posttoday

ผ้าเหลืองห่อกายศีลห่มใจ... เด็กไทยวันนี้

18 กรกฎาคม 2559

โครงการสามเณรใจเพชร โครงการสามเณรหน่อโพธิ์นานาชาติ โครงการสามเณรรากแก้วศาสนทายาท

โดย...พริบพันดาว ภาพ... คลังภาพโพสต์ทูเดย์

โครงการสามเณรใจเพชร โครงการสามเณรหน่อโพธิ์นานาชาติ โครงการสามเณรรากแก้วศาสนทายาท โครงการบรรพชาสามเณร ยุวธรรมทายาท โครงการบรรพชาสามเณรฟื้นฟูพระพุทธศาสนาทั่วไทย ฯลฯ หลากหลายโครงการบรรพชาหรือบวชสามเณรที่ถูกจัดขึ้นมาในภาคฤดูร้อน และในช่วงเวลาปกติที่ต้องการส่งเสริมให้เด็กที่ขาดแคลนและยากจนได้บวชเรียนและสืบทอดพุทธศาสนาไปในคราวเดียวกัน

จากหนังสือ “45 พรรษาของพระพุทธเจ้า” พระนิพนธ์ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร ได้เขียนบอกเล่าถึงการบรรพชาเป็นสามเณรไว้ว่า มีมาแต่สมัยพุทธกาล ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสให้พระสารีบุตรพุทธสาวกทรงบรรพชาให้กับสามเณร “ราหุล” ผู้เป็นพุทธบุตร นับเป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา และถือเป็นประเพณีนิยมในพระพุทธศาสนาที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่มารดา-บิดานำบุตรหลานที่เป็นชายอายุยังไม่ถึงเบญจเพส คือ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าไปรับการบรรพชาเป็นสามเณร ซึ่งแต่โบราณกาลมานั้น การที่จะได้เล่าเรียนเขียนอ่านตำรับตำราต้องอาศัยวัดเป็นสถานที่เล่าเรียนให้กับกุลบุตร และจำเป็นต้องบรรพชาเป็นสามเณรก่อนจึงจะได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของพระเถระ เพื่อที่จะได้เข้าไปอยู่ในวัดตามธรรมเนียม วัดจึงเป็นทั้งบ้าน โรงเรียน และศูนย์ฝึกหัดฝีมือทุกแขนงของสามเณร

วิธีการบวชนั้นก็คือ ให้ผู้จะบวชนั้นปลงผมและหนวด ปัจจุบันปลงคิ้วด้วย ซึ่งเห็นจะมีเฉพาะในเมืองไทย ผู้จะบวชสามเณรครองผ้าจีวรเหมือนกับการอุปสมบทแล้วเข้าไปไหว้ (กราบ) ภิกษุผู้เป็นอุปัชฌาย์ แล้วรับไตรสรณคมน์จากท่าน จากนั้นก็รับสิกขาบท คือ รับศีล 10 ข้อ

ผ้าเหลืองห่อกายศีลห่มใจ... เด็กไทยวันนี้

ล่าสุดโครงการใหญ่ที่เกี่ยวกับสามเณรโดยตรงก็คือ โครงการส่งเสริมวิชาการเทศนาธรรม “สามเณรธรรมาสน์ทอง” ปี 2559 ระยะที่ 2 เฉลิมพระเกียรติถึง 2 วาระในปีมหามงคลนี้ คือ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสงานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 ส.ค. 2559 โดยมีสมเด็จพระวันรัต(จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต และเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธานในพิธี

โดยสัมโมทนียกถาสมเด็จพระวันรัต เนื่องในพิธีเปิดการอบรมโครงการนี้ ที่กล่าวแก่สามเณรทั้ง 20 รูป กล่าวว่า สิ่งที่สามเณรกำลังเรียนรู้และศึกษาอยู่นี้ คือหน้าที่หลักของสมณะในการอบรมสั่งสอนพุทธบริษัทให้เข้าถึงธรรม รวมทั้งหน้าที่ประการสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ละเลยไม่ได้ นั่นคือ การฝึกฝนตนเองให้เข้าถึงพระสัทธรรม ได้แก่ การเคารพนอบน้อม ปฏิบัติอุปัฏฐากต่อครูอุปัชฌายาจารย์ การปฏิบัติศาสนกิจด้วยความเคารพในพระธรรมวินัย และการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานฝึกฝนจิตใจให้ข้ามผ่านความทุกข์ด้วยความเพียร เป็นศาสนทายาทประกาศธรรมแห่งพระบวรพุทธศาสนา

นับเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นกระแสตื่นตัวของบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูกหลานบวชเป็นสามเณร รวมถึงกลับมาให้ความสำคัญกับประเพณีนี้อีกครั้งอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ผ้าเหลืองห่อกายศีลห่มใจ... เด็กไทยวันนี้

 

ปลุกกระแสบวชสามเณร

สามเณร แปลว่า เหล่ากอของสมณะ หน่อเนื้อของสมณะ หมายถึงนักบวชชายในพระพุทธศาสนาที่มีอายุน้อย ยังมิได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ

คำว่า สามเณร เป็นศัพท์เฉพาะในพระพุทธศาสนา เป็นศัพท์บัญญัติที่ใช้เรียกนักบวชในพระพุทธศาสนา ผู้ที่จะบวชเป็นสามเณร สามเณรี ได้นั้น ทางพระวินัยกำหนดอายุอย่างต่ำไว้ประมาณ 7 ขวบ ซึ่งพอช่วยเหลือตัวเองได้ พระวินัยระบุว่าพอจะไล่กาไล่ไก่ได้ ส่วนสูงไม่มีกำหนดไว้ ผู้มีอายุไม่เกิน 20 ปี จะบวชเป็นสามเณรตลอดไป ไม่บวชเป็นภิกษุก็ได้

พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท 10 ของสามเณร คือ เว้นจากฆ่าสัตว์ เว้นจากลักทรัพย์ เว้นจากประพฤติล่วงพรหมจรรย์ เว้นจากพูดเท็จ เว้นจากดื่มสุราเมรัย เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล (เที่ยงไปแล้ว) เว้นจากฟ้อนรำขับร้องประโคมและการดูมหรสพ เว้นจากทัดทรงตกแต่งประดับประดาร่างกายด้วยดอกไม้ของเครื่องทา เครื่องย้อมผัดผิว เว้นจากที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ (คือเว้นจากนั่งนอนเหนือเตียงตั่ง มีเท้าสูงเกินประมาณและที่นั่งที่นอนอันใหญ่มีภายในใส่นุ่นและสำลี) เว้นจากการรับทองเงิน

พระราชญาณกวี (สุวิทย์ ปิยวิชฺโช) หรือนามปากกาที่ใช้เขียนหนังสือเผยแผ่พุทธศาสนาว่า “ปิยโสภณ” ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก และรักษาการเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย
(ธรรมยุต) ทั้งยังเป็นพระนักวิชาการและนักบรรยายธรรม บอกว่า สังคมไทยตอนนี้มีปัญหาเรื่องเยาวชนปลอดศีล ปลอดธรรม

ผ้าเหลืองห่อกายศีลห่มใจ... เด็กไทยวันนี้

 

“ก็เลยคิดว่าถ้าหากสามารถที่จะรณรงค์ให้เยาวชนมาเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ เอาผ้าเหลืองห่อกาย เอาศีลห่มใจไว้ตั้งแต่เล็กๆ พอโตขึ้นมาเขาก็จะปลอดภัย”

ประสบการณ์ที่คลุกคลีกับการปลุกกระแสให้บวชสามเณรให้พลิกมาเป็นบทบาทหลักของสังคมไทยอีกครั้งในรอบทศวรรษที่ผ่านมา พระราชญาณกวีมีส่วนร่วมอย่างมาก ทั้งโครงการสามเณรรากแก้วศาสนทายาทที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 เข้าไปแล้ว รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรมที่ทำมาต่อเนื่องถึงปีที่ 5 แล้ว

“การรณรงค์ให้มีการบวชสามเณรเป็นสิ่งที่ดีมาก เท่าที่สังเกตดูน้องๆ เด็กๆ ที่เรียนอยู่ในระดับ ป.5-6 หรือ ม.1-2 เวลาที่เขามีปัญหาและถูกนำมาบวชเรียน อย่างน้อยที่สุดในช่วงระยะเวลา 20 วัน ถึง 1 เดือน นิสัยก็จะเปลี่ยนไปเลย พ่อแม่บอกว่าเห็นได้ชัดเจน จากเดิมที่ติดเกมหรือติดยา เกกมะเหรกเกเร พอเอาผ้าเหลืองห่ม แค่ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก็ได้ผลดี จนกระทั่งสึกออกมาแล้วก็มีผลดีต่อครอบครัวทันตาเลย การเรียนก็ดีขึ้น ก็เลยคิดว่าหลักฐานชี้ชัดก็เลยคิดรณรงค์การบวชสามเณร

“การรณรงค์อาตมาก็ได้ร่วมทำรายการบวชสามเณรเรียลิตี้ได้ 5 ปีแล้ว ทำให้เป็นกระแสเกิดขึ้น มีเด็กหลั่งไหลเข้ามาบวชตั้งแต่เล็กๆ ก็มีการปลุกกระแสด้านบวก ปิดเทอมแล้วมาบวชสามเณรทำให้เป็นกระแสขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผล เอาเด็กมาให้ผ้าเหลืองห่อเอาไว้ อีกส่วนมีการรณรงค์ต่อก็คือ เด็กคนไหนจบ ป.6 มาแล้ว อยากจะบวชเรียนต่อขั้น ม.1 มาสมัครเลย จะมีทุนให้และรับหมดเลย จากที่เป็นสามเณรปลูกปัญญาออกทีวีช่วงปิดเทอม ก็มาเป็นสามเณรรากแก้ว ให้ทุนการศึกษาเรียนต่อ ม.1 จนจบปริญญาตรีเลย ตอนนี้ทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 11 มีสามเณรอยู่ในโครงการนี้ 1,200 รูป ในปัจจุบัน จบเปรียญธรรม 9 ประโยคก็มี จบปริญญาตรีก็มี”

ผ้าเหลืองห่อกายศีลห่มใจ... เด็กไทยวันนี้

พระราชญาณกวี ชี้ถึงปัญหาของเด็กไทยในปัจจุบันว่า เด็กติดเกมเพราะพ่อแม่ตามใจลูก

“ที่มาหาอาตมาอยากให้ลูกบวชสามเณรก็คืออยากให้ลูกออกจากเกม ซึ่ง 90% จะเป็นเช่นนี้  อาตมาก็บอกว่าโยมต้องทำใจนะ ถ้าโยมยังตามใจลูก ยังเลี้ยงลูกด้วยวิธีที่ผิดๆ อยู่ พระก็ช่วยแค่เดือนหนึ่งที่ลูกโยมมาอยู่กับพระ ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับการดัดนิสัยของพ่อแม่ผู้มาบวชสามเณรด้วย ไม่อย่างนั้นก็ไม่เกิดประโยชน์”

ปัจจุบันการบวชเรียนเป็นสามเณรมีอยู่ 2 ประเภท พระราชญาณกวี แบ่งเป็นประเภทที่ 1 ลูกของคนมีฐานะหรือคนชั้นกลาง เป็นการบวชชั่วคราวหรือบวชแบบสันดาน คือสามเณรบวชฤดูร้อนเพียง 1 เดือน ประเภทที่ 2 ลูกของคนชั้นล่าง คนยากคนจน ชาวไร่ชาวนาชาวสวน ซึ่งมีฐานะอัตคัดขัดสนไม่มีคนเลี้ยงดู

“ตรงนี้เป็นอีกกระแสหนึ่งซึ่งเราส่งเสริมสนับสนุนให้บวชยาวถึง 10 ปี เป็นสามเณรรากแก้วศาสนทายาท สืบทอดพระพุทธศาสนาไปด้วย ก็มีผลออกมาน่าชื่นใจนะ ปรากฏการณ์ของสามเณรที่มีการบวชเพิ่มขึ้น จากเดิมในอดีตที่ไม่ค่อยมีการบวช มีแต่ลดลง แต่ตอนนี้เพิ่มมากขึ้น ผู้คนก็เข้าใจในเรื่องการสร้างแต่วัตถุในวัด แต่ไม่สร้างคน ก็พยายามเปลี่ยนทัศนคติให้มาสร้างคน ทุกเดือน เม.ย.จะมีการบวชเณรภาคฤดูร้อน 1 เดือน หลังจากนั้นใครต้องการบวชเณรเพื่อบวชเรียนก็มาสมัครได้เลยรับทุกคน คงทำกันต่อเนื่องและขยายต่อไปในอนาคต”

ผ้าเหลืองห่อกายศีลห่มใจ... เด็กไทยวันนี้

 

ประสบการณ์จากผู้ใฝ่รสธรรม

โครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรม เป็นโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน โดยมีการถ่ายทอดสดตลอดระยะเวลา 31 วันของการบรรพชา ซึ่งทำมาถึงปีที่ 5 แล้ว เป็นห้องเรียนธรรมะกับเป้าหมายแห่งการตามรอยบาทพระศาสดาสืบอายุพระศาสนา จากอดีตสู่ปัจจุบัน เพื่อเป็นแนวทางในการเรียนรู้ และสืบทอดพระพุทธศาสนา น้อมกายและใจร่วมฝึกฝนตนเอง เข้ารับการขัดเกลาและอบรมบ่มเพาะจากพระอาจารย์ ได้เรียนรู้จักความอดทนและความขยันหมั่นเพียร ทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ถ่ายทอดพระธรรมคำสอนสู่สาธารณชน เพื่อเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจและเป็นแบบอย่างแก่เด็กเยาวชน

ชีวิตของสามเณรน้อยที่แปรจากเด็กน้อยที่มีความสดใส น่ารัก ซุกซน เป็นตัวของตัวเอง จนเข้าสู่ร่มเงาแห่งพระธรรม พร้อมเรียนรู้แก่นสาระของพระพุทธศาสนา แง่คิด ปรัชญา และธรรมเทศนาจากพระอาจารย์พี่เลี้ยง พระวิทยากร และวิทยากรพิเศษ ปริศนา รัตนเกื้อกูล ผู้ประสานงานของโครงการที่สัมผัสกับสามเณรน้อยที่มาบวชเรียน บอกถึงกระแสความนิยมนำบุตรหลานมาบวชสามเณร ว่า

“ภาพรวมรู้สึกว่าตั้งแต่มีการถ่ายทอดการบวชทางทีวีทำให้มีการตื่นตัวกันมากขึ้นของพ่อแม่ที่ต้องการส่งลูกมาบวชด้วยหลายปัจจัย เพราะอาจจะเห็นภาพความเป็นอยู่ของเณรว่าเป็นอย่างไร ทำให้ตัดสินใจง่ายขึ้นที่จะมาบวช เพราะเดี๋ยวนี้หลายวัดเด็กๆ มาบวชมากขึ้นอย่างที่วัดพระราม 9 เปิดโอกาสให้เด็กที่เรียนโรงเรียนนานาชาติที่ปิดเทอมไม่ตรงกับโรงเรียนทั่วไปได้มาบวชเรียนด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี”

ปริศนา เล่าประสบการณ์ว่า มีเรื่องน่าสนใจเยอะ สามเณรจะอดทน โดยเฉพาะเมื่อไปปฏิบัติธรรมในต่างจังหวัดที่ลำบาก ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกสบาย

ผ้าเหลืองห่อกายศีลห่มใจ... เด็กไทยวันนี้

“อย่างเมื่อล่าสุด ไปกันหลายจังหวัด ต้องนอนแคร่บ้าง ต้องกางกลดนอนบ้าง ไม่มีปัญหาเลย และเวลาไปต่างจังหวัด น้องเณรจะมีความเป็นผู้นำ กล้าสอนเด็กๆ คนอื่น แต่ไม่ทราบว่าเด็กที่มาส่วนใหญ่เรียนโรงเรียนชื่อดังหรือเปล่า บางคนที่มาจากชุมชนก็ไม่ได้มีปัญหาในการอยู่ร่วมกัน เด็กๆ เขามีพลังนะ มีครั้งหนึ่งเดินธุดงค์จากวัดญาณฯ ไปสวนป่าสิริวัฒน์ ระยะทาง 11 กิโลเมตร สำหรับเณรที่ไม่ได้ใส่รองเท้าสำหรับเดิน แต่เขาก็อดทน ไม่ยอมขึ้นรถ น่ารักมาก กลับมาวัด พระสลบไปแล้ว เณรกลับมาวิ่งต่อได้”

การออกธุดงค์จะเป็นการฝึกเด็กให้มีความอดทนอดกลั้น รู้จักการช่วยเหลือผู้อื่น และต้องช่วยตัวเองในหลายเรื่องที่ในชีวิตปกติจะมีแต่คนทำให้ ปริศนาเล่าถึงประสบการณ์ในอดีตว่า สมัยก่อนเด็กที่บวชเณรจะเป็นเด็กต่างจังหวัดมากกว่า

“เพราะอาจจะใกล้วัด แต่ปัจจุบันเด็กในเมืองบวชกันไม่น้อย อย่างที่วัดพระราม 9 จะเห็นเลยว่าพอพี่บวชแล้วจะมีน้องมาบวชต่อ หรือบางรายปิดเทอมก็มาบวช เคยคุยกับเณรที่ไม่มีฐานะ ฉลาดมากบอกว่าเป็นเณรดีกว่า ไม่มีใครมารังแก ถ้าผมอยู่ข้างนอกโดนแน่ เรื่องเณรน่ารักๆ เยอะ ซนขนาดจะเผาวัดก็มี ร้ายก็มี สังคมเหมือนกันหมด มีดี มีไม่ดี แต่การที่เขาได้มารู้จักการสวดมนต์ นั่งสมาธิ การอยู่ร่วมกับเพื่อน มีแต่ประโยชน์ มีบ้างที่พ่อแม่ห่วงลูกเกิน และก็มีบ้างที่ถือโอกาสเอาลูกมาอยู่วัดเพื่อตัวเองจะได้ไปต่างประเทศ”

สุดท้าย ปริศนา บอกว่า สามเณรก็ยังเป็นเด็ก แค่เขาจากบ้านมานอนวัดได้เป็นเดือนก็เก่งแล้ว ไม่ต้องเคร่งครัดเข้มงวดแบบตึงและเครียดมากเกินไป ซึ่งจะทำให้เด็กหันมาเข้าวัดและบวชเรียนเป็นสามเณรกันมากขึ้นอย่างแน่นอน

“จะให้เขาแบบมาเป็นระเบียบ ดูสุขุมสมถะเรียบร้อยในอุดมคติ ดูจะเยอะไป อย่าทำให้เด็กกลัวการบวชดีกว่า พระผู้ใหญ่เยอะแยะที่ไม่เข้าท่า กับเณรให้เขาได้ทำวัตร สวดมนต์ นั่งสมาธิ ได้ทุกวันนี่ก็บุญเหลือแล้ว ผู้ใหญ่ยังทำไม่ได้เลย”