็นลักษณของสิวหัวปิด แต่หากพบเป็นจุดดำที่ยอดของตุ่มก็จะเป็นลักษณะของสิวหัวเปิด ซึ่งปกติจะพบคละๆ กัน สิวอักเสบมีลักษณะเป็นตุ่มนูนสีแดง ตุ่มหนอง หรืออักเสบมากคล้ายถุงซีสต์ บริเวณที่พบสิวมาก คือ ใบหน้า หน้าอก และหลัง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีต่อมไขมันอยู่เป็นจำนวนมาก

สำหรับการดูแล ส่วนใหญ่จะใช้ยาทา และยารับประทาน ยาทาจะนิยมใช้มีอยู่ 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มยาปฏิชีวนะ เช่น อิริโทมัยซินนามิก คลินดามัยซิน จะเป็นกลุ่มที่ช่วยลดปริมาณของ P.acne ที่รูขุมขนแล้วยังช่วยลดการอักเสบ

กลุ่มเบนซอยล์เปอร์ออกไซด์ ช่วยลดปริมาณของ P.acne ที่รูขุมขน และช่วยลดการอักเสบ กลุ่มยาทากลุ่มกรดวิตามินเอ จะช่วยละลายหัวสิว ใช้ได้ดีในสิวชนิดไม่อักเสบ โดยยาความเข้มข้นสูงจะทำให้เกิดการระคายเคืองง่าย

สำหรับยารับประทานจะเป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มเตตตร้าไซคลิน หรือดอกซีไซคลิน หากเป็นสิวเรื้อรัง รุนแรง ควรใช้ยาในกลุ่มกรดไวตามินเอ ซึ่งควรจะปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากมีผลต่อการตั้งครรภ์ รวมถึงตับและไขมันในเลือด โดยสิวที่อาการไม่รุนแรงจะหายได้เอง หรือเมื่อรักษาต่อเนื่องอาการจะดีขึ้นในระยะเวลา 2-4 สัปดาห์ แต่หากรุนแรงจะต้องใช้เวลาหลายเดือน นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยแสงเลเซอร์ และการฉายแสงอีกด้วย

การรักษาสิวยังต้องดูแลร่างกาย โดยเฉพาะฮอร์โมน ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดสิว ไม่ว่าจะเป็นการล้างและถูหน้าแรงๆ หรือนวดหน้า รวมถึงการบีบและแกะสิว ภาวะความเครียดและการนอนดึก