posttoday

ระวังอันตราย จาก ‘ฟิลเลอร์’ ศ.ดร.นพ.ประวิตร อัศวานนท์

09 กรกฎาคม 2559

ฉบับนี้ ศ.ดร.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประชาสัมพันธ์

ฉบับนี้ ศ.ดร.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย จะมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการใช้สารเติมเต็มหรือฟิลเลอร์ เพื่อเสริมจมูก อย่างปลอดภัย โดยสารฟิลเลอร์มีหลายชนิด แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.แบบชั่วคราว มีอายุประมาณ 4-6 เดือน แต่มีความปลอดภัยสูง สลายตัวได้เอง 2.แบบกึ่งถาวร เช่น ซิลิโคน หรือพาราฟิน หลังฉีดแล้วจะอยู่ในผิวตลอดไป ไม่สลายตามธรรมชาติ ยกตัวอย่าง เช่น ซิลิโคน หรือพาราฟิน ซึ่งมักพบผลข้างเคียงในระยะยาว ส่วนชนิดถาวร แพทยสภาได้ประกาศห้ามใช้เด็ดขาด

การใช้ฟิลเลอร์สำหรับรักษาปัญหาผิวพรรณนั้น ใช้หลักการคือผิวหนัง ซึ่งจะมีส่วนประกอบหลักที่สำคัญ คือ ใยคอลลาเจนและสารไฮยาลูโรนิก ที่มีความสามารถในการอุ้มน้ำมากกว่าตัวเองหลายร้อยเท่า-พันเท่า มีหน้าที่สำคัญเป็นองค์ประกอบที่ให้ความแข็งแรงและความยืดหยุ่นแก่ผิวหนัง ทำให้ผิวพรรณมีเต่งตึง แต่เมื่อเข้าสู่ชรา จะพบว่าใยคอลลาเจนและสารอุ้มน้ำจะค่อยๆ มีปริมาณลดลง ทำให้ผิวหนังบางลง เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่น จึงมีความพยายามหาทางแก้ไขโดยการฉีดสารจากภายนอกเข้าไปในผิวหนังเพื่อทดแทน

ในปัจจุบันสามารถใช้ฟิลเลอร์สามารถแก้ปัญหาริ้วรอยอันเนื่องมาจากวัย เช่น ริ้วรอยบริเวณหน้าผาก หางตา และร่องแก้ม โดยการฉีดฟิลเลอร์จะเติมเต็มใยคอลลาเจนที่หายไป ทำให้ริ้วรอยตื้นขึ้น ผิวดูดีขึ้น การแก้ไขปัญหาแผลเป็นชนิดผิวบุ๋ม เช่น จากสิวอักเสบ โดยแผลต้องไม่มีพังผืดในบริเวณใต้แผลบุ๋ม มิฉะนั้นผลการรักษาจะไม่ดีเท่าที่ควรและการใช้ฟิลเลอร์ฉีดเพื่อเสริมเนื้อเยื่อผิวหนังให้มีลักษณะนูนเต็มขึ้นกว่าเดิม เช่น เสริมจมูก เสริมคาง ริมฝีปาก หรือฉีดให้รูปทรงของหน้าดูอวบอิ่มกว่าเดิม

สำหรับผลข้างเคียงทำให้ตาบอดหรือแขนขาอ่อนแรง เกิดจากการที่ฉีดสารเข้าไปในเส้นเลือดที่ต่อเนื่องไปเลี้ยงลูกตา พลาดไปโดนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงดวงตา จนเกิดอาการเส้นเลือดอุดตันจนตาบอดถาวรได้ เนื่องจากดวงตาทนภาวะขาดเลือดได้แค่ 90 นาที ต่างจากผิวหนังที่ทนได้ 6 ชั่วโมง

ดังนั้น แพทย์และผู้ที่อยากเสริมจมูกควรทำด้วยวิธีอื่นที่ปลอดภัยกว่าฉีดฟิลเลอร์ เพราะอาจเกิดอันตรายและสารเหล่านี้มีราคาแพงและอยู่ได้ไม่ถาวร อันตรายที่เกิดขึ้นสามารถเกิดจาก 1.ตัวผู้ทำการฉีดต้องมีความชำนาญสูง และต้องเป็นแพทย์เท่านั้น ถึงแม้ได้รับการฝึกอบรมและมีประสบการณ์สูงสุดก็อาจเกิดผลข้างเคียงได้ 2.สารที่ใช้ แม้ว่าเป็นสารที่ผ่านการรับรองจาก อย.ก็สามารถเกิดผลข้างเคียงได้ แม้แต่การดูดไขมันของตัวเองมาฉีดก็เกิดอันตรายได้เช่นกัน 3.ตัวผู้รับการฉีดแต่ละคนมีกายวิภาคที่ต่างกัน ตำแหน่งของเส้นเลือดเส้นประสาทอาจต่างจากคนอื่นโดยเฉพาะที่ได้รับการผ่าตัด การฉีด การร้อยไหม จะมีพังผืดทำให้เกิดอันตรายง่ายขึ้นอีก